ลลินธร เพ็ญเจริญ วิทย์ผสานศิลป์สู่ภาพวาดชีววิทยา - Urban Creature

กาลครั้งหนึ่งในบ้านหลังอบอุ่น มือคู่เล็กของ ลลินธร เปิดสารานุกรม สายตาจดจ้องแผ่นกระดาษที่มีโครงสร้างดอกไม้ตั้งแต่ชั้นนอกสุดอย่างกลีบเลี้ยง ไปจนถึงชั้นเกสร ก่อนพลิกสู่หน้าถัดไปแล้วเจอโครงสร้างสัตว์ที่เห็นเนื้อหนัง โครงกระดูก และอวัยวะภายใน เธอไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร รู้เพียงแค่สวย และเหมือนจริงจนไม่อาจละสายตา

ลลินธร-ศิลปะ

กาลครั้งนี้เธอเติบโต ได้รู้แล้วว่าสิ่งที่เห็นในสารานุกรมตอนเล็กเรียกว่า ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ จึงหยิบมาผสมผสานกับศาสตร์ศิลปะที่หลงใหล ซึ่งมีจุดเชื่อมเป็นนิทานอีสปให้ข้อเตือนใจ กลายเป็น ภาพวาดเชิงชีววิทยา ผ่านจินตนาการของ ลลินธร เพ็ญเจริญ ศิลปินที่อยากบอกให้ใครต่อใครรู้ว่า ศิลปะกับวิทยาศาสตร์สามารถบรรจบกันได้อย่างงดงาม


สองเส้นที่ขนานกันในสมอง

ฉันนั่งตรงข้ามกับลลินธร แล้วมองภาพจิ้งหรีดกับลาที่เห็นไปยันโครงกระดูกข้างในซึ่งจัดแสดงท่ามกลางแสงไฟส้มนวลที่ SAC Gallery ละแวกพร้อมพงษ์ ก่อนเอ่ยถามถึงเบื้องหลังความคิดที่หยิบศาสตร์แห่งศิลป์และวิทย์มาหลอมรวมกัน

“รู้ไหมศิลปะกับวิทยาศาสตร์ไม่เคยแยกออกจากกันเลย”

คือประโยคที่เธอพูดหลังจากเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ ก่อนเล่าต่อว่าในยุคกรีกโรมัน สองศาสตร์นี้เคยเกื้อหนุนกันเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในจักรวาล กระทั่งวันหนึ่งศิลปะกับวิทย์ต้องแยกจาก เพราะการแบ่งองค์ความรู้เฉพาะด้านให้ชัดเจน แต่ก็แอบเป็นแรงบันดาลใจการทำงานให้กันอยู่เงียบๆ จนพอเข้ายุคหลังสมัยใหม่ ปลายทางที่แยกออกก็กลับมาบรรจบอีกครั้ง เพราะเรียนรู้แล้วว่าบางครั้งความรู้ศาสตร์เดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดได้ทั้งหมด ส่งผลมาถึงปัจจุบันที่มีแนวทางลูกผสมอย่าง Art & Science 

ฉันฟังแล้วร้องว้าวออกมาจนเธออมยิ้ม แล้วต่อบทสนทนาให้แคบลงสู่เรื่องของลลินธร ว่าทำไมถึงสนใจสองศาสตร์วิชาที่ชอบถูกนิยามว่า ศิลปะคือเรื่องความรู้สึก แต่วิทยาศาสตร์นั้นว่ากันด้วยเหตุผล

เธอเล่าถึงเส้นขนานแรกอย่าง ศิลปะ ที่สมัยมัธยมต้น เวลาว่างขณะเรียนชอบหยิบวงเวียน ไม้บรรทัดสี่เหลี่ยม ไม้บรรทัดวงกลม มาเป็นอุปกรณ์วาดภาพลงสมุดมีเส้น วาดเป็นรูปวงกลมซ้อนทับไปมาแล้วแทรกรูปก้อนเมฆลงไปบ้าง บางทีก็เปลี่ยนเป็นดวงตากลมโต จนเลยเถิดไปวาดลงกระดาษแผ่นใหญ่ แม้ตอนนั้นไม่มั่นใจว่าชอบมากแค่ไหน แต่ก็ตัดสินใจลองเรียนศิลปะอย่างจริงจังดูสักตั้ง

ซึ่งการลองเรียนศิลปะของเธอไม่ใช่การเรียนพิเศษทั่วไป หรือการเรียนต่อชั้นมัธยมปลายด้านสายศิลป์ แต่ลลินธรในวันหลังจบ ม.3 ตัดสินใจออกไปเรียนรู้ศิลปะโดยตรงที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ที่ซึ่งเธอได้เรียนพื้นฐานทุกแขนง ทั้งวาดเส้น ลงสี การวาดทัศนียภาพ ไปจนถึงการจัดองค์ประกอบ ที่สำคัญมีวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่เธอในวัยสิบกว่าขวบบ่นว่ายาก แต่เมื่อเติบโตถึงรู้ตัวว่า ความยากที่เคยเผชิญ คือแรงผลักดันเล็กๆ ให้เดินในเส้นทางศิลปะเชิงชีววิทยา

“เขาสอนร้องเพลงว่าอวัยวะนี้ชื่ออะไร กล้ามเนื้ออะไร จำยากนะแต่ก็เพลิน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ชอบจริงจัง มารู้ตัวอีกทีว่าอยากเรียน อยากทำความเข้าใจก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว”

เส้นความชอบสองคือ ภาพวาดเชิงชีววิทยา ที่ลลินธรเข้าใจอย่างลึกซึ้งตอนเรียนปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เธอมีโอกาสได้ค้นคว้าในห้องสมุด ถึงได้รู้ว่าสิ่งนี้คือภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการและภาควิชาให้ศึกษาโดยตรง ก่อนเล่าต่อด้วยน้ำเสียงติดเสียดายว่า ถ้าตอนนั้นรู้ว่ามีคณะเรียนเฉพาะที่เด็กต้องรู้ทั้งวิทย์และศิลปะ คงพุ่งไปเรียนอย่างไม่ต้องคิด แต่เมื่อเวลาย้อนกลับไม่ได้ ลลินธรจึงเอาเส้นขนานทั้งสองที่หลงรักมาหลอมรวมกันผ่านความคิดและมุมมองของเธอ

“ระหว่างเรียนเราชอบสเก็ตช์ภาพพืช ภาพสัตว์ต่างๆ อีกแล้ว เหมือนย้อนกลับไปตอนเด็กไหม (หัวเราะ) จนวันหนึ่งมองภาพเห็ดที่กำลังสเก็ตช์แล้วก็นึกขึ้นว่า มันเหมือนกับอวัยวะของคนเลย น่าเอามาผสมกับบางอย่างแล้วสร้างศิลปะในมุมมองและความหมายใหม่”


เชื่อมด้วยกาวปรัมปรา

เมื่อศาสตร์ที่เคยแยกปลายทางวนมาหาจุดร่วม สิ่งที่ลลินธรใช้เชื่อมสองความต่างให้บรรจบ คือความน่าค้นหาของเรื่องเล่าในตำนาน และนิทานอีสป ซึ่งปรัชญาของ โคลด เลวี-สเตราส์ (Claude Lévi-Strauss) นักมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์วิทยาชาวฝรั่งเศสบอกให้เธอรู้ว่า มีความรู้เชิงชีววิทยาซุกซ่อนอยู่ในนิทานและเรื่องเล่าของคนโบราณ

ลลินธร-ศิลปะ

“คนโบราณมีความรู้เชิงชีวะแบบใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าคนปัจจุบัน เช่น เขาใกล้ชิดกับวาฬ มีจิตวิญญาณสื่อสารกับวาฬได้ หรือคนสมัยก่อนรู้ว่าเมื่อฟ้าเป็นสีนี้หมายถึงฝนกำลังจะมา ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ หรืออย่างตำนานที่ว่าโลกเราอยู่ได้เพราะมีเต่าแบกไว้ มันยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติ 

“อย่างตอนไปเวิร์กช็อปที่อินเดียเรื่องบีเวอร์ ด้วยความสงสัยว่าทำไมมันฉลาดจนถึงขั้นได้รับขนานนามว่าสถาปนิกแห่งการสร้างรัง เราก็ศึกษาจนไปเจอเรื่องเล่าบีเวอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของมัน คือสมัยก่อนมีการล่าบีเวอร์เพื่อตัดอัณฑะแล้วเอาเมือกไปทำน้ำหอม ซึ่งพอนายพรานออกล่า กำลังจะยิง มันเลยกัดอัณฑะตัวเองยื่นให้เพื่อรักษาชีวิต ซึ่งไปละม้ายคล้ายกับตำนานการเกิดเทพวีนัส ที่พ่อเธอถูกตัดอัณฑะทิ้งลงแม่น้ำ จากนั้นมันทำปฏิกิริยากับน้ำก่อเกิดเป็นเทพวีนัส เรารู้สึกว่า เฮ้ย เหมือนกันเลย ทำให้เรื่องเล่าและนิทานอีสป มีความเกี่ยวโยงกับวิทยาศาสตร์ในมุมมองเราไปโดยปริยาย เลยใช้นิทานอีสปบาลานซ์ระหว่างศิลปะกับวิทย์”


บรรจบเพื่อสะท้อนสังคม

เมื่อความต่างขั้วระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ถูกเชื่อมหากันด้วยนิทานอีสป ลลินธรจึงหยดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมเพิ่มลงไป แล้วนำมาถ่ายทอดผ่านปากกาคอแร้งและหมึก ที่เสน่ห์ของมันคือลายเส้นคมเหมือนภาพพิมพ์ในสารานุกรมสมัยก่อน เธอบรรจงจุ่มหัวปากกาลงหมึก ยกขึ้นมาวาดภาพทีละเส้นลงกระดาษ Bristol Board มุมไหนที่ค่อนข้างละเอียดก็จะใช้แว่นขยายส่องช่วยให้ขีดเส้นได้เนี้ยบกริบ และจะคอยจุ่ม ขีดสลับกันไปจนกว่าภาพนั้นจะเสร็จสมบูรณ์ จนกลายเป็นภาพศิลปะเชิงชีววิทยาซึ่งสะท้อนแง่มุมต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ ที่หลายครั้งไม่สามารถพูดออกไปได้

ลลินธร-ศิลปะ
Mushhead Garden, 2012

คนบาป (SINNERMAN, 2013) คือผลงานภาพเชิงชีววิทยาชุดแรกที่ลลินธรตั้งใจสะท้อนสังคม ซึ่งเริ่มทำผลงานชุดนี้ตั้งแต่ปี 2012 หลังเรียนจบปริญญาโท สาขาทฤษฎีศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอวาดอย่างใส่ใจทุกรายละเอียดจนได้ผลงานร่วม 10 ชิ้น เพื่อสื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมเชิงลบที่ยากจะโต้ตอบกลับไป

“เราไม่สามารถพูดตรงๆ ออกไปได้เมื่อเห็นการกระทำบางอย่าง เช่น เห็นคนแซงคิว บางทีก็ว่าออกไปไม่ได้ว่าทำไมไม่รู้จักต่อคิว แกอย่าทำแบบนี้สิ หรือขอต่อยเลยได้ไหม (หัวเราะ) เลยเลือกแสดงออกทางอ้อมผ่านงานศิลปะบนกระดาษ ซึ่งหยิบยืมภาพลักษณ์เชิงชีววิทยาของดอกไม้มาใช้ อีกมุมเราเห็นว่า เพศชายมักจะมีความก้าวหน้าทางอาชีพ ประสบความสำเร็จมากกว่า เลยล้อเลียนเชิงจิกกัดเป็นภาพสวนเห็ดที่มีแต่เห็ดบานเต็มทุ่ง”

SYNTHESIS, 2015

หลังพูดจบเธอหยิบกระดาษสเก็ตช์ภาพหนู ที่ด้านข้างมีลายมือเธอจดข้อมูลต่างๆ แล้วเล่าว่านี่คือผลทดลองจากการเปิดแล็บขนาดย่อม เพื่อใช้ประกอบภาพวาดที่จัดแสดงร่วมใน SYNTHESIS (2015) นิทรรศการที่พูดถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งระดับปัจเจกและสังคม ซึ่งลลินธรดึงภาวะการทำงานที่ต้องแข่งขัน พยายามทำงานหนักไม่ลดละ และยอมกันไม่ลง เปรียบเสมือนหนูถีบจักรมาใช้ เธอจึงเลี้ยงหนูเพื่อศึกษาพฤติกรรม จนได้รู้ว่ามันฉลาดเป็นกรด เรียนรู้เร็ว และแก้ไขปัญหาได้ แต่แสร้งว่าโง่ และเมื่อถึงวันครบกำหนดการมีชีวิตก็สตัฟฟ์มันไว้ ก่อนวาดภาพครึ่งคนครึ่งหนูกำลังทำท่าถีบจักร แล้วนำทั้งหนูสตัฟฟ์และภาพวาดมาจัดแสดงเคียงกัน

ฟังแล้วกระตุ้นให้ฉันอยากรู้แนวคิดของทั้งสองภาพบนผนังด้านหน้าต่อทันที เลยเริ่มถามจากภาพแรกที่ดูคล้ายหัวใจคน แต่กลับมีหูโผล่ออกมา

ลลินธร-ศิลปะ
Canine Heart, 2014
Canine Heart, 2014

“นี่คือภาพ Canine Heart (2014) หรือใจหมา คือเวลาได้ยินคำนี้เราชอบคิดว่า ใจหมาหน้าตาเป็นยังไง (หัวเราะ) จะเหมือนใจคนที่เราเคยเห็นหรือเปล่า หรือจะเป็นแบบไหน เลยเอาหน้าหมามาผสมกับหัวใจ ใส่หู จมูก ดวงตาลงไปตามจินตนาการของเรา” 

ฉันใคร่รู้ต่อถึงภาพจิ้งหรีดกับลาด้านข้าง ซึ่งประโยคที่เธอเอ่ยว่า “งานนี้เราเปิดแล็บเลี้ยงจิ้งหรีดเกือบห้าสิบวัน” ก็ชวนให้รู้สึกทึ่งกับวิธีการทำงานของศิลปินคนนี้จนตั้งใจฟังแทบไม่กะพริบตา

ลลินธร-ศิลปะ
 The Fable of Braying,
Chirping, and Sizzling Sounds, 2018

ภาพนี้คือส่วนหนึ่งของนิทรรศการนิทานแผดเสียง กรีดเสียง และซีซเสียง (The Fable of Braying, Chirping, and Sizzling Sounds – 2018) ซึ่งลลินธรได้แรงบันดาลใจจากนิทานอีสปเรื่องลากับจิ้งหรีด ที่ลาโง่ตัวหนึ่งกินหญ้าอยู่ชายป่าแล้วได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องเพราะ เลยเอ่ยถามจิ้งหรีดว่า เธอกินอะไร เสียงร้องถึงเพราะขนาดนี้ จิ้งหรีดบอกว่าเรากินน้ำค้าง พอลาได้ยินอย่างนั้นก็ยอมอดหญ้าแล้วเอาแต่เลียน้ำค้างกิน ท้ายที่สุดมันก็ตาย

The Fable of Braying,
Chirping, and Sizzling Sounds, 2018

“ส่วนมากในนิทาน ภาพลักษณ์ของลามักจะแทนความโง่ ส่วนจิ้งหรีดเป็นตัวแทนของความเจ้าเล่ห์เพทุบาย ก็เหมือนกับคนเราที่มีหลากหลายประเภท เลยคิดอยากวาดภาพชิ้นนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนเนื้อเรื่องจากนิทานอีสป ซึ่งเราใช้เทคนิคสามอย่างร่วมกัน คือลงเส้นหมึกที่พื้นหลัง ตัวลาเป็นดินสอกราไฟต์ ส่วนจิ้งหรีดระบายด้วยสีไม้

“ซึ่งก่อนจะลงมือวาดภาพ เราไปฟาร์มจิ้งหรีดแล้วซื้อมาเลี้ยงสองตัว ตั้งกล้องอัดวิดีโอไว้เพื่อศึกษาพฤติกรรม มันก็กัดกันนะ มีขาหลุดบ้าง ร้องจี๊ดๆ พอถึงวันตายตามอายุขัยประมาณห้าสิบวัน ก็เอามาเก็บแห้ง หลังจากนั้นเราก็ดูโครงสร้างจิ้งหรีดอย่างละเอียดผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อยืมภาพลักษณ์เชิงชีววิทยามาใช้ ซึ่งตอนจัดแสดงก็เปิดวิดีโอจิ้งหรีด รวมถึงนำจิ้งหรีดแห้งมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ก็ศึกษาพฤติกรรมลาเพิ่มเติม จนได้รู้ว่าลาไม่ได้โง่อย่างที่เข้าใจ ออกจะดื้อด้วยซ้ำ และถ้ามันตกใจมากๆ จะนอนหงายท้อง เลยมีอีกภาพที่เราวาดลานอนหงาย” 

เรียกได้ว่าที่มาของผลงานแต่ละชิ้นโดยฝีมือลลินธร ทำให้ฉันได้เปิดประสบการณ์การชมศิลปะรูปแบบใหม่ ที่ทั้งตื่นเต้นกับลายเส้นอวัยวะภายในสุดแสนละเอียด เพลิดเพลินกับนิทานอีสปที่เมื่อโตแล้วไม่เคยได้ย้อนกลับไปอ่าน และรู้สึกทึ่งกับแล็บทดลองเชิงชีวะที่เธอสร้างขึ้น เพื่อรวมศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์ แล้วเสนอองค์ความรู้เชิงจินตนาการให้ผู้ชมสัมผัสศิลปะเชิงชีววิทยาที่หาชมได้ยาก


ตกผลึกชวนขบคิด

กว่า 9 ปีที่ลลินธรสรรค์สร้างผลงาน เธอบอกกับฉันว่าศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเหล่านิทานทำให้เธอเข้าใจว่า สรรพสิ่งในโลกกลมๆ ใบนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด และมักจะสัมพันธ์กันโดยอ้อม ทั้งยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ย้ำเตือนให้รู้ว่า ศิลปะและวิทยาศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกันเสมอ

“สองศาสตร์นี้มีเป้าหมายและกระบวนการบางอย่างคล้ายกัน ต่างแค่รูปแบบการใช้งานที่ไปตอบสนอง ถ้าวิทยาศาสตร์จะตอบสนองทางร่างกาย ส่วนศิลปะจะตอบสนองคุณค่าทางจิตใจ อย่างหากสงสัยว่าทำไมอกหักแล้วเศร้า ศิลปินจะนำเสนอผ่านรูปแบบศิลป์ตามแขนงที่ถนัด ส่วนนักวิทยาศาสตร์จะค้นหาคำตอบด้วยการทดลองสารประกอบต่างๆ ในร่างกาย แต่ทั้งหมดทั้งมวล วิทย์กับศิลป์ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการอธิบายและอยากเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ในจักรวาล”

เธอยังบอกด้วยสายตาซึ่งเต็มไปด้วยประกายและน้ำเสียงที่มุ่งมั่นว่า

“สิ่งที่ศิลปินและนักวิทยาศาสตร์มีร่วมกัน คือความกระหายใคร่รู้ ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่หมดพลังของความอยากรู้ ก็จะทำงานศิลปะเชิงชีววิทยาต่อไป”

และวันหนึ่งในอนาคต เธออาจรวมทุกผลงานภาพวาดเชิงชีววิทยาเป็นเล่มสารานุกรม เพื่อส่งต่อสิ่งที่เธอได้ศึกษา ส่งต่อความเข้าใจ และส่งต่อจินตนาการบางมุมให้กับวงการศิลปะและวิทยาศาสตร์ไทย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.