เคยไหม อยากกินอาหารจากละแวกอื่น แต่เจอค่าส่งแพ้งแพงซะจนยอมใจ หรือบางทีฮึดสู้ว่าจ่ายไหวก็เจอประโยคทำร้ายจิตใจว่าบ้านไกลอยู่นอกพื้นที่จัดส่ง
เราเข้าใจว่าเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ เลยอยากชวนมารู้จักกับ ‘PokPok’ บริการส่งอาหารข้ามโซน ที่จะทำให้ความฝันของเหล่านักกินเป็นจริง
Food Delivery ที่บ้านไกลแค่ไหนก็ไม่มีค่าส่งมาเป็นปัญหา
PokPok คือบริการส่งอาหารรูปแบบใหม่ที่ขยายขอบเขตของการรับหิ้ว ไม่ว่าบ้านจะอยู่ไกลแค่ไหน ถ้าอยู่ในเส้นทางที่ PokPok จัดสรรไว้ก็สามารถอร่อยกับอาหารจากร้านดังได้หมด ถึงแม้ตัวจะอยู่รังสิต แต่ถ้าอยากกินร้านเด็ดจากเยาวราชก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ PokPok ทำหน้าที่เป็นฟู้ดคอร์ตเคลื่อนที่ เสิร์ฟอาหารไปหาทุกคนโดยไม่มีค่าส่ง
‘นาย-นัฐพงษ์ จารวิจิต’ ผู้ริเริ่ม PokPok เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากเขาเห็นเพนพอยต์ของ Food Delivery
“ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนที่ไม่สั่งเดลิเวอรีเลย เพราะเสียดายค่าส่ง มันแพง เพิ่งมาใช้ช่วงโควิด-19 นี่เอง เพราะเลี่ยงไม่ได้ เรามองว่าค่าส่งนี่แหละคือปัญหา ระยะทางใกล้ๆ ก็บวกไปเยอะแล้ว ระยะทางไกลไม่ต้องพูดถึง
“เราพยายามคิดว่าจะมีทางไหนบ้างที่จะส่งอาหารได้โดยที่ไม่มีค่าส่ง จนมาได้ไอเดียจากว่า ผมเป็นคนที่อยู่บางนาแต่บางทีก็อยากกินอาหารจากเยาวราช เราแค่คิดว่าแล้วคนในคอนโดฯ จะอยากกินเหมือนเราไหม สมมติมีหนึ่งพันคน อย่างน้อยอาจจะมียี่สิบคนที่อยากกิน ถ้าเราประกาศในคอนโดฯ ว่าตอนนี้เราอยู่เยาวราชนะ อยากกินอะไรสั่งมา จะมีคนสั่งไหม”
นายเริ่มต้นทดสอบไอเดียนั้นผ่านกรุ๊ปไลน์คอนโดฯ ของตัวเอง ทำหน้าที่ทั้งหาร้านอร่อยในย่านไกลบ้าน ออกไปซื้อ และขับไปส่ง จนทุกวันนี้ไอเดียที่ว่าเป็นจริงเป็นจังขึ้น จนขยายไปมากกว่า 50 เส้นทางการส่ง ครอบคลุมตั้งแต่สุขุมวิท-บางนา ปิ่นเกล้า งามวงศ์วาน หลักสี่ ลาดพร้าว รามคำแหง รามอินทรา รังสิต ลำลูกกา พระราม 2 ฯลฯ และมีพาร์ตเนอร์คนขับอีกกว่า 80 คัน
ในทุกวันพาร์ตเนอร์ของ PokPok จะเป็นคนส่งร้านอาหารเด็ดของแต่ละย่านเข้าไลน์กลุ่มที่ตัวเองดูแล เปิดรับพรีออเดอร์เพื่อสรุปยอดและเตรียมจัดส่งในวันถัดไป
วันนี้อาจเป็นเยาวราช วันต่อมาอาจไปบางลำพู ศรีย่าน ตลาดพลู บางรัก วงเวียนใหญ่ ท่าน้ำนนท์ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันกว่า 30 ย่าน
“ร้านที่เราเลือกมามีทั้งที่เป็นของเด็ดประจำย่าน ร้านเก๋าที่เปิดมานาน ร้านฮิตติดกระแส และที่ขาดไม่ได้เลยคือร้านที่มีอาหารในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง มีเมนูที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท เราอยากให้อาหารใน PokPok ขายได้ทุกวัน อาหารที่เลือกมาขายจึงมีหลากหลาย ทั้งแนวกับข้าวกินกันเป็นครอบครัว สตรีทฟู้ด และเบเกอรี ขนมหวานที่เด็กมหาวิทยาลัยชอบ”
‘เจ-หฤษฎ์ หัตถวงษ์’ Co-founder ของ PokPok ช่วยเสริมเพิ่มต่อจากนายว่า อาหารที่ PokPok คัดเลือกมาให้บริการนั้นมีการปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในแต่ละเส้นทางด้วย เช่น เส้นทางที่วิ่งไปตามมหา’ลัย อาหารที่ขายดีก็จะเป็นประเภทขนมหวาน เบเกอรีจากร้านที่กำลังอยู่ในกระแส แต่หากวิ่งไปในเส้นทางที่เป็นหมู่บ้านหรือคอนโดฯ อาหารประเภทกับข้าวก็จะขายได้ดีกว่า
และราคาอาหารเหล่านี้เป็นราคาจริงตามหน้าร้าน ไม่มีค่าส่ง แต่ PokPok ขอคิดค่าหิ้วบวกเพิ่ม 20 บาท ให้เป็นรายได้ของไรเดอร์ ซึ่งจะเข้ากระเป๋าไรเดอร์โดยตรง ณ ตอนนี้ PokPok ยังไม่ขอหักส่วนแบ่งใดๆ
ดูแลลูกค้าด้วยใจแบบไม่มีแอปฯ
นอกจากจะเสิร์ฟอาหารจากหลากหลายย่านในราคาที่จับต้องได้ PokPok ยังมีอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญ นั่นคือ มีช่องทางการขายที่เข้าถึงลูกค้าจริงๆ
แพลตฟอร์ม Food Delivery อื่นอาจใช้แอปพลิเคชันของตัวเองเป็นหลัก แต่ PokPok เลือกที่จะใช้กรุ๊ปไลน์ในการติดต่อสื่อสารและรับออเดอร์
“มันตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคของเรามากกว่า กลุ่มลูกค้าหลักของเราคือคนที่อยู่ตามคอนโดฯ หมู่บ้าน ออฟฟิศก็จริง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราเจอว่าเขาใช้ PokPok โดยไม่ใช้แอปฯ อื่นเลย นั่นก็คือกลุ่มผู้สูงวัยที่อยากสั่งเดลิเวอรีแต่ใช้แอปพลิเคชันไม่เป็น”
โดยปกติหากอยากใช้บริการ PokPok ผู้ใช้ต้องแอดไลน์ @rodpokpok เข้ามาแล้วบอกย่านที่ตัวเองอยู่ก่อน เพื่อให้ทีมงานนำเข้ากรุ๊ปไลน์ซึ่งแยกตามย่านที่ให้บริการ แต่นายบอกว่า PokPok สามารถบริการลูกค้าได้ถึงขนาดที่ว่าเคยมีลูกค้าที่เข้ากลุ่มไลน์ไม่เป็นแต่อยากใช้บริการนี้มาก เพียงแค่โทรมาบอกที่อยู่ พาร์ตเนอร์คนขับจะขับไปหาและช่วยเหลือเอง
“การใช้ไลน์มันมีข้อเสียแหละว่าไม่ใช่แพลตฟอร์มของเรา แต่ตอนนี้มันเป็นช่องทางที่เราขายได้ และลูกค้าอยู่ในนั้น เรามองว่าตอนนี้เราทำธุรกิจ เราไม่ได้ทำแอปพลิเคชัน ธุรกิจมันไปทางนี้ ลูกค้าชอบแบบนี้ ก็ต้องยอม ในวันที่มีลูกค้าเยอะๆ จนเขาอาจต้องการใช้แอปฯ เดี๋ยวค่อยมาพัฒนากันต่อ” เขาบอก พร้อมแจงต่อว่า ถึงแม้วิธีสื่อสารกับลูกค้าจะเป็นวิธีที่เข้าถึงทุกคนอย่างไลน์ แต่สำหรับฝั่งไรเดอร์ PokPok เองมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการสรุปยอดให้พาร์ตเนอร์ใช้อยู่แล้ว
แทนที่จะกังวลกับเรื่องมีแอปฯ ไม่มีแอปฯ PokPok ขอนำเวลาส่วนนี้ไปพัฒนาเรื่องคุณภาพในการให้บริการอย่างการส่งอาหารอย่างตรงต่อเวลา การดูแลรักษาอาหารให้ยังคงสภาพดี สรรหาอาหารที่หลากหลายและมีราคาย่อมเยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เดลิเวอรีต้องมีดีกว่า
“ถ้าถามผมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำฟู้ดเดลิเวอรี ผมว่ามันคือความจริงใจ ความจริงใจคือคำตอบในทุกๆ อย่าง ทำไมลูกค้าถึงต้องใช้บริการเรา เพราะเราจริงใจกับลูกค้า เราพยายามดูแลเรื่องราคา รักษาคุณภาพ อะไรที่จะทำให้การบริการดีกว่านี้ได้ เราทำ”
ทำธุรกิจต้องพร้อมปรับเปลี่ยน แต่อย่าลืมความตั้งใจ
กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ PokPok จึงผ่านการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนหลายอย่าง
จากภาพฝันในตอนแรกที่อยากให้ PokPok เป็นรถพุ่มพวงที่มีการปรับแต่งให้ทันสมัย ทำหน้าที่เป็นเหมือนฟู้ดคอร์ตเคลื่อนที่ รวมเอาร้านดังไว้ในรถคันเดียว ขับไปที่ไหนคนก็สามารถโบกซื้อได้ ปรับเปลี่ยนเป็นบริการส่งอาหารที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับหน้าตาของรถ ขอเพียงเป็นรถสี่ล้อ ขับทางไกลได้ก็เข้าเกณฑ์หมด
จากวันที่ไม่มีใครเห็นด้วยกับไอเดีย พัฒนาสู่การได้รับความสนใจ เรียกร้อง และรอคอยให้ PokPok เปิดเส้นทางใกล้บ้านตัวเอง นำมาสู่ปัญหาที่ว่ามีลูกค้าสนใจเยอะ แต่ลูกค้ากระจาย เป็นความท้าทายให้ทีมต้องแก้ไขกันต่อว่าจะจัดเส้นทางยังไงให้ครอบคลุมกับความต้องการ
จากแพลตฟอร์มที่ไม่ได้คิดภาพไว้ว่าใครจะมาเป็นผู้ใช้บริการ จนเจอว่ามีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนสูงวัย
“บางสิ่งที่ PokPok เป็นตอนนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นภาพไว้ก็จริง แต่เราพร้อมเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เข้ามา เราไม่ใช่คนยึดติดอยู่แล้ว ในเมื่ออยากให้ธุรกิจมันเกิด เราก็ต้องพร้อมปรับ
“ยกเว้นบางเรื่องที่ยังไงก็ต้องมีจุดยืนจริงๆ เช่น ก่อนหน้านี้มีคนรับหิ้วตามหมู่บ้านแล้วเขาบวกราคาหิ้วสูงกว่า พาร์ตเนอร์เราก็บอกว่าเราบวกเพิ่มให้สูงเท่าเขาไม่ดีเหรอ ในเมื่อบวกเยอะกว่านี้ลูกค้าก็ซื้อ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมจะไม่ปรับ เพราะเรามองว่าการขายราคาเดิม คนที่ได้ประโยชน์คือลูกค้า เราคิดมาแต่แรกว่าเราอยากให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการนี้ ด้วยราคานี้เขาจะซื้อได้ทุกวัน และเราจะอยู่กับเขาไปได้ยาวๆ ดังนั้นถ้าเราปรับราคาไปขายตามเขา เราก็คือเขา ไม่ใช่ PokPok”
เราย้อนถามว่าตั้งแต่ทำ PokPok มา เขาคิดว่าบริการเดลิเวอรีนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกกับใครบ้าง
นายตอบด้วยความภูมิใจว่า “ร้านอาหารหลายร้านได้ยอดที่ดีขึ้นจากเรา เดิมที่ร้านอาหารร้านหนึ่งเขาขายได้ดีในละแวกของเขาอยู่แล้ว ก็เหมือนเราไปขยายสาขาเพิ่มให้
“ไรเดอร์หลายคนที่มาทำงานกับเรา หลายคนตกงานมาก่อน มาทดลองทำจนทุกวันนี้เอาลูกเอาเมียมาทำด้วยทั้งครอบครัวแล้ว
“สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังทำงานในทุกวันนี้คือเป้าหมาย เราอยากประสบความสำเร็จ ถ้าไม่นับว่าตอนนี้ PokPok เริ่มมีคนรู้จักเยอะขึ้น ใกล้จะได้ทำตามแผนธุรกิจขั้นถัดไปที่วางไว้แล้ว ผมว่าการที่คนธรรมดาได้สร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วมันมีประโยชน์กับคนอื่นๆ มันคือความสุขใจนะ
“แพลตฟอร์มที่คนใช้ตอนนี้มันคือแพลตฟอร์มต่างชาติ ตอนที่เราคิดทำธุรกิจนี้ขึ้นมา Food Delivery มันเป็นเรดโอเชียนเลย เราต้องแข่งกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าเราแข่งกับเขาตรงๆ ไม่ได้อยู่แล้ว เขาขาดทุนได้เป็นหมื่นล้าน แต่เราสักล้านยังไม่มีเลย จะเอาอะไรไปสู้กับเขา แต่ว่าด้วยรูปแบบที่ต่างกันนี่แหละที่เราสู้เขาได้ และการที่คนตัวเล็กๆ ทำสิ่งนี้ขึ้นมาสำเร็จได้ ผมภูมิใจกับสิ่งที่ทำ”