‘จักรพรรดิพงษ์’ ถนนทางผ่านย่านโรงพิมพ์หนังสือ - Urban Creature

ในวันที่ย่านเก่าอย่างนางเลิ้งและหลานหลวง เป็นปลายทางของผู้คนที่หลั่งไหลมาฮอปปิงคาเฟ่ที่ผุดขึ้นมากมายในพื้นที่ คืนความคึกคักกลับเข้ามาในพื้นที่โอลด์ทาวน์แถบนี้อีกครั้ง ไม่ต่างกับยุครุ่งเรืองของตลาดนางเลิ้งเมื่อครั้งอดีตที่เป็นจุดหมายของเหล่าหนุ่มสาวชาวพระนครมายาวนาน

ใกล้ๆ กันยังมีอีกชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง ริมสองฝั่งของ ‘ถนนจักรพรรดิพงษ์’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมร้อยทั้งสองย่านที่ว่านี้เข้าด้วยกัน แม้วันนี้จะอยู่ในสถานะของทางผ่านจนหลายคนอาจมองข้ามไป หรือถูกเหมารวมไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของย่านข้างเคียง

ทว่าจริงๆ แล้วตรงนี้ก็มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นไม่น้อย เพราะแต่ก่อน บนถนนสายนี้เคยเต็มไปด้วยโรงพิมพ์และร้านหนังสือการ์ตูนในวันที่สิ่งพิมพ์เฟื่องฟู มีร้านทำผมบาร์เบอร์และซาลอนยุคเก่าตั้งเรียงรายกว่าสิบร้าน ไปจนถึงภาพชินตาอย่างร้านกล้วยแขกหลากหลายสีเอี๊ยมที่เป็นสัญลักษณ์ประจำย่านนี้

ชวนย้อนความหลังฟังเรื่องเล่าจากหลายปากเสียงของชาวชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ถึงบรรยากาศในอดีตของย่าน พัฒนาการของร้านค้าและชุมชน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่กำลังปลุกให้ย่านทางผ่านที่หลับใหลค่อยๆ ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ

ถนนที่นำพระนามอันไพเราะของพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 มาตั้งเป็นชื่อนั้น คือผลพวงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยตัดแยกมาจากถนนบำรุงเมือง ถนนสายแรกๆ ในสยาม เชื่อมกับถนนราชดำเนิน เส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างโซนเมืองเก่าตรงพระบรมมหาราชวังกับเมืองใหม่ (ในสมัยนั้น) แถบดุสิต

แต่แรกเลยแถบนี้ยังเป็นพื้นที่สวนตามประสาบรรยากาศชานเมือง กว่าจะมีอาคารพาณิชย์ตลอดสองฝั่งถนนจักรพรรดิพงษ์แบบที่เห็นกัน ก็ต้องรอจนถึงประมาณช่วงทศวรรษ 2490 หลังจากนั้นจึงเริ่มเป็นย่านการค้าที่มีร้านรวงต่างๆ เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อประกอบกิจการกันอย่างหลากหลาย

นอกจากร้านทำผมแล้ว ก็มีร้านตัดเสื้อสูท ร้านทำฟันแบบโบราณ ทำแป้งประหน้า ร้านเอกซเรย์ ร้านขายเคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งสลับสับเปลี่ยนเจ้าของอยู่ตลอด บ้างก็ย้ายไปที่อื่นแล้วในตอนนี้ บางห้องก็ยังมีลูกหลานอยู่กระทั่งปัจจุบัน

‘สุขศาลานางเลิ้ง’ อดีตสถานอนามัยของชาวกรุง

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ สุขศาลานางเลิ้ง

“ชุมชนป้าไม่ใหญ่ แต่มีสตอรีเยอะ” ป้าจิ๋ว ประธานชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ที่สละเวลามาช่วยนำทางและเคาะประตูบ้านหลังนู้นหลังนี้ พร้อมกับเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เกริ่นนำระหว่างเดินพาเราไปดู ‘สุขศาลาฯ’ คลินิกอนามัยของรัฐที่ขึ้นชื่อในการรักษาโรค ‘อย่างว่า’ ตามภาษาของคนเก่าคนแก่

ในอดีต แถบนางเลิ้งเป็นที่เที่ยวของหนุ่มสาวชาวกรุงเทพฯ อาชีพที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้กันคือการขายบริการ ที่ปักหลักอยู่ตามจุดต่างๆ ในแถบนางเลิ้งเรื่อยมาจนถึงถนนจักรพรรดิพงษ์ด้วย

“สะพานดำ ตลาดนางเลิ้ง หลังปั๊มก็มี ล้อมไว้หมดแล้ว ซอยตรงข้ามนี้ก็มีนะ เป็นระดับนายทหารหนีเมียมาตอนกลางวัน” ประธานชุมชนหัวเราะพลางค่อยๆ ไล่เรียง พร้อมกับชี้ลายแทงที่อยู่รอบชุมชน

อันที่จริงแล้ว อนามัยแห่งนี้ตรวจได้ทุกโรค แต่ที่เป็นอันดับหนึ่งเลยก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในสมัยนั้นมีแพทย์เฉพาะทางโรคผู้หญิงชื่อดังมากคือ หมอเพียร เวชบุล ประกอบกับอยู่ใกล้แหล่งโสเภณีด้วย ทำให้คนที่มุ่งมาย่านนี้ส่วนใหญ่คือการมาเข้ารักษาที่อนามัยแห่งนี้ทั้งนั้น

“แต่ก่อนป้าขายของ ก็มีลูกค้า และคนจากอนามัยนี่ก็เยอะ ถึงเวลาป้าเข้ามา เอาของมาส่ง เอาเงินมาทอน ก็เห็นว่าห้องนี้ตรวจอะไรกัน ถ้าเป็นโรคอย่างว่าเราก็จะเอาผ้าม่านปิดไว้” ป้าจิ๋วอธิบายภาพ

‘วิมล’ ร้านเสริมสวยยุคเก่าในอดีตร้านตัดรองเท้าหนัง

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ ร้านเสริมสวยวิมล

ร้านเสริมสวยวิมล เป็นอีกหนึ่งร้านเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมถนนจักรพรรดิพงษ์ ตั้งแต่ยุคที่โรงพิมพ์-ร้านหนังสือยังไม่ได้ทยอยมาตั้งอยู่แถวนี้ โดยคุณป้าเป็นช่างทำผมฝีมือดีที่ย้ายมาจากร้านควีน ซาลอนชื่อดังแถวหัวลำโพง กลับมาบ้านเพื่อเปิดร้านเป็นของตัวเองเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

“ตอนเราเปิดก็มีหลายร้านเลย แย่งลูกค้ากัน แต่เราไม่ต้องแย่งเพราะมีขาประจำตามมาตั้งแต่ร้านเก่า (หัวเราะ) ขาประจำก็ตามมาจากที่ไกลๆ ขับรถเก๋งมาก็มี” คุณป้าวิมลเล่าย้อน เมื่อครั้งสองฟากถนนจักรพรรดิพงษ์เต็มไปด้วยร้านทำผม โดยเฉพาะร้านเสริมความงามสำหรับสุภาพสตรีที่แค่บล็อกถนนเดียวก็มีกว่าสิบร้าน

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ ร้านเสริมสวยวิมล

แม้จะปิดร้านไปหลายปี แต่เหนือประตูบ้านยังเหลือร่องรอยเป็นตัวอักษรป้ายร้าน รวมถึงสารพัดอุปกรณ์เสริมสวยแบบเก่า เป็นต้นว่า เครื่องอบไอน้ำขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดัดผมไซซ์ต่างๆ หรือเตียงสระผม ก็ยังตั้งอยู่ด้านในบ้าน ไว้ชวนนึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเปิดเป็นซาลอนสำหรับเสริมความงาม

แถมเกร็ดเล็กน้อยของบ้านหลังนี้ คุณป้าวิมลเล่าว่า ก่อนมาทำร้านเสริมสวย ที่นี่เคยเป็นร้านตัดรองเท้าหนังของคุณพ่อมาก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่มาประมูลขอเช่าตึกกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคนแรก ในราคาเพียงหนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น

‘หน่ำเฮงหลี’ ร้านกาแฟโบราณอายุกว่า 70 ปี

ร้านกาแฟโบราณ หน่ำเฮงหลี ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ

นอกจากร้านวิมลแล้ว อีกร้านที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ เลยเช่นกันคือ ‘หน่ำเฮงหลี’ ร้านกาแฟโบราณที่อยู่คู่ถนนสายนี้มามากกว่า 70 ปีแล้ว

เจ้าของร้านรุ่นที่สองซึ่งในวันนี้อายุแตะเลขเจ็ดบอกว่า สมัยก่อนนั้น ร้านกาแฟเป็นจุดรวมตัวกันยามเช้าของคนแถวนี้ มานั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องการมุ้งและการเมือง พร้อมจิบกาแฟโบราณ ไข่ลวก และขนมปังสังขยา รองท้องก่อนไปทำงานเป็นกิจวัตรประจำวัน

“แถวนี้เป็นทางผ่านของชุมชนที่จะไปตลาดนางเลิ้ง เพราะเป็นตลาดใหญ่ ก็จะมีการค้าขาย มีร้านทำผม ร้านตัดเสื้อ มีสุขศาลาฯ” บรรยากาศค่อยๆ พรั่งพรูจากความทรงจำของชาวย่านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด

ร้านกาแฟโบราณ หน่ำเฮงหลี ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ

ถัดจากร้านหน่ำเฮงหลีไปไม่กี่ห้อง ยังเคยเป็นร้านเอกซเรย์เอกชนเจ้าแรกๆ ของประเทศ ที่นำเข้าเครื่องเอกซเรย์มาจากยุโรป เรียกได้ว่าแถวนี้โก้ดีไม่น้อยเลยในตอนนั้น

“ที่เราตื่นเต้นคือเวลาลิงที่สวนสัตว์ดุสิตป่วย เขาจะพาลิงมาเอกซเรย์ เราเป็นเด็กๆ ก็ไปดูกัน มีฟิล์มเป็นรูปมือติดอยู่หน้าร้าน”

เมื่อขยับไปทางถนนนครสวรรค์ ก็เป็นโซนของโรงพิมพ์ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่ำเฮงหลีตรงหัวถนนจึงเป็นเสมือนที่พบปะของเหล่านักเขียนที่มาหากาแฟดื่มตอนเช้าก่อนแยกย้ายไปเข้าสำนักพิมพ์ที่ตนสังกัด บ้างก็สั่งซื้อให้หิ้วเข้าไปส่งถึงโรงพิมพ์ หรือบางคนเช่าบ้านเพื่อผลิตงานเขียนก็มี

“เดิมทีแถวนี้มีโรงพิมพ์เยอะ ถัดจากร้านเอกซเรย์ก็มีโรงพิมพ์พวกหนังสือนิตยสารที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะมีนิยายด้วย พวกนี้หายไปพร้อมกับร้านดัดผม เพราะร้านพวกนี้เอาหนังสือเป็นตัวเรียกลูกค้า คล้ายกับร้านกาแฟที่มีตัวเรียกเป็นหนังสือพิมพ์” เจ้าของร้านกาแฟตบท้ายข้อมูล

ร่องรอยถนนสายโรงพิมพ์ที่ยังพอหลงเหลืออยู่

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ วิบูลย์กิจ

ภาพที่เจ้าของร้านหน่ำเฮงหลีบรรยายให้ฟังคือ โรงพิมพ์ที่เคยอยู่แถวตลอดสองฟากถนน ซึ่งขยายตัวมาจากแถบถนนนครสวรรค์จนถึงสะพานผ่านฟ้าฯ ในช่วงหลังปี 2500

หากลองสืบสาวเรื่องราวดูจะพบว่า สำนักพิมพ์ชื่อดังมากมายต่างก็เคยลงหลักปักฐานเริ่มต้นกันอยู่ในย่านนี้ทั้งนั้น เช่น บรรลือสาส์น เพลินจิต ศรีสยาม รุ่งรัตน์การพิมพ์ วิบูลย์กิจ ฯลฯ เรียกได้ว่ายุคหนึ่ง แถวนี้เป็นจุดนัดพบของเหล่านักเขียนชื่อดังในประเทศเลยทีเดียว

ในวันที่สิ่งพิมพ์กำลังซบเซาอย่างที่ใครหลายคนว่าไว้ ‘สำนักพิมพ์จัมโบ้’ เป็นหนึ่งในบรรดาสำนักพิมพ์ไม่กี่เจ้าที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในถิ่นเดิม เคียงข้างด้วยเพื่อนบ้านอย่างสำนักพิมพ์เนชั่นและวิบูลย์กิจ ซึ่งลองนับนิ้วดูแล้ว ใกล้ๆ กันนี้เหลือโรงพิมพ์หนังสือเพียงแค่ 3 – 4 เจ้าเท่านั้น เป็นกลิ่นหนังสือที่ค่อยๆ จางจากย่านนี้ไปทุกที

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์จัมโบ้

“เราทำหนังสือมาสี่สิบกว่าปี เมื่อก่อนผ่านฟ้านี่เป็นดงหนังสือเลย ตรงถนนนครสวรรค์ แล้วก็ค่อยขยายมาทางนี้ ตรงนั้นจะมีโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ตรงไหนว่างก็มาอยู่” คุณป้าเจ้าของโรงพิมพ์จัมโบ้เล่าบรรยากาศ ในช่วงที่แถวนี้เป็นจุดหมายของเหล่านักอ่าน โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

ปัจจุบันสำนักพิมพ์ที่เคยมีการ์ตูนมังงะเป็นที่จดจำของเด็กๆ ยุคนั้นอย่างเรื่อง ‘คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า’ และ ‘เจ้าหนูลมกรด’ ไม่ได้มีโรงพิมพ์อยู่ในตึกเหมือนแต่ก่อน ใช้การจ้างพิมพ์เอาข้างนอก เนื่องจากออกหนังสือน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังพอตีพิมพ์ผลงานใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ อย่าง ‘สามก๊กฉบับการ์ตูน’ ที่คุณป้าภูมิใจนำเสนอ

‘กล้วยแขกนางเลิ้ง’ ของอร่อยคู่ย่านระดับตำนาน

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ กล้วยแขก

นอกจากโรงพิมพ์ สัญลักษณ์อีกอย่างคู่ถนนสายนี้คือ ‘กล้วยแขก’ ที่มีให้เลือกตามความชอบหลายร้าน ภาพที่คุ้นชินคือสีสันมากมายของถุงและเอี๊ยมคนขาย ที่แต่ก่อนมักเดินขายตามสี่แยก เสิร์ฟให้กินกันร้อนๆ ถึงรถเลยทีเดียว

“ต้นตำรับของกล้วยทอดนางเลิ้ง เปิดมาห้าสิบปีแล้ว แม่มาอยู่นี่ก็สี่สิบกว่าปี สูตรยังเหมือนเดิม กรอบนอกนุ่มใน” เจ้าของร้านกล้วยทอดสูตรแม่กิมล้งอย่าง ‘แม่วิมลรัตน์’ ซึ่งรับไม้ต่อเป็นรุ่นที่สอง บอกเล่าความเป็นมาของร้านที่อายุยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

นอกจากเอี๊ยมขาวของแม่วิมลรัตน์ เดินต่อไปอีกไม่เท่าไรก็มีร้านกล้วยทอดแม่กิมยุ้ย (พี่น้องกับแม่กิมล้ง) โดดเด่นด้วยเอี๊ยมสีแดงสะดุดตา รสชาติอร่อยไม่ต่างกัน 

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ กล้วยแขก

เฮียเจ้าของร้านที่สวมเอี๊ยมสีแดงบอกกับเราว่า ร้านนี้ขายมา 58 ปีแล้ว เป็นกล้วยทอดสูตรชาววังที่ให้รสสัมผัสกรอบนอกนิ่มใน ซึ่งเฮียเผยว่า เคล็ดลับประจำร้านคือต้องสั่งกล้วยจากจังหวัดเพชรบุรีเท่านั้น

แม้ในปัจจุบัน ทางเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ลงไปเดินขายบนถนนเหมือนแต่ก่อน แต่ด้วยรสชาติระดับตำนาน จึงยังพอเห็นผู้ติดใจในกล้วยแขกนางเลิ้งแวะเวียนมาจอดซื้อแบบไดรฟ์ทรูกันถึงหน้าร้านแต่ละสีอยู่เรื่อยๆ

‘Embassy Coffee’ คาเฟ่ที่ผสานความเป็นไทยร่วมสมัยไว้ในทุกเมนู

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ คาเฟ่ Embassy Coffee

หลังจากท้าทายแดดในเมืองกรุงได้พอประมาณ เรากลับมาอาศัยอดีตร้านเอกซเรย์เก่าแก่ ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคาเฟ่ในชื่อ ‘Embassy Coffee’ เพื่อพักเหนื่อยและเปิดบทสนทนากับเจ้าของตึกรุ่นปัจจุบัน

‘พี่บอย-ศรุติ พรมจันทร์’ ผู้เป็นเจ้าของสถานทูตประจำย่านจักรพรรดิพงษ์ และเป็นคนที่ช่วยชี้ทางพาเราไปรู้จักกับผู้คนในชุมชน รวมถึงแนะนำสถานที่ต่างๆ ในบทความชิ้นนี้ บอกกับเราว่า ตนอยู่ที่ย่านนี้ตั้งแต่อายุได้สิบกว่าขวบ จึงพอเห็นพลวัตของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

“สมัยก่อนพอเก้าโมงเช้า คนมานั่งรอหนังสือคอมิกละ จะมีรถใหญ่ๆ จากโรงงานมาจอดลงหนังสือ ตรงนี้ส่งไปทั่วประเทศ เป็นหน้าร้านของโรงพิมพ์ ย่านนี้เป็นที่ปล่อยหนังสือ” เขาฉายภาพในวัยเด็ก “สิ่งที่เห็นคือระหว่างนั้นจะมีอาแปะขายก๋วยเตี๋ยวแคะ คนขายเต้าหู้ทอด มีไก่ย่างราชบุรีมาขาย บ่ายๆ ก็เริ่มมาจอด คนก็จะมาซื้อกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว”

พี่บอยเล่าต่อว่า ด้วยความที่ตรงนี้เป็นศูนย์ราชการ ทำให้มีข้าราชการเยอะ บวกกับคนที่มาจับจ่ายในตลาดนางเลิ้ง ทำให้ย่านนี้พลอยมีชีวิตชีวาตามไปด้วย ทว่าหลังจากปี 2540 ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสังคมหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปิดใช้สะพานพระราม 8 ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้ปลายถนนสามารถตรงขึ้นสะพานข้ามไปฝั่งธนฯ ได้เลย รถราจึงหนาแน่นขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยการจอดรถริมถนนจักรพรรดิพงษ์ไม่ได้ ส่งผลให้คนที่เข้ามาย่านนี้ไม่มีที่จอดรถ ตรงนี้จึงค่อยๆ เงียบเหงาลงไป

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ คาเฟ่ Embassy Coffee

Embassy Coffee เป็นอาคารพาณิชย์ขนาด 1 คูหา พื้นที่เล็กๆ กะทัดรัด ที่แต่เดิมพี่บอยตั้งใจเปิดเป็นโฮสต์เทลบนชั้นสองของบ้านเพื่อรับรองแขกต่างชาติ เนื่องจากทำเลอยู่ไม่ไกลกับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย ขณะที่ด้านล่างของร้านประดับประดาด้วยผลงานศิลปะและหนังสือต่างๆ มีบาร์กาแฟและตู้ขนม เป็นส่วนของคาเฟ่ที่เปิดตามหลังมาเมื่อปี 2561 ทว่าไม่ทันไรโควิด-19 ก็มาเยือน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่พี่บอยวางแผนไว้ชะลอลงไปอยู่พักหนึ่ง

แม้ชื่อร้านจะมีคำว่า Coffee แต่ใช่ว่ากาแฟจะเป็นพระเอกเดียวของร้าน เพราะจุดเด่นที่หลายคนจดจำคือคอนเซปต์ของร้าน ที่ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านเครื่องดื่มที่พี่บอยเป็นคนครีเอตและลงมือทำเอง ด้วยการนำเอาพืชผลสมุนไพร ไปจนถึงขนมไทยมาปรับใช้ อย่างระหว่างพูดคุยกันอยู่นี้ พี่บอยก็นำซิกเนเจอร์ของร้านอย่าง ‘น้ำส้มฉุน’ มาเสิร์ฟ จากขนมไทยโบราณสู่ไซรัปรสชาติอมเปรี้ยวหวาน หอมกลิ่นใบเตยอ่อนๆ ผสานกับความซ่าของโซดา สำหรับดื่มดับกระหายคลายร้อนได้ดี

“เครื่องดื่มของเราอย่างส้มฉุน ดีไซน์มาจากขนมหวาน เราดึงความเป็นไทยออกมา ที่นี่จะติดความเป็นกลิ่นอายไทยโบราณมารวมกับยุคสมัยใหม่ ส่วนอีกตัวคือเมนูที่เราทำกับชุมชน อย่างใครมาตลาดนางเลิ้งก็คิดถึงไส้กรอกปลาแนม ซึ่งพี่ปูก็จะทำเป็นเค้กไส้กรอกปลาแนมออกมา” บุคคลที่คู่สนทนากำลังเอ่ยถึง คือ ‘พี่ปู-ชัยลภัส จารุณาคร’ พาร์ตเนอร์คนสำคัญของร้านที่คอยรับหน้าที่ดูแลเรื่องขนมและเบเกอรี ซึ่งก็มีความเด็ดดวงไม่แพ้กัน

ย่านจักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯ คาเฟ่ Embassy Coffee

“วันนี้เสิร์ฟอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ก็เสิร์ฟอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนไปไม่ซ้ำ กว่าจะได้กลับมากินอาจต้องใช้เวลาสามเดือน หกเดือน หนึ่งปี อย่างเดือนหน้าก็จะมีทุเรียนชีสเค้ก” พี่บอยเกริ่นนำถึงความพิเศษของขนมในร้าน

อย่างที่วางอยู่ตรงหน้าเป็นช็อตเค้กส้ม ขนมที่พี่ปูบอกว่าแม้จะดูเป็นเมนูธรรมดา หากินที่ไหนก็ได้ แต่ความดีงามอยู่ตรงที่ด้านบนท็อปด้วยส้มสดถึงสามชนิด ทำให้รสชาติออกมากลมกล่อมพอดี

“เราคิดของใหม่ขึ้นมา แตกต่าง แต่ต้องอร่อย” บรรณาธิการหนังสือเล่มที่ปัจจุบันหันมาจริงจังกับการทำขนม พรีเซนต์เค้กแรกของปีนี้ด้วยรอยยิ้ม ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ขนมฝีมือของพี่ปูนั้นแต่ละวันทำออกมาในปริมาณจำกัด เนื่องจากใส่ใจในทุกขั้นตอนการทำ คัดเลือกวัตถุดิบที่ดี พยายามออร์แกนิกที่สุด เพื่อให้ดีต่อสุขภาพของลูกค้า

“เราทำหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ก็ไปเจอแม่ครัวต่างๆ เจอคนทำอาหารหลายคน รวมถึงเจอเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือการประณีตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ล้างผัก เราก็เลยซึมซับกับความสำเร็จของเขาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ลิ้นเขาดีหรืออะไร แต่เขาใส่ใจทุกอย่างที่ใส่ลงไปในอาหาร รสชาติเลยดีกว่า” พี่ปูไขเคล็ดลับความอร่อย ซึ่งเกิดจากการครูพักลักจำและสั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานบรรณาธิการ

นอกจาก Embassy Coffee กิจการแรกๆ ของคนรุ่นใหม่ที่มาปลุกย่านที่กำลัง ‘หลับอยู่’ อย่างจักรพรรดิพงษ์ ให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง วันนี้เรายังเห็นว่ามีอีกหลายตึกที่แปลงโฉมใหม่ ทั้งคาเฟ่ย้อนยุคอย่าง Paengrum’s BOOK & CAFE ร้านอาหาร บาร์ และรูฟท็อปที่เพิ่มแสงสียามค่ำให้กับย่าน จนถึงซาวนด์สตูดิโอเท่ๆ ที่เลือกมาตั้งอยู่ตรงนี้ ที่กำลังบอกกับเรากลายๆ ว่า เมืองเก่าแห่งนี้เปิดกว้างและโอบรับทุกความเป็นไปได้อยู่ตลอด

Neighboroot รอบนี้ หยิบมาแค่ฝั่งเดียวของถนนจักรพรรดิพงษ์ บริเวณด้านหน้าของชุมชนเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วถนนสายนี้ยังมีร้านอีกมากที่น่าสนใจและควรค่าแก่การไปเยือน หากมีโอกาสแวะไปหลานหลวงหรือนางเลิ้ง สามารถเดินเลยไปแถบย่านนี้ได้ เพราะบางครั้งการเดินทางออกนอกเส้นทางที่วางแผนไว้ เยี่ยมเยือนย่านข้างเคียงที่อยู่ใกล้ๆ อาจทำให้เราได้สัมผัสกับย่านน่ารักๆ ที่แทรกตัวอยู่เงียบๆ และได้ซึมซับกลิ่นอายของเรื่องราวอีกมากมายที่คาดไม่ถึง

หรืออาจได้ย้อนวัย เจอหนังสือการ์ตูนสมัยยังเด็กๆ ติดมือกลับบ้านสักเล่มก็ได้นะ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.