รายงานประจำปี 2021 ของ thredUP แพลตฟอร์มตัวกลางออนไลน์สำหรับซื้อขายเสื้อผ้ามือสองคุณภาพสูง พบว่า ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี (2021 – 2022) ตลาดเสื้อผ้ามือสองเติบโตเพิ่มสูงขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะขยายตัวจนมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ (7 ล้านล้านบาท) ในปี 2025
การคาดการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในยุคปัจจุบันเริ่มหันมาสนใจการซื้อสินค้ามือสองมากขึ้น และตัวเลขเหล่านี้ยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ อันเป็นผลมาจากการตระหนักรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าตามกระแส (Fast Fashion) และปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดมือสองในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้ อาจไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอไป คอลัมน์ Green Insight ขอพาไปดูอีกแง่มุมหนึ่งของตลาดสินค้ามือสองที่หลายครั้งอาจไม่ได้กรีน แต่กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมอยู่
คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แม้เทรนด์การซื้อสินค้ามือสอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เครื่องใช้จะไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่หลังจากธุรกิจขายของออนไลน์เติบโตขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ฐานลูกค้าสินค้ามือสองที่แต่เดิมมีเพียงส่วนน้อย เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์มาแรงของผู้คนทั่วโลก
โดยผลสำรวจจาก GlobalData 2022 พบว่า ตลาดมือสองในทวีปอเมริกาเหนือมีขนาดตลาดที่เติบโตขึ้นจากการประมาณการเติบโตถึง 8 เท่าในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับตลาดสินค้าโดยทั่วไปในท้องตลาด รองลงมาคือทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย เอเชีย และยุโรปตามลำดับ โดย 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z และ Millennials ระบุว่า พวกเขามักมองหาสินค้ามือสองเป็นอันดับแรก แทนการซื้อสินค้ามือหนึ่งแบบใหม่แกะกล่อง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลายคนเริ่มคำนึงถึงความยั่งยืนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งยังมองว่าการซื้อของมือสองเป็นหนึ่งในวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน เนื่องจากซื้อของได้จำนวนมากขึ้นด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าในอุตสาหกรรม Fast Fashion แบบเดิมๆ
เทรนด์ความยั่งยืนในหมู่ผู้บริโภค ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าในตลาดแฟชั่นหันมาทำการตลาดเน้นไปที่วัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้กลับมาซื้อสินค้ามือหนึ่งอีกครั้ง
สินค้ามือสองกำลังสร้างความกังวลใจให้บางประเทศ
แม้การซื้อสินค้ามือสองจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของสินค้าและสร้างวงจรหมุนเวียนได้นานขึ้น แต่จากการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของตลาดสินค้ามือสอง ก็ทำให้บางประเทศเกิดปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน
เพราะในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วยอมรับการเข้ามาของสินค้ามือสองอย่างเปิดเผยและมองเป็นเรื่องดี ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศกลับมีความกังวลหลายประการเกี่ยวกับแนวคิดนี้
เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ มักส่งเสื้อผ้ามือสองใช้แล้วที่มีคุณภาพต่ำส่วนใหญ่ไปยังประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย
ส่งผลให้หลายประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนามองว่าสินค้ามือสองเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในท้องถิ่นของประเทศตน คล้ายเป็นการแย่งตลาดในการผลิตเสื้อผ้าภายในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในประเทศที่ไม่ได้มีกำลังซื้อหรือความต้องการที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ทำให้การนำเข้าสินค้ามือสองเป็นเหมือนการดึงเอาขยะจำนวนมากที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เข้าสู่ประเทศด้วยเช่นกัน
สินค้ามือสองอาจไม่ยั่งยืนเสมอไป
นอกจากแง่มุมใหญ่ๆ ในระหว่างประเทศแล้ว การเติบโตของตลาดสินค้ามือสองแบบก้าวกระโดดก็อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเกิดความยั่งยืนอย่างที่ใครๆ พูดกันไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะหลายครั้งสินค้ามือสองมักมีการเดินทางที่ยาวนาน จากการส่งผ่านไปยังประเทศที่ห่างไกลเพื่อคัดแยกตามคุณภาพ ก่อนส่งกลับมายังบริษัทตัวกลางในยุโรปเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้าสำหรับขายของมือสองในหลากหลายประเทศ ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการขนส่งปริมาณมาก
และเมื่อนำมาเทียบกับสินค้ามือสองที่จากสถิติแล้วมักขายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากสินค้าทั้งหมดที่รับมา ก็ทำให้การซื้อ-ขายสินค้ามือสองในบางครั้งไม่ได้สร้างความยั่งยืนได้เท่ากับที่ใครหลายคนเคลมเอาไว้
นอกจากนี้ เทรนด์การซื้อเสื้อผ้ามือสองอาจเป็นการสนับสนุนให้เกิด Fast Fashion ในทางอ้อมได้อีกด้วย เพราะการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนนิยมซื้อเสื้อมือหนึ่งเพื่อใส่ถ่ายรูปเพียงครั้งเดียว ก่อนนำออกขายเป็นสินค้ามือสองทันที เนื่องจากได้ราคาดีและมีปริมาณความต้องการในตลาดที่มาก แล้วนำเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ในลักษณะดังกล่าวอีกเรื่อยๆ
รวมไปถึงในหมู่ผู้บริโภคสินค้ามือสองเองก็มีค่านิยมการใส่สินค้ามือสองที่ซื้อมาซ้ำเพียงไม่กี่ครั้ง เนื่องจากมองว่าเป็นการซื้อมาในราคาถูก ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใส่มากนัก เมื่อเทียบกับสินค้ามือหนึ่งที่ราคาแพง ทำให้การซื้อเสื้อผ้ามือสองโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่ดี อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่กำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อมแบบไม่ตั้งใจอยู่ก็เป็นได้
ใช้ของมือสองให้รักษ์โลกได้จริง
หากการใช้ของมือสองยังทำลายโลกได้ แล้วเราจะซื้อของมือสองไปพร้อมๆ กับการรักษ์โลกอย่างแท้จริงได้อย่างไร
อันดับแรกคือ ควรเลือกซื้อของมือสองโดยผ่านการไตร่ตรองถึงความคุ้มค่าและการใช้งานเป็นอย่างดี อีกทั้งควรคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากขึ้นตามไปด้วย เพราะในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง คงไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของสินค้าได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการมองหาร้านค้าที่จำหน่ายสินค้ามือสองในรูปแบบเดียวกันเอาไว้เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจ ก็น่าจะทำให้ได้สินค้าที่ดีและรักษ์โลกมากขึ้น หรือถ้าถามถึงที่มาของสินค้าทั้งหมด แนวคิดของร้าน หรือการจัดการดูแลสินค้ากับเจ้าของร้านนั้นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจถึงที่มาที่ไปของสินค้ามือสองชิ้นนั้นๆ ได้คงจะดีไม่น้อย
นอกจากนี้ยังควรตระหนักว่าการได้สิ่งของมือสองในปริมาณมากเพื่อใช้ประโยชน์เพียงไม่กี่ครั้ง อาจไม่คุ้มเสียเท่าไหร่เมื่อเทียบกับการขนส่งระหว่างประเทศที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ปริมาณมาก การพยายามยืดอายุการใช้งานสินค้าที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ซ่อมแซม ดัดแปลง หรือประดับตกแต่งใหม่ น่าจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
รวมไปถึงหากคุณมีงบประมาณที่เพียงพอต่อการซื้อของมือสองไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนสินค้ามือหนึ่งจากแบรนด์ที่ยึดหลักการผลิตอย่างยั่งยืน หรือเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
Sources :
Brightly | t.ly/F5U6
Fabric of The World | t.ly/EgeU
Project Cece | t.ly/r9lD
The Fashion Starter | t.ly/18RI
thredUP | t.ly/db8_