ในขณะที่ประเทศไทยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘เมืองพุทธ’ และกีดกัน ‘อบายมุข’ ทุกวิถีทาง แต่ต่างชาติกลับรู้จักไทยเพราะ ‘สถานเริงรมย์’ ชื่อดังที่มาจาก ‘การท่องเที่ยวทางเพศ (Sex Tourism)’
เพราะไม่ว่าจะเป็นย่านพัฒน์พงศ์ ซอยคาวบอย ซอยธนิยะ หรือพัทยา เหล่านี้ล้วนเป็นสถานที่สำหรับแสวงหาความสำราญในยามค่ำคืน มีเม็ดเงินสะพัด จนสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ
แต่ไม่ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบนี้จะทำรายได้มากแค่ไหน ตัวเลขเหล่านี้กลับไม่เคยถูกนับรวมเข้าไปในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เลยสักครั้ง เพราะการท่องเที่ยวทางเพศไปจนถึงการซื้อขายและเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร ยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทย และถูกมองในเชิงลบจากประชาชนบางกลุ่ม เนื่องจากได้รับการปลูกฝังและเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนผ่านมุมมองทางศีลธรรม ทำให้เรื่องเพศในไทยเป็นเสมือนเรื่องต้องห้ามที่ไม่สามารถพูดคุยได้อย่างเปิดเผย
คอลัมน์ Overview ประจำเดือนกุมภาพันธ์ขอหยิบเอาอีกแง่มุมหนึ่งในสังคมอย่างปัญหาเรื่องเพศออกมาสำรวจกันอีกครั้ง พร้อมชวนหาคำตอบว่าทำไมไทยถึงไม่สามารถเปิดกว้างเรื่องเพศอย่างประเทศอื่นเขาได้เสียที
สถิติการท่องเที่ยวทางเพศในประเทศไทย
ถือเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่ไม่น้อยที่สถานบริการทางเพศกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งคนไทยและต่างชาติรู้ดี แต่ตำรวจไทยกลับ (แกล้ง) ไม่รู้ จนถึงขนาดว่าในปี 2562 ตำรวจได้ลงพื้นที่สำรวจวอล์กกิ้งสตรีทที่พัทยา แต่กลับไม่พบว่ามีการขายบริการทางเพศในบริเวณนั้น
ทั้งๆ ที่หากย้อนกลับไปเมื่อในปี 2557 เว็บไซต์ Havocscope ได้เก็บข้อมูลผู้ขายบริการทางเพศทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้ให้บริการทางเพศมากกว่า 250,000 คน จากทั้งหมดประมาณ 13.8 ล้านคน คิดเป็นอันดับที่ 8 ของอุตสาหกรรมบริการทางเพศทั่วโลก และปัจจุบันยังมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ให้บริการทางเพศในไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนแล้ว
ทำให้แต่เดิมที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางเพศที่ทำรายได้สูงถึง 2.3 แสนล้านบาทต่อปี กระโดดขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาทโดยประมาณในช่วงปี 2562 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 765 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาเพียง 5 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ทำให้ผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศนั้นถูกนับรวมในฐานะอาชญากรที่ทำผิดกฎหมาย
มากไปกว่านั้น แม้ว่ารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางเพศจะมากมายมหาศาลแค่ไหน เม็ดเงินเหล่านี้กลับไม่ถูกนับรวมเข้าในระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่กลายเป็นธุรกิจสีเทาที่เปิดโอกาสให้ตำรวจในพื้นที่ทุจริตรับสินบนแลกกับการหลับตาข้างหนึ่งให้ธุรกิจทางเพศดำเนินต่อไป
และเมื่อธุรกิจเหล่านี้ไม่ถูกกฎหมาย เท่ากับว่าผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Worker) ก็ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม สิทธิประกันสุขภาพ ไปจนถึงการคุ้มครองจากกฎหมายที่ควรได้รับ แม้จะเป็นงานบริการที่ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ เลยก็ตาม
เมื่อประชาชนถูกปิดกั้น เพราะคำว่าศีลธรรม
ปัจจุบันค่านิยมของสังคมไทยกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป หลายคนเปิดใจรับเรื่องเพศ การซื้อ-ขายบริการ หรือการครอบครองเซ็กซ์ทอย (Sex Toy) ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้โปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น
แต่ขณะเดียวกันา กฎหมายเหล่านี้ก็ยังถูกบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยกรอบของคำว่า ‘ศีลธรรม’ และ ‘ความผิดบาป’ ที่ผ่านการตีความตามหลักคำสอนของศาสนาผ่านชุดความคิดแบบเดิมๆ จนทำให้การค้าประเวณีกลายเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ครั้งแรกในปี 2503 ก่อนที่ 36 ปีให้หลังจะมีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง จนกลายเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ของการค้าประเวณีมีโทษทางอาญาแก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าของสถานบริการ ในมาตราที่แตกต่างออกไป โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 20 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ไทยเองก็ยังมีกฎหมายอีกหลายตัวที่ปิดกั้นเสรีภาพทางเพศของประชาชน เพราะปัจจุบันสินค้าเซ็กซ์ทอยยังถือเป็นสินค้าต้องห้ามมีไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำเข้า ผลิต เผยแพร่สื่อลามกอนาจาร หรือนำเข้าสื่อลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ก็มีโทษด้วยเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าโลกจะเปิดกว้างหรือก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่การเป็น Sex Creator บนโลกออนไลน์ในประเทศไทยยังถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) จากทางภาครัฐยังได้ทำการระงับเนื้อหาและการเข้าถึงเว็บไซต์ Pornhub จำนวนกว่า 191 URLs ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร โดยอ้างว่าเว็บไซต์เหล่านี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก และรัฐเองก็มีความกังวลถึงเยาวชนที่อาจเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว จนทำให้หลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหว เพราะเชื่อว่าประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกเสพสื่อ และรัฐมีหน้าที่ดูแลไม่ใช่ควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ
ความล้มเหลวของการสอนเพศศึกษา
เมื่อเกิดการถกเถียงเรื่องเพศในสังคม ‘เพศศึกษาในรั้วโรงเรียน’ คงเป็นสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นเพราะการศึกษาเป็นเหมือนปราการด่านแรกที่ทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง วิชาสุขศึกษาในหลายโรงเรียนกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้ามและถูกมองว่าไม่เหมาะสม
ขณะที่โลกภายนอกและสื่อออนไลน์เต็มไปด้วยคอนเทนต์เรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง โรงเรียนเองกลับปิดกั้นและพยายามทำให้เด็กมองว่ากิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องเลวร้ายและไม่ควรเกิดขึ้น แทนที่จะให้ความรู้นักเรียนภายในขอบเขตที่เหมาะสมของแต่ละวัย จึงไม่แปลกใจที่เด็กส่วนใหญ่จะหันไปพูดคุยและรับชุดความรู้เรื่องเพศศึกษาจากเพื่อนหรือสื่อออนไลน์แทน ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจทำให้เด็กได้รับชุดข้อมูลที่ทั้งผิดและถูกปะปนกันไป จนไม่สามารถแยกออกได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง เนื่องจากไม่มีใครคอยให้คำแนะนำ
ยิ่งไปกว่านั้น วิชาเพศศึกษายังมีปัญหาในการสอนเรื่องเพศวิถีที่ไม่รอบด้าน โดยหลายโรงเรียนมักเน้นไปที่พัฒนาการทางเพศเป็นหลัก และไม่ให้น้ำหนักกับความหลากหลายของเพศวิถีและการเคารพสิทธิเรื่องเพศของผู้อื่น จนอาจส่งผลให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติเชิงลบ และไม่เห็นด้วยกับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศได้
โดยงานวิจัยว่าด้วยการทบทวนการสอนเพศวิถีในสถานศึกษาไทยได้สำรวจข้อมูลนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทั้งชายและหญิง 8,800 คนในโรงเรียนกว่า 398 แห่ง ระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงมีนาคม 2559 พบว่า มีนักเรียนทั้งหมด 42.5 เปอร์เซ็นต์มองว่าในครอบครัวผู้ชายควรมีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องสำคัญมากกว่าผู้หญิง ส่วนนักเรียนชายสายอาชีวะกว่า 41 เปอร์เซ็นต์มองว่าสามีมีสิทธิ์ทุบตีภรรยาได้ หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ ขณะเดียวกันยังพบว่านักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด
ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะครูที่สอนวิชาเพศศึกษาจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง หรือซ้ำร้ายกว่านั้น เหล่าครูที่ถูกส่งให้มาสอนวิชาเพศศึกษาอาจเป็นครูจากภาควิชาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องสอนควบหลายวิชาไปพร้อมๆ กันก็เป็นได้
นอกจากนี้ ตัวกรอบของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา จากองค์กรของรัฐที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เองยังล้าหลัง ไม่เท่าทันโลกสมัยใหม่ จนอาจส่งต่อชุดความคิดเรื่องเพศแบบเดิมๆ ออกไป และเกิดปัญหาสังคมตามมาในอนาคต
Sources :
Dailynews | t.ly/IvgO
Matichon | t.ly/TmAK
TDRI | t.ly/DD0R
The MATTER | t.ly/fGF1
WorkpointTODAY | t.ly/Go3oB
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/q0bN
รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย | t.ly/wThL
มาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายอุปกรณ์เพิ่มความสุขทางเพศ (เซ็กซ์ทอย) ให้เป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย | t.ly/ml89