‘ไทย’ ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 6 จาก 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลกถึง 1.03 ล้านตัน
เรื่องราวของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยที่ต้องจากไปเพราะขยะพลาสติก เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนตื่นตัวกับ ‘ปัญหาขยะทะเล’ ซึ่งเกิดจากการกระทำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาสะสมที่คนเมืองอย่างเราอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายจังหวัดตามชายฝั่งทะเลกล่าวถึงปัญหานี้มาโดยตลอดเป็นเวลายาวนาน
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/018-1024x536.jpg)
SCG หนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ช่วยผลักดันการจัดการปัญหาขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พาเรามายังอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อสัมผัสกับ ‘บ้านมดตะนอย’ ชุมชนที่เปรียบเสมือนบ้านของพะยูน และเหล่าสัตว์แห่งท้องทะเลตรัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะทะเลที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยวิกฤตขยะทะเลไม่ได้ทำให้ชาวบ้านถอดใจ เพราะชุมชนแห่งนี้ตั้งเป้าเป็นชุมชนปลอดขยะ 100% ภายในปี พ.ศ. 2565
ร่วมออกสำรวจปัญหาขยะทะเลไทย ทางออกของปัญหา ไปจนถึงการส่งต่อความรู้จากชุมชนสู่ชุมชนในแบบฉบับบ้านมดตะนอยไปพร้อมกัน
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/14-5-1-1024x536.jpg)
ขยะทะเล ความน่าเป็นห่วงของทะเลไทย
เมื่อเราเดินทางถึงชุมชนบ้านมดตะนอย ภาพที่คิดว่าจะต้องเจอกับขยะเกลื่อนกลาดได้ถูกลบไป เพราะกว่าที่บ้านมดตะนอยจะมาถึงวันนี้ ชาวบ้านต้องเรียนรู้ถึงต้นตอของปัญหาจนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งขยะทะเลส่วนใหญ่ที่ชุมชนต้องพบเจอ เป็นขยะพลาสติกอย่างพวกถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร และไฟแช็ก ที่มีน้ำหนักเบาและไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่อย่างรองเท้าแตะ หมวกกันน็อก แห อวน ลอบ ที่ถูกพัดพาไปโดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง โดยขยะพลาสติกในทะเลกว่า 80% มาจากกิจกรรมบนบก และอีก 20% มาจากกิจกรรมในทะเล
ขยะที่ถูกพัดพามาสู่ท้องทะเลนั้นส่งผลต่อชีวิตของเหล่าสัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ เมื่อสัตว์ทะเลกลืนกินขยะชิ้นน้อยใหญ่ลงไปทำให้สัตว์ทะเลเจ็บปวด ทรมาน และต้องจากไปในที่สุด ไม่เพียงแค่นั้นยังทำลายระบบนิเวศปะการัง ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมลง โดยแรกเริ่มชุมชนบ้านมดตะนอยยังไม่มีการจัดการขยะเหล่านี้ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นคนทิ้งขยะ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องจัดการ
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/19-1-1024x536.jpg)
บ้านมดตะนอย เปลี่ยนหาดขยะเป็นชุมชนน่าอยู่
“ชุมชนนี้มีขยะเยอะจัง” คำพูดของคนภายนอกที่ได้มาเยือนชุมชน กลายเป็นแรงผลักดันของชาวบ้านจนเกิดเป็นการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมสู่ชุมชนน่าอยู่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านมดตะนอย ประธานกลุ่มร้านค้าชุมชน และหัวหน้ากลุ่มโซนดุหยง ได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอยให้ช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้น
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/16-1024x536.jpg)
หนึ่ง-หนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย เล่าว่า ปี พ.ศ. 2557 ชุมชนเริ่มจากการจัดการขยะในบ้านตนเองก่อน และกำหนดให้มีการปัดกวาดบ้านตนเองทุกวันศุกร์ และจะร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะเป็นประจำทุกเดือน จากนั้นเมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นการทำงาน และหมู่บ้านเริ่มสะอาดมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจและขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/06-2-1024x536.jpg)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ชุมชนเริ่มคัดแยกขยะไว้ขายและรีไซเคิล ไปจนถึงประกาศตัวเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม ผ่านการเซย์โนโฟมและพลาสติกจากความร่วมมือของชาวบ้านและร้านค้ากว่า 30 ร้าน ซึ่งความจริงจังแน่วแน่นี้ ทำให้หมู่บ้านได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟม ประจำปี พ.ศ. 2559
“ตอนปี 58 เราตรวจเจอคนไข้เป็นมะเร็งเต้านม เราหาสาเหตุของโรค และพบว่ามาจากการใช้โฟมใส่อาหารมาเป็นเวลานาน นี่เลยทำให้ชุมชนเลิกใช้โฟมอย่างจริงจัง” หนึ่งบอกกับเรา
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/12-1024x536.jpg)
โฟมหายไป แต่พลาสติกยังมี เหล่านี้ต้องถูกจัดการ
แม้ปัญหาเรื่องโฟมในชุมชนจะหมดไป แต่ในหมู่บ้านยังมีปัญหาเรื่องถุงพลาสติกอยู่ ทำให้ปี พ.ศ. 2561 SCG ได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแบบองค์รวม รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงให้ความรู้เรื่องแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อส่งต่อทรัพยากรของโลกสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
ตั้งแต่มองเห็นปัญหา ชุมชนคอยผลักดันทุกคนให้มีส่วนร่วมมาโดยตลอด อย่างโครงการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งทะเล ที่ให้แต่ละบ้านเปลี่ยนขยะที่หลายคนมองว่าไร้ค่าให้มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้จริง ผ่านการคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ขยะอินทรีย์ นำเปลือกกุ้ง เปลือกปู ไปทำน้ำหมักชีวภาพ
2. ขยะรีไซเคิล นำหลอดพลาสติกไปทำไส้หมอนเพื่อผู้สูงอายุ และนำเศษพลาสติกไปอัดใส่ขวดน้ำเพื่อทำเป็น Eco-Brick ส่งให้กลุ่ม Trash Hero
3. ขยะทั่วไป แปลงโฉมยางรถยนต์เก่าเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว เปลี่ยนเศษอวนเป็นถุงคัดแยกขยะแทนถุงดำ และนำลูกมะพร้าวเหลือทิ้งมาทำเป็นกระถางต้นไม้
4. ขยะอันตราย นำส่ง อบต.เกาะลิบง เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/17-1024x536.jpg)
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/04-1024x536.jpg)
ขยะทะเลจะหายไป ไม่ใช่แค่ความร่วมใจของชุมชน
ระหว่างการเยือนชุมชน เราได้แวะ ‘เกาะลิบง’ เกาะพี่ใหญ่ของจังหวัดตรังซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อก่อนเคยมองข้ามการจัดการขยะ แต่เมื่อปัญหาเริ่มทวีคูณจนคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล ก็ได้มีกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรและสัตว์ประจำถิ่นอย่างเจ้าพะยูน
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/11-1024x536.jpg)
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/02-1024x536.jpg)
บังจ้อน-สุวิทย์ สารสิทธิ์ อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง แห่งเกาะลิบง เล่าให้เราฟังว่า เกาะลิบงมีความหมายต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ทุกคนต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรของเกาะโดยเฉพาะหญ้าทะเล เพราะเมื่อไรที่หญ้าทะเลหมดไป เราก็จะไม่มีพะยูน ขยะทะเลที่มันลอยมาจากไหนก็ตาม สุดท้ายมามากองรวมกันที่ชุมชน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องเจอกับขยะทะเล ดังนั้นชุมชนต้องรู้วิธีรับมือกับมัน ไม่ใช่แค่มาเดินเก็บบนชายหาด แต่ต้องเริ่มจากในครอบครัว
การจากไปของพะยูนมาเรียมและสัตว์ทะเลอีกหลายชีวิต เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจการจัดการขยะ และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง โดย ณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านบ้านมดตะนอย บอกว่า ชุมชนมดตะนอยได้นำอวนดักขยะวางไว้ทุกจุดของชุมชนตามคลองต้นทาง 5 จุด เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไหลออกสู่ทะเล และพร้อมเป็นชุมชนตัวอย่างส่งต่อความรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/05-1024x536.jpg)
การพักความเหนื่อยล้าจากเมืองมาสัมผัสวิถีชีวิตบ้านมดตะนอย ทำให้เรารู้ว่า การจัดการขยะทะเลต้องอาศัยความร่วมมือของคนหลายกลุ่ม ซึ่งก่อนกลับกรุงเทพฯ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน อาจารย์ได้เปิดมุมมองถึงพลาสติกจนทำให้เราฉุกคิดว่า จริงๆ แล้วพลาสติกไม่ใช่ ‘ตัวร้าย’ ทำลายพะยูน แต่เราทุกคนนี่แหละที่ต้องเปลี่ยนความคิด
อาจารย์เผดิมศักดิ์บอกว่า เราอาจจะมองข้ามขั้นไป อย่างเรามีของที่กำลังจะทิ้ง พอโยนลงถังมันก็เป็นขยะ พอเราเห็นมันเป็นขยะ มูลค่าก็จะลดทันที จนมันเกินความสามารถที่มนุษย์จะจัดการได้ แล้วการที่มีสิ่งมีชีวิตตายหนึ่งตัว มันอาจจะไม่กระทบกับเราโดยตรง แต่เราอาจจะโดนทางอ้อม สมมติเกาะลิบงจัดการขยะไม่ดี คนก็ไม่มาเที่ยว นี่คือตัวอย่างที่เห็นเลยว่ามันส่งผลกระทบกับคนแน่นอน
“การที่มาเรียมตาย นี่คือตัวชี้วัดว่า วันหนึ่งมันอาจจะมาถึงเราก็ได้ ขนาดมาเรียมอยู่ตั้งไกล กลายเป็นว่ามีขยะมาจากเมืองมาทำร้ายมัน” อาจารย์เผดิมศักดิ์อธิบาย
![](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2019/11/07-1024x536.jpg)
ความสะดวกสบายที่เรามีอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณเจ้าพลาสติกที่ถูกคิดค้นขึ้นมาบนโลกใบนี้ ประโยคที่บอกว่า ‘พลาสติกเป็นตัวทำลายระบบนิเวศ’ เป็นเพียงคำครหา เพราะที่จริงพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าเรารู้จักจัดการและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด
คนเมืองอย่างเราสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยแนวทางสุดเบสิกที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก คือ ลดใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ไม่เพียงแค่ตัวเราเท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพวกเราทุกคน ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลองคิดภาพตามดูว่า เมืองและโลกของเราจะดีขึ้นมากแค่ไหน