สัมภาษณ์ Soi Squad เมื่อหนังสือคือการเมือง - Urban Creature

เราอยู่ในยุคสมัยแห่งความย้อนแย้ง

ในขณะที่การตื่นตัวทางการเมืองเบ่งบาน วงการหนังสือคึกคักไปด้วยผู้คนที่สงสัยใคร่อ่านงานเขียน #เบิกเนตร ส่งให้บรรดาหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และหนังสือแปลแนววิชาการที่เคยเงียบเหงา กลายเป็นหนังสือขายดีที่พบได้ในมือวัยรุ่นหรือคนทำงานทั่วไป

ไม่น่าเชื่อว่าในระนาบเวลาเดียวกัน กลับมีข่าวตำรวจบุกเข้าไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อยึดหนังสือที่อ้างว่า ‘มีเนื้อหาผิดกฎหมาย’ (เล่มเดียวกับที่ขายดีนั่นแหละ) และมีหนังสือหลายเล่มถูกห้ามเผยแพร่แจกจ่ายในราชอาณาจักร

ย้อนแย้งจริงไหมเล่า 

หากประชาชนขวนขวายที่จะอ่าน รัฐบาลจะสั่งห้ามไปทำไม หน่วยงานที่มีอำนาจมากมายจะกลัวอะไรกับแค่หนังสือ

‘หนังสือ การแปล และถ้อยคำสัมพันธ์ สำคัญอย่างไรกันแน่กับการเมือง?’ เราทดคำถามนี้ไว้ในใจ 

“ทีมซอยมองเห็นร่วมกันว่าการแปลและการตีพิมพ์เป็นการขับเคลื่อนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง การนำความคิดหรือตัวบทในภาษาหนึ่งมาพูดในอีกภาษามันได้พาเราข้ามผ่านพื้นที่ทางการเมืองในหลายมิติ” เป็นประโยคนี้ของเจน-จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหารของซอย ที่ทำให้เรามั่นใจว่านี่แหละกลุ่มคนที่จะตอบคำถามให้เราได้! เราจึงรีบจดประโยคจากงานเสวนา บทจTalk ของสำนักพิมพ์บทจร แล้วอีเมลไปขอคุยกับทีมซอยทันที โชคดีของเราที่คำตอบของพวกเขาคือตกลง

ซอยประกอบด้วยสามหน่วยย่อย ซอย press ซอย literary และ ซอย studio

เรารู้จัก ‘ซอย | soi’ หรือ soi squad ครั้งแรกผ่านหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) ผลงานเล่มบางๆ ที่พาคนอ่านไปครุ่นคิดเรื่องบรรทัดฐานทางเพศให้ลึกซึ้งผ่านเรื่องเล่าของผู้คนหลากหลาย ผลงานของ สำนักพิมพ์ซอย สำนักพิมพ์ซึ่งตีพิมพ์หนังสือแปลในประเด็นแสบๆ คันๆ ที่เป็นวาระสำคัญของยุคสมัย อย่างความหลากหลายทางเพศ หรือปิตาธิปไตย

นอกจากสำนักพิมพ์แล้วซอยยังประกอบไปด้วยอีกสองส่วนคือ ซอย วรรณกรรม เอเจนซีซึ่งทำหน้าที่พาวรรณกรรมไทยกระโดดข้ามกำแพงภาษาไปสู่ต่างประเทศ ผลงานแรกคือ การส่ง ‘จุติ’ ของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ ไปจุติเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Fabulist และส่งออกไปอวดโฉมแก่นานาชาติภายใต้ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง Penguin Random House 

และส่วนสุดท้าย ซอย สตูดิโอ ห้องทดลองที่ขยันสร้างโปรเจกต์สนุกๆ ออกมาไม่หยุดหย่อนไม่ว่าจะเป็น ‘Bad Paper, Bad People’ ที่เลือกหยิบการเคลื่อนไหวต่างๆ มาบันทึกไว้บนปึกกระดาษดิบดุแจกฟรีประจำ Bangkok Book Festival 2021 หรือล่าสุดกับ ‘ขบและข่วน’ หนังสือเล่มละไม่เกินร้อยบาทที่ชวนคนอ่านตั้งคำถามกับระบบลิขสิทธิ์

จะเห็นว่าทุกส่วนของซอยต่างก็พยายามสร้างความเคลื่อนไหวในสังคมทั้งหมด เพียงแต่ด้วยวิธีหรือสื่อกลางที่ต่างกัน

ว่าแล้วก็ไปสนทนากับทีมงานที่เรียกตัวเองว่า ‘แรงงานหนังสือ’ สุดเท่กลุ่มนี้กันเถอะ มาหาคำตอบไปด้วยกันว่าหนังสือมีความสำคัญอย่างไรในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็เป็นการเมือง

เลขที่ 140 ถนนนครสวรรค์ สตูดิโอของซอย

01 ถนนใหญ่กับซอย

ก่อนจะพูดเรื่องหนังสือกับการเมือง เราอดรนทนไม่ไหวที่จะถามผู้ก่อตั้งของซอยว่าอะไรทำให้ซอยเป็นแพลตฟอร์มที่ขยันผลักดันประเด็นต่างๆ แบบนี้ อุดมการณ์ในการทำงานของพวกเขาคืออะไร

เจนบอกเราว่า ซอยไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่หรอก แต่เกิดจากความชอบและอยากทำให้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ และนิยามตัวเองว่าเป็น “แพลตฟอร์มสองภาษาสำหรับการเขียน การเรียบเรียง และการตีพิมพ์ในสนามภาคขยาย” บ่งบอกว่า ไม่ว่าโจทย์ที่ต้องการสื่อสารคืออะไร พวกเขาก็จะส่งต่อผ่านสิ่งที่ถนัด คือการขีดเขียน การเรียบเรียงปรับปรุงตัวบท และการตีพิมพ์เผยแพร่นั่นเอง

“ตามชื่อเลย เราตั้งใจจะเป็น ‘ซอย’ เป็น Connector เล็กๆ ที่เชื่อมโยงคนหลายๆ ส่วนเข้าด้วยกัน”

คำอธิบายง่ายๆ นั้นให้ภาพชัดเจนมาก คนไทยทุกคนคุ้นเคยกับตรอกซอกซอยในเมือง การมีอยู่ของซอยอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเมืองเท่ากับถนนสายใหญ่ๆ แต่ก็เป็นเส้นทางสำคัญที่เปิดให้คนซึ่งอาศัยในตรอกมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอก และในวันที่อยากเลี่ยงรถติด หลบแดดร้อน หรือแม้แต่อยากสำรวจร้านรวงใหม่ๆ ซอยก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเสมอ 

ซอยจึงไม่ได้เกิดจากการเอาปากกาไปวงว่าถนนใหญ่หรือวงการหนังสือในภาพรวมขาดอะไร เพียงแต่อยากจะเสนอตัวเลือกเพิ่มให้คนอ่านเท่านั้นเอง

“การเลือกทำสิ่งหนึ่งให้มีอยู่หรือเข้าถึงได้นี่มันสำคัญมากๆ” เจนย้ำประโยคนี้หลายครั้งตลอดการสนทนา และแชร์ว่าแนวคิดของซอยเริ่มก่อร่างขึ้นจากประสบการณ์ในฐานะคนอ่าน เด็กหญิงจุฑาโตมากับหนังสือของสำนักพิมพ์ไทย และอ่านหนังสืออะไรก็ตามที่คุณพ่อเอามาวางไว้ในบ้าน เมื่อมองย้อนกลับไปเธอเห็นว่ามันสะท้อนข้อจำกัดบางอย่าง 

“แม้เราจะบอกว่าเรามีอิสระในการเลือกก็ตาม แต่การเลือกนั้นก็ถูกจำกัดด้วยหนังสือที่มีในตลาด ซึ่งสำนักพิมพ์หรือใครก็ตามเป็นคนเลือกเอาไว้แล้วอยู่ดี เมื่ออ่านมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยก็หันมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด เพราะมีความรู้สึกว่าความอยากรู้มันยังไม่ถูกสนองตอบโดยหนังสือในประเทศอีกต่อไป แต่เธอก็พบเช่นกันว่าไม่ใช่เพื่อนทุกคนที่จะสะดวกใจอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ นำมาสู่ความคิดที่ว่า “ความรู้ในอีกภาษาหนึ่งเนี่ย ถ้ารู้อยู่แค่ไม่กี่คน จะมีบทสนทนากับคนอื่นได้ยังไง หรือเราจะแค่ครองหน้าที่เป็นคนอธิบายสั่งสอน ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจจะมองหาหนังสือที่น่าอ่านแต่ยังไม่ได้ถูกหยิบมาแปลเป็นภาษาไทย และตัดสินใจตบเท้าเข้ามา ‘ทำให้มันเข้าถึงได้’ เสียเอง

“เราอาจจะไม่เคยถามตัวเองว่าการที่เราทำอะไร เพราะขาดอะไรในเชิงโครงสร้างอันแสนยิ่งใหญ่ แต่เราตั้งต้นจากสิ่งที่ตัวเองอยากให้มี เราสนใจสิ่งนี้ ทำสิ่งนี้ได้ เราก็ทำ”

ประโยคนี้เป็นของ มุก-มุกดาภา ยั่งยืนภราดร บรรณาธิการต้นฉบับภาษาไทยแห่งสำนักพิมพ์ซอย และผู้ดูแลหนังสือในซีรีส์ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย | Damned Be Patriarchy

“คิดว่านี่คงเป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวกับเวลาเราถามว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร การทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่มันเป็นการเมืองหรือการเคลื่อนไหว บางทีมันอาจไม่ได้เริ่มมาจากอะไรที่ใหญ่โตมากๆ อย่างการขับเคลื่อนสังคม แต่มันเกิดจากสิ่งที่เป็นส่วนตัวมากๆ ก่อน แล้วสะท้อนไปสู่คนรอบตัว สู่สังคม สู่แวดวงที่มันกว้างขึ้นตามลำดับ” มุกพยักหน้าเบาๆ ช่วยปูทางไปสู่หัวข้อสนทนาลำดับถัดไปให้เราได้พอดิบพอดี

เจน (ซ้าย) เพลิน (ขวา) ขณะทำงานในสตูดิโอ

02 เพราะหนังสือคือการเมือง

เมื่อพูดถึงหนังสือกับการเมือง ตลกร้ายเรื่องแรกๆ ที่เรานึกถึงกลับเป็นการ ‘ห้ามอ่าน’ โดยรัฐบาล

ก่อนจะมาสัมภาษณ์ เราลองค้นหาคำว่า ‘สิ่งพิมพ์’ ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเพื่อจะมองหานโยบายสนับสนุนสิ่งพิมพ์ของภาครัฐ แต่สิ่งที่พบกลับเป็นคำสั่งและประกาศที่มีเนื้อหา ‘ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร’ หลายร้อยฉบับนับแต่ปี 2504 ถึง 2559 ชวนให้นึกถึงฉากในหนังสือไซไฟดิสโทเปียอย่าง 1984 ที่ผู้มีอำนาจทำให้หนังสือกลายเป็นของต้องห้าม หรือการเผาหนังสือในเรื่อง Fahrenheit 451

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามของรัฐบาลเผด็จการที่จะปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงหนังสือ ว่าแต่ทำไมเผด็จการถึงกลัวหนังสือมากขนาดนี้

“บุคลิกอย่างหนึ่งของคนที่บ้าอำนาจก็คือเขาอยากจะให้คนใต้ปกครองพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองในแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างไอโอ (ย่อมาจาก Information Operation หน่วยปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐบาล) จะเห็นว่าวิธีการพูด ชุดของคำ มันจะจำกัดมากๆ เลย เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ผู้นำอยากเห็น

“เผด็จการคงกลัวหนังสือ กลัวการอ่าน เพราะการอ่านทำให้คนผลิบานได้ สามารถทำให้ผู้อ่านอธิบายประสบการณ์ตัวเองต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกับที่ผู้มีอำนาจอยากให้อธิบาย อย่างเช่น ประชาชนเริ่มไม่รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องอยู่ใต้อะไรอีกต่อไป อะไรทำนองนี้” เจนตอบพร้อมกับรอยยิ้มบางๆ

อย่างไรก็ตาม ในโลกที่ผู้คนเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว การห้ามเผยแพร่หนังสือหรืออะไรที่เป็นรูปเล่มของชนชั้นนำนั้นย่อมไม่เป็นผลอีกต่อไป อย่างที่ เกด-ภาอรุณ ชูประเสริฐ ผู้จัดการซอยสตูดิโอบอก “เขาอาจจะลืมนึกไปว่ายังมีการแชร์ การแพร่กระจายไฟล์หนังสือต้องห้ามพวกนี้อยู่เรื่อยๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นชุดความรู้พวกนี้ไม่ได้หายไป และคนก็ดึงมาอยู่ในการรับรู้ทุกวัน”

เหล่า ‘แรงงานหนังสือ’ ไม่ได้มีทีท่ารังเกียจรังงอนสื่อใหม่ที่ใครๆ ก็บอกว่าจะเข้ามาแทนที่หนังสือแต่อย่างใด เพราะพวกเขาเชื่อว่าสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียอาจเข้ามาแทนที่ความสดใหม่ ทันเหตุการณ์ของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร “แต่สำหรับหนังสือซึ่งเป็นสื่อที่อนุญาตให้เราใช้เวลาทำงาน ใช้เวลาผลิตเนื้อหาที่เรียกร้องเวลาในการซึมซับเข้าไปเช่นเดียวกัน เราว่ามันก็ยังทำงานขนานไปอยู่นะ” เจนอธิบาย

“บางคนมักจะกลัวว่าการมีอยู่ของสิ่งหนึ่งมันจะไปลดทอนหรือทำลายการมีอยู่ของอีกสิ่งหนึ่ง แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้นเลย เรามองว่าการมีอยู่ของโซเชียลมีเดียหรืออะไรก็แล้วแต่ มันไปเพิ่มพูนต่างหาก มันทำงานไปพร้อมๆ กันได้ เพราะมันช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนหรือการถ่ายโอน การรีวิว มันเร็วขึ้น”

เป็นอินเทอร์เน็ตนี่เองที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือกับการเมืองไป

ในอดีต สื่อมีอยู่อย่างจำกัด หนังสือโดยเฉพาะวรรณกรรมและบทกวีจึงมีบทบาทสำคัญมากในทางการเมือง ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลาฯ 2519 คนก็มักจะนึกถึงหนังสือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ‘ใบไม้ที่หายไป’ ของจิระนันท์ พิตรปรีชา หรือบทกวีที่มีท่อน ‘ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมายฯ’ ของวิทยากร เชียงกูล เรียกว่าตัวหนังสือเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของการเคลื่อนไหวในยุคสมัยนั้นก็คงได้ แต่ปัจจุบันอาจไม่มีหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดที่ทำหน้าที่นั้นอีกต่อไป 

“สภาพทางสังคมในตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกัน เราคิดว่าตอนนี้มันมีตัวแทนของการเคลื่อนไหวเยอะมาก มันไม่ใช่แค่หนังสือ มันมีสิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต มันมี TikTok ด้วย มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำงานไปด้วยกัน และทุกอย่างก็จุดประกายได้ทั้งหมดเลย

“เราเองไม่เชื่อว่ามันจะมีเล่มใดเล่มหนึ่งที่เป็นตัวแทน เราเชื่อว่าแต่ละคนหยิบฉวยสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเล่มที่ทำงานและสำคัญกับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันหรอก ไม่มีคัมภีร์ หรือสิบเล่ม ร้อยเล่มที่ควรอ่าน” เจนบอก

มุกเองก็เห็นด้วยว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีชิ้นส่วนของการเมืองแทรกอยู่ในทุกที่ และมีนักเขียนหรือศิลปินจำนวนมากหยิบเรื่องการเมืองใส่ลงไปในงานที่ทำ “เรารู้สึกว่าเศษเสี้ยวของประสบการณ์ ความทุกข์ทน ความโกรธแค้นที่มันกระจายอยู่ในงานแต่ละชิ้นต่างหาก ซึ่งพอมารวมกันแล้วมันเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นประจักษ์พยานของยุคสมัย สมมติว่าอีกสิบปีคุณกลับมาอ่านงานชิ้นนี้ คุณก็จะได้รู้ว่าตอนนั้นมันมีความเจ็บแค้นถึงเพียงนี้เลยนะ”

ถ้าซูมเข้าไปจะเห็นว่าหนังสือที่กลางโต๊ะคือ ‘ประวัติศาสตร์นักทำหนังสือกบฏ (ฉบับใต้ดิน)’ โดยวาด รวี สำนักพิมพ์ openbooks

03 การแปลจึงเป็นการเคลื่อนไหว

ทีมซอยเชื่อว่าการแปลเป็นการขับเคลื่อนสังคม เพราะว่าการแปลคือการเลือก มันคือ Criticism in Action เสมอ ตั้งแต่การเลือกหนังสือมาแปลไปจนถึงการเลือกสรรคำที่ใช้ในการแปล บางครั้งเราสร้างใหม่ บางครั้งการร้อยตัวบทให้หนาขึ้น มันเป็นการเลือกว่าอยากให้แนวคิดแบบไหนมาปรากฏและพูดคุยกับคนในสังคมขณะนั้น

เจนยกตัวอย่างว่า ในยุคสมัยที่ภาษาไทยยังไม่มีคำว่า ‘อิสรภาพ’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ใช่ว่าคนไทยจะไม่เคยรู้สึกอิสระ หรือไม่มีแนวคิดเรื่องการฟังเสียงข้างมากมาก่อน เพียงแต่ตอนนั้นอาจจะยังไม่มีคำอธิบายออกมาเป็นภาษา ทำให้ยากที่คนจะเรียกร้องถึงสิ่งที่มองไม่เห็น ยากที่แนวคิดจะฝังรากลึกในวัฒนธรรม หน้าที่ของการแปลและการเขียนจึงเป็นการสร้างคำหรือเรื่องราวขึ้นมาเป็นหน้าตาให้แนวคิดที่เป็นนามธรรม ทำให้คนหลายคนสื่อสารและร่วมจินตนาการถึงสิ่งเดียวกันได้

“อย่างในเวลานี้ที่คนกระตือรือร้นและสนใจเรื่องการเมือง เราจะเห็นว่ามันก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองออกมา” เจนบอก ทำให้เรานึกถึงหนังสือเรื่อง Common Sense ของโทมัส เพน หนังสือซึ่งตั้งคำถามถึงระบอบการปกครองเล่มนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1776 แต่เพิ่งถูกหยิบมาแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape ในชื่อ ‘สามัญสำนึก’ เมื่อต้นปี 2020 น่าสนใจที่หนังสือที่มีอิทธิพลต่อขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในอเมริกาเมื่อกว่าสองศตวรรษที่แล้ว พอแปลถูกที่ถูกเวลาก็ยังคงทำงานได้อย่างดีกับสังคมอีกซีกโลกหนึ่ง ในอีก 200 ปีต่อมา

รวมบทความของฮิโตะ ชไตเยิร์ล (ซ้าย) เป็นหนังสือเล่มเปิดตัวของสำนักพิมพ์ซอย

ในความเห็นของเจน “การแปลไม่จำเป็นต้องหมายถึงแค่การแปลตัวบทจากภาษาหนึ่งมาสู่อีกภาษาหนึ่ง แต่การเลือกเล่าเรื่องในภาษาเดียวกัน แต่ผ่านคนละวัฒนธรรม คนละอุดมการณ์ทางการเมือง ก็เป็นการแปลเช่นกัน” ดังนั้นเวลาสื่อเลือกว่าจะนำเสนอ หรือไม่นำเสนอเรื่องอะไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหนก็นับเป็นการแปล และเป็นการเมืองเช่นกัน

“เวลาพูดคำว่าตัวกลาง สื่อ หรือกระบอกเสียง คนมักจะรู้สึกว่าตัวกระบอกเนี่ยมันไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วตัวสื่อทุกอย่าง มันย่อมมีความเชื่อ มีจุดยืนทางการเมืองปะปนอยู่ และเราคิดว่าสื่อไม่ควรจะปกปิดว่ามันมีกระบวนการเลือกเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซอยเองพยายามจะทำให้เห็นชัดว่าตัวเลือกของเราวางอยู่บนอะไรบ้าง จุดยืนของเราคืออะไร เราจึงทำสิ่งที่มันเรียกว่าการอ่านภาคขยาย ใส่แหล่งอ้างอิงเข้าไปในรูปแบบคิวอาร์โค้ดท้ายเล่มหนังสือที่เราแปลให้คนอ่านไปค้นต่อได้ เพื่อที่จะชวนให้เขาคิดและเห็นสิ่งนี้ชัดมากขึ้นได้อีกทาง”

เจนเล่าว่า การเลือกใช้คำเพื่อบิดเบือนความหมายเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจหยิบมาใช้อยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ภาษาในการสื่อสารของรัฐบาลทุกวันนี้

“คำที่รัฐบาลใช้อย่าง ‘หมอพร้อม’ ‘เราชนะ’ ‘ไทยชนะ’ ทั้งหมดนี้เป็นคำของการกดปราบประชาชนทั้งนั้น มันเป็นคำของการควบคุม แต่รัฐพยายามจะทำให้มันเบาบางประหนึ่งมาชวนประชาชนมาร่วมทำอะไรกัน แต่กลับไม่ได้ให้อำนาจอะไรแก่ประชาชนเลย ไม่แม้แต่จะดูดำดูดีด้วยซ้ำ

“ทั้งหมดนี้เราต้องไม่ยอมให้กลายเป็นแค่การใช้สำบัดสำนวนของคนชั้นนำ เรามองว่าแต่ละคนมีการใช้ภาษาอธิบายประสบการณ์ที่ตัวเองเจอในแบบที่แตกต่างกันออกไป เราว่าการสำแดงทางอำนาจผ่านภาษามันค่อนข้างเงียบเชียบ หลายครั้งมันเลยทำงานในแบบที่ไม่ค่อยโดนคนโต้แย้ง เพราะหน้าตาของความรุนแรงมันไม่โจ่งแจ้ง แน่นอนว่าสิ่งที่รัฐทำมันชัดเจนตำตาเรา แต่ยังมีความรุนแรงของการผูกขาดความรู้ การจำกัดภาษาในการอธิบายประสบการณ์และการเรียนรู้ 

“เราคิดว่าไม่ควรมีใครชี้นิ้วบอกว่าใครต้องพูดแบบไหน ควรอ่านสิ่งหนึ่งแบบไหน ออกเสียงแบบโน้นแบบนี้ถึงจะถูกต้อง เพราะความถูกต้องมันก็วางอยู่บนการสถาปนาอะไรหลายอย่าง คำถามคือเราจะมองเห็นความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ในการถมช่องว่างระหว่างความจริงและภาษาไปพร้อมๆ กันยังไงดี เราเลยมองว่าการตีความอะไรพวกนี้ก็แฝงประเด็นการแปลนะ การแปลจึงไม่ได้จำกัดแค่การเอาตัวบทจากภาษาหนึ่งมาสู่อีกภาษาหนึ่งเสมอไป คุณไปเจอเหตุการณ์เหมือนกัน แต่คุณก็แปลต่างกันแล้ว”

หลังจากคุยกันถึงความเชื่อและจุดยืนของสื่อ เราจึงอดถามไม่ได้ว่าทางซอยเองมีวิธีคิดอย่างไรในการเลือกหนังสือมาแปล

มุกเล่าถึงกรณีหนังสือชุด พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย | Damned Be Patriarchy ที่เธอดูแล ว่านอกจากความสนใจของคนในทีมแล้วการเลือกแปลหนังสือในชุดนี้และชุดอื่นๆ ล้วนมีที่มาจาก “ความต้องการจะเปิดพื้นที่ให้กับความรู้ชุดใหม่ๆ”

“แม้ว่าคำว่าเฟมินิสต์หรือการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศมันอาจจะไม่ได้ใหม่ในไทย แต่ภายใต้คำที่มันฟังดูไม่ใหม่นี้ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา”

เราอาจจะคุ้นชินกับองค์ความรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่พัฒนาขึ้นโดยนักคิดผู้หญิงชาวตะวันตก จนอาจเข้าใจไปว่ามันเป็นวิธีคิดเดียวที่ถูกต้อง แต่เจนเล่าว่า จริงๆ แล้วแม้แต่องค์ความรู้ที่เรามองว่าเป็นวิชาการเป็นความถูกต้อง ก็ขึ้นกับเชื้อชาติ เพศ และประสบการณ์ของนักคิดคนนั้นๆ เช่นกัน 

ในบรรดาแนวคิดเรื่องเฟมินิสต์ก็มีแนวคิดกระแสรองที่มาจากคนเชื้อชาติหรือเพศอื่นด้วย การเปิดพื้นที่ให้กับวิธีคิดแบบอื่นๆ เหล่านี้จึงสำคัญ

ซอยไม่ได้หวังให้หนังสือแมสในทันทีที่แปลออกมา แต่พวกเขาตั้งจะทำให้หนังสือที่น่าสนใจ ‘มีอยู่’ บนแผงหนังสือไทย ถ้าวันใดมีใครสักคนที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องนี้ในภาษาไทย คนคนนั้นจะได้มีหนังสือของซอยเป็นตัวเลือกหนึ่ง

“เวลาที่ผู้อ่านได้อ่านตัวบทแต่ละชิ้น มันก็ฟูมฟักเขา มันก็ทำให้ความรู้ วิธีคิด วิธีการใช้ภาษาค่อยๆ ขยับเปลี่ยนไปตามการเรียนรู้ การเติบโตของแต่ละคน และอาจจะเข้ามาช่วยให้บทสนทนาหรือว่าวัฒนธรรมการวิพากษ์ในประเทศนี้มันรุ่มรวยขึ้น” มุกหวังไว้อย่างนั้น

04 หนังสือเมื่อคราวห่าลง

ในช่วงที่มีโรคระบาดแบบนี้ คำถามสำคัญของสังคมต่อคนทำหนังสือคงไม่พ้นคำถามที่ว่า ทำไมถึงยังทำหนังสือซึ่งไม่ใช่ปัจจัยสี่ หรือทำไมคนต้องซื้อหาหนังสือมาอ่านในวันที่หลายครอบครัวอาจไม่มีเงินซื้อข้าวกินด้วยซ้ำ

เจนบอกเราว่า นี่เป็นคำถามสำคัญที่คนในวงการหนังสือเองก็ถามตัวเองอยู่เช่นกัน

“เพื่อนที่เป็นคนเขียนหนังสือก็ถามตัวเองว่า เขาต้องเขียนอะไรในตอนนี้ เขาควรจะเขียนไหม แล้วเขาเขียนได้ไหม เขามีสิทธิ์ไหมที่จะนั่งลงเฉยๆ แล้วก็เขียนในสิ่งที่มันเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะจับต้องไม่ได้ในภาวะที่คนอื่นทุกข์ร้อน

“เรารู้สึกว่ามันไม่แปลกที่นักเขียนจะรู้สึกแบบนั้น เพราะเราเองก็เชื่อว่าการทำงานเกี่ยวกับหนังสือหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้มันไม่ได้ไปช่วยเรื่องปากท้องใครโดยตัวมันเอง แต่เราก็ตั้งใจที่จะส่งต่ออะไรบางอย่าง บอกว่าหวังว่าเราจะเรียนรู้สิ่งนี้ร่วมกัน และถึงจุดหนึ่ง เราก็จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีก แต่มันก็ยากมากเลยเพราะเรามักจะทำความฉิบหายซ้ำซากในประวัติศาสตร์ (หัวเราะ)”

ส่วนมุกเห็นว่า นอกจากจะเป็นปัญหาของวงการหนังสือแล้ว สภาวะที่คนต้องเลือกระหว่างความรู้กับมื้ออาหาร ยังสะท้อนไปถึงการจัดการของรัฐอีกด้วย

“เปรียบเทียบค่าครองชีพของประเทศเรากับประเทศอื่นๆ บางประเทศเขาทำงานแค่ชั่วโมงเดียว เขาก็ซื้อหนังสือได้หนึ่งเล่มแล้ว ในขณะที่ประเทศเรา ต้องทำงานทั้งวันถึงจะได้หนังสือหนึ่งเล่ม ซึ่งหลายๆ ครั้งมันก็จะไปไม่ถึงหนังสือเพราะว่าบางคนก็ต้องเอาเงินไปกินข้าว ไปดูแลครอบครัวต่างๆ

“มันเป็นปัญหาที่คนทำหนังสือคงแก้เองไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็อยู่ที่ว่าการจัดการของรัฐมันดีแค่ไหนด้วย แล้วก็เขาเปิดโอกาสในเชิงเศรษฐกิจให้คนเข้าถึงสิ่งที่เลยพ้นไปจากปัจจัยสี่ในการใช้ชีวิตแค่ไหน”

เมื่อเราถามว่าแล้วรัฐบาลควรจะเข้ามาช่วยพัฒนาวงการอย่างไร จะให้ความสำคัญกับหนังสือได้บ้างไหมจ๊ะ เพ้นท์-ชญานิน ไทยจงรักษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ ก็ตอบแทบจะทันที

“อย่างแรกเลยก็คือรัฐบาลต้องเห็นความสำคัญก่อน”

เพ้นท์เล่าว่า วงการหนังสือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยผลิตสร้างความรู้ หากปล่อยให้อุตสาหกรรมนี้ดำเนินไปตามกลไกตลาดล้วนๆ โดยที่รัฐบาลไม่เข้ามาสนับสนุน วงการหนังสืออาจจะอยู่ได้ แต่ราคาของหนังสือจะเป็นกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงความรู้ของบางคนในสังคมอยู่เรื่อยไป ซึ่งอาจไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่จะกระทบคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในระยะยาว

เพลิน-ปาลิน อังศุสิงห์ บรรณาธิการต้นฉบับภาษาอังกฤษแห่งซอยวรรณกรรม

“เวลาคุยงานกับต่างประเทศ เราจะเห็นว่าเขาได้เปรียบกว่าเรามากขนาดไหนที่จะเลี้ยงตัวเองอยู่ในสายอาชีพนี้” เพ้นท์บอก ก่อนจะส่งให้ เพลิน-ปาลิน อังศุสิงห์ บรรณาธิการต้นฉบับภาษาอังกฤษแห่งซอยวรรณกรรม และผู้แปลหนังสือ ‘จุติ’ ของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ ซึ่งได้คุยงานกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งอธิบายต่อ

“การที่นักแปลจะแปลหนังสือให้คุณภาพดี จำเป็นต้องเป็นคนที่อ่านมาเยอะเรียนมาเยอะ งานแปลจึงมีต้นทุนสูงมาก บางทีสำนักพิมพ์ต่างประเทศก็ไม่สามารถจ้างนักแปลเองได้ อย่างที่เกาหลี รัฐบาลเขาเลยมีทุนในการแปลหนังสือเยอะมาก แต่ที่ไทยไม่ค่อยมี เหมือนทุกคนคาดหวังให้สำนักพิมพ์ออกค่าแปลเองทั้งหมด ก็เลยอยากให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญบ้าง”

แนะนำโปรเจกต์ ‘ขบและข่วน’ ด้วยรูปการ์ตูนจาก ‘สะอาด’

มีตัวอย่างความพยายามของคนในวงการ ในการทำให้หนังสือเข้าถึงได้มากขึ้นไหม เราถาม และทุกคนก็ผายมือไปทางเกด ผู้จัดการซอยสตูดิโอ ที่เพิ่งปล่อยโปรเจกต์ ‘ขบและข่วน’ ออกมาเพื่อให้คนได้ขบคิดตั้งคำถามถึงกระบวนการทำหนังสือ

โดยทั่วไปค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายให้กับผู้เขียนเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งของสำนักพิมพ์ ‘ขบและข่วน’ ตัดต้นทุนตรงนี้ด้วยการติดต่อไปหาเจ้าของบทความ เล่าคอนเซปต์ของโปรเจกต์ให้ฟัง และขอแปลบทความของพวกเขามาพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ภายใต้สิทธิ์แบบ Creative Commons (หมายความว่าผู้อื่นสามารถนำบทความนั้นไปพิมพ์ซ้ำได้ตราบใดที่ไม่ได้เป็นการพิมพ์เพื่อค้ากำไร) นอกจากนั้นยังเปลี่ยนวิธีทำงานทั้งกระบวนการ เช่น ออกแบบปกให้เหมือนกันในทุกๆ เล่ม ร่วมมือกับโรงพิมพ์เพื่อให้ต้นทุนของกระดาษต่ำลง เลือกพิมพ์แบบตามออเดอร์เท่านั้น (On demand) เพื่อให้ไม่ต้องเสียค่าฝากขายตามร้านหนังสือ ฯลฯ ลดต้นทุนของหนังสือด้านอื่นๆ โดยไม่ลดคุณภาพของเนื้อหาภายใน

เกดเล่าให้ฟังว่า ทั้งหมดนี้ทำให้หนังสือในโปรเจกต์ ‘ขบและข่วน’ มีราคาอยู่ที่ 30 – 80 บาทเท่านั้น แน่นอนว่าโปรเจกต์นี้ไม่ได้เป็นการหวังผลในเชิงของกำไร และทำไม่ได้กับหนังสือทุกเล่ม “เมื่อเราได้เงินกลับมาก็จะหมุนกลับไปให้คนแปล ดีไซเนอร์ และคนพิมพ์ แทบไม่มีกำไร เป็นแค่วิธีหนึ่งที่คนทำสิ่งพิมพ์เองคิดขึ้นมาว่าเราจะต้องทำยังไงบ้าง ให้หนังสือมันตอบรับกับสภาพของเศรษฐกิจปัจจุบัน”

05 ถึงคุณ คุณคนอ่าน

ถ้าคนอ่านอยากช่วยคนในวงการด้วยโมเดล #เริ่มต้นที่ตัวเอง บ้าง คนอ่านจะทำอะไรได้บ้าง

“พอแล้วเถอะการช่วยกันเอง” เจนหัวเราะ

“เรารับรู้และดีใจมากที่คนอ่านอยากช่วย แต่รู้สึกว่าประชาชนทำเยอะมาก จนอยากจะถามว่า เอ๊ะ ยังไงนะ เรามีรัฐบาลเพื่ออะไร ก็เลยไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอะไรจากคนอ่าน แต่เราหวังอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราผลิตมันจะไปทำงานกับเขา แล้วเขาจะมีความเห็นหรือว่าคอมเมนต์อะไรตอบกลับมา

“ดังนั้น ขอแค่อ่านเฉยๆ อ่านต่อไป แค่นี้ค่ะ (ยิ้ม)” เจนสรุป

ส่วนมุกบอกว่า “นึกถึงแคปชันหนึ่งที่ซอยเขียนไว้ในโพสต์เรื่อง ‘ขบและข่วน’ ว่า ‘เมื่อหนังสือไปถึงมือผู้อ่านแล้ว เราจะเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ด้วยใจระทึก’ สำหรับเราแล้วมันคือแค่นั้น ในฐานะผู้ผลิตเราคงไปเรียกร้องหรือเขย่าคอให้เขาอ่านไม่ได้ แต่ว่าเราก็จะอยู่ห่างๆ แล้วรอดูว่าจะเป็นยังไงบ้าง แค่นั้น (ยิ้ม)”

เราเลยกระซิบถามเบาๆ ว่าเป็นกองดองก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ เรียกเสียงหัวเราะเบาๆ จากเหล่าแรงงานหนังสือ

“แล้วแต่เลย ไม่เป็นไร เราว่าทุกคนก็มีกองดองเป็นของตัวเองปะ เราก็มี อะไรอย่างนี้ ก็ Embrace it” มุกตอบให้เหล่าสายดองสบายใจ

สุดท้ายนี้ มีคำหรือแนวคิดอะไรที่อยากให้แมสในสังคมไทยไหม แบบที่พูดขึ้นมาแล้วทุกคนเข้าใจ

“คำว่าคนเท่ากัน” เจนตอบทันที

“เราอยากให้คำว่าคนเท่ากันมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่คำขวัญ ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องของตำแหน่ง ลาภยศ หรือว่าชาติกำเนิด หน้าตา เพศสภาพ หรืออะไรทำนองนั้นน่ะค่ะ” แน่นอนว่าเราเองก็เห็นด้วยจนหมดใจกับไอเดียนี้

“คำว่าซอยค่ะ! ทุกคนต้องได้รู้มากกว่านี้ว่าเราขับเคลื่อนกันขนาดไหน!” 

เพ้นท์ตอบบ้างอย่างจริงใจ โดยมีเสียงเจนกลั้วหัวเราะอยู่เป็นพื้นหลังว่า ‘ใช่ค่ะ อยากแมสมากเลย’

เราหวังว่านอกจากจะตอบคำถามในใจใครหลายๆ คน บทความนี้จะช่วยเพิ่มความแมสให้ซอยและแนวคิดของซอยได้บ้างนะ (หัวเราะ)

จริงอยู่ที่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านมักยากลำบากเสมอ แต่เมื่อได้เห็นประกายในดวงตาของทีมงานซอยที่ต่างก็ใส่ใจลงไปในการเคลื่อนไหวด้วยการแปลและการต่อสู้ด้วยหนังสือ เราก็มีกำลังใจขึ้นมา และเชื่อว่าเมื่อการเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ แต่ละคนมารวมกัน มันจะต้องนำพาความเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างแน่นอน ทั้งในวงการสิ่งพิมพ์ และในโครงสร้างสังคมที่ใหญ่กว่านั้น

คนที่ผ่านไปมาสามารถเห็นแสงสว่างเล็กๆ ฉายออกมาจากสตูดิโอของซอย

ภาพ : Ohm Anawat, Everyday Architect & Design Studio, ซอย soi และสะอาด

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.