การไปเยือนเมืองไถจง, ไต้หวันครั้งที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้กลับไปสัมผัสความเขียวครึ้มของต้นไม้ใหญ่ที่ Calligraphy Greenways แล้ว รอบนี้เราสังเกตว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่เกิดขึ้นในไถจงไม่น้อย และยังคงคอนเซปต์ Urban Regeneration แบบฉบับไต้หวันที่เขามักฟื้นฟูสถานที่ทิ้งร้างหรืออาคารเก่าให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
สถานที่ใหม่ในไถจงที่เราว่าน่าสนใจคือ Shen Ji New Village (審計新村) อีกกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงแนวคิดฟื้นฟูสถานที่ทิ้งร้าง ซึ่งอาจถูกใช้ซ้ำหลายครั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังออกมาเวิร์กเช่นเคย
ย้อนกลับไป 50 ปีก่อน ช่วง ค.ศ. 1969 อาคารสีครีมน้ำตาลสองชั้น สองหลังนี้ ถูกใช้เป็นบ้านพักของพนักงานบริษัทตรวจสอบบัญชีในไถจง ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานหลายปี จนเมื่อ ค.ศ.2014 ที่ทางเทศบาลเมืองไถจง (Taichung City Government) มีแผนฟื้นฟูเมืองไถจงในหลายพื้นที่ ผนวกกับโปรแกรมพัฒนา ‘Catch Star Youth Dream Taichung’ ที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่และศิลปินได้มีพื้นที่ขายสินค้าในหน้าร้านเล็กๆ ของตัวเอง
‘Steven Wu’ ผู้ก่อตั้ง Red Dot Hotel โรงแรมในเมืองไถจงที่พัฒนาขึ้นจากอาคารเก่าเช่นกัน เขามองว่าอาคารบ้านพักเหล่านี้น่าจะเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ด้วยโครงสร้างเดิมที่แบ่งเป็นห้องหับต่างๆ มีสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน เหมาะเจาะที่จะเปิดให้แต่ละธุรกิจเข้ามาใช้งาน เขาจึงเริ่มชักชวนศิลปินรุ่นใหม่ไปจนถึงเจ้าของแบรนด์ดีไซน์ สตูดิโอต่างๆ ให้เข้ามาเปิดร้านหรือขยายสาขาที่นี่ จนก่อตั้งเป็น Shen Ji New Village หมู่บ้านนักสร้างสรรค์ที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น
จากที่ได้สัมผัส เราคิดว่า Shen Ji New Village คือตัวอย่างการใช้พื้นที่เก่าที่มีอยู่เดิมให้มีประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งตอบกับยุคสมัยยิ่งขึ้น โดยที่ทางเทศบาลเมืองแทบไม่ต้องลงทุนไปกับการสร้างอะไรใหม่เลย ทั้งตัวอาคารบ้านพักทั้งสองตึกยังคงสภาพเดิม มีแค่บางส่วนที่กำแพงสีถลอกหรือเก่าไปบ้าง แต่ก็ทำให้ได้กลิ่นอายของอดีต สะพานเหล็กสีแดงน้ำตาลที่เชื่อมระหว่างอาคารสองตึกก็ให้ความรู้สึกยามได้เดินสำรวจห้องนั้น ออกห้องนี้ และลุ้นว่าแต่ละร้านที่เราเปิดประตูเข้าไปจะวางขายสินค้าแบบไหน เป็นความรู้สึกที่สนุกไม่น้อย เหมือนว่าเรากำลังเดินอยู่ในหมู่บ้าน และเคาะประตูทักทายเพื่อนบ้าน ตามธีมที่ทางเทศบาลเมืองเขาตั้งใจไว้จริงๆ
Shen Ji New Village ยังทำหน้าที่เหมือนศูนย์รวมดีไซน์ช็อปและครีเอทีฟแบรนด์ทั้งหลาย ที่เพียงมาที่เดียวก็ได้เลือกซื้อของฝากหลากหลาย ตั้งแต่ 小日子 (C’est ci bon) แมกกาซีนดีไซน์สัญชาติไต้หวันที่ขยับขยายมาเปิดร้านเครื่องเขียนและของใช้ดีไซน์ (ที่เราก็รักมากเหมือนเคย) ยังมีร้านโปสการ์ดที่มีโปสการ์ดให้เลือกหลายร้อยแบบ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของศิลปินอิสระ หรือจะเป็นสตูดิโอเครื่องหนังที่มีเวิร์กช็อปทำมือสำหรับใครที่อยากได้กระเป๋าหนังไม่เหมือนใคร รวมไปถึง Nikai Library คาเฟ่ ห้องสมุด และร้านหนังสือที่ขายหนังสือทำมือ นอกจากนี้บางร้านยังแบ่งพื้นที่เล็กๆ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการขนาดย่อมให้เดินดูเพลินๆ ช้อปเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้าก็มีเอาใจสาวๆ และหลายร้านก็มีเครื่องดื่ม ขนมหวานขายซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์เฉพาะตัว
ความหลากหลายของร้านค้าเหล่านี้เกิดจากความตั้งใจของ Steven Wu ที่อยากให้ร้านค้าในพื้นที่ผสมผสานของหลากหลายอย่างเข้าด้วยกัน จึงไม่ได้มีแค่สินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นโปรเจกต์ที่ช่วยส่งเสริมศิลปินและเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่น่ารักมาก ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังจัดตลาดนัดสินค้าและของกินทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ในชื่อ Moon Market ซึ่งโชคดีที่วันที่เราไปมีตลาดนี้พอดี เลยทำให้คนค่อนข้างมากันคึกคักมากเป็นพิเศษ
นอกจากฟังก์ชันของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากเราจะมองว่าที่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมืองก็ไม่ติดขัด เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้ ไม่ว่าจะกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือคู่รักก็มีกิจกรรมให้ทำร่วมกันครบ ทั้งกินและชอปปิงที่เหมาะแก่วันว่างสุดสัปดาห์ ที่สำคัญโลเคชันของ Shen Ji New Village อยู่ในละแวกที่เป็นย่านสร้างสรรค์ของเมืองไถจง สามารถเดินจาก National Taiwan Museum of Fine Arts ได้ในระยะไม่เกินเหนื่อย และสามารถเดินต่อไปยังถนนสาย Calligraphy Greenways และ CMP Block ได้อีกด้วย
มองเผินๆ Shen Ji New Village อาจดูเป็น Tourism Spot ที่เน้นเอาใจนักท่องเที่ยวไปนิด (ถ้ามองเรื่องสินค้าที่วางขาย เรานึกถึงย่านนิมมานเหมินท์ที่เชียงใหม่) แต่ถ้าเข้าใจที่มาที่ไป นี่คือโปรเจกต์พัฒนาเมืองที่ทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ ที่ทั้งนักท่องเที่ยวมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ ชาวไถจงก็ได้เมืองที่มีชีวิตชีวาพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับย่อยในเมือง และกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ก็มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงผลงานที่กว้างขวางมากขึ้น และจากจุดนี้ ก็อาจต่อยอดไปสู่โอกาสทางธุรกิจอีกมากมายไม่รู้จบ
Sources: https://travel.taichung.gov.tw/
https://taiwaneverything.cc/