ไขปัญหา Service Charge ไม่จ่ายกรณีไหนได้บ้าง - Urban Creature

หากเราไม่ประทับใจบริการของร้านค้า ขอเลือกไม่จ่ายค่า Service Charge ได้หรือไม่

จากประเด็นสังคมเกี่ยวกับ ‘Service Charge’ หรือการเรียกเก็บเงินค่าบริการลูกค้าในอัตราประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ที่ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นบ่อยๆ ในธุรกิจสายบริการโดยเฉพาะร้านอาหาร หากลูกค้ารู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจหรือบริการพิเศษจากทางร้านเท่าที่ควร พวกเราสามารถปฏิเสธจ่ายค่า Service Charge ได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือเปล่า และต่างประเทศมีเหมือนเราไหม วันนี้ Urban Creature จะไปหาคำตอบกัน

Service Charge เหมือน Tip ไหม

แรกเริ่มชวนเข้าใจความหมายของ Service Charge กันก่อน อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือค่าบริการพิเศษที่ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ในการรับประทานอาหารในร้าน

ยกตัวอย่างค่าบริการดังกล่าว เช่น ล้างจาน เก็บโต๊ะ เสิร์ฟอาหาร หรือทำอาหารให้เรากิน ซึ่งค่า Service Charge ที่ลูกค้าจ่ายทั้งหมด ส่วนหนึ่งนำมาแบ่งเป็นรายได้ให้กับพนักงานทุกคนในแต่ละเดือน แตกต่างจากทิป (Tip) เป็นสินน้ำใจที่ลูกค้าให้โดยความสมัครใจ หรือบางร้านถือว่าทิปนั้นเป็นค่าตอบแทนที่พนักงานจะได้รับโดยตรง

Service Charge ไม่จ่ายในกรณีไหนได้บ้าง

ปกติแล้วตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในควบคุมคือ อัตราการเรียกเก็บ Service Charge ต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ลูกค้าส่วนใหญ่รับทราบและยอมรับได้ตามสากล แต่ทางร้านต้องมีการประกาศเรื่องเก็บค่าบริการชัดเจน โดยไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูล

อ้างอิงจากประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565 ข้อ 9 กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน โดยแสดงค่า Service Charge ควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ลูกค้ารับทราบราคาทั้งหมดที่ต้องจ่าย และสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภค

ลูกค้ามีสิทธิ์จะไม่จ่ายค่า Service Charge ได้ก็ต่อเมื่อ ทางร้านแสดงข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการไม่ชัดเจน ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 สรุปได้ว่า การนำเสนอราคาให้ชัดเจนต้องแสดง ‘ราคาต่อหน่วย’ ตัวเลขต้องมี ‘เลขอารบิก’ อยู่ด้วย และข้อความประกาศต้องเป็น ‘ภาษาไทย’ ที่เห็นชัดเจน อ่านง่าย รวมถึงติดป้ายประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า

service charge ต้องจ่ายไหม

หากผู้ประกอบการธุรกิจไม่แสดงข้อมูลดังกล่าวหรืออ่านไม่ชัดเจน นับว่ามีความผิดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และลูกค้ามีสิทธิ์จะปฏิเสธได้ ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจแสดงความโปร่งใสเรื่องค่าบริการแล้ว หากลูกค้าต้องการเข้าร้านดังกล่าว ก็ถือว่ายินดีจ่ายค่า Service Charge ตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ ถ้าพบร้านที่เก็บค่า Service Charge เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเข้าข่ายคิดค่าบริการสูงเกินจริง ซึ่งมีโทษปรับ 140,000 บาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำและปรับ ยิ่งไปกว่านั้น หากให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วน สคบ. 1166

ต่างประเทศมี Service Charge ไหม

ในบางประเทศเองก็มีคิดค่าบริการ Service Charge อย่างประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายที่กำหนดให้ร้านอาหารต่างๆ สามารถเพิ่มค่าบริการในใบเสร็จ เพื่อช่วยเพิ่มค่าแรงงานให้กับพนักงานเสิร์ฟมากยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพาทิปน้อยลง

ขณะเดียวกัน ประเทศสหราชอาณาจักรหรืออเมริกาก็มีการจ่ายค่าบริการพิเศษเช่นเดียวกัน แต่เป็นในรูปแบบทิปที่เป็นธรรมเนียมทำกันมาเนิ่นนาน ซึ่งการให้ทิปในอเมริกาเป็นปัจจัยสำคัญของการทำงาน เนื่องจากจะช่วยให้พนักงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

ในทางกลับกัน บางประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ อาจจะไม่สนับสนุนการให้ทิป เพราะมองว่าเป็นการดูถูกหรือการติดสินบนทางอ้อม ล่าสุดประเทศอินเดียเคยมีประเด็นออกกฎหมายห้ามเก็บค่า Service Charge ในใบเสร็จ เพราะผู้บริโภคมองว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลการเก็บค่าบริการชัดเจน และร้านอาหารควรจ่ายค่าแรงให้พนักงานอย่างเหมาะสม ซึ่งเหมือนเป็นการผลักภาระให้ลูกค้าทางอ้อม 

service charge ต้องจ่ายไหม

ทั้งนี้ แต่ละประเทศต่างมีมุมมองเกี่ยวกับค่าบริการแตกต่างกัน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับ Service Charge ในบ้านเราเกิดมาจากความไม่แน่ใจในการบริการนั้นๆ ว่าเหมาะสมกับเงินที่เรียกเก็บไปหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางร้านอาจต้องตระหนักถึงการบริการที่เอาใจใส่และการแสดงข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่าเคย เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเต็มใจที่จะจ่ายค่าบริการเมื่อเข้ามาใช้งาน

Sources :
BBC Thai | shorturl.asia/cTnID, shorturl.asia/VetA5
TNN Online | shorturl.asia/zRLiP
กรมประชาสัมพันธ์ | shorturl.asia/JydBv
มติชน | shorturl.asia/xacn5

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.