เป็นพี่ต้องเสียสละ คำสอนที่ลูกคนโตแบกไว้บนบ่า - Urban Creature

“ยอมน้องหน่อยลูก”
“ขอให้น้องเล่นก่อนนะ”
“หนูเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง”

เป็นพี่ต้องเสียสละจริงหรือ-คำถามที่คนเป็น ‘พี่’ ได้แต่เก็บเงียบไว้ในใจ เพราะไม่ว่าพี่บ้านไหนก็ล้วนถูกพ่อแม่ปลูกฝังให้ต้องเสียสละ และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนเป็นน้อง แต่หากค้นลงไปให้ลึกถึงก้นบึ้งใจ ก้อนเนื้อในอกข้างซ้ายของลูกคนโตอาจมีบาดแผลจากคำสอนที่ว่าซึ่งยังไม่หายซุกซ่อนอยู่

เปิดประเด็นเรื่องพี่น้องกับ หมอโอ๋ หรือ ผศ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร-กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกผ่านเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ถึงสิ่งที่ทำให้เชื่อว่าพี่ต้องเสียสละ ไปจนถึงผลที่กระทบต่อความสัมพันธ์ และคำแนะนำสำหรับสอนพี่น้องให้รู้จักเสียสละและแบ่งปันซึ่งกันและกันอย่างเต็มใจ


มายาคติที่บีบให้พี่ต้องเสียสละ
siblings-เป็นพี่ต้องเสียสละ

ความเป็นพี่และเป็นน้องถูกมายาคติตีกรอบไว้มากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งเหล่านั้นล้วนเป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัยของพี่น้องจนกลายเป็นภาพจำที่ถูกส่งต่อ

บริบทศาสตร์แห่งจิตวิทยา สมัยก่อนมีหลักทางจิตวิทยาที่ใช้บ่งบอกถึงลักษณะของคนอายุมากกว่า และน้อยกว่า ซึ่งกำหนดให้ พี่ ต้องมีความเป็นผู้นำ มีความรับผิด และต้องคิดถึงคนรอบข้าง ส่วน น้อง จะกล้าคิด กล้าทำ รั้น และเป็นตัวของตัวเองอย่างสุดขีด และท้ายที่สุดถูกผลิตสู่ความเชื่อซึ่งยอมรับได้

บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ความคิดที่ว่า คนอายุมากกว่าต้องมีความรับผิดชอบ และเสียสละมากกว่า คืออีกหนึ่งสิ่งที่บีบพี่ให้เป็นไปตามกรอบซึ่งวางไว้ อย่างคำเล่าลือที่ว่า มีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่แขวนปลาทูไว้ดู แต่เสียสละให้ลูกได้กิน สิ่งนี้กลายเป็นความคาดหวังในความรู้สึกพ่อแม่ว่า คนที่โตกว่าต้องเสียสละ เหมือนที่พ่อแม่เสียสละให้ลูก ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่านิยมของความรักที่ดีงามไปโดยปริยาย

คนดี = เสียสละ อีกวาทกรรมความดีงามที่ว่า คนดีคือคนที่เสียสละ ซึ่งไม่รู้ว่าใครกันกำหนด แต่กลับถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานหลายยุคสมัย ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องได้ยินผ่านหู ทำให้คู่รักที่ต่างเติบโตอย่างถูกหล่อหลอมด้วยความคิดนี้ เมื่อเปลี่ยนสถานะสู่การเป็นพ่อแม่ จึงใช้ค่านิยมของการเป็นคนดี = เสียสละเข้ามาครอบลูก แล้วพร่ำสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องตั้งคำถาม

“ทุกชุดความคิดถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เช่น ละคร ภาพยนตร์ หนังสือ แต่ถ้าลองมองกันตามจริง อย่าลืมว่าสื่อก็สะท้อนบริบทสังคมที่เป็นมาก่อนแล้ว เพียงแต่ถูกผลิตซ้ำต่อเนื่องจนกลายเป็นมายาคติของสังคม”

หลังจากได้รับรู้ถึงมายาคติที่ตีกรอบความพี่น้อง หมอโอ๋เสริมต่อว่า พ่อแม่จึงใช้เหล่านี้ในการกำกับผู้เป็นพี่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาระหว่างลูกคนโต-คนเล็ก เช่น แย่งของเล่น ทะเลาะกัน เพราะความรู้เรื่องมากกว่าตามอายุ และวุฒิภาวะที่สามารถจัดการอารมณ์หรือทำความเข้าใจได้ง่าย แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิด คุณหมอมองว่าล้วนเกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ ว่าคำสอนเป็นพี่ต้องเสียสละ จะก่อเกิดความรู้สึกไม่ดีในใจพี่ จนนำไปสู่จุดแตกหักในความสัมพันธ์พี่น้อง


มุมซ่อนเร้นกดทับพี่น้อง 
siblings-เป็นพี่ต้องเสียสละ

พี่น้องหลายคู่ไม่ชอบหน้ากัน เพราะคำสอน ‘เป็นพี่ต้องเสียสละ’ กดทับจนพี่รู้สึกว่า ฉันขอเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ได้เหรอ ทำไมต้องเป็นคนดีเพียงเพราะน้องเกิดมา

เพราะเป็นพี่ต้องเสียสละ คือประโยคคำสั่งที่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม กลับกลายเป็นความรู้สึกว่าถูกสั่งให้ต้องทำตาม การเสียสละที่เกิดจึงไม่ได้เป็นไปด้วยความเต็มใจ ส่งผลให้ ความกดทับ เป็นผลพวงที่พี่น้องได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

กดพี่-เมื่อพ่อแม่บอกให้พี่เสียสละให้น้อง ลูกคนโตจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจหลายด้าน เพราะความต้องการของตัวเองไม่ได้รับการตอบสนอง แต่กลับต้องคอยตอบรับความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา มากไปกว่านั้น พี่จะรู้สึกไม่เห็นคุณค่า ไม่รู้จักสิทธิ รวมไปถึงไม่รู้จักความต้องการของตัวเอง

ทับน้อง-น้องจะเติบโตอย่างมีอภิสิทธิ์ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เคารพสิทธิคนอื่น เห็นความอยุติธรรมเป็นเรื่องธรรมดา มากไปจนถึงคิดว่าฉันอยากจะละเมิดใครก็ได้ เพราะทำได้มาตลอด 

มากกว่ากดทับพี่น้อง คำสอนนี้ยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างลูกกับพ่อแม่ โดยเฉพาะคนเป็นพี่ที่จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความใส่ใจ ถูกละเลย ไปจนถึงเชื่อว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่าตัวเอง


ให้พ่อแม่ลองเป็นลูก

เมื่อพ่อแม่เริ่มรู้ว่าคำสอนเป็นพี่ต้องเสียสละนั้นสร้างรอยร้าวให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว คำแนะนำจากคุณหมอโอ๋คือ ให้พ่อแม่ลองสวมบทบาทเป็นลูกดูสักตั้ง เพื่อสำรวจความรู้สึกของพี่และน้องที่บางครั้งเผลอมองข้าม 

“พ่อแม่ต้องยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด เพื่อกลับมาพัฒนาและปรับระบบความคิด ด้วยการลองเอาตัวเองไปอยู่ในสถานะพี่ในสถานการณ์ต่างๆ แล้วถามตัวเองสิว่า รู้สึกอย่างไรที่โดนสั่งให้เสียสละให้น้องก่อน หรือถ้าสมมติเหตุการณ์ให้เห็นภาพมากขึ้น ลองคิดว่าถ้าเจ้านายบอกว่า วันหยุดนี้ไม่ต้องหยุดนะ เสียสละมาทำงานหน่อย เพราะน้องยังใหม่กว่า แล้วลองถามตัวเองดูว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อถูกปฏิบัติแบบนี้ เพื่อให้พ่อแม่ได้คิดและตกผลึกว่า คำสอนที่ใช้กันมาเนิ่นนานไม่ได้ทำให้ลูกอยากเสียสละด้วยใจจริง”


จงเคารพซึ่งกันและกัน

สุดท้ายแล้วหมอโอ๋บอกว่า วิธีการบ่มเพาะให้ลูกรู้จักเสียสละ แบ่งปัน และรักกันกลมเกลียว ควรเริ่มจากการสอนให้ลูกรู้จัก การเคารพซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติต่อกันในฐานะมนุษย์ร่วมโลก มากกว่าไปคาดหวังจากคนเป็นพี่ด้วยบทบาทหน้าที่บางอย่างที่ไม่ได้สอนให้รู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรสร้างบทสนทนาที่กระตุ้นให้ลูกเกิดกระบวนการคิด เช่นถ้ามีของเล่นหนึ่งชิ้น พ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่าเป็นของที่ซื้อให้ใคร ถ้าเป็นของพี่ก็ควรให้สิทธิ์พี่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร จะเล่นก่อน หรือให้น้องก่อน หรือหากเป็นของกองกลางก็ต้องทำข้อตกลงอย่างคิดถึงใจพี่และน้องอย่างเท่าเทียม 

“พ่อแม่อาจโยนคำถามไปว่า มีของเล่นชิ้นเดียวทำอย่างไรดี เพื่อฝึกให้พี่น้องออกแบบการแก้ไขปัญหา พี่อาจจะบอกว่าขอเล่นก่อน 10 นาทีแล้วจะแบ่งให้น้อง หรือน้องขอเล่นก่อน 5 นาที หรืออาจจะเป่ายิ้งฉุบดูสิว่าใครจะได้เล่นก่อน สิ่งนี้จะทำให้พี่น้องอยู่ร่วมกันง่ายขึ้น เพราะเขาจะเริ่มเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาบ้างแล้ว”

การเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน สำคัญมากกว่าการสอนให้ยึดถือความเป็นพี่เป็นน้อง เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกเคารพความต้องการของคนอื่นจนเข้าใจคำว่าเสียสละ

แม้สิ่งที่นำมาเล่าสู่กันฟังจะสะท้อนว่าคำสอน เป็นพี่ต้องเสียสละ คือปมที่พ่อแม่ฝังลงใจลูกคนโต แต่เราหวังว่า เมื่อพ่อ แม่ พี่ และน้อง ได้อ่านสิ่งเหล่านี้จบ จะเห็นหนทางในการเลี้ยงดูลูกและกระชับสัมพันธ์พี่น้องให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.