รักทะเลเวลามีเธอด้วย
‘เธอ’ สำหรับเราในที่นี้ หมายถึง มนุษย์และธรรมชาติรอบผืนน้ำสีครามที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เหมือนที่ ‘ชุมชนบ้านมดตะนอย’ ชุมชนเล็กๆ ในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นอายทะเล เกลียวคลื่น หาดทรายสะอาด และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เลือกใช้วิธี ‘ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ’ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
ให้ธรรมชาติ | บำบัดธรรมชาติ
ความสวยงามของทะเลที่โอบล้อมชุมชนบ้านมดตะนอย คือสิ่งที่เราประทับใจทุกครั้งเมื่อได้มาเยือน รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เป็นกันเอง และอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งถึงแม้ก่อนหน้านี้ชุมชนบ้านมดตะนอย จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จนเกิดภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าปกติ แต่ปัญหานี้ก็ได้รับการเยียวยาด้วยวิธี ‘ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ’ ผ่านความร่วมมือของเอสซีจี หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายจิตอาสา จ.ตรัง ร่วมมือกันใช้ธรรมชาติรอบตัวอย่าง ‘หญ้าทะเล’ และ ‘ป่าโกงกาง’ มาบำบัดภัยแล้ง และภาวะโลกร้อน
เอสซีจียังจัดโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ มาเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่า 10 ปี ช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี พร้อมชวนจิตอาสามาร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ชุมชนจัดการน้ำในพื้นที่ และสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว
หญ้าทะเล | แหล่งอาหารของเจ้าพะยูน
ธรรมชาติอย่างแรกที่ชุมชนบ้านมดตะนอยเลือกมาบำบัดธรรมชาติ คือ ‘หญ้าทะเล’ สิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเจ้าพะยูน พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตแสนสำคัญในระบบนิเวศของท้องทะเล เพราะมีจำนวนมาก และมีความหนาแน่นสูง ทำให้สามารถกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศสูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 50 เท่า ซึ่งจะตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เก็บไว้ในรูปแบบของมวลชีวภาพ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช เช่น ราก ใบ ลำต้น และดักจับตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์กับชาวประมง เพราะหญ้าทะเลจะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับเหล่าสัตว์ทะเลขนาดเล็ก
โดยชุมชน และเอสซีจีร่วมกันไปศึกษาดูงานจากแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เช่น มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ที่ชุมชนมีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล โดยออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เอง รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล ทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ เพื่อเก็บเป็นองค์ความรู้ของชุมชน ปัจจุบันได้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลไว้ 1,000 ต้น โดยในปี พ.ศ. 2562 นี้มีเป้าหมายปลูกหญ้าทะเลให้ครบ 10 ไร่
ป่าโกงกาง | กำแพงกันลมร้อนของชุมชน
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน พื้นที่รอบชุมชนบ้านมดตะนอยได้รับสัมปทานให้สามารถนำไม้โกงกางมาเผาเป็นถ่านส่งออกไปขายต่างประเทศที่ท่าเรือกันตัง จนเมื่อปี พ.ศ. 2537 ชาวบ้านเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง จากป่าโกงกางที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับบางเบาลง อากาศที่เคยเย็นสบายกลับร้อนขึ้น พร้อมทั้งเหล่าสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ก็เริ่มหายตามไปด้วย
ชุมชนจึงยกเลิกทำถ่าน แล้วเปลี่ยนมาปลูกไม้โกงกางด้วยวิธีง่ายๆ คือ เห็นลูกไม้ตรงไหน ก็เอาไปปลูกในที่ใกล้กันเพื่อขยายพื้นที่ให้มีมากขึ้น เพราะ ‘ป่าโกงกาง’ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘ป่าชายเลน’ เป็นอีกแหล่งที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบก เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนสังเคราะห์แสงได้สูง โดยจะกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบของเนื้อไม้ และมีการกักเก็บตะกอนดินที่พัดพา จึงช่วยดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ
ปัจจุบัน มีป่าโกงกางรอบบ้านมดตะนอยประมาณ 3,000 ไร่ โดยสงวนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่อนุญาตให้นำไปใช้สอยประมาณ 200 ไร่ และตั้งเป็นกติกาชุมชนว่า สามารถนำไม้โกงกางไปใช้ในครัวเรือนได้ แต่ไม่สามารถนำไปขายได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการชุมชน แถมเจ้ากุ้ง หอย ปู ปลา ก็เพิ่มขึ้น เพราะป่าโกงกางเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ทะเล โดยชุมชนพบเห็นกุ้งเคย หรือกุ้งตัวเล็กๆ ที่เอาไปทำกะปิ และยังพบปลิงทะเลที่ไม่พบมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งป่าโกงกางยังช่วยดูดซับลมร้อนได้จริง จนนำไปสู่การร่วมกันเพาะพันธุ์ไม้โกงกางขึ้นในชุมชน เพื่อให้มีต้นกล้าไม้โกงกางไปปลูกในพื้นที่รอบๆ ได้มากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2562 นี้มีเป้าหมายการปลูกป่าโกงกางให้ครบ 5 ไร่
โรงเรียนอนุบาลสัตว์น้ำตัวจิ๋ว | สร้างบ้านให้ปลาเพื่อความยั่งยืน
นอกจากการหยิบหญ้าทะเล และป่าโกงกางมาบำบัดธรรมชาติแล้ว ชุมชนยังสร้างแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพราะเมื่อสัตว์ทะเลมีเพิ่มมากขึ้นจากการมีแหล่งเพาะพันธุ์ และวางไข่ที่บริเวณหญ้าทะเลและป่าโกงกางรอบหมู่บ้าน ชุมชนจึงคิดต่อยอดไปถึงการสร้างแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ในเส้นทางน้ำที่จะออกสู่ทะเล อย่าง ‘คลองบ้านมดตะนอย’ และ ‘คลองลัดเจ้าไหม’
เอสซีจีได้เข้ามาพูดคุยกับชุมชนถึงการดูแลอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล จัดทำบ้านปลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล จัดหารูปแบบบ้านปลาที่ตรงตามความต้องการของชุมชน รวมถึงวัสดุที่ใช้ทำบ้านปลาที่ชุมชนสามารถทำเองได้ อย่าง ‘นวัตกรรมปูนคนใต้’ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน ทนซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล ทำให้คอนกรีตมีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแม้อยู่ใต้ท้องทะเล เริ่มทำชิ้นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 เมื่อวางได้ 3 เดือนจะเริ่มมีสัตว์ตัวน้อยเข้ามาเกาะ มีปลาหลายชนิดมาพักอาศัย เป็นการเพิ่มที่อยู่ให้สัตว์ทะเล และส่งเสริมอาชีพชาวประมงยามหน้ามรสุม ทุกวันนี้มีบ้านปลาไปวางในคลองมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหมแล้ว 320 หลัง ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 นี้มีเป้าหมายวางบ้านปลาให้ครบ 400 หลัง
จัดการขยะ | สร้างชุมชนน่าอยู่
“ชุมชนนี้มีขยะเยอะจัง”
จากคำพูดเรื่องจำนวนขยะจากคนภายนอกที่ได้มาศึกษาเยี่ยมชม สู่แรงบันดาลใจการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ชุมชนบ้านมดตะนอยและเอสซีจีตั้งใจให้เกิดขึ้น เพราะชุมชนบ้านมดตะนอยมีพื้นที่ติดกับทะเล บริเวณคลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหม ทำให้หลายพื้นที่มีขยะลอยมาติดบริเวณชายฝั่งด้านต่างๆ กลายเป็นกองขยะสะสม
ชาวบ้านจึงร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย โดยเริ่มจากกำหนดให้ทำความสะอาดบ้านตัวเองทุกวันศุกร์ และจะร่วมกันทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะเป็นประจำทุกเดือน ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 จึงมีการจัดการคัดแยกขยะ โดยนำขยะที่ขายได้แยกไว้สำหรับขาย ส่วนขยะที่สามารถมารีไซเคิลได้ก็นำมารีไซเคิลต่อ ไม่ว่าจะเป็น นำเศษอาหาร เช่น เปลือกปู มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ ลูกมะพร้าวที่เหลือทิ้งนำมาทำเป็นกระถางต้นไม้ ล้อยางรถยนต์เก่านำมาทำเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว
นอกจากนั้น ยังตรวจพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งสาเหตุมาจาก ‘โฟม’ บรรจุอาหารเป็นระยะเวลานาน และโฟมที่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ใช้ คนในชุมชนจึงมุ่งมั่นเลิกใช้โฟมกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการจัดการขยะ สร้างจิตสำนึกให้เด็ก และพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงไม่ซื้อของจากหาบเร่ที่ใช้โฟม จนในปี พ.ศ. 2559 ชุมชนบ้านมดตะนอยได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม พร้อมได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟม ประจำปี พ.ศ. 2559
หมดจากเรื่องโฟมก็มาจัดการกับ ‘ถุงพลาสติก’ ที่เคยปลิวว่อนในหมู่บ้าน ซึ่งปี พ.ศ. 2561 เอสซีจีได้เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะแบบองค์รวม และรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก และในปีนี้ได้จัดค่ายเยาวชนเพื่อเสริมสร้างพลังเด็กสู่การจัดการขยะอย่างบูรณาการเพื่อความยั่งยืน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านมดตะนอย เพื่อสานต่อเรื่องการจัดการขยะชุมชน เช่น โครงการทำดีได้ดาว
“ชุมชนบ้านมดตะนอย” จึงนับเป็นชุมชนตัวอย่าง เรื่องการนำธรรมชาติมาบำบัดธรรมชาติ ด้วยหญ้าทะเล และป่าโกงกาง พร้อมด้วยการสร้างบ้านปลาที่ใส่ใจทั้งสัตว์ทะเลตัวจ้อย ไปจนถึงชาวประมงตัวโต อีกทั้งยังมีวิถีจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสวยงาม