เมืองสัตว์ๆ ออกแบบกรุงเทพฯ เพื่อ Urban Wildlife - Urban Creature

ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่มนุษย์ แต่ยังมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเมือง หลายครั้งที่มนุษย์หลงลืมไปว่ามีพวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเรา จนสัตว์เหล่านั้นต้องดิ้นรนอยู่อาศัยกันแบบผิดแปลกไป แถมยังสร้างปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าให้ยกตัวอย่าง เอาที่เห็นชัดๆ ก็หมาแมวที่ทุกวันนี้เราทรีตพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็ยังมีมนุษย์ใจร้ายทิ้งพวกมันให้เร่ร่อนและใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ หรืออย่างกระรอกที่มนุษย์ให้ร้ายพวกมันว่าบุกรุก แถมยังกัดสายไฟจนพังพินาศ ทั้งที่จริงแล้ว พวกมันเป็นนักฝังเมล็ดพืชตามที่ทางต่างๆ จนออกดอกผลมากมาย และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่แพ้ใคร

เราเลยลองดีไซน์ที่ทางให้เหล่าสัตว์น้อยๆ ในเมืองใหญ่ เพื่อสร้างสมดุลให้คนกับสัตว์อยู่ร่วมกันได้อย่างดี ลองคิดดูว่าวันหนึ่งกระรอกปีนสายไฟน้อยลงแล้วจะเป็นยังไง นกพิราบไม่ไปวอแวชาวบ้านแล้วจะดีขึ้นไหม ตามคอลัมน์ Urban Sketch มาเลย!

พื้นที่สีเขียวเพื่อกระรอก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สัตว์ที่อาศัยในเมืองส่วนใหญ่นำมาซึ่งปัญหามากมาย เพราะเมืองของเราขาดพื้นที่สีเขียวและการจัดการที่ดี ไอเดียง่ายๆ แต่ได้ผลอย่าง ‘สวนสำหรับเหล่าสัตว์’ จึงแวบเข้ามาในหัวเรา

เริ่มที่ ‘กระรอก’ สัตว์ตัวน้อยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนควบคุมยาก แถมยังกลายเป็นสัตว์ป่าในเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ นำมาซึ่งเรื่องชวนกุมขมับจนออกข่าว ‘กระรอกเกลื่อนกรุง วิ่งกันพล่านบนสายไฟ ช็อตทีดับทั้งบาง’ หลายต่อหลายครั้ง

ทางออกที่ดีที่สุด คือการออกแบบโดยหยิบการสร้างพื้นที่สีเขียว และต้นไม้ใหญ่เยอะๆ ให้พวกมัน เพราะนั่นคือแหล่งที่อยู่ และอาหารชั้นดี ซึ่ง The Squirrel Census ทีมสำรวจกระรอกแห่งนิวยอร์ก เคยออกสำรวจกระรอกและพบว่าส่วนใหญ่พวกมันชอบกระจุกอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ นั่นแปลว่า ยิ่งเมืองมีสวนอันร่มรื่นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อใจกระรอกมากเท่านั้น 

นอกจากดีต่อกระรอกแล้ว ยังดีต่อเมือง เพราะจะลดปัญหาพวกมันวิ่งปีนไต่สายไฟได้อย่างเป็นรูปธรรม อาจเติมความสนุกในสวนด้วยของเล่น ชิงช้า ราวปีนป่ายเข้าไปในสวนเพื่อให้กระรอกไม่เครียดก็น่าลองทำดู ที่สำคัญมนุษย์ก็อย่าเผลอไปให้อาหารพวกมันล่ะ เพราะนั่นจะทำให้กระรอกนิสัยเสียเอาได้

นกพิราบ Staycation

นกพิราบในเมืองใหญ่ สร้างปัญหาวุ่นวายไม่รู้จบ เอาเข้าจริงจะโทษพวกมันอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะแหล่งอาหารบุฟเฟต์ชั้นดีอย่างตลาดสดที่จัดเก็บไม่เรียบร้อย กลายเป็นโรงครัวของฝูงนกและแหล่งสะสมเชื้อโรคไปโดยปริยาย แถมตึกสูงมักเป็นที่อยู่ของนกพิราบชื่นชอบ ชวนให้ชาวเมืองปวดหัวไม่รู้จบ

และเป็นอันรู้กันว่า ต่อให้หาวิธีกำจัดพวกมันแหวกแนวแค่ไหน ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี! เราเลยนึกถึงการออกแบบที่อยู่สำหรับนกพิราบเพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น อย่างคอนโดนกพิราบ (Dovecote) ที่ออกแบบเป็นโดมขนาดพอดีไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป มีช่องสำหรับให้นกได้บินเข้าออกง่ายๆ ให้อยู่เป็นที่เป็นทางผนังด้านในก็เจาะเป็นช่องเล็กๆ ให้พวกมันได้ใช้นอนตอนกลางคืน 

ถ้าอยากให้นกพิราบเข้ามาอยู่เยอะแค่ไหน ก็สร้างคอนโดให้มีขนาดใหญ่มากเท่านั้น ซึ่งตำแหน่งเหมาะกับการสร้างคือบริเวณชานเมือง หรือพื้นที่โล่งที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะอย่าลืมว่าพวกมันเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และเป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตมาแล้ว

เมื่อนกพิราบเริ่มอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ทีนี้ก็ง่ายต่อการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายรัง เก็บไข่นกพิราบเพื่อนำไปควบคุมประชากร หรือจะเก็บขี้นกไปทำปุ๋ยก็ได้ไม่ว่ากัน เพราะว่ากันว่าขี้นกพิราบ คือปุ๋ยชั้นดีสำหรับเกษตรกร

ให้ผึ้งได้ใกล้ชิดคน

‘ถ้าผึ้งหายไปจากโลกเมื่อไหร่ วันนั้นมนุษย์จะอยู่ยากแน่นอน’ คำกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเมื่อกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ผึ้งตายยกรังอยู่บ่อยครั้ง จนนักวิชาการมองว่าผึ้งน้ำหวานจะเข้าสู่สถานะเสี่ยงสูญพันธุ์!

ผึ้งไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้น้ำผึ้งอันหอมหวานเท่านั้น แต่ยังช่วยผสมเกสรให้กับพืชที่เป็นอาหารของคน แถมคุณภาพของน้ำผึ้งสามารถชี้วัดปริมาณมลพิษในพื้นที่ได้ ลองคิดดูว่าถ้าผึ้งหายไป ผัก ผลไม้ และดอกไม้ก็จะหายตามไปด้วย ไอเดียออกแบบสนุกๆ เพื่อคนรักผึ้งและเมืองจึงเกิดขึ้น

เราคิดถึงไอเดีย ‘กล่องเลี้ยงผึ้ง’ ที่แยกพื้นที่อยู่อาศัยออกจากส่วนที่ผึ้งใช้ในการเก็บกักน้ำหวานดอกไม้ ทำให้ไม่ต้องเป่าควันไล่ผึ้ง และไม่ไปรบกวนตัวอ่อนในรัง อาจดีไซน์ให้เป็นกล่องที่มีระบบนิรภัยหลายชั้น และมีส่วนที่เป็นกระจกให้คนได้เห็นวิถีชีวิตผึ้ง เหมาะให้เด็กๆ มาเปิดโลกการเรียนรู้ และยังได้ใกล้ชิดผึ้งมากขึ้น ในสวนอาจจะปลูกดอกไม้ให้ผึ้งได้มาผสมเกสร ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ขายโปรดักต์เกี่ยวกับผึ้งได้เช่นกัน

ให้เหี้ยได้อยู่เป็นที่ทาง

ตัวเงินตัวทอง ที่หลายคนเรียกชื่อเล่นน้องว่า ‘เหี้ย’ คือสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ มักอาศัยใกล้แหล่งน้ำและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ปรับตัวเก่งทั้งสถานที่สะอาดยันสกปรก แถมยังรับบทเป็นนักกำจัดซากสัตว์ต่างๆ ในเมือง 

หลากปัญหาจากเหี้ยที่เกิดขึ้น เช่น เดินกลางถนนไม่สนสี่สนแปด บุกบ้านคนจนทำเอาแตกตื่น หรือเข้าไปกวนใจนักวิ่งสวนลุมฯ จนหนีแทบไม่ทัน ก็มาจากการที่บ้านเราไม่ได้ศึกษาถึงพฤติกรรมของพวกมันอย่างจริงจัง ตรงไหนมีเหี้ยเยอะก็จับพวกมันย้ายไปอีกที่หนึ่ง พอที่นั้นๆ เริ่มแออัดก็ย้ายพวกมันไปอีกที่หนึ่งวนลูปไป ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ไม่ยั่งยืน

เราเลยอยากทดลองปรับโฉมแหล่งที่อยู่ของพวกมันตามสวนสาธารณะที่มีแหล่งน้ำ และคูคลองให้มีลูกเล่นขึ้น อย่างแท่นหรือบาร์สำหรับอาบแดด เพราะเหี้ยเป็นสัตว์เลือดเย็นที่ต้องคอยปรับอุณหภูมิในร่างกายอยู่ตลอดเวลา และต้องใช้ความร้อนมาช่วยย่อยอาหาร 

รวมถึงออกแบบกอไม้หรือจอมปลวกเทียมเพื่อเป็นพื้นที่ให้เหี้ยได้วางไข่และหลบภัย เพื่อง่ายต่อเจ้าหน้าที่ในการจัดการและควบคุมประชากรเหี้ย ซึ่งการออกแบบที่ทางให้พวกมันจะช่วยลดอัตราการป๊ะหน้ากันระหว่างเหี้ยกับคนได้บ้าง

Dog & Cat Shelter เพื่อหมาแมวจรจัด

มนุษย์และเมืองทรีตหมาแมวจรจัดเป็นสัตว์เลี้ยง นั่นแปลว่าการใช้ชีวิตของพวกมัน จึงจำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์เป็นหลัก ซึ่งการไม่ดูแลเอาใจใส่ หรือปล่อยให้น้องหมาน้องแมวต้องเร่ร่อน ก็มีแต่จะส่งผลเสียแบบที่คาดเดาได้

จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ปี 2559 รายงานว่า ประเทศเรามีหมาแมวจรจัดรวมกันกว่า 1.2 ล้านตัว การจัดตั้ง ‘ศูนย์พักพิง’ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งเหมาะกับสังคมไทยบ้านเรา (แม้จะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดก็ตาม)

ศูนย์พักพิงสัตว์ทั่วไปนั้นอาจเป็นที่ให้ข้าวให้น้ำธรรมดาๆ ทว่าลองเติมดีไซน์ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก และสวัสดิการขั้นพื้นฐานของหมาแมวดูก็คงจะดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นโซนสำหรับอุปถัมภ์ คลินิกสะอาดสะอ้าน มีบริการครบวงจร ไปจนถึงมีโซนคาเฟ่เพื่อนำเงินไปพัฒนาส่วนต่างๆ ได้ คงทำให้ศูนย์พักพิงนั้นเป็นพื้นที่ของเพื่อนสี่ขาตาดำๆ อย่างแท้จริง

สุดท้ายอยากบอกว่า เรายังเห็นด้วยกับการทำหมันอย่างจริงจังเพื่อตัดปัญหาวงจรทายาทจรจัด เพราะในญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เขาเลือกปลิดชีวิตน้องๆ เพื่อความสะอาดของถนนหนทาง และในหลายประเทศก็รณรงค์ให้ประชาชนหันมารับเลี้ยงน้องๆ จากศูนย์พักพิงมากกว่าไปซื้อตัวใหม่ ซึ่งจูงใจด้วยภาษีที่ถูกกว่าหมาซื้อเลี้ยง แถมยังผ่อนผันภาษีเลี้ยงดูได้อีกด้วย


Sources :
Beeing
Greenery
Khaosod
Komchadluek
Matichon
MGR Online
Milkwood
Pettochi
Pigeon Control Resource Centre
Post Today
Solid Sprout
The New York Times








Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.