‘ซีรีส์วาย’ ซอฟต์พาวเวอร์หรือทำลายวงการบันเทิง? - Urban Creature

แม้ ‘ซีรีส์วาย’ จะดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบันซีรีส์วายได้กลายมาเป็นซีรีส์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถครองใจผู้ชมทั้งจอแก้วและโลกออนไลน์ได้อย่างอยู่หมัด

โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ที่ไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างประเทศต่างก็พูดถึงตัวซีรีส์และนักแสดงจนติดเทรนด์กันอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงคนทั่วไปมองว่านี่คือหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในปัจจุบัน อีกทั้งอุตสาหกรรมนี้ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากสร้างรายได้อย่างมหาศาลทั้งในและนอกประเทศ จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า ‘Y Economy’

แต่ซีรีส์วายจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ฟังดูดีมีเพียงแง่บวกของประเทศเราได้จริงๆ ใช่ไหม เพราะในอีกมุมหนึ่ง สื่อประเภทนี้ก็เข้ามาสร้างผลกระทบไม่น้อยให้อุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเรา จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า หรือจริงๆ แล้วซีรีส์วายกำลังเป็นสื่อที่ทำลายอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยอยู่กันแน่

หนังเรียก ‘เกย์’ แต่ซีรีส์เรียก ‘วาย’

เคยสังเกตกันไหมว่า ทำไมเราถึงเรียกภาพยนตร์ที่มีตัวเอกเป็นชายรักชายว่า ‘หนังเกย์’ แต่พอเป็นซีรีส์ที่มีนักแสดงนำรูปแบบเดียวกันกลับเรียกว่า ‘ซีรีส์วาย’

ซีรีส์วาย
ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม
ซีรีส์วาย
ภาพยนตร์ My Bromance

ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาพยนตร์ของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็น ‘รักแห่งสยาม’ ‘พี่ชาย My Hero’ หรือ ‘My Bromance’ ต่างฉายในช่วงเวลาที่คำว่า ‘วาย’ ยังไม่เป็นที่พูดถึงและใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงบริบทของสังคมไทยก็ยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากนัก

แตกต่างจากการเข้ามาของสื่อบันเทิงในรูปแบบซีรีส์ที่ใช้นักแสดงหลักเป็นเพศชายในประเทศไทยครั้งแรกอย่าง ‘Love Sick The Series’ ที่มีการดัดแปลงบทละครจากนิยายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกเรียกระหว่างกลุ่มนักอ่านและนักเขียนด้วยกันเองว่า ‘นิยายวาย (Y)’ ซึ่งย่อมาจากศัพท์ภาษาญี่ปุ่นคำว่า Yaoi (ยา-โอย) ที่หมายถึง ชายรักชาย 

ซีรีส์วาย
ซีรีส์ Love Sick The Series

เมื่อนิยายวายถูกหยิบมาทำเป็นซีรีส์ แฟนคลับที่ติดตามสื่อประเภทนี้อยู่แล้วจึงเรียกอย่างติดปากว่าซีรีส์วายตามไปด้วย จนนำมาซึ่งข้อถกเถียงว่า ‘วาย’ ได้กลายเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลดทอนการรับรู้เรื่องเพศวิถีที่มีอยู่จริงในสังคม เพราะแทนที่ด้วยชุดความคิดแฟนตาซีที่ว่า ‘วายไม่ใช่เกย์หรือเควียร์’

พลอตไม่แน่น เน้นฉากเลิฟซีน

เมื่อวงการซีรีส์วายเริ่มต้นขึ้นจากการหยิบเอานิยายในโลกอินเทอร์เน็ตมาปรับนิดเสริมหน่อยเพื่อฉายเป็นภาพเคลื่อนไหว ก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าส่วนใหญ่นิยายวายเหล่านี้มักถูกเขียนขึ้นเพื่อความบันเทิง โดยผู้เขียนอาจขาดความรู้ความเข้าใจต่อกลุ่ม LGBTQIA+ เท่าที่ควร ทำให้สารที่สื่อออกไปอาจเป็นการส่งต่อชุดความคิดแบบผิดๆ มีมุมมองที่เป็นปัญหา จนนำไปสู่การลบอัตลักษณ์ทางเพศของคนบางกลุ่มโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ การหยิบเอานิยายที่มีฐานแฟนคลับเดิมมาทำซีรีส์ ยังทำให้เกิดความคาดหวังจากนักอ่านขึ้นไปอีกว่าต้องมีฉาก Iconic Moment บทพูดที่ถอดมาจากในนิยาย มีฉากเลิฟซีนสุดวาบหวิว แถมรูปร่างหน้าตาของนักแสดงยังต้องตรงกับที่บรรยายไว้ ทำให้ผู้กำกับและทีมงานต้องมองหานักแสดงที่ตรงตาม Beauty Standard และเข้ากับเงื่อนไขด้านบนได้ โดยอาจมองข้ามความสำคัญของทักษะการแสดงไป และเน้นหนักที่ฉากเลิฟซีนอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่มีผลต่อเนื้อเรื่อง จนกลายเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่ใครก็ทำกัน

ซีรีส์วาย
ซีรีส์ Until We Meet Again

ต่อให้ปัจจุบันจะมีผู้กำกับหรือคนทำงานหลายคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเกี่ยวกับซีรีส์วายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของการปรับบท และแคสติงนักแสดงที่มีความสามารถมากขึ้นแค่ไหน แต่ด้วยความที่อุตสาหกรรมวายในไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สามารถตีตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ซีรีส์วายเรื่องใหม่ๆ บางเรื่องก็ยังคงทำออกมาในรูปแบบขายเลิฟซีนขายจิ้นอยู่ดี 

ขายจิ้นเป็นหลัก นำเสนอเป็นแพ็กคู่

ซีรีส์วาย

การมีกลุ่มแฟนคลับที่ใหญ่และเหนียวแน่นคอยซัปพอร์ตนักแสดงตั้งแต่ก่อนถ่ายทำไปจนกระทั่งหลังจบซีรีส์ มีกำลังซื้อสูง และพร้อมทุ่มเงินทำโปรเจกต์ต่างๆ ให้นักแสดง ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่ทำให้ใครหลายคนยินยอมกระโดดเข้าสู่วงการนี้อย่างเต็มตัว

ถ้าในอดีตนักแสดงละครเริ่มต้นเส้นทางการแสดงจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ซีรีส์วายในปัจจุบันคงกำลังทำหน้าที่ไม่ต่างกันนัก หากแต่เพียง ‘คู่จิ้น’ ในตอนนี้ต้องแบกรับความคาดหวังของสาววาย (ชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับนักแสดงชายรักชาย) มากกว่า ‘คู่ขวัญ’ ในสมัยก่อนมากมายหลายเท่า

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหล่าแฟนคลับมักผูกติดความชื่นชอบตัวศิลปินนักแสดงที่แสดงคู่กันในซีรีส์แต่ละเรื่องเป็นอย่างมาก ยิ่งให้สัมภาษณ์และแสดงพฤติกรรมที่ดูมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว หรือที่อาจเรียกว่า ‘แฟนเซอร์วิส’ มากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะตกแฟนคลับสาววายได้มากขึ้นเท่านั้น

ซีรีส์วาย

และเมื่อนักแสดงทั้งคู่ทำแฟนเซอร์วิสมากขึ้น กลุ่มแฟนคลับก็ยิ่งติดภาพและการกระทำเหล่านั้นมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลายครั้งเรามักเห็นนักแสดงซีรีส์วายเล่นซีรีส์วายเรื่องใหม่คู่กับนักแสดงคนเดิมอยู่เสมอ หรือหากมีเปลี่ยนคู่ กระทั่งข้ามไปเล่นซีรีส์ชาย-หญิงก็มักไม่ได้การตอบรับที่มากเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หากนักแสดงเหล่านี้ตัดสินใจใช้แฟนเซอร์วิสในการดึงฐานแฟนคลับไว้ ก็ย่อมนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกลุ่มคนทั่วไป เพราะอาจเรียกได้ว่าการกระทำเหล่านี้คือ ‘Queerbaiting’ ที่หมายถึงการนำเรื่องราวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาใช้เป็นจุดขาย เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ เรียกกระแสความนิยมและแรงสนับสนุนจากกลุ่มแฟนคลับ โดยขาดการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง

ซีรีส์วายกับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมบันเทิง

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายระดับโลกที่ได้รับความนิยมมากในประเทศจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศแถบลาตินอเมริกา โดยในปี 2021 คอนเทนต์ประเภทนี้มีมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และพุ่งสูงขึ้นทุกปี

โดยทีม LINE Insights ได้รวบรวมสถิติเรื่อง Y Economy และพบว่า ปี 2020 มีฐานคนดูซีรีส์วายบน LINE TV (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตถึง 3 เท่า โดยกลุ่มคนดูหลักเป็นผู้หญิงช่วงอายุ 18 – 24 ปี รองลงมาเป็นอายุ 25 – 34 ปี และขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

แล้วถ้าเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปพร้อมๆ กับการทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยยั่งยืน

ส่วนแรกคือแฟนคลับของนักแสดงและผู้ที่ติดตามสื่อประเภทซีรีส์วายควรเริ่มจากการตระหนักรู้ว่าการจิ้นหรือแฟนเซอร์วิสเป็นส่วนหนึ่งของ Queerbaiting ที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดมายาคติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างผิดๆ โดยไม่รู้ตัว

ในขณะเดียวกัน ทางผู้จัด ผู้กำกับ และนักแสดง ก็จำเป็นต้องให้ค่าบทละครและการแสดงมากกว่าการเน้นไปที่ฉากเลิฟซีนหรือแฟนเซอร์วิส เพียงเพราะทำมาแล้วสามารถขายได้ รวมไปถึงศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ ให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการไม่ละทิ้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ข้างหลัง โดยเลือกนำเสนอเพียงนักแสดงที่เป็น ‘สเตรท (Straight)’ เท่านั้น

นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็ควรเข้ามาส่งเสริมอุตสาหกรรมในแง่องค์ความรู้และเม็ดเงินการลงทุน เพื่อผลักดันให้ซีรีส์วายกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในรูปแบบที่สร้างชื่อเสียงด้านความบันเทิง และร่วมขับเคลื่อนความเข้าใจเรื่องเพศในทิศทางที่ดีให้ประเทศไทย


Sources :
RYT9 | t.ly/RL9sH
Vogue | t.ly/X_CW, t.ly/Ez31
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/xFfG
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ | t.ly/8b8YW

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.