‘มิถุนายน’ ของทุกปีคือเดือน ‘Pride Month’ ที่ทั่วโลกจัดงานเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIA+ เห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญรณรงค์ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รวมไปถึงการเดินขบวนพาเหรดไพรด์ครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่มีชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมอย่างคึกคัก
ทว่า หากประเทศไทยอยากให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในมูฟเมนต์ที่ควรเกิดขึ้นก็คือการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะ ‘กฎหมายการสมรสเพศเดียวกัน’ หรือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ซึ่งเป็นการสมรสระหว่างบุคคลสองคนที่มีเพศเดียวกัน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผลักดันให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิทางความรักและเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายและหญิง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นถกเถียงที่หลายประเทศทั่วโลกพิจารณากันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนทั้งหมดนี้ หากแบ่งตามทวีป มีประเทศทวีปยุโรป 17 ประเทศ ทวีปอเมริกาใต้ 6 ประเทศ ทวีปอเมริกาเหนือ 4 ประเทศ ทวีปออสเตรเลีย 2 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 1 ประเทศ และทวีปเอเชีย 1 ประเทศ
ประเทศส่วนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ในยุโรปและอเมริกา ดินแดนที่มีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่สำคัญ เกือบทุกประเทศใน 6 ทวีปนี้ยังให้สิทธิกับคู่รักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง ครอบคลุมสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล และการรับสวัสดิการจากรัฐของคู่สมรสอีกฝ่าย เป็นต้น
01 | เอเชีย
สำหรับทวีป ‘เอเชีย’ มีเพียงหนึ่งประเทศที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว นั่นก็คือ ‘ไต้หวัน’ ที่เริ่มใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไต้หวันจะเปิดกว้างให้สมรสเพศเดียวกันแล้ว แต่ก็ยังไม่ให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศทั้งหมด เช่น ยังไม่อนุญาตให้คนกลุ่มนี้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมหรือทำเด็กหลอดแก้ว โดยปกติแล้ว ไต้หวันอนุญาตเฉพาะบุคคลที่มี ‘สถานะโสด’ หรือ ‘คู่รักต่างเพศที่แต่งงานแล้ว’ รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ ดังนั้น ทางเลือกเดียวสำหรับคู่รักเพศเดียวกันก็คือการหย่าร้าง เพื่อให้คนใดคนหนึ่งมีสถานะโสดเพื่อรับเลี้ยงบุตรได้ โดยหลังจากนั้นจึงแต่งงานกันใหม่ ทั้งนี้ กฎหมายปัจจุบันยังไม่ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นผู้ปกครองของเด็ก ทำให้พวกเขายังมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ
แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวันยังมีข้อจำกัดและอาจไม่เท่าเทียม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไต้หวันถือเป็นที่แรกและที่เดียวของเอเชียในตอนนี้ที่การแต่งงานเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ไต้หวันจึงเป็นพื้นที่แรกในเอเชียที่มีความก้าวหน้าเรื่องนี้มากที่สุด เพราะปัจจุบันการสมรสเท่าเทียมยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในเอเชียและหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากประเด็นทางศาสนา เสรีภาพ และค่านิยมในสังคม เป็นต้น
สำหรับ ‘ประเทศไทย’ นั้นมี ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ มาตั้งแต่ปี 2556 คนไทยที่มีความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. นี้แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เพศหลากหลายได้รับสิทธิที่ควรได้รับ จากเดิมที่ไม่มีอะไรเลย ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเชื่อว่า สิทธิของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ เช่น ไม่มีสิทธิรับสวัสดิการของคู่ชีวิตอีกคนที่รับราชการ สิทธิการขอสัญชาติไทยให้คู่ชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น ดังนั้น พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมทั้งหมด เพราะยังไม่เท่าเทียม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่ว่าจะเพศใดก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองมีการขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่กลุ่ม LGBTQIA+ อย่างต่อเนื่อง ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกนำไปพิจารณาในสภาฯ หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเสียที
ล่าสุดวันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติรับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งถูกเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง
ทว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นการลงมติรับหลักการวาระที่หนึ่งเท่านั้น เส้นทางการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมยังอีกยาวไกล เพราะต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระสองและวาระสาม และการพิจารณาของวุฒิสภาอีกสามวาระ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายจริงๆ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่อาจผลักดันให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายและหญิง
ต้องติดตามกันต่อไปว่า ประเทศไทยอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะเราเชื่อว่า สิ่งที่หลายคนอยากเห็นคือการเปิดกว้าง การยอมรับ รวมไปถึงการให้สิทธิแก่คนทุกเพศอย่างเท่าเทียมทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่คำพูด ข้อความ หรือการรณรงค์อย่างยิ่งใหญ่ในเดือน Pride Month ของหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ที่ย้อนแย้งกับความจริงที่ว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากยังต้องใช้ชีวิตที่อาจเต็มไปด้วยข้อจำกัด การเลือกปฏิบัติ และสิทธิยังไม่เท่าเทียมเฉกเช่นเพศชายและเพศหญิง
02 | ยุโรป
‘ยุโรป’ คือทวีปที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมากที่สุดในโลก มากถึง 17 ประเทศ โดย ‘เนเธอร์แลนด์’ คือประเทศแรกของยุโรปและของโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ ก็ทยอยอนุมัติใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
– เบลเยียม (พ.ศ. 2546)
– สเปน (พ.ศ. 2548)
– นอร์เวย์ (พ.ศ. 2552)
– สวีเดน (พ.ศ. 2552)
– โปรตุเกส (พ.ศ. 2553)
– ไอซ์แลนด์ (พ.ศ. 2553)
– เดนมาร์ก (พ.ศ. 2555)
– ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2556)
– ลักเซมเบิร์ก (พ.ศ. 2558)
– ไอร์แลนด์ (พ.ศ. 2558)
– ฟินแลนด์ (พ.ศ. 2560)
– มอลตา (พ.ศ. 2560)
– เยอรมนี (พ.ศ. 2560)
– ออสเตรีย (พ.ศ. 2562)
– สหราชอาณาจักร (พ.ศ. 2557 – 2563)
ส่วน ‘สวิตเซอร์แลนด์’ คือประเทศล่าสุดในยุโรปที่เห็นชอบร่างกฎหมายนี้ และเตรียมบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
03 | อเมริกาใต้
รองลงมาคือทวีป ‘อเมริกาใต้’ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมใน 6 ประเทศ ได้แก่
– อาร์เจนตินา (พ.ศ. 2553)
– บราซิล (พ.ศ. 2556)
– อุรุกวัย (พ.ศ. 2556)
– โคลอมเบีย (พ.ศ. 2559)
– เอกวาดอร์ (พ.ศ. 2562)
– ชิลี (พ.ศ. 2565)
04 | อเมริกาเหนือ
ทวีป ‘อเมริกาเหนือ’ มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมใน 4 ประเทศ ได้แก่
– แคนาดา (พ.ศ. 2548)
– เม็กซิโก (พ.ศ. 2553)
– สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2558)
– คอสตาริกา (พ.ศ. 2563)
05 | ออสเตรเลีย
ทวีป ‘ออสเตรเลีย’ มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมใน 2 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ (พ.ศ. 2556) และ ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2560)
06 | แอฟริกา
ทวีป ‘แอฟริกา’ มี ‘แอฟริกาใต้’ เพียงประเทศเดียวที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2549
Sources :
ABC News | t.ly/eEp2
Atlantic Philanthropies | t.ly/3BfQ
CBC | t.ly/LhaS
Facebook : iLaw | t.ly/NQFA
Fundamental Rights Agency | t.ly/h0Sd
Naewna | https://bit.ly/3JyXACz
Reuters | t.ly/iAp2
Thairath | t.ly/ikqDj, t.ly/EtTq
Wikipedia | t.ly/rmw7