รถโรงเรียนในต่างประเทศออกแบบอย่างไรถึงปลอดภัยกับเด็ก - Urban Creature

จากกรณีรถบัสนักเรียนทัศนศึกษาเกิดไฟไหม้ท่วมคัน จนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 23 ราย ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของยานพาหนะที่ใช้สำหรับขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งเด็กนักเรียนกันมากขึ้น

เพราะตั้งแต่เด็ก ‘รถโรงเรียน’ ที่เรารู้จักมักมาในรูปแบบรถตู้ รถสองแถว หรือรถหกล้อแบบดัดแปลง แตกต่างกับต่างประเทศที่มีรถบัสคันสีเหลืองที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับ-ส่งเด็กนักเรียนโดยเฉพาะ ทำให้การเดินทางของเด็กในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีความปลอดภัยมาก เห็นได้จากสถิติเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโรงเรียนเฉลี่ยเพียง 6 คนต่อปีเท่านั้น

คอลัมน์ Curiocity จึงอยากชวนไปดูรูปแบบรถโรงเรียนและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในต่างประเทศว่า เขามีการออกแบบหรือข้อบังคับอย่างไร ถึงปลอดภัยกับเด็กๆ ที่โดยสารได้อย่างทุกวันนี้

รถโรงเรียน

ออกแบบเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

ความแตกต่างแรก เริ่มจากในต่างประเทศมีผู้ผลิตรถโรงเรียนโดยเฉพาะให้เลือกหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Blue Bird, Thomas Built Buses หรือ IC Bus ที่ทำให้รถยนต์ได้รับการออกแบบมาเพื่อโดยสารเด็กโดยเฉพาะ แตกต่างจากไทยที่ต้องดัดแปลงรถให้กลายเป็นรถโรงเรียน

การออกแบบที่เห็นอย่างเด่นชัดคือ ภายนอกตัวรถจะทาด้วยสีเหลืองสดใส มีไฟส่องสว่าง เพื่อให้คนมองเห็นได้ชัดเจนและแยกออกทันทีว่าคือรถโรงเรียน เพื่อระมัดระวังในการขับขี่ รวมไปถึงรถโรงเรียนแต่ละคันจะติดตั้งป้ายหยุด (Stop Arm) บริเวณด้านข้าง ที่เมื่อรถหยุดบริเวณป้ายจอดรับ-ส่งนักเรียน ป้ายหยุดจะถูกกางออกมาทันที

รถโรงเรียน

ขณะที่ภายในออกแบบมาในลักษณะที่นั่งหันหน้าไปทางเดียวกัน ยึดติดกับตัวรถอย่างแน่นหนา บุด้วยวัสดุดูดซับแรงกระแทก มีพนักพิงสูงเพื่อป้องกันศีรษะและคอในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยจะเว้นทางเดินภายในรถให้กว้างมากพอเดินสวนกันสะดวกและลุกออกได้ง่าย มีราวจับช่วยในการทรงตัวระหว่างรถเคลื่อนที่ มีช่องเก็บของเหนือศีรษะหรือใต้ที่นั่งสำหรับเก็บสัมภาระ เพื่อไม่ให้มีสิ่งของกีดขวางทางเดินกรณีเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนประตู นอกจากจะมีประตูอัตโนมัติสำหรับขึ้น-ลงรถบริเวณด้านหน้าแล้ว รถโรงเรียนในลักษณะนี้ยังมีการติดตั้งประตูฉุกเฉิน 3 รูปแบบ ได้แก่ ด้านข้าง ด้านหลัง และด้านบน เพื่อใช้ออกจากตัวรถได้หลากหลายเส้นทางเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทางออกฉุกเฉินบางเส้นทางถูกบล็อกจนไม่สามารถออกได้ และตัวหน้าต่างรถยังติดตั้งในรูปแบบบานเลื่อนหรือผลักออกได้ เพื่อใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้อีกรูปแบบ

รถโรงเรียน

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ รถยนต์ทุกคันจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์นิรภัยตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นถังดับเพลิง อุปกรณ์ทุบกระจก ชุดปฐมพยาบาล ปุ่ม SOS ขอความช่วยเหลือ หรืออาจรวมไปถึงกล้องวงจรปิดภายในรถที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของเด็กได้ โดยการออกแบบทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยยานยนต์ของรัฐบาลกลาง (Federal Motor Vehicle Safety Standards : FMVSS) และมาตรฐานของรัฐ

ไม่ใช่แค่ออกแบบ แต่รวมถึงการฝึกอบรม

นอกจากการออกแบบตัวรถที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงกรณีฉุกเฉินที่เหมาะสมสำหรับเด็กแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือตัวคนขับรถ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุหรือลดความเสียหายจากอุบัติเหตุได้

ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่จะขับรถโรงเรียนได้จำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (CDL) ที่ต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลากว่า 6 – 12 สัปดาห์ ทั้งการเรียนในห้องเรียนและการฝึกขับขี่จริง และยังจำเป็นต้องฝึกทักษะและฝึกอบรมด้านความปลอดภัยเป็นประจำ

รถโรงเรียน

อีกทั้งต้องฝึกอบรมการบริการและทักษะการสื่อสาร เพื่อให้สามารถโต้ตอบเชิงบวกอย่างมีประสิทธิภาพกับนักเรียน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่โรงเรียนสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรบนรถบัส รวมไปถึงฝึกอบรมการตรวจสอบรถบัสเพื่อให้แน่ใจว่ารถบัสอยู่ในสภาพดีที่สุด และเรียนรู้การกู้ชีพเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์

กฎหมายที่ให้ความสำคัญ ช่วยสร้างความปลอดภัย

ถึงอย่างนั้น ต่อให้รถโรงเรียนจะถูกออกแบบมาดีแค่ไหน คนขับจะถูกฝึกอบรมมามากอย่างไร แต่หากกฎหมายที่บังคับใช้ไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายรถโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา จาก Revised Code of Washington (RCW) จึงมีความเข้มงวดมาก เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการที่รถทุกคันที่วิ่งสวนทางหรือวิ่งตามหลังต้องหยุดรถในระยะที่กำหนดทันทีเมื่อรถโรงเรียนจอดพร้อมกางป้ายหยุดและไฟสีแดงกะพริบ หรือการห้ามแซงในกรณีที่รถโรงเรียนกำลังจอดรับ-ส่งนักเรียนโดยเด็ดขาด

หากฝ่าฝืนกฎหมายอาจได้รับโทษปรับตั้งแต่ 100 – 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือจำคุกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง โดยจะขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละรัฐ

ถือเป็นเรื่องที่น่าพูดคุยและตั้งคำถามกันต่อไปว่า แล้วมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบรถโรงเรียน การอบรมคนขับ ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กนักเรียนในประเทศไทยรัดกุมเพียงพอหรือยัง และความปลอดภัยในการเดินทางที่ยังหละหลวมอยู่ในปัจจุบันควรเดินทางไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

รถโรงเรียน

Sources :
AbsoluteRescue | t.ly/wE3ZX 
EVSD90 | t.ly/XieFW
Fleetroot | t.ly/-QGM4
Reporter-Times | t.ly/S6cjG 
Rohrer | t.ly/GtJGn 
Transfinder | t.ly/Jk8JA 
Wiener and Lambka | t.ly/17Boo 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.