Resonance of Lives at 1527 เสียงสะท้อนเมือง - Urban Creature

ถ้าพูดถึงการทุบตึกรื้อถอน ชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาคงเป็น “ศักดาทุบตึก” กับป้ายโฆษณาที่มีวลีเด็ด “เลือก สส.เข้าสภา แล้วอย่าลืมเลือกศักดาไปทุบตึก” ความหมายของคำว่า “รื้อถอน” คงใกล้เคียงกับการทำลาย ลบล้าง ขจัด ฟังดูเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ที่ต้องถอนรากถอนโคน แต่อันที่จริงแล้ว เมืองมีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกนาทีเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า เพียงแต่เราอาจไม่ทันสังเกต และช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนี้แหละที่มักไม่ถูกพูดถึง

เราสงสัยในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง “จากสิ่งเก่า ไปสู่สิ่งใหม่” จึงลองก้าวเท้าเข้ามาในตึกแถวชุมชนสามย่าน หมายเลข 1527 ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อย่างอื่น ซึ่งตอนนี้มันถูกใช้งานเป็นสถานที่จัดนิทรรศการชื่อ Resonance of Lives at 1527 

จากความคิดริเริ่มของ Cloud-floor และ IF (Integrated Field) กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ ที่ต้องการเปลี่ยนตึกแถวว่างเปล่าในชุมชนสามย่านที่เคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ให้เป็นพื้นที่ทดลองในโปรเจกต์ The Shophouse 1527 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของย่านและความทรงจำ นำไปสู่บทสนทนาถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง โดยจะนำเสนอผ่านศิลปะที่มีรูปแบบต่างกันไปในแต่ละเดือน เป็นระยะเวลา 24 เดือน

นิทรรศการแรกที่มีชื่อว่า Resonance of Lives at 1527 นี้ Cloud-floor ทำงานร่วมกับ soi | ซอย และ DON BOY เข้ามาครีเอทตึกแถวที่ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ทางศิลปะเท่านี้ หากยังเป็นงานศิลปะในตัวมันเอง ผ่านร่องรอยการใช้ชีวิตที่ฉายภาพความทรงจำลงบนตัวตึกแถว ประกอบกับเสียงสะท้อนของความสัมพันธ์ ระหว่างสถาปัตยกรรม ผู้อยู่อาศัยเดิม และชุมชนรอบข้างที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

มองแวบแรกนิทรรศการนี้ อาจดูเหมือนตึกแถวที่กำลังปรับปรุงอยู่ทั่วไป ผนังกำแพงที่เผินๆ อาจดูไม่มีอะไร แต่เมื่อพินิจดูพบว่า สิ่งของที่ถูกย้ายออกไปได้ฝากร่องรอยของอดีตไว้ อย่างรอยสติ๊กเกอร์ นาฬิกา กรอบรูป หรือรอยขีดเขียนบนผนังคล้ายจะวัดส่วนสูงของสมาชิกตัวน้อยในครอบครัว ชวนให้เราจินตนาการว่ามุมตรงนั้น ตรงนี้ น่าจะเคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวๆ หนึ่ง ที่อยู่มาสัก 50-60 ปี เติบโตและผ่านช่วงวัยไปแล้วหลายเจเนอเรชัน

ไม่เพียงร่องรอยการใช้ชีวิตเท่านั้น หากยังมีร่องรอยการโบกปูนทับรอยแตกขนาดใหญ่ ซึ่งระบุตัวเลข 31,1,2513 สืบทราบมาว่าเจ้าของบ้านเดิมเคยเจาะผนังแล้วทะลุไปบ้านข้างๆ เลยบันทึกวันที่เอาไว้ ถัดไปหน่อยมีชอล์กสีขาวเขียนตัวเลขไว้ซึ่งน่าจะเป็นการคำนวนบางอย่างของช่าง

บนผนังบางส่วนถูกเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยคำที่สื่อถึงกาลเวลา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เช่น จวน, กำลัง, เคย, being, past, present เป็นคำใบ้ที่ศิลปินต้องการให้เราลองสำรวจความหมายที่แท้จริงของมัน อีกส่วนของนิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตาดูแต่หูฟัง คือเสียงสะท้อนของการ “ทุบ ขุด เจาะ” ดังออกมาจากลำโพง ซึ่งสามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเหมือนกับช่างที่กำลังรื้อถอนอยู่จริงๆ

การตีความมากมายที่พรั่งพรูในสมอง ถูกจัดลำดับเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว เราจึงเริ่มบทสนทนาถึงมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองกับทีมสถาปนิก นักออกแบบ และนักคิดนักเขียน เพื่อรื้อถึงแก่นความคิดที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการนี้

‘คุณฟิวส์ – นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย’ Co-Founder แห่ง Cloud-floor

UC : ความตั้งใจของ The Shophouse 1527 คืออะไร ?

คุณฟิวส์ : เราตั้งใจว่าพื้นที่ทดลองนี้ไปปักอยู่ในย่านไหน ก็จะดึงเอาเนื้อหาจากบริบทรอบข้างมาพูดถึง อย่างครั้งนี้เราอยู่ที่สามย่าน เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในนิทรรศการก็จะพูดถึงบริเวณรอบๆ สื่อออกมาในงานศิลปะ หรืองานออกแบบแขนงต่างๆ ที่ผสมผสานกัน เราไม่ได้มองว่างานที่เราทำอาจจะแก้ปัญหาหรือไม่แก้ปัญหา แต่เป็นการนำเสนอวิธีคิดที่เราได้ศึกษาต่อยอด โดยจะมีรูปแบบที่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ครั้งนี้ก็ได้ทีม soi | ซอย กับทีม DON BOY มาช่วยทำงาน ด้วยตัวโปรเจกต์มันคือพื้นที่ทดลอง เราจึงสนใจการทดลองร่วมกับศาสตร์ที่เหมือนและไม่เหมือน ทำให้เกิดงานที่มีมิติต่างกัน

The Shophouse 1527 ไม่ได้มีแค่นิทรรศการที่อยู่ในตัวตึก แต่ตัวตึกเองก็เป็นนิทรรศการชิ้นหนึ่งที่ถาวร เราอยากให้ตัวอาคารที่เราร่วมกันออกแบบ เป็นหนึ่งในนิทรรศการของเมืองด้วย หลังบ้านจะเห็นว่ามีผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยเดิมของตึกแถวนี้ ถ้าเรารีโนเวทโดยการไปปิดกั้น เปิดแค่ข้างหน้า นั่นอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเขา ซึ่งช่องนี้เป็นช่องเดียวที่เขาสามารถเชื่อมโยงกับถนนภายนอก เป็นทิวทัศน์ที่เขาสามารถมีได้ การที่เราเปิดพื้นที่ให้ทะลุถึงกัน ก็เป็นการคำนึงถึงบริบทโดยรอบที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวอาคาร แต่หมายถึงคนที่อยู่อาศัยบริเวณรอบๆ ด้วย

‘คุณข้าวกล้อง – ภัทริตา ทัศนราพันธ์’ หนึ่งในทีมสถาปนิก Cloud-floor

UC : คอนเซปต์ของ Resonance of Lives at 1527 เกิดขึ้นมาอย่างไร ?

คุณข้าวกล้อง : เริ่มจากการที่เราเข้าไปเห็นร่องรอยของชีวิตเดิม เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ถ่ายภาพ บันทึกเสียง ตั้งแต่ที่มันถูกทิ้งร้างจนเริ่มมีช่างรื้อถอนเข้ามา สิ่งที่เราได้คือไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลงจากชีวิตเดิม จนถึงการที่ถูกทำลายกลายเป็นพื้นที่ใหม่ เราเลยปรึกษากับ soi | ซอย ว่าอยากทำนิทรรศการให้พื้นที่ตรงนี้ มีการคงอยู่ของชีวิตเก่ากับสิ่งที่เข้ามารับช่วงต่อ หรือช่างรื้อถอนที่มาทำลายพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน 

ช่วงเวลาสองอย่างนี้ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่โดยปกติจะไม่ถูกมองเห็น เช่น การที่บ้านมันถูกร้างไว้ หรือการที่ช่างเข้ามารื้อถอนในเวลาแค่หนึ่งอาทิตย์ สิ่งที่คนเห็นคือตึกที่สร้างเสร็จแล้ว คนถึงจะชื่นชมมัน แต่เราเอาช่วงที่มันถูกซ่อนไว้ หรือในระหว่างการก่อสร้างออกมาให้เห็น

‘คุณน้ำหวาน – วิรุฬห์วรรณ พิทักษ์ทอง’ Co-Founder แห่ง soi | ซอย

UC : สิ่งสำคัญในการทำงานกับคนในย่านคืออะไร ?

คุณน้ำหวาน : สิ่งหนึ่งที่ทุกทีมคุยกันและพยายามระมัดระวังคือ ไม่มองตัวคนเป็นสิ่งของหรือเห็นเขาเป็นแค่เนื้อหา มันเลยนำมาสู่เรื่องราว เรื่องเล่า และร่องรอย เรื่องของสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่สิ่งที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ตึกหินอิฐปูน แต่มันรวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นและเราสามารถผัสสะรับรู้ได้ ถ้าเป็นสถาปัตย์ที่อยากทำงานกับมนุษย์ด้วยก็จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ 

การเปลี่ยนแปลงของเมืองมันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางทัศนียภาพ แต่สิ่งที่มันยังอยู่และแปลงร่างไปตามกาลเวลาก็คือเรื่องเล่าที่อยู่ในย่าน นิทรรศการนี้ไม่ใช่การเอานิทานมาแปะ แต่มันต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ครั้งแรกที่ soi | ซอย เข้ามาก็อยากจะเริ่มจากตัวพี่รุ่งโรจน์ก่อน เขาคือเจ้าของเดิมที่อยู่ที่นี่ ซึ่งเรื่องเล่าผ่านสายตาของคนๆ หนึ่ง มันยึดโยงไปกับทั้งสังคมด้วยเหมือนกัน

‘คุณม่อน – สรกิจ กิจเจริญโรจน์’ Co-Founder แห่ง IF (Integrated Field)

UC : ผูกพันกับสามย่านมาก่อนไหม ?

คุณม่อน : สามย่านเป็นย่านที่คลุกคลีมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่จุฬาฯ จนหลังจากเรียนจบ เราก็ยังมีความผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้อยู่ ทุกๆ 3 ปี 5 ปี การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว แต่ก่อนยังมีตลาด มีแค่ตึกแถวเตี้ยๆ  ตอนนี้มีตึกสูงเข้ามาเรื่อยๆ เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นด้วยกายภาพ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ สามย่านถูกจดจำว่าเป็นย่านอาหาร ตลาดสามย่านเดิมทีอยู่ตรงนี้ ก็ถูกย้ายไปเมื่อประมาณเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว แต่สามย่านก็ยังมีเอกลักษณ์เรื่องอาหารเหมือนเดิม แค่บริบทเปลี่ยนไป

UC : รู้สึกอย่างไรเมื่อพูดถึงเปลี่ยนแปลงของเมือง ?

คุณน้ำหวาน : จริงๆ เป็นคำถามที่ตอบยาก ถ้าตอบว่าเสียดาย นี่คือความทรงจำครั้งเก่า เราต้องอยู่กับมัน เรามีความผูกพันกับความหลัง ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าระบบทุนนิยมก็ต้องหมุนต่อไป ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาให้เหี้ยน หายไปหมดเลยเหมือนกัน เรามักจะมองเห็นแค่ด้านเดียวว่ามันกำลังถูกกลืนกินด้วยอะไรบางอย่าง ดังนั้นวาทกรรมที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของเมือง อาจจะต้องเปลี่ยนไปเลยว่ามันไม่ใช่การที่อะไรเข้ามาครอบอะไร แต่เราต้องปรับตัวอย่างไรมากกว่า

นิทรรศการนี้จึงพยายามไม่พูดถึงความหลังเพื่อถวิลหา เพราะคิดว่าเป็นการแช่แข็งความเป็นไปของเมือง ซึ่งมันไม่ใช่ธรรมชาติของเมืองอยู่แล้ว สมมติเราบอกว่าต้องรักษาชีวิตความเป็นอยู่ของตึกแถว 1527 นี่ไว้เหมือนเดิม แต่ก่อนที่มันจะเป็น 1527 มันก็มีความหลังที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ก่อนจะมีครอบครัวคนจีนเข้ามาก็มีคนอยู่มาก่อน

คุณม่อน : การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติมากๆ เราจะไปห้ามเปลี่ยนอะไรเลยมันเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีการพัฒนาเกิดขึ้น เพียงแต่เราเกิดคำถามว่า เราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ยังคงอัตลักษณ์ของสามย่านเอาไว้ บางทีเราบอกว่าต้องทุบ เลิก สร้างใหม่หมด แต่มันอาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่เป็นที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วการมีอยู่ของอดีตที่ผ่านมา มันก็มีความน่าสนใจของมันอยู่ อย่างพื้นที่ตรงนี้เรารู้สึกว่า ถ้าเราสามารถทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้คนเห็นว่ามันเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา โดยที่ยังมีฐานรากหรืออัตลักษณ์ความเป็นย่านๆ นั้นได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ว่าถ้าต้องทำอะไรใหม่แล้วลืมรากเดิมไปเลย

UC : มีมุมมองต่อการพัฒนาเมืองอย่างไร ?

คุณน้ำหวาน : หลายครั้งที่เราบอกว่าการพัฒนาเมืองมันเป็นเส้นเดียว เรามักจะลืมไปว่าในการที่จะเกิดสิ่งใหม่หรือการที่จะเปลี่ยนแปลง การทำลายก็เป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้นเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เกิดจากการทุบแล้วเกิดขึ้นมาใหม่ทันที แต่มันมีการทำลาย มีการเกิดใหม่ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน นิทรรศการนี้เลยพยายามจะสื่อว่า การทำลายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

เวลาเราพูดถึงเสียงเพลง เราตั้งคำถามว่าอะไรที่ฟังแล้วไพเราะเสนาะหู แล้วเสียงของการทำลาย ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่รื่นหู ทำไมเราถึงพยายามจะไม่ได้ยินมัน ทั้งที่หากไม่เกิดการทำลาย ไม่มีช่างรื้อถอน ก็ไม่มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เราก็เลยสนใจการอยู่ร่วมกันของอดีตและปัจจุบัน  ที่มันคาบเกี่ยวกันอยู่ตลอดเวลาขนานไปกับการพัฒนาเมือง  

UC : อะไรคือจุดมุ่งหมายของโปรเจกต์นี้ ?

คุณข้าวกล้อง : The Shophouse 1527 เป็นพื้นที่ทดลองที่เหมือนแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งให้คนในศาสตร์ต่างๆ หลายแขนงเข้ามามีส่วนร่วม โดยเราจะใช้เครื่องมือหรือศักยภาพในพื้นที่ตรงนั้น อย่างอัตลักษณ์ของพื้นที่ กลิ่นของย่านต่างๆ ให้มาเป็นเครื่องปรุงในการทำงาน คนในสาขาต่างๆ ก็จะนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน ทำให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้ย่านนั้นมีสีสัน ถูกเห็นคุณค่า และหวังว่าโปรเจกต์นี้จะสามารถไปปลั๊กอินกับพื้นที่ต่างๆ ได้ และเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างมากๆ สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ให้เข้ามาร่วม collaborate ด้วย

Resonance of Lives at 1527

17 สิงหาคม – 13 ตุลาคม 2562
เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น.
Location : The Shophouse 1527 ตั้งอยู่ที่สามย่านติดถนนพระรามสี่ 
เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงที่สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : theshophouse1527

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.