คลาสศิลปะ ‘ครูป๊อด โมเดิร์นด็อก’ ที่จูงมือเด็กตั้งคำถามต่อวิชาศิลปะในโรงเรียน - Urban Creature

ประถมฯ – ถ้าครูศิลปะในโรงเรียนให้นักเรียนวาดทัศนียภาพ เด็กๆ จะวาดภูเขาสีเขียว 2 ลูกติดกัน แทรกกลางด้วยพระอาทิตย์ ระบายสีฟ้าบนท้องฟ้าเป็นสูตรตายตัว และต้องถมสีไม่ให้เหลือพื้นที่สีขาวบนกระดาษเพราะครูบอกว่า ‘ผิด’

มัธยมฯ – ถ้าครูศิลปะในโรงเรียนให้นักเรียนวาดภาพบุคคลหรือแรเงาแก้วสักใบ หากสีผมและใบหน้าไม่เหมือนคนต้นแบบที่ครูยอมรับ หรือแก้วใบที่วาดไม่ใช่ทรงกระบอกเหมือนในครัว ก็เท่ากับ ‘ผิด’ เช่นกัน

ต่อมฉงนในหัวถูกกระตุกอย่างแรงว่าศิลปะในระบบการศึกษาไทยยังยึดติดกับคำว่า ‘ถูกและผิด’ จนปิดกั้นจินตนาการเด็กไปแล้วกี่เจนเนอเรชัน ? สมัยเรียนของ พี่ป๊อด-ธนชัย อุชชิน วัย 49 ปี หรือ ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ วงร็อกขวัญใจเด็กแนวยุค 90 ที่นั่งตรงข้ามฉันก็เคยถูกสอนแบบนั้น คน Gen-Y อย่างฉันก็เคยโดนดุเพราะระบายสีไม่เต็มกระดาษ แต่ที่อ้าปากค้างเล็กๆ คงเพราะเด็ก Gen-Z ยุคนี้ยังถูกปลูกฝังแบบนี้อยู่

ลมร้อนยามบ่ายพัดฉันมาที่ POD ART STUDIO สตูดิโอสี่เหลี่ยมไม่เล็ก ไม่ใหญ่ของพี่ป๊อด เพื่อคุยเรื่องศิลปะไร้กฏเกณฑ์ของเขา ไปถึงคลาสเวิร์กช็อปที่ต้อนรับเด็ก 4 ขวบ ยันผู้สูงอายุ ให้มาเฝ้าดูตัวเองผ่านงานศิลป์นอกตำรา สาดสีปล่อยอารมณ์แบบที่โรงเรียนไม่ได้สอน และไม่ลืมคลายปมใครหลายคนที่คิดว่า “ฉันมันห่วยศิลปะ” ให้เปิดใจมองผลงานตัวเองใหม่ว่าพิเศษแค่ไหน

| ศิลปิน-ศิลปะ-ศิลเปรอะ

“คนอ่านจะงงไหมครับเนี่ย เป็นนักร้องมาวาดรูปได้ไง (หัวเราะ)
“ผมเป็นศิลปินหน้าใหม่อยู่ ตื่นเต้นจัง ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ (ยิ้ม)”

แม้พี่ป๊อดจะบอกว่าเขาเป็นเด็กใหม่ในวงการศิลปะ แต่ฉันว่าก็ไม่ใหม่เท่าไหร่ เพราะชีวิตของเขาวนอยู่ในอาณาจักรแห่งศิลปะมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ชั้นประถมฯ มัธยมฯ ต่อยอดเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะครุศิลป์ จุฬาฯ จนขึ้นปี 4 ได้ไปเป็นครูฝึกสอนศิลปะในโรงเรียนมัธยมฯ หนึ่งเทอมเต็มๆ และตอนนี้เป็นอาร์ตติสเขียนภาพแอบสแตรกที่มีผลงานจัดแสดงในหลายพื้นที่ทั่วไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ฉันก้มมองพื้นสตูดิโอที่เปื้อนร่องรอยการละเลงสีอย่างกระจัดกระจายราวกับเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และใช่ ! พี่ป๊อดบอกว่าที่นี่คือพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองและนักเรียนในคลาสของเขา เพราะสิ่งแรกที่จะได้กลับไปจาก POD ART STUDIO ไม่ใช่การสอนทักษะ 1 2 3 ตามสเต็ปแบบในโรงเรียน แต่ที่นี่จะทำให้คนที่มาได้เห็นบางอย่างในตัวเองที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น แปลกใจว่าทำแบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ ทั้งท้องฟ้าสีชมพู ภูเขาสีอื่นที่ไม่ใช่สีเขียว ระบายพื้นดินเป็นสีรุ้งตามใจหวัง และทำให้เกิดการ ‘คลิก’ บางอย่างในใจจนกล้าที่จะใช้หัวคิดอย่างอิสระ

“ศิลปะในแต่ละช่วงชีวิตของพี่ป๊อดต่างกันอย่างไร ?” ฉันถามพี่ป๊อดยิ้มๆ ก่อนเราจะคุยกันเรื่องคลาสเวิร์กช็อป ซึ่งได้ความว่า

ศิลปะของพี่ป๊อดช่วงอนุบาลคือรักแรกพบ ประถมฯ คือตกหลุมรัก มัธยมฯ คือรักที่จะเรียนรู้ มหาวิทยาลัยคือรักที่จะแบ่งปัน และปัจจุบันคือรักที่ขาดไม่ได้

รักแรกพบตอนอนุบาลเริ่มด้วยการชอบวาดรูปจากสิ่งที่เห็นรอบตัวตามประสาเด็กของพี่ป๊อด แต่จังหวะตกหลุมรักศิลปะคงเป็นตอนประถมฯ เมื่อครูให้โจทย์ขยี้ใบไม้และดอกไม้เพื่อใช้เป็นพาเลตสีแล้วนำมาวาดภาพ แม้ว่างานของแต่ละคนจะออกมาเหมือนกันเป็นแพทเทิร์น (ภูเขา 2 ลูก อยู่หน้าพระอาทิตย์ และมีนกบินรอบๆ) แต่ถึงอย่างนั้นก็มักมีจุดที่แตกต่าง อย่างการลงน้ำหนักมือ การตวัดพู่กัน หรือความเปียกบนกระดาษที่ไม่ตายตัว ไม่เหมือนวิชาเลขที่มีคำตอบแน่ชัดว่าข้อไหนถูกชัดเจน ซึ่งเสน่ห์ตรงนั้นดึงดูดเขาให้รอวันที่จะได้วาดภาพภูเขาอย่างอิสระในอนาคตอันใกล้


| แนะแนว-แนะน้อง- (ไม่) แนะนอน

​จังหวะตกหลุมรักตอนประถมฯ ผ่านไป จังหวะการเรียนรู้เข้ามา เด็กห้องวิทย์ที่อยากเรียนศิลป์อย่างพี่ป๊อดไม่อาจหาญกล้าย้ายห้อง วิชาแนะแนวก็เป็นชั่วโมงนอนเล่นซะงั้น

ตอนมัธยมฯ ตามที่เราคุ้นเคยกันดีว่าโรงเรียนจะให้เด็กเลือกทำกิจกรรมในชุมนุมต่างๆ ซึ่งพี่ป๊อดเลือกชุมนุมศิลปะ ทำให้เขามีโอกาสเขียนฉากและเขียนป้ายงานกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน แน่ะ ! รู้นะว่าสงสัยอยู่ว่าพี่ป๊อดชอบดนตรีตั้งแต่ตอนไหน เฉลยเลยแล้วกัน เขาชอบดนตรีควบคู่กับงานศิลปะ และตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ ตั้งแต่ ม.3 ส่วน ม.4 ด้วยคะแนนสอบของเขาทำให้จับผลัดจับผลูไปอยู่ห้องวิทย์-คณิต แต่เรียนไปเทอมเดียวก็รู้แล้วว่าชีวะ ฟิสิกส์ และการท่องตารางธาตุนั้นไม่ใช่ตัวเองเอาซะเลย แต่ก็ไม่กล้าย้ายห้องไปสายศิลป์อยู่ดี

“การศึกษาไทยทำให้การที่เด็กสายวิทย์จะย้ายไปเรียนสายศิลป์เป็นเรื่องแปลก”

เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่กล้าย้ายห้อง เพราะไม่มีเด็กคนไหนคิดที่จะทำในยุคที่ศิลปะยังไม่เปิดกว้าง (ปัจจุบันฉันเองก็สงสัยว่ามันเปิดกว้างแล้วหรือยัง ?) แต่พี่ป๊อดก็อยากเรียนศิลปะสุดหัวใจ เขาจึงไปเรียนพิเศษกับพี่ๆ คณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร เพื่อติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าไหร่ที่ทั้งเด็กสายศิลป์หรือสายวิทย์ หากจะเข้าคณะสายศิลปะต้องเรียนพิเศษติวเพิ่ม เพราะวิชาศิลปะในโรงเรียนอาจไม่เพียงพอกับการใช้สอบ อีกทั้งวิชาแนะแนวในโรงเรียนที่ครูควรเป็นส่วนช่วยให้เด็กๆ ค้นหาตัวเองเจอ กลับกลายเป็นคาบว่าง ไว้ให้เด็กนอนเล่นแทบทุกโรงเรียน

​“วิชาแนะแนวเป็นวิชาที่ควรให้ความสำคัญ และครูที่รับหน้าที่ควรเข้าใจเด็ก สร้างแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพของนักเรียนให้รู้ว่าพวกเขามีความฝันอะไร ชอบอะไร อยากทำอะไร ไม่ใช่เป็นแค่วิชานั่งพักแบบตอนผมเรียน”

| ครูฝึกสอนพี่ป๊อด-ครูป๊อด

​คณะจิตรกรรมฯ คือคณะที่พี่ป๊อดใฝ่ฝัน แต่เขากลับเอนทรานซ์เลือกคณะครุศิลป์ จุฬาฯ เพราะคิดว่าสู้เด็กศิลปะโดยตรงไม่ได้ ทว่าการเลือกเรียนเป็นครูศิลปะของเขาที่ได้เรียนรู้ศิลปะทุกแขนง ทั้งวาด ปั้น ออกแบบ หัตถกรรม หรือภาพพิมพ์ กลับตอบความสงสัยของตัวเองว่าเลือกเรียนไม่ผิด ก็ตอนที่เขาได้มาสอนศิลปะให้นักเรียนทุกคน เพราะรู้แล้วว่าตัวเองเป็นคนชอบอธิบาย และอยากแบ่งปันความรู้ด้านศิลปะให้นักเรียนทุกคนไปพร้อมๆ กับปลูกจิตสำนึกใหม่ต่อค่านิยมที่ระบบการศึกษาบ่มเพาะนักเรียนว่าถ้าวาดไม่เหมือนแปลว่าไม่เก่ง ได้คะแนนน้อยแปลว่าไม่มีหัวศิลป์ จนคิดไปว่าศิลปะเป็นเรื่องยากและไกลตัว ให้หันมามองศิลปะในมุมใหม่ที่ไม่มีผิดหรือถูกและสนุกกว่าที่เคย

สมัยปี 4 พี่ป๊อดรับบท ‘ครูฝึกสอน’ วิชาศิลปะชั้นมัยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โดยครูพี่ป๊อดให้โจทย์สุดแรร์อย่างการออกแบบลายเสื้อยืดมาส่ง ท่ามกลางครูคนอื่นที่สั่งวาดภาพเหมือนศิลปินชื่อดังอย่าง แวนโก๊ะ หรือปิกาโซ่ (ตอนพี่ป๊อดเรียน ครูก็สั่งให้เขาวาดปิกาโซ่นะ !) หรือแม้กระทั่งให้นักเรียนเลือกเพลงที่ชอบ 1 เพลงและออกแบบปกซิงเกิล ที่สำคัญตอนส่งต้องเอาเพลงมาเปิดให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วอธิบายว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้ ทำปกแบบนี้ต้องการจะสื่ออะไร เพราะเขาเชื่อว่าหากศิลปะผนวกกับสิ่งที่อิน นักเรียนจะมีไฟทำงานอย่างลุกโชน ซึ่งการสอนของเขาก็เป็นที่ถูกใจนักเรียนหลายๆ คน

ที่สำคัญลูกศิษย์ตอนนั้นของพี่ป๊อดหลายคน ปัจจุบันก็ยังเรียกเขาว่าครูพี่ป๊อด และน่ารักยิ่งกว่าก็ตอนที่ลูกศิษย์เอาลูกๆ ของตัวเองมาเรียนกับ ‘ครูป๊อด’ ต่อใน POD ART STUDIO แห่งนี้ด้วย

| ใช้เพลงคุยกับคน-ใช้ศิลปะคุยกับตัวเอง

​“ศิลปะทำให้ผมได้อยู่กับปัจจุบัน กลับมารู้เนื้อรู้ตัวผ่านการขยับร่างกาย ปาดสี ขยี้พู่กัน เฝ้ามองอารมณ์และความคิดที่ปรากฏขึ้น ณ ขณะนั้น ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าวันนั้นเราเป็นอย่างไร ลองทำงานดู มันไม่โกหกเรา”

เหตุผลในการสร้างสตูดิโอเพื่อทำงานศิลปะและเปิดคลาสเวิร์กช็อปศิลปะ เริ่มต้นจากตัวพี่ป๊อดเองที่เริ่มหมดความสงสัยในสิ่งต่างๆ เพราะปกติเวลาสงสัยอะไรเขาจะพยายามทำความเข้าใจแล้วนำมาเขียนเป็นเพลง ทั้งเพลงวันนี้เมื่อปีก่อน หรือ ลอยมา ลอยไป เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องที่พบเจอ แต่พอผ่านมาเรื่อยๆ แต่งเพลงจบไป 6 อัลบั้ม เริ่มหมดความสงสัย จึงหันกลับมาทำงานศิลปะที่เคยตกหลุมรักตั้งแต่เด็กๆ

พี่ป๊อดเล่าว่าช่วงที่แต่งเพลงไม่ออก เขาไม่มีเรื่องที่จะพูด เพราะปกติจะใช้เสียงเพลงในการสื่อสาร แต่ก็ยังมีความรู้สึกต่างๆ หลั่งไหลอยู่ในใจที่สื่อออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ‘แอบสแตรก’ ศิลปะที่ไม่ต้องมีความหมายใดจึงตอบสนองเขาได้ดี ไม่ต้องมีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เหมือนประโยคพูดคุยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่เป็น ‘ภาษาศิลปะ’ ที่เป็นเพียงร่องรอยของอารมณ์ที่แสดงออกมาได้ดีว่าในแต่ละวันเขาเป็นอย่างไร

ปี 2013 พี่ป๊อดหยิบสีมาปาดป้ายบนผืนผ้าใบ โดยพยายามออกจากการคิดให้ได้มากที่สุด ไม่ว่ามันจะเสร็จหรือไม่เสร็จ วันพรุ่งนี้มาดูใหม่ ถ้ายังรู้สึกว่ามันดูยังไม่เสร็จ ก็เอาสีมาทับใหม่ไปเรื่อยๆ ไร้สูตรตายตัว ปี 2015 เขาท้าทายตัวเองว่าจะทำงานได้ไหมถ้าไม่ใช้สีดำเลย หรือในปี 2017 ก็นึกสนุกหยิบงานเก่าที่เคยวาดไว้นานแล้ว มาระบายเพิ่มให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีงานแอบสแตรกของเขาก็ได้โลดแล่น ถูกนำไปแสดงหลายแห่ง ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ห้องแสดงงานศิลปะอย่าง YELO House, Woof Pack, Subhashok The Arts Centre ในกรุงเทพฯ, D Kunst ราชบุรี, Temple House ลำพูน และยังแวะเวียนไปเชียงใหม่ รวมทั้งฮ่องกงอีกด้วย

​“ทุกวันที่ลงมือทำงานศิลปะ ผมจะเห็นความกลัว ทั้งกลัวเสีย กลัวพัง กลัวว่าลงสีนี้จะเละไหม เห็นความกล้าในการขยับข้อมือตอนจับพู่กัน ความมันส์ในการละเลง ความตื่นเต้นขณะที่ทำ ผมได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกของตัวเองไปพร้อมๆ กัน”

​“จะความสดชื่นหรือความอ่อนล้า งานตรงหน้าก็แสดงออกอย่างซื่อตรง วันไหนที่อ่อนแรงภาพวาดก็มีความวอกแวก ไร้พลัง หรือบางวันที่มีกำลัง ก็จะทำได้อย่างลื่นไหล แม้แต่การขูดขีดสีลงบนภาพ ผมก็จะเห็นกำลังของการเคลื่อนแขนไปมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่แหละทำให้รู้ว่าวันนั้นร่างกายและหัวใจเป็นอย่างไร”

​ศิลปะช่วยให้พี่ป๊อดบาลานซ์ตัวเองได้ดีขึ้น หากเมื่อใดเห็นว่าร่างกายตัวเองกำลังเหวี่ยง เคลื่อนไหวแรงจนเกินไป หรือเกิดความอ่อนล้า ก็จะรู้ทันทีว่านี่คือสัญญาณของการ ‘พัก’ ซึ่งถ้าไม่มีการเฝ้ามองตัวเองตรงนี้ เขาก็แทบจะไม่สังเกตมันและปล่อยตัวเองให้ไหลไปกับงานต่างๆ จนละเลยที่จะใส่ใจตัวเอง


| ป๊อด-อาร์ต-สตูดิโอ

​“ผมต้องการสร้างบรรยากาศให้นักเรียนทุกคนรู้สึกถึงการเล่นมากกว่าเรียน เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการสิ่งนี้ ศิลปะควรเป็นเรื่องบำบัดจิตใจ ก่อนจะออกไปเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตจริง”

ทั่วทุกตารางเมตรในห้องสี่เหลี่ยมของ POD ART STUDIO พี่ป๊อดตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่เด็กและผู้ใหญ่ได้มาเล่นสนุก และมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ

นักเรียนนัมเบอร์วันของพี่ป๊อดคือ ‘คุณแม่’ ที่ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ ในการทำงานศิลปะ เพราะถูกปลูกฝังมาว่าถ้าวาดไม่เหมือน = ผิด แต่พี่ป๊อดก็ช่วยพูดคุยและนำเสนอแง่มุมว่างานศิลปะมีความหลากหลายมากแค่ไหน ประเดิมการสอนด้วยการปลดล็อกคุณแม่ โดยยื่นกระดาษ พาเลตสี และสร้างบรรยากาศให้แม่มั่นใจด้วยประโยคเปิดใจ “แม่ลองดูนี่สิ ขูดๆ แบบนี้ได้เลย สวยดีออก” ที่ทำให้แม่กล้าวาดจนเสร็จ และสุดท้ายพี่ป๊อดก็นำงานของแม่ไปลงในอินสตาแกรม และแน่นอนมีคนเข้ามาซื้อ ! ทำให้แม่เริ่มมั่นใจที่จะทำงานต่อไป และรู้สึกว่าการวาดไม่เหมือนก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะสิ่งสำคัญคือ ‘ตอนทำรู้สึกดี’ ก็พอ

หลักสำคัญของพี่ป๊อดในการสอนนักเรียนทุกคนคือ ‘บรรยากาศในห้อง’ เขาบอกว่าการใช้จิตวิทยาที่ทำให้เด็กถอดชุดความคิดในโรงเรียนว่าต้องวาดตามแบบแผนนั้นออก คือจุดที่ต้องใช้เวลา แต่ถ้าพวกเขากล้าวาดแล้ว จะทำให้ผลงานศิลปะของเด็กๆ กลับมาพรั่งพรูได้อีกครั้งอย่างไร้กฎเกณฑ์ โดยอันดับแรกที่นักเรียนทุกคนจะได้รับจากพี่ป๊อดคือแคนวาส สีอะคริลิคทุกเฉดให้เลือกสรร และบทสนทนาแลกเปลี่ยนที่สร้างความรู้สึกเพลินใจตลอดทั้งคลาสราว 3 ชั่วโมง

​“คลาสผู้ใหญ่กับเด็ก mood จะต่างกัน ผู้ใหญ่จะแฮปปี้กับการฟังคำอธิบายข้อมูลที่น่าสนใจและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดเพื่อให้เกิดการเปิดใจก่อนลงมือทำ แต่สำหรับเด็กๆ มาถึงอาจต้องลุยกันเลย หยิบสี และละเลง แต่ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็ก หลายคนจะประหลาดใจว่าทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เราก็จะคอยพูดตลอดว่ามันไม่มีผิดหรือถูก และไม่เปรียบเทียบงานแต่ละคนกับเพื่อนข้างๆ เด็ดขาด”

​“ผมจะหาข้อดีของแต่ละคนออกมาพูด เช่น คู่สีนี้สวยจังเลย หรือ เส้นแบบนี้เจ๋งมาก ทำให้เขามั่นใจว่าตัวเองมีดี นั่นจะทำให้พวกเขากล้าที่จะสนุกกับงานตรงหน้า

​“มีเด็กคนหนึ่งระบายแต่สี deep blue เต็มแผ่น ไม่ยอมใช้สีอื่นเลย พ่อเขาก็แอบประหลาดใจกับแนวทางของลูก แต่ผมเห็นงานน้องแล้วยิ้มทันที เพราะงานของเด็กคนนั้นเหมือนกับศิลปินระดับโลกท่านหนึ่ง”

คลาสศิลปะในมุมของ ‘ครูป๊อด’ คือการทำให้เด็กรู้สึกสนุก และอยากเรียนรู้เพื่อเอาไปพัฒนาในชีวิตจริง ไม่ว่านักเรียนที่เข้ามาเรียนจะโตไปเป็นวิศวกร ก็จะเป็นวิศวกรที่มีสไตล์ หรือเป็นเชฟ ก็จะเป็นเชฟที่จัดจานอาหารได้น่ากิน แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าหากทุกๆ คนมีศิลปะในหัวใจ ก็จะรู้จักเลือกสรรการออกแบบชีวิตได้อย่างมีศิลปะ


Facebook: POD ART STUDIO
Instagram: podart.studio

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.