สิทธิประกันสังคมของคนวัยทำงาน จ่ายเงินไปแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง - Urban Creature

สิทธิประกันสังคม

คนทำงานส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘ประกันสังคม’ กันอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ผู้มีรายได้อย่างเราๆ ต้องจ่ายทุกเดือนเพื่อสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต และรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่พึงจะได้ ซึ่งสมาชิกที่มีรายได้อาจต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสูงสุดถึง 750 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า การจ่ายเงินในแต่ละเดือนไม่ใช่แค่การรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย เช่น ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปและสิทธิทำฟัน 900 บาทต่อปีเท่านั้น แต่สิทธิประกันสังคมยังครอบคลุมถึงกรณีอื่นๆ เช่น คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตร หรือว่างงานด้วย

วันนี้คอลัมน์ Curiocity จึงอยากอาสาพาทุกคนไปไขข้อข้องใจว่า ‘ประกันสังคม’ ที่เราถูกหักเงินไปทุกๆ เดือนคืออะไร จ่ายไปแล้วจะได้สิทธิประโยชน์อะไรกลับคืนมาบ้าง และในปี 2023 สิทธิประกันสังคมมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง จะได้วางแผนและเตรียมใช้สิทธิ์กันได้ทัน 

ประกันสังคมคืออะไร ใครจำเป็นต้องจ่ายบ้าง

สิทธิประกันสังคม

‘ประกันสังคม’ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้ที่จ่ายเงินสมทบเข้า ‘กองทุนประกันสังคม’ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม (Social Security Office) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ซึ่งในประเทศไทยมีการแบ่งผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคมออกเป็น 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยใช้เกณฑ์การแบ่งดังนี้

1) ผู้ประกันตน มาตรา 33 : ลูกจ้างในตลาดแรงงานที่ได้รับเงินเดือนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกหักเงินสมทบประกันสังคมจากเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือนเข้าสู่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง โดยคิดเป็นเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท ไปจนสูงสุดถึงเดือนละ 750 บาทตามอัตราเงินจ้าง เพื่อรวมกับเงินสมทบจากนายจ้างจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ และจากรัฐบาลอีก 2.75 เปอร์เซ็นต์สำหรับสิทธิประกันสังคม

ซึ่งจำนวนเงินสูงสุด 750 บาท จะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • 225 บาท สำหรับดูแลเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ที่หากไม่ใช้สิทธิ์จะไม่ได้รับเงินคืน
  • 75 บาท สำหรับประกันการว่างงาน ที่สามารถรับได้ในระหว่างที่หางานใหม่ แต่หากไม่มีช่วงว่างงาน เงินส่วนนี้จะไม่ได้รับคืนเช่นเดียวกัน
  • 450 บาท สำหรับเก็บเป็นเงินออม ที่จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี 

2) ผู้ประกันตน มาตรา 39 : อดีตผู้ประกันตนที่ออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือน และต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมเดิมที่เคยได้ในช่วงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้

กลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องนำส่งเงินจำนวน 432 บาทต่อเดือน ทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ในทันที

3) ผู้ประกันตน มาตรา 40 : บุคคลประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบตั้งแต่อายุ 15 – 65 ปีบริบูรณ์ ที่ไม่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ

การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 40 ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ สามารถเลือกจ่ายได้ตั้งแต่ 70, 100 และ 300 บาทต่อเดือน เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป

จ่ายแล้วได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

สิทธิประกันสังคม

เชื่อว่ายังมีหลายสิ่งเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมที่หลายคนอาจไม่รู้ แถมในแต่ละมาตรายังมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน จนอาจทำให้ผู้ประกันสังคมพลาดสิทธิและเงินที่ควรได้ในแต่ละปี โดยสิทธิประโยชน์มีสูงสุดถึง 7 กรณี ดังนี้

1) กรณีเจ็บป่วย 

ในการยื่นเป็นผู้ประกันตนในมาตราต่างๆ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องกรอกคือ ‘สถานพยาบาลประกันสังคม’ ที่ผู้ประกันตนสามารถเลือกให้สอดคล้องไปกับที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพและการรักษาในกรณีเจ็บป่วยปกติได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD)

และหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลรัฐและเอกชนได้โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

รวมถึงในส่วนของทันตกรรมที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าสามารถใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ได้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี ความจริงแล้วประกันสังคมยังครอบคลุมไปถึงการทำฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน และฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก เป็นวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

2) กรณีคลอดบุตร

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ค่าตรวจและฝากครรภ์สูงสุด 1,500 บาท โดยไม่จำกัดสถานพยาบาล จำนวนบุตร และครั้งในการเบิก พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง) 

3) กรณีทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ไม่เกิน 180 เดือน ในกรณีทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง ส่วนหากเกิดการทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ผู้ทุพพลภาพยังสามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีเจ็บป่วยปกติและฉุกเฉินวิกฤต รวมไปถึงค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจและอาชีพไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย

4) กรณีเสียชีวิต

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะรับเงินสงเคราะห์ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท แต่ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมากกว่า 120 เดือนขึ้นไป จะรับเงินสงเคราะห์ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท

5) กรณีชราภาพ

ผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนลงในระหว่างจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน หรือ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) จะสามารถรับ ‘เงินบำเหน็จชราภาพ’ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด แต่หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเป็น ‘เงินบำนาญชราภาพ’ รายเดือนตลอดชีวิต

6) กรณีสงเคราะห์บุตร

ผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาทต่อเดือน ครั้งละไม่เกิน 3 คน

7) กรณีว่างงาน

ในกรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน จะมีสิทธิ์รับเงินทดแทน 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน และรับ 45 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง รวมไปถึงรับเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน จากกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

ซึ่งผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 7 กรณี ส่วนในมาตรา 39 และ 40 จะได้ความคุ้มครองที่ลดหลั่นกันไปตามการส่งเงินสมทบในแต่ละเดือน 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมได้ที่ t.ly/Em6x

ปี 2023 สิทธิประกันสังคมมีอะไรเพิ่มบ้าง

สิทธิประกันสังคม

แม้ว่าสิทธิประกันสังคมที่ได้รับหลังจากจ่ายเงินสมทบในทุกๆ เดือนจะไม่ได้มากเมื่อเทียบกับประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตราคาแพงที่เราแต่ละคนต้องสมัครเพื่อสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้นด้วยตัวเอง แต่ก็ถือว่าสิทธิประกันสังคมยังครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับเอาไว้ประมาณหนึ่ง

แต่เพื่อปรับให้ครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากกว่าเดิม เมื่อต้นปี 2023 ทางสำนักงานประกันสังคมและรัฐบาลจึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมบางรายการเข้ามา 

นั่นก็คือโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุก ที่ให้ประชาชนค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจได้ฟรี ในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร 

เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการผ่าตัดและการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี โรคหลอดเลือดสมอง รวมไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดตามโรงพยาบาลที่กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่อง ลดการรอคอยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ 

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของที่อยู่อาศัย สำนักงานประกันสังคมร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้จัดตั้งโครงการสินเชื่อผู้อยู่อาศัยกับผู้ประกันตน มาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ตามการพิจารณาและดุลยพินิจของธนาคาร ได้ตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2565 ถึง 19 ธันวาคม 2566 หรือจนครบวงเงินที่ได้อนุมัติโครงการ

Sources :
Finnomena | t.ly/-wrm
PPTV | t.ly/gDrgr
แผ่นพับกองทุนประกันสังคม | t.ly/Em6x
สำนักงานประกันสังคม | www.sso.go.th/wpr

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.