SeaSun Society กับประเด็น Beauty Standard - Urban Creature

คุณรู้สึกว่าตัวเองสวยไหม

ถ้าไม่…แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะรู้สึกว่าตัวเองสวย

Beauty Standard หรือมาตรฐานความงามที่สังคมคาดหวังไว้นั้นกลายเป็นเรื่องร้อนที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เพราะเราต่างตระหนักชัดว่า ‘รูปร่างหน้าตา’ ส่งผลอย่างมากต่อโอกาสในการใช้ชีวิต

เราอาจได้เห็น Movement ที่น่าสนใจจากทางฝั่งตะวันตกที่ผลักดันให้ความงามมีความหลากหลายมากขึ้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชุดชั้นในชื่อดังที่เลือกนางแบบ Plus-size ขึ้นไปเดินบนเวทีใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน การเติบโตขึ้นของจำนวนโมเดลผิวสีบนหน้าปกนิตยสาร หรือแม้แต่วงการบันเทิงเอง เราก็ได้เห็นความพยายามทลายกรอบทั้งความงามและเชื้อชาติผ่านการคัดเลือกนักแสดงที่มีรูปลักษณ์หลากหลายมากขึ้น

กลับมามองใกล้ตัวอีกนิด ในเอเชียหรือในประเทศไทยเอง สังคมของเรามีการรับรู้ที่เปลี่ยนไปอย่างไรในประเด็น Beauty Standard นี้บ้าง ลองมาฟังจาก มาดี้ รอซ (Madi Ross) และ ลักษณ์-สิริลักษณ์ กุลธรรมโยธิน สองสาวผู้ทำงานในวงการความงามมานาน จนหันมาขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานความงามผ่านธุรกิจ Skincare ของตัวเอง ภายใต้แบรนด์ SeaSun Society ที่ขอท้าทายความเชื่อของชาวเอเชียที่ว่า สวยเท่ากับผิวขาว



สวย ≠ ขาว

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน มาดี้กับลักษณ์ได้พบกันผ่านงานของทั้งคู่ มาดี้เป็นนางแบบที่เดินทางไปทำงานทั่วโลก ส่วนลักษณ์คืออดีตนางแบบที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการให้เธอ ชีวิตของทั้งคู่จึงวนเวียนอยู่ในวงการความสวยความงามอย่างไม่ต้องสงสัย และสิ่งที่ทั้งคู่มองเห็นตรงกันจากประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยหรือเอเชียก็คือการตั้งมาตรฐานความงามที่ไม่โอบรับความแตกต่างของผู้คน

“ในเอเชียผู้หญิงถูกกดอยู่ตลอดเวลาจากวัฒนธรรมและความคาดหวังของสังคม” มาดี้แชร์ประสบการณ์ของเธอในเอเชีย

“เราเป็นสาวชาวเกาะที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ริมหาด เล่นเซิร์ฟบ้าง เล่นโยคะบ้าง แต่ตอนที่เรามาทำงานและเริ่มเล่นเซิร์ฟในไทยเมื่อปี 2016 เราไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นเซิร์ฟเลย ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องความคาดหวังทางวัฒนธรรมหรือเปล่าว่าการเล่นเซิร์ฟเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงทำไม่ได้หรอก มันอันตราย หรือแม้แต่การใส่ชุดว่ายน้ำ ดูเหมือนเป็นเรื่องที่สังคมไทยรับไม่ค่อยได้”

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องของพฤติกรรมเท่านั้นที่ผู้หญิงถูกคาดหวัง ยังรวมไปถึงเรื่องสีผิว ทัศนคติที่ว่าผิวสีใดสีหนึ่งนั้นดีกว่าหรือสวยกว่าสีผิวอื่น เราอาจเห็นกันจนชินตา แต่จากคำบอกเล่าของมาดี้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องปกติในพื้นที่อื่นๆ ของโลกเลย

“เราเห็นแบรนด์เครื่องสำอางในเอเชียจำนวนมากที่โปรโมตเรื่องผิวขาวเท่ากับสวย” มาดี้เล่า

“เห็นได้ชัดจากการโฆษณาเลย ในโฆษณาจะมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูเศร้า แต่พอเธอใช้ครีมแล้วผิวขาวขึ้น จากนั้นเธอก็มีผู้ชายมาจีบ แล้วถึงจะมีความสุข นางแบบหรือพรีเซนเตอร์ทุกแบรนด์จะรูปลักษณ์เหมือนกันหมด

“ในอเมริกาเหนือหรือแคนาดาเราแทบไม่เห็นเครื่องสำอางแบบปรับผิวขาวแล้ว การเสนอขายสินค้าแบบนั้นเหมือนการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เลยด้วยซ้ำ ถ้านำโฆษณาแบบในไทยที่โปรโมตผิวขาวไปฉายในอเมริกาอาจถึงขั้นโดนฟ้องร้องก็ได้ แต่เรื่องแบบนี้กลับเป็นเรื่องธรรมดาในเอเชีย”

“เราเองมีเพื่อนหลายคนที่จะไม่ยอมออกไปโดนแดดเลย เขาจะออกไปกลางแจ้งก็เฉพาะตอนที่แดดร่มลมตกแล้วเท่านั้น” ลักษณ์เสริมถึงผลกระทบของทัศนคติที่ถูกฝังไว้ในวัฒนธรรมนี้

เมื่อได้เห็น และเป็นทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ Beauty Standard แบบนี้ ทั้งมาดี้และลักษณ์จึงลุกขึ้นมาทำบางอย่าง เพราะหวังอยากเห็นทางเลือกให้กับความงามที่หลากหลายในสังคม



สวย = สบายใจ

SeaSun Society จึงถือกำเนิดขึ้นมา

“เป็นความฝันของเราอยู่แล้วที่จะมีแบรนด์ มีธุรกิจ เป็นของตัวเอง” มาดี้เล่าถึงจุดเริ่มต้น

“เราก็คุยกับลักษณ์ว่าอยากทำ Skincare แล้วลักษณ์เองก็อยากทำอยู่แล้วเหมือนกัน ตอนแรกก็ว่าจะแยกกันทำนะ แต่สุดท้ายทำด้วยกันไปเลยมันเข้าท่ากว่า”

ลักษณ์เสริมต่ออีกว่า “เพราะเราสองคนก็ทำงานด้วยกันมานานอยู่แล้ว การเปลี่ยนบทบาทจากนางแบบกับผู้จัดการมาเป็นพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจ ก็คือการทำงานเหมือนเดิม และมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน แต่เราเป็นพี่สาว น้องสาว ที่เข้าใจและไว้ใจกัน เราแบ่งบทบาทการทำงานตามที่เราทั้งคู่ถนัด มาดี้ถ่ายภาพ โปรโมต ดูแลช่องทางการตลาดไป ส่วนงานหลังบ้าน บัญชี เอกสารก็เป็นงานของเรา”

“ตอนนี้แบรนด์เพิ่งอายุขวบเดียว เราสองคนก็ต้องรู้ทุกอย่าง แต่เราก็ยังมีพาร์ตเนอร์สาวอีกคนที่เป็นคนไทย คอยช่วยซัปพอร์ตการทำงานในระหว่างที่เราเดินทางกลับไทยไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด หรือในช่วงที่เราเดินทาง พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นแบรนด์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงเลยค่ะ” มาดี้ยิ้มภูมิใจ

แบรนด์ Skincare ชื่อ Seasun Society นี้จึงมีบ้านเกิดในประเทศไทย แต่ใช้แนวคิดที่มองความงามแบบสากลเป็นพื้นฐาน นำเสนอออยล์ธรรมชาติสำหรับบำรุงผิว ซึ่งจุดนี้ก็ค่อนข้างขัดกับค่านิยม Skincare ในเอเชียแบบเดิมๆ ที่มักโฆษณาว่าออยล์ฟรี (ปราศจากน้ำมัน)

มาดี้ออกปากชัดเจนว่า เธออยากทำสินค้าที่เธอเองก็ใช้ได้ ส่วนผสมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจึงผ่านการทดลองใช้โดยสองสาวเจ้าของแบรนด์เอง

“ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เราเป็นออยล์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารเคมีอะไรอันตราย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ตัวเราเองผิวแพ้ง่าย ของที่เราทำออกมาขายจึงตั้งใจให้ทุกคน ทุกสภาพผิวใช้ได้

“ส่วนผสมประมาณเก้าสิบหกเปอร์เซ็นต์มาจากธรรมชาติ ถ้ามีทางเลือก เราจะเลือกใช้ส่วนผสมออร์แกนิกก่อนเสมอ ทุกอย่างคือคลีน ไม่มีสารพิษ เป็นส่วนผสมวีแกน เรารู้สึกว่าเวลาไปเดินร้านขายเครื่องสำอาง เห็นแบรนด์เท่ๆ ที่ใช้ส่วนผสมดีมาจากเมืองนอกทั้งนั้น แล้วรู้สึกว่าทำไมต้องอิมพอร์ตทุกอย่าง ทำไมจะทำแบรนด์โลคอลให้ดีแบบนั้นไม่ได้

“และความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรามาก อยากให้ลูกค้าอ่านฉลากแล้วเก็ตเลยว่ามีอะไรอยู่ในขวดบ้าง ทุกอย่างดีต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกดีกับตัวเองด้วย รู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนตัวเอง”

คุณค่าของความงามแบบเป็นตัวเองคือสิ่งที่ทางแบรนด์พยายามสื่อสารผ่านช่องทางการตลาดเช่นกัน จนดูเหมือนว่าแบรนด์ทางเลือกที่มีจุดยืนต่างจากความเชื่อ Beauty Standard ในไทยแบรนด์นี้จะได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น

“เวลาเราโพสต์บนโซเชียลมีเดียหรือหน้าเว็บ มันคือเราจริงๆ เป็นคนจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องพยายามเปลี่ยนใจใคร ลูกค้าเข้ามาหาเพราะเราเป็นเรา เป็นแบรนด์ที่ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกมีแรงบันดาลใจ มีลูกค้าจำนวนมากที่ซื้อแล้วมาซื้อซ้ำ ไปบอกต่อให้เพื่อนมาซื้อด้วย เราก็ดีใจแล้วก็เซอร์ไพรส์มาก” มาดี้อธิบาย

แถมให้อีกนิดว่า แม้ผลิตภัณฑ์ของ SeaSun Society จะแปลกแหวกแนวไปจาก Skincare แบบเอเชีย แต่กลับเป็นแบรนด์ที่นำเสนอภูมิปัญญาเอเชียโบราณอย่างการทำกัวซามาเสริมทัพในการดูแลผิว จากความสนใจที่หลากหลายของเจ้าของทั้งสอง ทำให้สินค้าอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์คือกัวซาที่ทำจากฟลูออไรด์ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเครียดในผิว

เป็นแบรนด์ที่โอบรับทั้งความงามที่หลากหลาย และเทคนิคการดูแลผิวที่แบรนด์นำเสนอก็ไม่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน



สวย = ใส่ใจ

ไม่ใช่แค่อยากทำให้ผู้หญิงสวยขึ้นจากภายในโดยใช้ออยล์ในการบำรุงผิว SeaSun Society ยังขอเป็นแบรนด์ที่ทำให้ธรรมชาติยังคงสวยเหมือนที่เคยเป็นมาด้วยเช่นกัน

“นอกจากการเลือกส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษกับคนแล้ว เรายังพยายามเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมด้วย” มาดี้อธิบาย

“ทั้งเราและพี่ลักษณ์เล่นเซิร์ฟทั้งคู่ เวลาที่ลงไปมองใต้น้ำแล้วเห็นขยะเต็มไปหมด ตอนนั้นแหละที่ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา

“แม้ว่าการใช้พลาสติกจะเป็นทางเลือกที่ทั้งง่ายและราคาถูก แต่หากมองจากแง่มุมของจริยธรรมแล้วเราทำไม่ได้จริงๆ บรรจุภัณฑ์ของเราตอนนี้เลยเป็นขวดแก้ว แล้วเราก็พยายามมองหาทางเลือกบรรจุภัณฑ์อื่นที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับสินค้าในอนาคตด้วย”

การวางตัวเองให้เป็นแบรนด์ที่ใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อม ทั้งดีกับโลก และนักธุรกิจสาวทั้งคู่ยังยืนยันว่ามันดีต่อแบรนด์เองด้วยนะ

“ตอนนี้หลายคนหันมาใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมกัน มันยากที่จะทำเป็นมองไม่เห็นประเด็น Global Warming และขยะที่อยู่ในทะเลอีกต่อไปแล้ว ในฐานะผู้บริโภค เมื่อรู้ว่าเราซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ใส่ใจความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รู้ว่าเราได้สนับสนุนสิ่งที่มันดี มันย่อมทำให้เรารู้สึกดีอยู่แล้ว”

ไม่ใช่แค่รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเพราะผิวสวยขึ้น แต่ยังรู้สึกดีกับตัวเองเพราะได้เลือกสิ่งที่ดีกับโลกด้วย ดูเหมือนว่าความใส่ใจทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเป็นความงามอีกแบบหนึ่งสำหรับสาวๆ SeaSun Society

ก่อนจะปล่อยให้มาดี้และลักษณ์ ไปเริงร่าใต้แสงตะวัน เราจึงขอให้ทั้งคู่ช่วยนิยามความงามในแบบของตัวเองให้เราฟังชัดๆ อีกสักที

“สำหรับเรา ความงามไม่ใช่มาตรฐานแบบใดแบบหนึ่ง เราได้เห็นความงามอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย อาจฟังดูเชย แต่ความงามจริงๆ มาจากข้างในและเปล่งประกายออกมาข้างนอกอย่างเป็นธรรมชาติ

“ถ้าคุณรู้สึกดีกับตัวเอง จะมีอะไรสวยงามไปกว่าคนที่รู้สึกมั่นใจและสบายอกสบายใจกับผิวธรรมชาติของตัวเอง และรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นได้อีกล่ะคะ” มาดี้ตอบอย่างเรียบง่าย ก่อนส่งไม้ต่อให้ลักษณ์

“เห็นด้วยเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นนางแบบผิวสีเข้มบนรันเวย์ แต่ตอนนี้ทั่วโลกตระหนักรู้ถึงประเด็นความหลากหลายของสีผิวกันแล้ว เครื่องสำอางบางแบรนด์ในเอเชียที่เคยตั้งชื่อโปรโมตสีผิวที่ขาวเป็นพิเศษยังต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ทันกับ Movement นี้”

“ใช่แล้ว เราตื่นเต้นมากที่ได้เห็นสาวไทยออกมาเล่นเซิร์ฟกันเยอะขึ้น เห็นคนเริ่มให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และก็หวังว่าแบรนด์เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันบทสนทนาเรื่องนี้ เราหวังด้วยว่าวันหนึ่งการทักทายกันด้วยสีผิว หุ่น ทำให้เป็นเรื่องขำขัน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจส่วนบุคคล จะหายไปจากสังคมไทยเสียที” มาดี้ทิ้งท้าย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.