ช่วงระหว่างความเป็นและความตาย ใน Light Shop - Urban Creature

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

ค่ำคืนนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ในซอยเปลี่ยวที่มืดมิด ฝนตกพรำ พื้นเต็มไปด้วยน้ำขังและความสกปรก กลางซอยมีร้านขายโคมไฟขนาดคูหากว่าๆ ที่เปิดไฟสว่างไสวทั้งคืน ทันทีที่ประตูเปิดออก เสียงกระดิ่งประตูดังขึ้นเบาๆ พร้อมด้วยชายหนุ่มสวมแว่นสีชาที่ยืนขึ้นต้อนรับกับคำถามว่า “มีอะไรให้ช่วยครับ”

นี่คือเรื่องราวของอีกหนึ่งซีรีส์ในจักรวาลซีรีส์ชื่อดังอย่าง Moving ซึ่งดัดแปลงจากเว็บตูนของนักเขียน ‘คังฟูล’ มาสู่ซีรีส์ความยาว 8 ตอน เรื่อง ‘Light Shop’ ที่เส้นแบ่งระหว่างคนเป็นกับคนตายมาบรรจบกันที่ร้านโคมไฟ

Light Shop

ด้วยฉากเปิดเรื่องที่ชายหนุ่มเดินลงมาจากรถเมล์ในเส้นทางกลับบ้าน ที่ป้ายรถเมล์นั้นเขาได้เจอกับหญิงสาวใส่ชุดสีขาว ผมยาวสีดำปิดหน้าปิดตา นั่งรออยู่พร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ทุกวัน ควบคู่กับช่วงต้นของเรื่องที่เหล่าตัวละครเหมือนจะมีความสามารถในการมองเห็นผีได้ คล้ายจะพาเราเข้าไปอยู่ในโลกหลังความตายเหมือนซีรีส์ขนหัวลุกทั่วๆ ไป

ก่อนเรื่องราวจะตัดสลับระหว่างโลกกึ่งความเป็นความตายและห้องพักผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยโคม่า ที่มีเหล่าพยาบาลสาวคอยดูแล จนผู้ชมหลายคนถึงกับเอ่ยปากว่า ช่วง 4 ตอนแรกกับ 4 ตอนหลังของซีรีส์เหมือนกำลังเล่าคนละเรื่องกันอยู่

แล้วจึงนำมาสู่ครึ่งหลังของ Light Shop ที่เฉลยถึงจุดร่วมของเหล่าตัวละครซึ่งประสบอุบัติเหตุบนรถเมล์คันเดียวกันจนอยู่ในภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย คล้ายกำลังใช้วันเวลาวนลูปในซอยเปลี่ยวที่หนีออกไปไม่ได้ พร้อมประเด็นสำคัญว่ามนุษย์ทุกคนมีหลอดไฟเป็นของตัวเองคนละหนึ่งหลอด เมื่อเราอยู่ในช่วงระหว่างความเป็นและความตาย เรามีหน้าที่พาตัวเองไปยังร้านโคมไฟและหาหลอดไฟของตนเองให้เจอจึงจะกลับไปยังโลกมนุษย์ได้ แต่ถ้าหากเราหาร้านโคมไฟไม่เจอ หรือตัดสินใจทิ้งหลอดไฟอันริบหรี่ของตนเองไปนั้น เราก็จะจากโลกนี้ไปเหมือนคนตายคนอื่นๆ

Light Shop

ความยากลำบากขณะมีชีวิตของคนชายขอบ

ความพิการ

“ทำไมจำฉันไม่ได้สักที” กลายเป็นคำถามที่ทำให้ ‘จียอง’ หรือผีสาวชุดขาวคอยตามติด ‘ฮยอนมิน’ แฟนหนุ่มของตนเองไม่รู้จบ ไม่อาจบอกได้ว่าการกระทำของฮยอนมิน จียอง หรือแม่ของฮยอนมิน ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาความสัมพันธ์ที่แท้จริง และนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง

แต่สิ่งที่พิสูจน์เห็นเด่นชัดเลยคือ ความพิการนั้นเป็นต้นเหตุของความรังเกียจและการไม่ยอมรับของครอบครัวฝ่ายชายอย่างแน่นอน แม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจะดำเนินไปได้เป็นอย่างดีและมีแพลนจะแต่งงานกันในอนาคต แต่แม่ของฮยอนมินกลับกีดกันและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเธอไม่ยินยอมให้หญิงสาวที่สูญเสียการได้ยินเข้ามาเป็นลูกสะใภ้

ชีวิตคู่ของทั้งสองคนนี้จึงเป็นเสมือนพลอตละครไทย แม่ผัวลูกสะใภ้ที่เกลียดขี้หน้ากัน ถึงขนาดที่กล้าวางเงินจำนวนมากไว้ตรงหน้าเพื่อให้ผู้หญิงคนนี้เดินออกไปจากชีวิตของลูกชายตนเอง และในวันที่ลูกชายประสบอุบัติเหตุขณะออกไปหาจียองนั้น แม่ของฮยอนมินก็ยังส่งข้อความอันเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การตายของจียองอีกเช่นกัน จนกลายเป็นมุกตลกของผู้ชม Light Shop ว่า จียองน่าจะไปจงเกลียดจงชังและตามหลอกหลอนแม่ของฮยอนมินเสียมากกว่า

Light Shop

อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการที่ผู้พิการจะใช้ชีวิตได้ยากกว่าคนทั่วไปแล้ว การยอมรับผู้พิการก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาเรื่อยมา

แซฟฟิก

นอกจากชีวิตชายขอบของผู้พิการทางการได้ยินจะถูกฉายชัดในเรื่อง Light Shop แล้ว ยังมีความสัมพันธ์หญิงรักหญิงที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ของ ‘ฮเยวอน’ และ ‘ซอนแฮ’ อีกด้วย 

“อย่ามาให้ฉันเห็นหน้าอีก”

ประโยคนี้ออกมาจากปากของซอนแฮขณะทะเลาะกันครั้งใหญ่ในคืนที่เกิดอุบัติเหตุ โดยหลังจากทั้งคู่ตามนายหน้าไปหาบ้านด้วยกัน ได้เกิดปากเสียงกันจากการที่ฮเยวอนไม่กล้าเปิดเผยว่าตนเองกำลังอยู่ในความสัมพันธ์หญิงรักหญิง

แม้ว่าฮเยวอนจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เธอยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตซอนแฮ ด้วยจุดประสงค์สำคัญหนึ่งอย่างคือพาซอนแฮไปร้านโคมไฟ และพาเธอกลับไปใช้ชีวิตหลังโคม่าได้ตามปกติ แต่การวนเวียนของฮเยวอนนั้นจะต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในเงาความมืดตามคำสั่งของซอนแฮว่าต้องไม่มาให้เธอเห็นหน้าเป็นอันขาด จึงเป็นสาเหตุให้บ้านของซอนแฮมีดวงไฟที่ดับแล้วดับเล่า เดี๋ยวดวงนี้เสีย เดี๋ยวดวงนั้นขาด จนกลายเป็นมืดสนิทไปเสียทั้งบ้าน ยกเว้นแต่ห้องห้องหนึ่งที่ประตูไม่สามารถเปิดออกได้ แต่กลับมีแสงสว่างลอดออกมาจากใต้ประตูห้องเสียอย่างนั้น

Light Shop

ชีวิตรักของทั้งสองคนที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต่างอะไรจากชีวิตหลังความตายของฮเยวอนที่พยายามดูแลและปกป้องคนที่ตนเองรักสุดชีวิต จนในวันที่ซอนแฮจำเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้และพาตัวเองไปยังร้านโคมไฟได้สำเร็จ เธอกลับถามคำถามสำคัญกับเจ้าของร้านว่า หากเราทิ้งหลอดไฟของตนเองและเลือกไม่กลับไปยังโลกมนุษย์ เราจะเป็นเช่นไร

เจ้าของร้านโคมไฟตอบเพียงแค่ว่า “เป็นมนุษย์ ไม่ว่าที่ไหนเราก็อยู่ได้ทั้งนั้นแหละ” เธอจึงแทบจะเป็นเพียงไม่กี่คนที่ตัดสินใจปาหลอดไฟของตนเองทิ้งและเดินกลับไปยังบ้านที่มีฮเยวอนรออยู่ เพราะสำหรับเธอ การได้อยู่กับใครสำคัญกว่าการได้อยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ และแม้ต้องอยู่ในโลกหลังความตายก็คงคุ้มค่ากว่าการต้องหายใจอยู่ในประเทศที่ไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้

ขนส่งสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมและการวิ่งวนเวียนระหว่างความเป็น ความตายไม่รู้จบคือ การตัดสินใจขึ้นรถเมล์คันหนึ่งเพื่อออกเดินทางไปยังจุดหมาย ทั้งชายหนุ่มที่ตั้งใจไปเซอร์ไพรส์แฟนสาวในวันเกิด เด็กนักเรียนที่มุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมแม่ คู่รักแซฟฟิกที่ทะเลาะกัน ไปจนถึงเด็กนักเรียนชายนักบาสโรงเรียน

แต่ก่อนรถเมล์คันนี้จะออกเดินทาง คุณลุงคนขับรถเมล์ได้ตรวจเช็กสภาพรถและพบว่าบริเวณยางมีปัญหา เขาจึงตัดสินใจโทรไปแจ้งบริษัทรถเมล์ว่าต้องการรถสำรอง แต่บริษัทกลับปฏิเสธคำขอนั้น เขาจึงขอเอารถไปเช็กสภาพที่ร้านใกล้ๆ แทน แต่ก็กลับได้คำตอบว่าเขาต้องออกค่าเช็กสภาพรถเองอีก

คุณลุงต้องจำใจขับรถรอบสุดท้ายออกไป โดยหวังใจว่าจะไม่มีผู้โดยสารและกลับไปที่อู่โดยเร็วที่สุด แต่ด้วยระหว่างเส้นทางนั้นกลับมีผู้โดยสารขึ้นรถมามากหน้าหลายตา ชีวิตและความปลอดภัยของคนทั้งรถเมล์จึงต้องจบลงเพียงเพราะสภาพรถที่ไม่สมบูรณ์และไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยไม่ใช่ความผิดของคนขับรถเมล์หรือใครที่ตัดสินใจขึ้นรถเมล์ทั้งสิ้น

Light Shop

ความปลอดภัยในการขึ้นรถสาธารณะจึงถูกตั้งคำถาม นอกเหนือจากความสะดวกสบายและการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สภาพรถและความปลอดภัยในการใช้บริการซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ หากย้อนกลับมามองยังสภาพขนส่งสาธารณะของบ้านเรา ทั้งกฎหมายกำหนดความเร็วในการขับขี่ สภาพรถและปีที่ใช้งานที่เราอาจเห็นรถเมล์บ้านเราปล่อยควันดำอยู่ทุกวัน เก้าอี้ไม่ได้มาตรฐาน ประตูฉุกเฉินใช้งานไม่ได้ หรือแม้กระทั่งจุดจอดขึ้นลงรถเมล์ที่ไร้ซึ่งความปลอดภัย จนอาจมีมอเตอร์ไซค์แทรกเข้ามาชนได้เสมอ

การมีชีวิตเป็นสิทธิที่เจ้าของชีวิตต้องเลือกเอง

จะเห็นได้ว่าทั้งซีรีส์เป็นเรื่องราวของการพาคนที่อยู่ในช่วงโคม่ากลับมามีชีวิต โดยมีความสัมพันธ์ของผู้คนในเรื่องคอยช่วยเหลือ อย่างทันทีที่คุณลุงคนขับรถจำเรื่องราวได้ ก็มุ่งตรงไปตามหาทุกคนบนรถเมล์และพาพวกเขาไปยังร้านโคมไฟ เพื่อให้พวกเขาเจอวิธีที่จะกลับมายังโลกมนุษย์ หรือแม่ของเด็กนักเรียนหญิงที่บังคับให้เธอไปซื้อหลอดไฟจนกว่าจะได้เจอหลอดไฟของตนเองและกลับไปมีชีวิตอีกครั้ง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าญาติ คนรอบตัว (ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และจากไปแล้ว) และพยาบาลจะพยายามสร้างแรงใจให้พวกเขากลับมามีชีวิตมากแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วการมีชีวิตกลับมาจากภาวะกึ่งเป็นกึ่งตายหรือช่วงท้ายของชีวิตนั้น ก็เป็นสิทธิและความตั้งใจในการมีชีวิตของเจ้าของชีวิตเองเท่านั้น

มิเช่นนั้นเราก็จะได้ครึ่งคนครึ่งวิญญาณ เหมือนฮยอนมินที่กลับมาด้วยแรงใจของแฟนสาว ที่เรียกได้ว่าแทบจะจับมือส่งเขากลับมา แต่ด้วยตัวเขาเองที่ไม่ได้มีแรงสู้หรือกำลังใจเพื่อการอยู่ต่อของตนเองเลย ต่อให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เขาก็ยังนั่งอยู่บนรถเข็น ความจำเสื่อม และเต็มไปด้วยความโศกเศร้าที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อ

สะท้อนกลับไปยังความพยายามยื้อและรักษาบางชีวิตไว้ โดยไม่ได้เข้าใจเจตจำนงของเจ้าของชีวิตนั้นให้ดีว่า เขายังอยากมีวันพรุ่งนี้ในชีวิตต่อๆ ไปหรือไม่ หรือเขาพร้อมแล้วกับการเดินทางสู่โลกใบใหม่ที่อาจเจ็บปวดน้อยกว่า

Light Shop

Light Shop จึงไม่ได้เล่าแต่เพียงว่าการมีคนรอบข้างให้กำลังใจนั้นจะทำให้มนุษย์ผ่านพ้นช่วงกึ่งเป็นกึ่งตายมาได้ แต่ยังบอกอีกว่าการที่เราจะกลับมาต้องเกิดจากใจที่สู้ของคนคนนั้นเอง และเป็นสิทธิของเจ้าของชีวิตเองที่จะเลือกอยู่ต่อหรือจากไป

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.