เสียงสะท้อนที่เจ็บปวดของแรงงานนอกระบบ ณ สมุย - Urban Creature


0

“ปลายปีนี้ 50% อยู่เหนือ ที่เหลือ 50% อยู่ทะเล” ข้อความทวีตหนึ่งที่บังเอิญเลื่อนเจอขณะที่ตัวผู้เขียนเองกำลังอยู่บนเฟอร์รีข้ามไปสมุย 

เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้ถูกกำหนดเป็น “สมุยพลัส แซนด์บ็อกซ์” (Samui Plus Sandbox) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

“แซนด์บ็อกซ์ โมเดล” ถือกำเนิดเพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง ตรวจสอบการทำงานของระบบ เช่น ก่อนจะมีการปล่อยซอฟต์แวร์สักตัวมาใช้ จะต้องมีการทดลองในแซนด์บ็อกซ์จนมั่นใจก่อนปล่อยใช้งานจริง 

แซนด์บ็อกซ์จึงเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง และต่อให้ล้มเหลวก็เจ็บตัวไม่มาก เหมือนเวลาที่เด็กๆ เล่นชิงช้าและตกลงในพื้นทรายด้านล่าง 

ทว่าพื้นที่ทรายนุ่มๆ เม็ดละเอียดที่ทอดยาวกลายเป็นหาดชื่อดังของสมุย ไม่ว่าจะเป็น เฉวง ละไม บ่อผุด และอื่นๆ กลับไม่นุ่มอย่างนั้น อย่างน้อยในมุมของแรงงานนอกระบบที่อยากชวนทุกคนไปสำรวจพร้อมๆ กัน 


1

แขก อายุ 40 ปี เป็นคนหนองคายตั้งแต่กำเนิด ด้วยฐานะที่ค่อนไปทางลำบาก เขาจึงเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล มาที่สมุย นับตั้งแต่เด็กหนุ่มอีสานเหยียบหาดทรายขาวนุ่มแห่งนี้ เวลาก็ล่วงไปแล้วราว 20 ปี เขายึดอาชีพเดินเร่ขายของในบริเวณหาดเฉวงที่ก่อนหน้าจะมีโควิด หาดความยาว 6 กิโลเมตรนี้ สร้างเงินให้มากพอจะมีชีวิตดีๆ ขึ้นได้บ้าง 

“เมื่อก่อนขายได้วันละพันห้าถึงสองพัน ขายพวกหมวก แว่นตากันแดด หากินง่ายมาก นักท่องเที่ยวที่มาก็จ่ายไม่อั้น แต่นับตั้งแต่มีโควิดระบาดอย่าว่าแต่เงินพัน เรียกว่าไม่ได้เลยดีกว่า อย่างวันนี้ก็ยังไม่ได้สักบาท อีกสักพักก็คงกลับแล้ว เสาร์ อาทิตย์พอจะว่างนิดหน่อยจากปกติต้องอยู่เป็นเพื่อนลูกเรียนออนไลน์ ส่วนแฟนก็ขับรถขายลูกชิ้นปิ้งหาเลี้ยงหลักไปก่อนในช่วงนี้” 

แดดบ่ายสองยังแรง แต่นี่คงไม่ใช่วันที่ดีสำหรับแขก เขาเล่าให้ฟังถึงระบบการจัดสรรพื้นที่สำหรับคนค้าขายบนชายหาดว่า

“ปกติเทศบาลบนเกาะสมุยจะอนุโลมให้เดินเร่ขายของบนชายหาดได้ ถ้าเป็นที่อื่นจะห้ามเด็ดขาด เพราะไปรบกวนนักท่องเที่ยวที่มานอนอาบแดด มาเล่นน้ำ บางทีรบกวนแขกโรงแรมด้วย แต่ที่สมุยมีระบบแบ่งโซน และคนขายของต้องทำใบอนุญาต พร้อมรับเสื้อกั๊กสีๆ แบ่งเป็นหาดต่างๆ จะขายนอกเขตไม่ได้ เพื่อความเป็นระเบียบ ซึ่งผมว่าก็ยังดี ดีกว่าที่อื่นเยอะ จะมีเสียค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ปีละราวสี่ถึงห้าร้อยบาท เพื่อต่อใบอนุญาต 

“ช่วงโควิดระบาด ขายไม่ได้เลย อาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว ซึ่งได้กะปริดกะปรอย มีช่วงแรกๆ ที่รัฐให้เงินเดือนละห้าพันบาท ติดต่อกันสามเดือนก็พอช่วยต่อชีวิตได้บ้าง และก็มีคนละครึ่งบ้าง แต่ถ้าถามว่าอยู่ได้มั้ย ก็ต้องบอกเลยว่า แค่ให้รอดไปหนึ่งวันเท่านั้นเอง ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าถ้ารัฐอยากช่วยชาวบ้านจะทำให้การแจกเงินยากไปทำไม ถ้าให้เป็นเงินเข้าบัญชี ให้แต่ละคนจัดการเอง แบบนี้จะดีกว่าเยอะ” 

รายได้ที่เข้ามาน้อยนิด ทว่าค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม แขกมองว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปคงถึงเวลาถอยกลับไปบ้านเกิด อย่างน้อยบ้านไม่ต้องเช่า หาผักริมรั้ว ปลาในหนอง ทำมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ น่าจะดีกว่าสู้อยู่ที่นี่ 


2

หวาน อายุ 43 ปี ชาวบุรีรัมย์ หากนับเป็นอายุงาน เธอเล่าว่าคงราวๆ 17 ปีท่าจะได้ ที่ย้ายตัวเองมายึดอาชีพเป็นแม่ค้าบนชายหาดเกาะสมุย หวานเล่าว่าคนขายของที่เห็นเดินเต็มหาดส่วนมากมาจากอีสานกันทั้งนั้น ขายกันเป็นสิบๆ ปี จนรู้จักมักคุ้นกันหมด ปัจจุบันเธอมีลูก 2 คน คนโตอยู่ ม.3 คนเล็กเพิ่งจะขวบเศษๆ เท่านั้น

“นี่ก็ทุ่มหนึ่งแล้ว วันนี้ยังขายไม่ได้เลยสักบาท” เธอเอ่ยกับผม “ปกติขายพวกสร้อย ที่คาดผมแบบมีไฟกะพริบ คืนๆ หนึ่งต่ำๆ ก็พันห้าร้อยบาท เรารับของมาขาย หักทุนออก ก็พอจะอยู่ได้สบายๆ บ้านบนเกาะก็เช่าที่เขาเอา แล้วสร้างเป็นกระท่อมไม้ไผ่ เดือนหนึ่งจ่ายพันแปดร้อย บวกค่าน้ำค่าไฟก็ไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท 

“ตั้งแต่มีโควิด บอกได้คำเดียวว่ายิ่งกว่าลำบาก เพราะเงินเราอยู่กับของที่ขายได้ ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็เท่ากับขายไม่ได้ ช่วงแรกๆ ก็อาศัยเงินช่วยเหลือหนึ่งหมื่นห้าพันบาทของรัฐ กับของแจกจากฝรั่งบนเกาะ หลังๆ เหลือแค่คนละครึ่ง บางทีก็ไม่มีเงินจะใส่เข้าระบบ ก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี 

“เรื่องคิดว่าจะกลับบ้านนี่แทบไม่มีในหัวเลย ยังไงก็ต้องสู้ต่อไป อย่างน้อยประทังชีวิตไปให้วันๆ มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านก็พอแล้ว ส่วนจะหวังว่าให้นักท่องเที่ยวกลับมาก็ยังมองไม่เห็น นี่ขนาดวันหยุดยาวสมุยยังเงียบเลย” 


3

พงศ์ อายุ 45 ปี ชาวอุดรธานี พงศ์มาที่สมุยได้ 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันแรกจนตอนนี้เขายังคงยึดอาชีพขายของริมหาดบ่อผุด ขายพวกสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ที่รับลูกปัดมา ร้อยเอง ดีไซน์งานเองบ้าง ใช้สกิลครูพักลักจำเห็นนักท่องเที่ยวชอบแบบไหนก็พยายามร้อยมาขายแบบนั้น พงศ์อยู่กับภรรยาและลูกอีก 2 คน ซึ่งเติบโตบนเกาะแห่งนี้ 

“ช่วงโควิดระบาดแรกๆ เราก็ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ ตอนไม่เหลือนักท่องเที่ยว ตัดสินใจกลับอุดรฯ ไปตั้งหลักก่อน ตอนนั้นก็กลับไปทำนาอยู่ไม่กี่เดือน พอลงกล้า ดำนาเสร็จ ก็กลับมาสมุย เงินช่วยเหลือก็ได้ตามที่รัฐให้ แต่ถ้าถามว่าจะพอกิน พออยู่ไหม ก็ตอบได้เลยว่า แค่อยู่ไปวันๆ

“คนละครึ่งบางทีก็ได้ร้านขายของชำช่วยเอาเงินใส่แอปฯ ให้ แล้วเราก็จ่ายเงินสดไปแทน มันยุ่งยากมากสำหรับชาวบ้านที่ไม่เก่งมือถือแบบเราๆ ทุกวันนี้ก็ต้องออกมาขายของ เผื่อฟลุกได้บ้าง แต่ถ้าจะเอาให้เหมือนก่อนหน้านี้ยากมาก อย่างวันนี้เดินมาทั้งวันก็ยังไม่ได้เลยสักบาท แต่ค่าใช้จ่ายมีทุกวัน ยิ่งมีลูกยิ่งใช้เยอะ

“อย่างค่าเช่าบ้านพันห้าร้อย ค่าน้ำค่าไฟอีกหนึ่งพันบาท เพราะเราอาศัยขอต่อเข้ามาอีก ก็ต้องจ่ายแพงกว่าปกติ วันไหนได้สักร้อยสองร้อยก็ต้องรีบตุนของกินเอาไว้ก่อนเลย ส่วนค่าเช่าโชคดีว่าเจ้าของที่อนุโลมบ้าง ให้จ่ายช้าบ้าง ก็ถ่อๆ กันไป

“ส่วนความหวัง ความฝันไม่มีอะไรแล้ว อายุเท่านี้แล้ว อยู่ไปวันๆ หาเลี้ยงลูกให้ไม่อดก็พอแล้ว เรื่องหวังว่าจะให้รัฐช่วยก็ต้องบอกเลยว่า วิธีการที่ทำอยู่นี้เหมือนไม่เต็มใจช่วย ช่วยไม่เต็มที่ คนขายของแบบเราเลยต้องสู้เองมากกว่า” 

4

ยายแต๋ว อายุ 62 ปี พื้นเพเป็นคนจันทบุรี ก่อนจะแต่งงานกับสามีที่วังน้อย อยุธยา แล้วเลิกกัน ยายแต๋วในวัย 50 กว่าเลยตัดสินใจเดินทางมาสมุยตามคำชักชวนของคนรู้จัก เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ปักหลักชีวิตครั้งใหม่ ทว่ามันกลับไม่ง่ายสำหรับคนอายุเยอะอย่างเธอ 

“เมื่อก่อนยายก็รับถักเปียนักท่องเที่ยวตามชายหาด ถักเส้นไหมพรม เส้นละหกถึงเจ็ดร้อยบาท ทำเล็บข้างละสองร้อยบาท รายได้ดีเลย แต่เริ่มได้ไม่นานโควิดก็ระบาด ตอนนั้นแหละไม่เหลือเงินเลยสักบาท เพราะค่าเช่าก็ต้องจ่าย ไหนจะค่ากินอีก บางวันกินข้าวมื้อเดียว จะได้เจียดเงินเก็บไว้จ่ายค่าเช่า 

“ยายเคยลองไปรับจ้างก่อสร้าง แต่ทำวันเดียวเลิกเลย เพราะเหนื่อยมาก เราอายุเยอะแล้วด้วย ต้องทำตั้งแต่เช้าจนเย็น ทำทุกอย่างได้มาสองร้อยบาท 

“พูดแล้วจะร้องไห้” ยายแต๋วพยายามจะเล่าต่อแล้วน้ำตาเธอก็ไหลออกมา “ช่วงโควิดน่ะ ยายก็ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคได้เข็มเดียว เพราะป่วยหนักมาก ไปนอนโรงพยาบาลอยู่สามคืน ไปคนเดียว อยู่คนเดียว ไม่เหลือใครเลย ลูกๆ ก็ไม่ติดต่อมา 

“ทุกวันนี้ก็อยู่กับเงินผู้สูงอายุเดือนละหกร้อยบาท กับเงินขายของเล็กๆ น้อยๆ ช่วงรัฐแจกเงินก็ให้เขาช่วยลงทะเบียน พอจะได้บ้าง แต่เราเล่นโทรศัพท์ไม่เป็น ทุกวันนี้ก็หวังว่าออกมาแต่ละทีขอให้ได้สักนิดสักหน่อย แต่วันนี้ยังไม่เลย นักท่องเที่ยวคนไทยเขาไม่ถักเปียกัน ยายก็คงเดินเรียกลูกค้าไปเรื่อยๆ สี่ห้าทุ่มค่อยกลับ” 


5


คลื่นลมยังคงสาดฝั่ง แสงตะวันลับขอบฟ้าไปนานแล้ว แสงไฟจากที่คาดผมกะพริบเป็นจังหวะ ยายแต๋ว พี่พงศ์ พี่หวาน พี่แขก และคนอื่นๆ ยังคงเดินขายของวนไปมา บนหาดทรายนุ่มเท้าที่เราหลายๆ คนอยากมาสัมผัส เงินกู้หลายหมื่นล้าน โครงการมากมายที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าจะแซนด์บ็อกซ์ หรือปราสาททรายไหนๆ ดูเหมือนว่าความนุ่มที่จะรองรับยามหกล้มคงต่างกัน อย่างน้อยๆ ก็ไม่ใช่สำหรับพวกเขาเหล่านั้น

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.