‘ริทัศน์บางกอก’ กลุ่มที่อยากเห็นหัวลำโพงในมุมใหม่ๆ - Urban Creature

ภาพของย่าน ‘หัวลำโพง’ ในความทรงจำของหลายๆ คนอาจหยุดอยู่แค่ที่ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)’ ยิ่งเมื่อมีการย้ายเส้นทาง​​การเดินรถไฟบางส่วนไปที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ภาพจำเกี่ยวกับย่านหัวลำโพงจึงเลือนรางตามไปด้วย

แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเข้ามาของกลุ่ม ‘RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก’ ทำให้เราเห็นย่านหัวลำโพงในมุมมอง มิติ รวมถึงสถานที่ใหม่ๆ มากขึ้น ผ่านการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนในชุมชน พร้อมกับกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมมือกันระหว่างเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และชาวบ้านในชุมชนเอง

ริทัศน์บางกอก

ตามคอลัมน์คนขับเคลื่อนเมืองไปพูดคุยกับ ‘มิว-ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ’, ‘จับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ และ ‘รวงข้าว-อภิสรา เฮียงสา’ แก๊งเพื่อนที่ร่วมกันทำกิจกรรมในย่านหัวลำโพงในนามของริทัศน์บางกอกกันว่า หัวลำโพงในมุมมองของพวกเขาและคนในย่านเป็นอย่างไร และในฐานะคนรุ่นใหม่ต่างถิ่นที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ พวกเขาทำอย่างไรถึงเชื่อมคนในและคนนอกย่านเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว

รวมตัวคนรุ่นใหม่ที่อยากลบภาพจำหัวลำโพงแบบเดิมๆ

“ตอนแรกชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่าเรามาทำอะไร ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ แล้วเขาได้อะไร ทำให้มีการปิดกั้นเล็กน้อย แต่ตอนนี้เวลาเราไปลงพื้นที่ เขาจะต้อนรับแบบเอาน้ำไหม จะจัดกิจกรรมอะไรอีกไหม”

ริทัศน์บางกอก

คำบอกเล่าจากปกรณ์วิศว์ในวันที่ริทัศน์บางกอกทำงานในพื้นที่ชุมชนย่านหัวลำโพงมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงและการโอบรับของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าทั้ง 3 คนจะไม่มีใครเกิดและเติบโตในย่านหัวลำโพงมาก่อนเลยก็ตาม

จุดเริ่มต้นของริทัศน์บางกอกไม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในชุมชนเพื่อสื่อสารความเป็นตัวตนสู่สายตาคนภายนอกเหมือนอย่างย่านอื่นๆ แต่เป็นการรวมกลุ่มกันของเด็กวัยรุ่นที่มีความสนใจเรื่องเมืองคล้ายๆ กัน ใน ‘โครงการริทัศน์’ (RTUS-ReThink Urban Spaces)

โครงการนี้มีจุดประสงค์ส่งเสริมแนวคิดที่นำโดยเยาวชนในการมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (Inclusive Cities) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เป็นการร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน แต่พวกเขาต่อยอดทำงานในชุมชนต่อหลังจากระยะเวลาโครงการจบลง

ริทัศน์บางกอก

ทั้ง 3 คนบอกเหตุผลที่เลือกเข้ามาทำงานกับชุมชนในย่านหัวลำโพงกับเราว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดิมชุมชนตรงนี้มีความแอ็กทีฟอยู่แล้ว จากทั้งคนในชุมชน กรรมการชุมชน และศูนย์พัฒนาเด็กดวงแข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ที่ทำงานในพื้นที่มากว่า 40 ปี

“หัวลำโพงเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปราะบางหลายด้าน ทั้งตัวคนที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากตัวรถไฟเป็นหลัก แล้วยังมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงกว่าพื้นที่อื่น มันจึงเป็นพื้นที่ที่ท้าทาย

“รวมถึงทางชุมชนเองก็มีความรู้สึกอยากจะสร้างอะไรบางอย่าง เราเลยคิดว่าตรงนี้มีศักยภาพที่จะดึงเอาต้นทุนในพื้นที่มาสร้างภาพจำรูปแบบใหม่ๆ ของหัวลำโพงได้ การที่เราเข้ามาตรงนี้ก็เหมือนเป็นการเชื่อมหลายส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งตัวกิจการคนรุ่นใหม่ กิจการดั้งเดิมในพื้นที่ ไปจนถึงเด็กและผู้สูงอายุในชุมชน” อภิสราอธิบายถึงเหตุผลและการเข้ามาของกลุ่มริทัศน์บางกอก

เล่าภาพหัวลำโพงแบบใหม่ผ่านชุมชนและวิถีชีวิต

ริทัศน์บางกอก
ริทัศน์บางกอก

“ภาพจำของย่านหัวลำโพงสมัยก่อน คนอาจนึกถึงแค่ตัวสถานีรถไฟ จนไม่ค่อยเล็งเห็นถึงวิถีชีวิตของคนที่อยู่บริเวณรอบข้าง ทั้งที่เรามองว่าสิ่งนี้ก็เป็นเสน่ห์หนึ่งของย่านหัวลำโพงที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนเหมือนกัน” ปกรณ์วิศว์เล่าถึงความน่าสนใจของย่านเก่าแก่แห่งนี้ที่มีมากกว่าแค่สถานีรถไฟ

ด้วยเหตุนี้ การทำกิจกรรมของริทัศน์บางกอกจึงไม่ได้ดึงเอาจุดเด่นเรื่องสถานีรถไฟออกมาเล่ามากนัก แต่เป็นการทำกิจกรรมภายในย่าน โฟกัสไปที่ชุมชนและคนในชุมชนซะเป็นส่วนใหญ่ เพื่อสร้าง ‘Sense of Belonging’ หรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้กับคนในชุมชน

ริทัศน์บางกอก

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม City Walk ที่จะพาทุกคนไปเดินในรูตต่างๆ ของย่านหัวลำโพง พร้อมทั้งฟังเรื่องเล่าจากปากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้าง Micro Landmark ที่กระจายออกมาจากจุดใหญ่ๆ ของเมือง

การทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับเด็กชุมชนตรอกสลักหินในมิติประเด็นต่างๆ รวมไปถึงการดึงเอาศิลปินรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ นำศิลปะเข้ามาใช้พัฒนาชุมชน จนนำไปสู่การได้รับบทบาทเป็น Co-Host ร่วมกับทาง ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA (Creative Economy Agency)’ ในการทำ ‘Bangkok Design Week (BKKDW)’ ในย่านหัวลำโพง ย่านน้องใหม่ในปีที่ผ่านมา

ริทัศน์บางกอก

“หลายคนอาจมองว่างาน Bangkok Design Week จะเข้ามาเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่ในการจัดกิจกรรมของเรา เราไม่ได้ต้องการทำลายสิ่งเก่าแล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา งาน Bangkok Design Week เป็นเหมือนงานโชว์เคสของเรามากกว่า ว่าในปีหนึ่งที่ผ่านมาเราทำอะไรกันไปแล้วบ้าง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรานำไปโชว์ มาจากคนในชุมชนที่ทำให้เกิดขึ้นทั้งนั้น” อภิสรากล่าว

“จริงๆ มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชื่อแบรนด์ติดมา ถ้ามองจากมุมมองของคนข้างในมันก็แค่เราเข้ามาจัดกิจกรรมอีกแล้ว” ญาณินอธิบายเสริมจากอภิสราด้วยเสียงหัวเราะ

เชื่อมโยงคนในและคนนอกเข้าหากันด้วยกิจกรรม

เห็นกลุ่มริทัศน์บางกอกจัดกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกับคนในชุมชนจำนวนมาก อีกทั้งหัวข้อกิจกรรมหลายๆ ครั้งก็แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินสำรวจย่านที่พูดถึงมิติทางอาหาร การทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในชุมชนตรอกสลักหิน ในมิติความปลอดภัยในชุมชน หรือกิจกรรม Taste of Hua Lamphong อันเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมและโหราศาสตร์จีน ซึ่งเป็นกิจการเก่าแก่ในพื้นที่ ก็ทำเอาเราอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเป้าหมายของกลุ่มริทัศน์บางกอกในย่านหัวลำโพงคืออะไรกันแน่

ริทัศน์บางกอก

‘ทำตามที่คนในพื้นที่ต้องการ’ คือเป้าหมายหลักของทีมริทัศน์บางกอกที่ปกรณ์วิศว์บอกกับเรา

“บทบาทของเราคือ ‘คนนอก’ ไม่ใช่ ‘คนใน’ พื้นที่ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไร เราเลยค่อนข้างให้ความสำคัญกับความต้องการของคนใน สมมุติว่าคนในชุมชนอยากพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ให้สวยงามขึ้น เราอาจจะเป็นตัวกลางชวนศิลปินเข้ามาทำงานเชิงพื้นที่ ให้พวกเขาได้มาเจอกัน

“อย่างในปีที่ผ่านมา จากวงที่เราคุยกันในเครือข่ายชาวหัวลำโพง เป้าหมายของเราช่วงนี้คืออยากทำให้คนกลับมา ‘Reconnect’ กันอีกครั้งหนึ่ง แล้วจากนั้นค่อยมาดูกันว่าทิศทางต่อไปเราจะขับเคลื่อนยังไงกันได้บ้าง” ปกรณ์วิศว์กล่าว

ริทัศน์บางกอก

ญาณินบอกกับเราว่า การ Reconnect ของริทัศน์บางกอกคือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างคนนอกและคนในชุมชน รวมไปถึงการเชื่อมต่อคนในชุมชนเองที่ถูกตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากถูกทางยกระดับศรีรัชตัดผ่านจนต้องแบ่งชุมชนออกเป็นสองส่วน

“พอมีทางด่วนตัดผ่าน คนรอบนอกก็ไม่ได้เข้ามาในตรอกสลักหินอีกเลย การที่เราเดินไปคุยกับเขา ก็เหมือนเราเป็นสื่อกลางที่นำข่าวจากข้างในไปพูดให้ข้างนอกฟัง นำเรื่องข้างนอกมาเล่าให้คนข้างในฟัง ทำให้หลังจากนั้นเขาก็เดินกลับเข้ามาในชุมชน กลับมาคุยกันบ่อยขึ้น” เธอเล่า

นอกจากนี้ ปกรณ์วิศว์ยังเสริมอีกว่า การ Reconnect ในชุมชนอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การเชื่อมต่อกันระหว่างเด็กรุ่นใหม่และคนเก่าแก่ในชุมชน ยกตัวอย่าง กิจกรรม ‘เด็กสลักหินพา PLAY’ ที่ทางริทัศน์บางกอกได้ร่วมมือกับชุมชนตรอกสลักหิน, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.), มิวทวล กราวน์, มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม, กลุ่มรองเมืองเรืองยิ้ม และ Play Space Cafe เปิดให้น้องๆ ไกด์เด็กในชุมชนได้พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทัวร์ในบ้านของพวกเขาด้วยตัวเอง ซึ่งก่อนที่จะเกิดกิจกรรมนี้ได้ เด็กๆ จะต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชน

“ในสายตาของเจ้าของกิจการหรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ เขาจะมีความเอ็นดูเด็กๆ อยู่แล้ว เวลาเด็กสนใจอยากรู้เรื่องราวเก่าๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต มันจึงเกิดเป็นบทสนทนาที่น่ารัก เพราะพวกเขาก็อยากบอกต่อข้อมูลชุดนี้ออกไปเหมือนกัน” ปกรณ์วิศว์พูดด้วยรอยยิ้ม

ย่านที่ดี ต้องเป็นย่านที่ไม่หลงลืมเจ้าของพื้นที่

คุยกันมาถึงตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่ริทัศน์บางกอกทำสำเร็จคือการทำให้เรามองหัวลำโพงในแง่มุมวิถีชีวิตของคนในย่านในแบบที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวสถานีรถไฟ เพราะการเป็น ‘ย่านที่ดี’ ได้ จะต้องเป็น ‘ย่านที่ไม่หลงลืมเจ้าของพื้นที่’ ด้วย

“เรารู้สึกว่าทุกคนควรมีสิทธิ์เข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงย่านของตัวเอง หลายๆ ครั้งเรามักจะเห็นย่านหรือเมืองถูกตัดสินจากคนภายนอก โดยที่คนภายในไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งที่ริทัศน์บางกอกทำคือการพยายามทดลองร่วมกันกับชุมชนว่าเราจะเปลี่ยนแปลงย่านเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ยังไง โดยเริ่มจากคนในชุมชนเอง” อภิสรากล่าว

ริทัศน์บางกอก

“พอชาวบ้านรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาจะมีแรงทำหรือพัฒนาพื้นที่ของเขา เพราะรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของฉัน และมันจะต้องดี” ญาณินเสริม

“แล้วหัวลำโพงใช้คำว่าย่านที่ดีได้หรือยัง” เราถาม
“ใช้ได้หรือยังอันนี้อาจจะต้องถามคนใน” คำตอบของญาณินมาพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทุกคน

3 Hidden Gems จากชาวริทัศน์บางกอกที่ห้ามพลาด

ก่อนจากกัน เราขอให้ทั้งสามคนช่วยกันแชร์พิกัดน่าสนใจภายในย่านหัวลำโพงกันมาคนละที่ เผื่อใครที่กำลังจะมาเยือนหัวลำโพงจะได้ปักหมุดเอาไว้ในแพลนตัวเอง

ริทัศน์บางกอก

‘หยู่อี่เจ’ คือร้านที่ญาณินแนะนำกับเราเป็นอันดับแรก ด้วยความเป็นร้านอาหารเจรสชาติดี ราคาไม่แพง เย็นตาโฟอร่อย

เดินเลียบไปทางคลองผดุงกรุงเกษม ปกรณ์วิศว์บอกกับเราว่า บริเวณนั้นถูกเรียกว่า ชุมชนโชฎึก ชุมชนโปลิศสภา ซึ่งเป็นเส้นทางที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นเส้นทางน้ำเก่า ถ้าเดินทางไปในบริเวณนั้นจะเจอกับอาม่าที่ขายผลไม้มากว่า 60 – 70 ปี รวมไปถึงยังมีร้านโจ๊กอร่อยๆ ตรงตรอกโรงหมู และร้านแผ่นเสียงด้วย

ริทัศน์บางกอก

อภิสราปิดท้ายด้วย ‘Play Space Cafe’ อดีตโรงงานกระดาษที่ปัจจุบันกลายเป็นคาเฟ่วินเทจสุดน่ารักที่เรากำลังยืมสถานที่นั่งสัมภาษณ์กันอยู่ในตอนนี้ ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นฐานทัพบัญชาการของเครือข่ายภายในหัวลำโพง

เหตุผลที่เธอเลือกแนะนำคาเฟ่แห่งนี้ไม่ใช่แค่เพราะเป็นร้านกาแฟที่ใครๆ ก็ชอบ แต่อยากให้ทุกคนมาพูดคุยกับเจ้าของร้าน สอบถามอินไซด์ในชุมชน รับรองว่าจะได้พิกัดที่น่าสนใจสำหรับไปต่ออย่างแน่นอน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.