เมื่อไหร่กันที่ ‘สื่อไทย’ ไร้เสรีภาพ - Urban Creature

จาก “รายงานเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters sans frontiers : RSF) ได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนประจำปี พ.ศ. 2563 โดยประเทศไทยนั้นได้อันดับ 140 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ลดลงจากปี พ.ศ. 2562 สี่อันดับ โดยดูจากผลกระทบและความรุนแรงที่มีต่อสื่อ นโยบายการเซนเซอร์ การเข้าถึงข้อมูล ระดับขีดความสามารถในการอนุญาตให้สื่อได้สืบสวนและวิจารณ์เรื่องต่างๆ เป็นต้น

โดยอันดับที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เราเกิดความสงสัยว่าเมื่อไหร่กันนะที่ ‘สื่อไทย’ ไร้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ดังนั้นเราจึงพาย้อนรอยว่าตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อหาว่า ‘สื่อไทย’ โดนปิดกั้นการนำเสนอไปมากน้อยแค่ไหน


• รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ในสมัยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้ใช้อำนาจปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรารวมทั้งได้เนรเทศ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ไปยังประเทศฝรั่งเศส และนำไปสู่การปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ให้การสนับสนุนคณะราษฎรในขณะนั้น


• รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 ที่ใช้อยู่ตอนนั้นไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบข่าวทางสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย


• รัฐประหาร 06 ตุลาคม พ.ศ. 2519 

อันเนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยคณะทหารชื่อ ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในขณะนั้นได้ควบคุมสื่อไม่ให้เผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเวลา 3 วัน พร้อมยังสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ก่อนจัดตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร’


• รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี ‘พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน’ เป็นหัวหน้าคณะโค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี ‘ดร. ทักษิณ ชินวัตร’ นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี การรัฐประหารครั้งนี้นำมาซึ่งการปรับปรุงกฎหมายสื่อฯ หลายฉบับให้เข้มข้นขึ้น ทั้ง พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์รวมไปถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


• รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 

การรัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร โค่นรัฐบาลรักษาการ ‘นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล’

โดยก่อนหน้านี้ 2 วัน ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่ง คสช. ได้ออกคำสั่งยุติการออกอากาศของช่องโทรทัศน์ดาวเทียมหลายแห่ง รวมถึงมีประกาศหลายฉบับออกมาในการควบคุมสื่อ เช่น

– คสช. 12/2557 ขอความร่วมมือสื่อออนไลน์ระงับข้อความเชิงปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่น่าเชื่อถือ ตลอดจนการต่อต้าน คสช. 
– คสช. 97/2557 สั่งสื่อทุกแห่งต้องเผยแพร่ข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช.
– คสช. 103/2577 ให้อำนาจแก่ กสทช.ในการพิจารณาออกมาตรการทางปกครองและลงโทษสื่อเป็นจำนวนมาก

และเมื่อสื่อหลักในประเทศถูกปิดกั้น ไม่นานจึงทำให้เกิดสื่อใหม่ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะ ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ ที่กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมาจนถึงปัจจุบัน


• 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กสทช. ได้มีคำสั่งทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง ‘วอยซ์ทีวี’ เป็นเวลา 15 วันนับตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เนื่องมาจากได้มีการกระทำความผิดในการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาทำให้เกิดความสับสน และยั่วยุให้เกิดความแตกแยก


• 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563 

กสทช.-กระทรวงดิจิทัลฯ ใช้อำนาจระงับและลบข้อมูลบางส่วนของ วอยซ์ทีวี, ประชาไท, The Reporters, The Standard และเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยแจ้งว่าทั้ง 5 สื่อ นำเสนอเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ผิดต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04.00 นาฬิกา เป็นต้นไป


• 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

หลังจากที่ ‘ดีอีเอส’ เสนอศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 4 องค์กรคือ วอยซ์ทีวี, ประชาไท, The Reporters และ The Standard ซึ่งล่าสุดศาลมีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของ ‘วอยซ์ทีวี’ ส่วนอีก 3 สื่อที่เหลือยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

โดยให้เหตุผลว่ากรณีของวอยซ์ทีวีเข้าข่ายความผิด ทั้งขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในที่นี้รวมถึงพ.ร.บ.คอมฯ ด้วย


• 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ล่าสุด ศาลมีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มของ ‘เยาวชนปลดแอก Free YOUTH’ หลังจากพบว่ากระทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะเดียวกันศาลสั่งยกคำร้องปิด ‘วอยซ์ ทีวี’ เหตุสื่อมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมฯ ยังให้อำนาจแก่ศาลแค่สั่งห้ามเผยแพร่ข้อความหรือข้อมูล ไม่ได้ให้อำนาจในการปิดช่องทางสื่อสาร และผู้ร้องไม่ระบุเนื้อหาชัดเจน ศาลจึงตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้

ประชาชนไม่ว่าประเทศไหน ต่างก็คาดหวังให้สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่าถูกต้องเที่ยงธรรมหรือไม่ ดังนั้นสื่อควรปราศจากการถูกแทรกแซงและปิดกั้นจากรัฐ เพราะ ‘เสรีภาพ’ ของสื่อเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย


Sources
Wikipedia | https://bit.ly/2IMARZQ
VoiceTV | https://bit.ly/3m48dBL
Rainmaker | https://bit.ly/2T8GN10
BBC | https://bbc.in/31naWyn
BBC |https://bbc.in/35eA23B
MGRonline | https://bit.ly/31qO54Z
Prachatai | https://bit.ly/31kVPVR

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.