ปกติแล้วหนังที่มีประเด็นใหญ่ๆ ชัดๆ มักจะนำเสนอเรื่องราวโดยให้ตัวละครชี้ไปยังปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นสถานการณ์เหล่านั้นอย่างชัดเจน ก่อนจะพยายามนำพาให้ตัวละครชักจูงผู้ชมไปหาหนทางต่อสู้แก้ปมปัญหานั้นๆ
ทว่าสำหรับภาพยนตร์ ‘Solids by the Seashore’ หรือ ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ ผลงานกำกับของ ‘อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก’ ที่ก็ดูเป็นหนังไทยที่เต็มไปด้วยหัวข้อประเด็นใหญ่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นของรัฐ ความแตกต่างทางศาสนาไทยพุทธและมุสลิม และความสัมพันธ์ของหญิงสาวทั้งสอง ซึ่งแตะทั้งมิติการเมือง ศาสนา เพศสภาพ ที่เป็นเรื่องอ่อนไหว เล่าด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลางค่อนข้างยาก และยากที่จะจับประเด็นทั้งหมดมาเล่าพร้อมกันให้ออกมากลมกล่อม กลับไม่ได้พยายามตะโกนป้อนข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้ชมเลยสักนิด
ทั้งที่ประเด็นต่างๆ ทับซ้อนเกาะเกี่ยวกันมากมาย แต่การเล่าเรื่องก็เป็นไปดั่งชื่อ ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ หนังเพียงแค่ทำหน้าที่พาผู้ชมไปจับจ้องคลื่นลมทะเล หาดทราย ภูมิลำเนาของจังหวัดสงขลาผ่านตัวละครทั้งสอง จนไม่แปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกว่าเป็นหนังส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด เนื่องจากฉายภาพวิวทิวทัศน์ความสวยงามของหาดทราย สถานที่ต่างๆ ในจังหวัด มากกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครเสียเป็นส่วนใหญ่
แต่นั่นแหละ การค่อยๆ จับจ้องความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งจากธรรมชาติที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปอยู่แล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยจุดประสงค์บางอย่าง รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อแบบเก่า และความคิดแบบใหม่ที่ค่อยๆ ผ่านเข้ามา ก็เป็นวิธีการบอกเล่าที่เรียบง่ายและทำให้คนเห็นปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนเช่นกัน
สิ่งปลูกสร้างของภาครัฐที่ยับยั้งความเป็นไปของธรรมชาติ
เรื่องแรกที่ Solids by the Seashore ให้ความสนใจและนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ คือ การสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาดของคลื่นทะเล โดยลดความแรงของคลื่นบางส่วนที่มากระทบชายหาดด้วยการก่อสร้างกำแพง
จากโครงการนี้ทำให้หลายพื้นที่ของชายหาดถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตหน้าตาอัปลักษณ์ ทั้งบริเวณหาดเองหรือกระทั่งยื่นเลยไปถึงกลางผืนน้ำ จนบดบังทัศนียภาพของท้องทะเลไปโดยปริยาย
ทั้งที่ตามธรรมชาติ การที่คลื่นกัดเซาะชายหาดไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาลหรือความแรงในบางมรสุมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติอยู่แล้ว และเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่ไม่มีมรสุม ชายหาดจะกลับคืนสู่รูปแบบเดิมของมันเองตามเวลา แต่เมื่อมีการก่อตัวขึ้นของกำแพงกันคลื่น แทนที่มันจะช่วยลดความแรงของคลื่นที่เข้ามากระทบไปตลอดเหมือนในระยะเริ่มแรก กลับกันเมื่อเวลาผ่านไป คลื่นจะเพิ่มระดับความแรงไปจากเดิมเพื่อกัดเซาะและทำลายตัวกำแพงกันคลื่นอยู่ดี จนสุดท้ายก็นำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของกำแพง ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นโครงสร้างที่กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลมากเสียกว่าในระยะยาว
ในทางหนึ่งเราอาจเห็นถึงความตั้งใจอันดีที่จะปกป้องรักษาธรรมชาติของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นไปที่การกระทำเพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้คือนโยบายที่ดำเนินการไปโดยลืมคำนึงถึงความเห็นของนักวิชาการหรือคนในพื้นที่ ที่ก็ยังสรุปกันไม่ได้ว่าทางออกที่ดีที่สุดในการยับยั้งการกัดเซาะชายหาดนั้นคืออะไร แต่โครงการทั้งหมดก็ได้ก่อร่างสร้างตัวเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย
โครงสร้างของความเชื่อและศาสนาที่กรอบหญิงสาวไว้
ความสนใจในประเด็นของการสร้างกำแพงกันคลื่นค่อยๆ ขยายไปสู่วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ของจังหวัดติดชายหาดที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่น ในที่นี้ก็คือวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมุมมองของหนังจับจ้องไปที่ตัวละครหลักที่เป็นหญิงสาวชาวมุสลิมอย่าง ‘ชาตี’ (ไอลดา พิศสุวรรณ) ซึ่งนำพาผู้ชมไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวมุสลิมที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักในภาพยนตร์ไทย
ครอบครัวของชาตีมีความตั้งใจจะให้เธอแต่งงานกับลูกชายของอีกครอบครัว ผู้ซึ่งเป็นอิหม่าม ผู้นำทางศาสนาที่เป็นหน้าเป็นตาในฝั่งมาเลเซีย ตรงตามคุณสมบัติอันดีงามตามหลักศาสนาที่พ่อแม่ชาตีต้องการ อีกทั้งยังมีความกดดันจากบรรดาผองเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ต่างแต่งงานสร้างครอบครัวกันไปหมดแล้ว
การแต่งงานมีคู่ครองจึงกลายเป็นค่านิยมที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เห็นต้องตามกัน โดยแม้ว่าตัวชาตีจะไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านความต้องการของครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ชมย่อมสัมผัสได้ถึงมวลความรู้สึกอึดอัดที่เธอถูกบีบบังคับจากธรรมเนียมปฏิบัติภายใต้ความเชื่อของศาสนาจนมิอาจปฏิเสธได้ อีกทั้งเมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่า ตัวชาตีไม่ได้ใช้ภาษาใต้แบบเพื่อนๆ ชาวมุสลิม รวมถึงยังมีลักษณะของความเป็นคนรุ่นใหม่ที่สงสัยหรือตั้งคำถามกับบริบทโดยรอบอยู่เนืองๆ ส่งผลให้หลายครั้งหลายคราวความแปลกแยกก็ทำให้ชาตีรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเธอเลย นอกจากโต๊ะหรือย่าของเธอที่จากไปแล้ว และเพื่อนคนสำคัญจากเมืองหลวงอย่าง ‘ฝน’
จากโครงสร้างทางศาสนาและความไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อาศัยอยู่ อาจจำกัดเธอให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอกในสังคมชาวมุสลิม ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยที่เป็นเมืองพุทธ จนเกิดเป็นสภาวะอิหลักอิเหลื่ออย่างเงียบงันของเขตแดนระหว่างการต่อต้านและเชื่อฟัง
การต่อสู้กับระบบที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก
อีกหนึ่งตัวละครหลักที่ปรากฏในเรื่องคือ ‘ฝน’ (แพร-รวิภา ศรีสงวน) ศิลปินสาวผู้เดินทางมาจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างกำแพงกันคลื่น เกิดเป็นภาพของคนตัวเล็กๆ ลุกขึ้นสู้กับระบบโครงสร้างที่ดูใหญ่กว่าตัวเธอมาก
พ้นไปจากประเด็นในงานศิลปะ หญิงสาวก็ยังต้องดิ้นรนต่อสู้ในโลกของคนทำงานศิลปะในสังคมไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เล็กและไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญสักเท่าไหร่
มากไปกว่านั้น การเป็นศิลปินหญิงในแวดวงที่ถูกครอบครองโดยผู้ชายก็ยิ่งสร้างความเป็นรองให้อยู่เสมอ ดังที่เห็นในเรื่องว่า แม้ฝนจะพยายามดั้นด้นมาทำงานศิลปะด้วยตัวเองขนาดไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นิทรรศการของเธอนั้นได้รับแนวคิดและอิทธิพลจาก ‘ชาติ’ (อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร) แฟนหนุ่มที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่กว่าตัวเธออีกเช่นกัน ทำให้เธอที่กำลังต่อสู้กับระบบโครงสร้างของภาครัฐก็ถูกโครงสร้างของโลกวงการศิลปะกรอบเอาไว้อยู่อีกที
ที่น่าสนใจคือ ความแตกต่างอันคล้ายคลึงกันของ ชาตี และ ฝน ที่ต่างเป็นคนตัวเล็กภายใต้กรอบของระบบโครงสร้างที่มีระบบโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ซ้อนอยู่อย่างไม่รู้จบ ความสัมพันธ์อันอ่อนไหวและเปราะบางของพวกเธอทั้งสองที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรกับโครงสร้างพวกนั้นได้
ทว่าสิ่งที่ผู้สร้างหนังทำได้ดีเยี่ยมคือ การนำเสนอภาพของธรรมชาติ คลื่นลมทะเลหาดทรายที่ปะทะกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่สร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ ด้วยความพยายามจะยับยั้งฝืนความเป็นไปของธรรมชาติ เทียบเคียงกับภาพของความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างหญิงสาวทั้งสองที่ถูกจำกัดไว้ด้วยความเชื่อและศาสนาที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าการปล่อยบางอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น หรือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อยับยั้งความเป็นไปที่จะเกิดขึ้น สิ่งไหนคือหนทางที่ดีที่สุด
ด้วยการเล่าที่ผู้สร้างหนังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จับจ้องและพิจารณาดูกันต่อไปเอง ผ่านน้ำเสียงที่ไม่ตัดสินหรือชี้นำผู้คนและตัวละคร ผู้ชมจึงไม่ได้เห็นการกระโจนเข้าไปต่อสู้กับระบบที่ใหญ่กว่าตัวละครดั่งที่เกิดขึ้นบ่อยในเรื่องราวอื่นๆ ทำให้เราไม่แปลกใจถ้าจะมีผู้ชมบางส่วนรู้สึกว่าหนังไม่ได้นำพาพวกเขาไปสู่บทสรุปอะไรนัก แต่ขณะเดียวกันมันก็มอบความจริงให้เราไม่น้อย เพราะในชีวิตจริงคนแบบเราๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่อาจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบอะไรในสังคมกันได้นักหรอก
สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นเพียงการใช้ชีวิตดั่งตัวละครในเรื่อง และจับจ้องสังเกตความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำมาซึ่งชีวิตแบบใดก็ตาม เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม สิ่งปลูกสร้าง หาดทราย ท้องทะเล คลื่นลม หรือระบบโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องถูกกาลเวลากัดเซาะและแปรเปลี่ยนไปเสมอ ต่อให้จะพยายามยับยั้งอย่างไรก็ตาม