สำนักพิมพ์สะพาน กับการใช้นิยายข้ามไปหาความเท่าเทียม - Urban Creature

“ถ้าใครก็ตามจะมาบอกอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ถึงการที่เด็กสาวสักคนจะรักเด็กสาวอีกคน เพราะสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะภาวะทางครอบครัวหรือสังคม อย่างใดก็ตามแต่…จุดสำคัญใหญ่ที่สุดคือการได้มาพบเจอกับคนที่ใจตรงกัน มีสื่อถึงกันต่างหาก”


หากยื่นไมค์ถามว่าบางส่วนบนหลังปกหนังสือเล่มแรกจาก ‘สำนักพิมพ์สะพาน’ สำนักพิมพ์นิยายหญิงรักหญิง เรื่อง ‘ฉันไม่ใช่อะไรเลย…นอกจากคนที่รักคุณ’ บอกอะไรกับฉันบ้าง ฉันคงส่งเสียงออกไปว่าความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง คือความรักที่สวยงาม เติบใหญ่ และผลิบานในใจ ไม่ต่างจากคู่รักผู้ชายกับผู้หญิง แล้วคงเสริมในลำดับถัดมาว่า แม้สำนักพิมพ์จะผลิตนิยายมา 13 ปี แต่ปัจจุบันการเลือกปฏิบัติทางเพศยังคงอยู่ สถาบันครอบครัวยังกดดัน สังคมยังตั้งคำถามกับความรักรูปแบบนี้ และกฎหมายในไทยยังคงกีดกั้นความเท่าเทียมทางเพศ

ลำดับต่อไปจนถึงลำดับท้ายสุด ฉันขอไม่เฉลยในบทนำ แต่จะพาค้นคำตอบและโบกสะบัดธง pride ไปกับ พี่เล็ก-ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพานที่ต่อสู้ให้นิยายหญิงรักหญิงได้วางขายบนชั้นหนังสือ ต้านการผลิตซ้ำอคติต่อเลสเบี้ยนในนิยาย และยื่นคำร้องต่อศาล #สมรสเท่าเทียม ในนาม มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) เพื่อเปิดประตูความเท่าเทียมทางเพศให้ได้จริง

ว่ากันว่าตัวหนังสือมีเวทมนตร์

ฉันเชื่อเสมอว่าตัวหนังสือที่ใช้สื่อสารมีพลังบางอย่างที่จะขับเคลื่อนสังคมได้ จึงไม่แปลกที่วันนี้จะรู้สึกตื่นเต้นเมื่อมีโอกาสคุยกับคนปลายสายอย่าง ‘พี่เล็ก’ ที่มองโลกของหนังสือเป็นโลกมหัศจรรย์ตั้งแต่เรียนประถมฯ

“จำได้ว่าตอนเข้าโรงเรียนแรกๆ ที่เริ่มอ่านหนังสือออก พี่รู้สึกว่าโลกมันมหัศจรรย์มาก” พี่เล็กเปิดบทสนทนาด้วยความรู้สึกแรกตอนอ่านหนังสือออก ก่อนเธอจะเล่าต่อว่าหลังจากนั้นก็ชื่นชอบการอ่านไปโดยปริยาย เข้าห้องสมุดโรงเรียนเป็นประจำ หยิบนิตยสารรายเดือนจากที่ผู้ใหญ่ซื้อมาอ่าน อย่างขวัญเรือน และ บางกอก จนซึมซับและรู้ตัวตั้งแต่นั้นว่าหลงรักวงการหนังสือเข้าแล้ว

ช่วงวัยรุ่นตอนกลางของพี่เล็กกลายเป็นวัยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในแวดวงหนังสือด้วยการแต่งกลอนและเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร จนย่างเข้าอายุ 18 ปี ความฝันที่จะเป็นนักเขียนของเธอเป็นจริง เมื่อได้ทำตำแหน่งกองบรรณาธิการนิตยสารวัยหวาน มีโอกาสสัมภาษณ์ศิลปิน นักแสดง หรือฝึกสกิลการเขียน จนย้ายมาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในช่วงปี พ.ศ. 2538 และเป็นปีเดียวกับที่ได้รู้จัก ‘กลุ่มอัญจารี’ หรือกลุ่มที่รวมตัวปกป้องสิทธิของหญิงรักหญิงโดยเฉพาะ ซึ่งยุคนั้นไม่มีแม้แต่สื่อเดียวที่เผยแพร่ประเด็นหญิงรักหญิง มีเพียงคอลัมน์หาคู่เล็กๆ ในนิตยสารรวมของแปลกอย่าง ‘นิตยสารแปลก’ ซึ่งแท้จริงแล้วหญิงรักหญิงหาใช่สิ่งแปลกปลอมแบบที่ใครเขาว่า

ต่อมาพี่เล็กจึงได้เข้าไปพบปะทำกิจกรรมกับกลุ่มอัญจารีมากขึ้น และนำมาซึ่งโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำจุลสารของกลุ่ม ที่เป็นสื่อกลางเผยแพร่สำหรับหญิงรักหญิงให้สมาชิกกลุ่มอัญจารีประมาณ 400 คนอ่าน ทั้งเขียนเรื่องสั้น แต่งกลอนเกี่ยวกับหญิงรักหญิงในรูปแบบถ่ายเอกสาร รวมไปถึงเปิดพื้นที่ให้สมาชิกส่งจดหมายมาระบายหาเพื่อนและคนรัก บ้างก็มีจัดมีตติ้งพบปะ แลกเปลี่ยนประเด็นความสัมพันธ์ เช่น เรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ ครอบครัวไม่เข้าใจ แม่กีดกันแฟน หรือแฟนถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชาย

การผลิตสื่อเล็กๆ ในยุคที่พูดเรื่องเพศกับใครไม่ได้ นับเป็นการเยียวยาความรู้สึกให้สมาชิกคิดว่า ‘ยังมีคนพร้อมเข้าใจ’

แวดวงสิ่งพิมพ์ที่กีดกันเลสเบี้ยน

‘สำนักพิมพ์สะพานเกิดในยุคที่วงการสิ่งพิมพ์ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ’

นิยามข้างต้นอธิบายได้ดีกับสิ่งที่พี่เล็กฝ่าฟันมาตลอดตั้งแต่เปิดสำนักพิมพ์สะพานขึ้นในปี พ.ศ. 2550 หลังจากที่ใช้เวลาในวงการสิ่งพิมพ์และอ่านนิยายหญิงรักหญิงในบางเจ้าจนตกผลึกว่า นิยายยุคนั้นผลิตซ้ำอคติ มอง LGBTQ+ เป็นโรคจิต วิปริต อารมณ์รุนแรง ลามไปถึงใส่สีว่าเป็นพวกล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งจะจริงได้อย่างไร เพราะเธอก็เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่รักผู้หญิงด้วยจิตใจบริสุทธิ์ และหากปล่อยให้นิยายเหล่านั้นโลดแล่นไปโดยไม่มีใครมาโต้แย้ง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะถูกมองไม่ดีไปตลอดกาล เธอจึงสร้างสำนักพิมพ์ของตัวเองที่จะบอกทุกคนว่า ความรักของหญิงรักหญิงสวยงามไม่แพ้ชายรักหญิง

“โรงพิมพ์บางแห่งไม่รับพิมพ์นิยายของเรา โดยอ้างว่าเลสเบี้ยนขัดต่อศีลธรรมอันดีงามตามแบบฉบับของสังคม ถามหน่อยสังคมมีหน้าที่กำหนดความถูกต้องทางเพศตอนไหน”

พี่เล็กเล่าว่าช่วงแรกที่ทำสำนักพิมพ์สะพานเกือบไปไม่รอด เพราะยอดพิมพ์ในระบบออฟเซตต้องพิมพ์ 2,000 เล่ม แต่คนอ่านช่วงนั้นเฉพาะกลุ่มมาก ทำให้เหลือหนังสือเยอะ ทว่าดันมาเจอระบบพรินต์ตามจำนวนการสั่งเข้ามาในปี พ.ศ. 2552 ก่อน แต่ก็ไม่วายหาโรงพิมพ์ยากมาก เพราะหลายแห่งมองเนื้อหาในเล่มเป็นเรื่องผิดศีลธรรม

ความรู้สึกหนักบ่าที่ต้องแบกรับจากการถูกโรงพิมพ์ปฏิเสธตกมาอยู่ที่พี่เล็กคนเดียว เพราะเธอเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ด้วยตัวเอง รับบทเป็นทั้งบรรณาธิการที่คอยตรวจต้นฉบับนักเขียน (บางเล่มเธอก็เขียนเองนะ) ที่เมื่อก่อนเปิดรับสมัครจากกลุ่มอัญจารี เว็บบอร์ดเลสล่าที่ไว้แลกเปลี่ยนความคิดผ่านกระทู้หญิงรักหญิง ร้านหนังสือปิงฟ้าวิลันดาที่จำหน่ายเฉพาะนิยายหญิงรักหญิง รวมไปถึงเว็บไซต์เด็กดีที่คุ้นเคยตอนเด็ก พอเวลาผ่านไปเริ่มมีเฟซบุ๊ก เธอก็เริ่มรับสมัครนักเขียนในเฟซบุ๊กแทน นอกจากนี้ตอนนั้นพี่เล็กยังรับบทคนจัดอาร์ตเวิร์ก พิสูจน์อักษร ควานหาโรงพิมพ์ที่ใจกว้างให้ได้ส่งพิมพ์ และขายเองผ่านการฝากสายส่งที่ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปตามร้านหนังสือ ซึ่งบางร้านก็ไม่รับหนังสือของเธอขึ้นชั้น

เฉกเช่นครั้งที่สำนักพิมพ์สะพานไปออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อ 10 ปีก่อน แต่กลับถูกริบหนังสือไม่ให้ขายเพราะมีฉากเลิฟซีนของคู่รักเลสเบี้ยน จึงถูกเจ้าหน้าที่สแกนออก อ้างว่าความรักรูปแบบนี้ ‘ผิด’ ทั้งๆ ที่นิยายชายและหญิงที่มีฉากจูบหรือเพศสัมพันธ์กลับดูเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคล้ายกับกรณีที่นิยายหญิงรักหญิงถูกแบนโดยร้านหนังสือแนวหน้าชื่อดัง

“เราสงสัยมากว่านิยาย LGBTQ+ จะทำให้ร้านหนังสือที่เขาบอกว่าใสสะอาดมีมลทินได้อย่างไร ซึ่งเขาก็ตอบไม่ได้นะว่ามันผิดศีลธรรมอย่างไร พูดแต่ว่าผิด”

ในยุคที่สื่อโซเชียลเข้ามาแล้ว พี่เล็กจึงร่วมต่อสู้ในประเด็นนี้ ด้วยการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสิทธิที่ถูกริดลอน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ล่ารายชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือชายรักชายและหญิงรักหญิงของร้านหนังสือชื่อดัง ทำแคมเปญแบนด้วยการให้ประชาชนที่เห็นด้วยกว่า 1,000 คน ยกเลิกบัตรสมาชิกพร้อมกัน จนร้านหนังสือดังกล่าวยอมขอโทษและยอมรับให้มีการขายหนังสือ LGBTQ+ ได้ และปัจจุบันสำนักพิมพ์สะพานก็สามารถตั้งบูธในงานสัปดาห์หนังสือได้โดยไม่ต้องตรวจสอบแล้ว

สิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคน

ในนามสำนักพิมพ์สะพาน พี่เล็กขับเคลื่อนความเท่าเทียมให้นิยายหญิงรักหญิงได้ขายตามร้านหนังสือแบบที่ควรจะเป็น แต่ในนาม ‘ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่’ เธอขับเคลื่อนไปมากกว่านั้น ทั้งในมิติของหญิงรักหญิงเองและสิทธิ LGBTQ+ ทั้งหมด หากย้อนกลับไปหลายปีก่อนการเกณฑ์ทหารของผู้หญิงข้ามเพศจะถูกแปะป้ายในใบ สด.43 หรือ เอกสารรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ว่าเป็น ‘โรคจิตถาวร’ ซึ่งพี่เล็กเป็นหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมให้นำคำว่า โรคจิตถาวรออก เพราะเป็นการดูถูก ใส่ร้าย และสร้างค่านิยมผิดๆ ให้สังคม จนกระทรวงกลาโหมอนุมัติเปลี่ยนถ้อยคำใหม่เป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ แทน (แต่หากเท่าเทียมจริงๆ ต้องไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารเลยด้วยซ้ำนะ) 

นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ที่พี่เล็กเป็นที่ปรึกษายังทำงานวิจัยประเด็นความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทยแล้วพบว่าหนังสือวิชาสุขศึกษาของนักเรียนชั้นประถมฯ มีเนื้อหาเลือกปฏิบัติทางเพศ อธิบายว่าการเป็น LGBTQ+ ผิดปกติทางจิต ทำให้เด็กในโรงเรียนเกิดความเกียจชัง มิหนำซ้ำครูในโรงเรียนบางคนยังเลือกปฏิบัติกับเด็ก LGBTQ+ อยู่ เช่นเดียวกับค่านิยมความเป็นหญิงของตัวละคร ‘เกี๊ยว’ ในแบบเรียนภาษาพาที ที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้หญิงใจแตก และสำส่อนทางเพศ เพราะไม่ได้เป็นผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน ตามแบบฉบับค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังกันมาให้ผู้หญิงเป็นแบบที่ผู้ชายชอบ ซึ่งทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศในโรงเรียน และทำให้เด็กไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองเพราะกลัวถูกเหยียด พี่เล็กจึงพยายามเข้าไปทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อยื่นเรื่อง จัดสัมนา และเอางานวิจัยไปเผยแพร่ว่าการศึกษาไทยไม่ควรเขียนตำราที่สร้างความเกียจชังให้แก่เด็กๆ ได้แล้ว

“โรงเรียนไม่เคยสอนให้เด็กรู้จักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นของตัวเอง ทั้งสิทธิในการเลือกเพศ สิทธิในการแต่งตัว สิทธิที่จะไว้ทรงผม ยิ่งไปกว่านั้นบุคลากรในโรงเรียนบางแห่ง แทบไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กเลย”

E-Book โลกทางจิตวิญญาณใบใหม่

“บรรยากาศทางสังคมทำให้เด็กไม่มีอิสระมากพอในการอ่านหนังสือเล่ม ถ้าเด็กผู้หญิงสักคนหยิบนิยายเลสเบี้ยนขึ้นมาอ่าน พ่อ แม่ เพื่อน หรือคนในที่ทำงานที่ยังไม่เปิดกว้าง จะต้องจับผิด ทำให้ E-Book เป็นพื้นที่การอ่านสำหรับเด็กที่ไม่พร้อม come out” 

ในโลกปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยสื่อโซเชียล ทำให้หญิงรักหญิงบางส่วนมีอิสระมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนในการคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจหรือแฟนสาว แต่ในโลกความเป็นจริง กลับไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปิดตัวว่าตัวเองชอบผู้หญิง เพราะจากการที่พี่เล็กจัดมีตติ้งแชร์ปัญหาชีวิตของแฟนหนังสือ พบว่ามีจำนวนมากที่ครอบครัวไม่ยอมรับ และมีคติ “ลูกคนอื่นเป็นได้ แต่ลูกฉันห้ามเป็น” นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่เล็กจับตลาด E-Book บนแอปฯ อ่านหนังสือออนไลน์อย่าง meb เพื่อเพิ่มพื้นที่การอ่านที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพี่เล็กยังผลิตนิยายเล่มออกมาจำหน่ายเช่นเดิม ซึ่งมียอดขายพอๆ กับการขาย E-Book ก็ว่าได้ เพราะตัวเธอเองและแฟนหนังสือหลายคนที่โตมากับการอ่านหนังสือเล่ม ยังคงผูกพันเมื่อได้สัมผัสกระดาษ ชอบเวลาอ่านแล้วไม่ปวดตาเท่ามองหน้าจอโทรศัพท์และทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาจากมุมใดมุมหนึ่งในบ้าน จะช่วยย้อนนึกถึงความประทับใจในนิยายจนเผลอยิ้มออกมา 

“ตัวละครในนิยายของพี่จะต้องมีจุดจบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง ไม่พบกับหายนะ ตาย หรือชีวิตแสนเศร้าในตอนจบ แบบที่บางสื่อนำเสนอ เพราะในชีวิตจริง LGBTQ+ มีสิทธิ์จะสมหวังกับคนรักและมีชีวิตที่มีความสุขได้เหมือนกัน”

สมรสเท่าเทียม

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) เป็นมูลนิธิที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนให้ทุกคนมี Sexual Orientation (วิถีทางเพศ) และ Gender Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) ได้อย่างอิสระโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งพี่เล็กเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมสร้างความเข้าใจในสังคมคู่กับการทำสำนักพิมพ์ และแน่นอนว่าประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ คือประเด็นที่เธอตั้งใจผลักดัน

“2 ปีก่อน คู่รักเลสเบี้ยนที่พี่รู้จัก ฝ่ายหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถล้ม ต้องไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน กว่าจะถึงโรงพยาบาลใช้เวลานานมาก อีกฝ่ายที่เป็นแฟนสาวอยู่กินกันมา 6 ปี ถึงโรงพยาบาลก่อนแม่ของผู้ป่วยแต่ไม่สามารถเซ็นผ่าตัดได้ เพราะกฎหมายอนุญาตให้ผู้ปกครองและคู่สมรสเซ็นเท่านั้น ทำให้ตอนนี้น้องเขาสมองมีปัญหา ทำอะไรได้ช้าลง”

ช่องโหว่บางส่วนของกฎหมายไทยที่ไม่รองรับให้คู่รัก LGBTQ+ มีสิทธิ์เซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่าย ทำให้แฟนหนังสือคนดังกล่าวที่พี่เล็กรู้จักตั้งแต่กลุ่มอัญจารี มีปัญหาทางสมองจวบจนทุกวันนี้ และยังมีอีกหลายข้อที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ส่อแววปิดกั้นความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง เช่น ไม่สามารถหมั้น ไม่สามารถอุ้มบุญ ไม่สามารถใช้นามสกุลร่วมกันฉันท์คู่สมรส ไม่มีสิทธิในกองทุนประกันสังคมและบำเหน็ดบำนาญ และการขอสัญชาติไทย กรณีอีกฝ่ายเป็นคนต่างชาติ เป็นต้น ‘สมรสเท่าเทียม’ จึงเป็นสิ่งที่พี่เล็ก มูลนิธิ และภาคประชาชนร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ให้เกิดสมรสเท่าเทียม แม้ตอนนี้รัฐบาลจะยังเพิกเฉย แต่เธอยืนยันว่าจะร่วมต่อสู้จนเกิดประชาธิปไตยในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้ได้

“สังคมสร้างกรอบให้ LGBTQ+ แทบทุกด้าน เป็นผู้หญิงข้ามเพศต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสวยและเก่งถึงจะมีผู้ชายชอบ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงข้ามเพศจะเป็นอะไรก็ได้ในแบบที่เธออยากเป็น สามารถเป็นเลสเบี้ยนคบผู้หญิงก็ได้ เพราะเธอก็คือผู้หญิง

“เกย์และเลสเบี้ยนก็เหมือนกัน สังคมจะตั้งคำถามเสมอว่าใครเป็นฝ่ายรุก ฝ่ายรับ อยู่ตลอด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งทำให้เจ้าตัวอึดอัด พอทุกคนมองเป็นเรื่องไม่ปกติ จึงทำให้กฎหมายความเท่าเทียมมันไม่เท่าเทียมสักที”

ย่อหน้าสุดท้ายที่พี่เล็กและฉันอยากฝากไปถึงผู้อ่าน คือการชวนตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะช่วยกันผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ทั้งกฎหมายการสมรส ตำราการศึกษาที่สร้างอคติทางเพศ ค่านิยมการเหยียดคนให้ด้อยกว่าทั้งๆ ที่ทุกคนเท่ากัน และการมีจิตสำนึกของคนในสังคมที่ควรเอากรอบที่ถูกปลูกฝังมานานทิ้งไว้ด้านหลังโดยไม่หันกลับไป

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.