‘หนี้สาธารณะ’ ภาระของใคร - Urban Creature

ก่อนจะเข้าสู่บทเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับ ‘หนี้สาธารณะ’ เราจะพาทุกคนไปดูกันก่อนว่าครั้งแรกที่ประเทศไทยกู้ยืมเงินเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ประเทศไทยกู้เงินระยะยาวครั้งแรกใน พ.ศ. 2476 โดยออกพันธบัตรจำนวน 10 ล้านบาท กำหนดไถ่ถอนภายในระยะเวลา 10 ปี หรือต้องชำระหนี้ทั้งหมดใน พ.ศ. 2486 และกู้เงินระยะสั้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2488 ครบกำหนดชำระหนี้ในอีก 5 เดือนต่อมา 

ส่วนการก่อหนี้ต่างประเทศ เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2448 โดยรัฐบาลได้ขายพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านปอนด์ กำหนดไถ่ถอนภายในระยะเวลา 40 ปี หรือกำหนดจ่ายหนี้ทั้งหมดใน พ.ศ. 2488 นั่นเอง 

จะเห็นได้ว่า หนี้สาธารณะมีมานมนาน มากน้อยก็ตามแต่วาระไป ซึ่งในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 การที่รัฐบาลกู้ครั้งแล้วครั้งเล่า อาจทำให้ประชาชนแอบหวั่นใจ ไม่รู้ว่าเงินที่กู้มานั้นถูกเอาไปใช้อย่างไรบ้าง และปลายทางหนี้ก้อนนี้จะจบลงที่ไหน 

| หนี้สาธารณะ

แม้จะมีคนกล่าวไว้ว่า การไม่มี ‘หนี้’ เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ หรือแม้กระทั่งในระดับประเทศเองก็ต้องกู้เงินมารักษาสภาพคล่องและการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศตัวเองเช่นกัน

การกู้ยืมเงินของรัฐบาล เราเรียกหนี้นั้นว่า ‘หนี้สาธารณะ’ เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้ยืม รวมทั้งหนี้รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่กู้เงินมาเพื่อพัฒนาประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น พัฒนาไฟฟ้า การประปา ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยานเบตง เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หรือใช้ช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต

หากเกิดการสร้างงาน เศรษฐกิจภายในประเทศคึกคัก ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน คนก็มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อนั้นฐานผู้เสียภาษีก็จะกว้างขึ้น รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อนำมาชำระหนี้มากขึ้นตามไปด้วย

กระนั้น ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลอยากกู้เท่าไรก็ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ได้กำหนดกรอบหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะเศรษฐกิจที่ระดับสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เช่น จากที่เคยซื้อน้ำเปล่าขวดละ 10 บาท เราอาจจะต้องซื้อ 15 บาท

ถ้าแบ่งตามแหล่งที่มาของหนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 
– ‘หนี้ภายในประเทศ’ คือหนี้สาธารณะที่รัฐบาลกู้จากแหล่งเงินต่างๆ ภายในประเทศ เช่น ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง หรือสถาบันการเงินอื่นๆ

– ‘หนี้ภายนอกประเทศ’ คือหนี้สาธารณะที่รัฐบาลกู้เงินมาจากแหล่งเงินกู้นอกประเทศ อาจกู้จากบุคคล รัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นต้น ซึ่งการยืมเงินนอกประเทศจะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่เปลี่ยนแปลงไปมา

ปัญหาต่างๆ ของหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่บริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ เริ่มจากกำหนดนโยบายการบริหารหนี้ของประเทศ ปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการชำระหนี้ของรัฐบาล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

| หนี้ท่วมหัว เอาตัว (ไม่) รอด

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ร้อยละ 49.53 ของ GDP แต่ปัจจุบันข้อมูล ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 8.42 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.21 ของ GDP นั่นหมายความว่าในระยะเวลาไม่ถึงปีรัฐบาลสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ของ GDP โดยแบ่งประเภทหนี้ออกเป็นดังนี้

1. ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ไทยมี ‘หนี้รัฐบาล’ 7.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2.19 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขปัญหา เยียวยาประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงชดเชยการขาดดุลงบประมาณต่างๆ ของรัฐบาล เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้

2. ‘หนี้รัฐวิสาหกิจ’ 8.01 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8 พันล้านบาท 

3. ‘หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน’ เช่น ธ.ก.ส. ธอส. หรือธนาคารที่รัฐบาลค้ำประกันให้ 2.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 0.44 ล้านบาท

4.‘หนี้ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ’ 7.586 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 14.38 ล้านบาท

หรือถ้าแบ่งเงิน 8.42 ล้านล้านบาทที่เป็นหนี้รวมทั้งหมด ออกตามแหล่งที่มาจะพบว่า หนี้ก้อนนี้เป็น ‘หนี้ในประเทศ’ อยู่ที่ร้อยละ 98.30 และ ‘หนี้ต่างประเทศ’ อยู่ร้อยละ 1.70 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด แต่เมื่อแบ่งตามอายุคงเหลือจะเป็น ‘หนี้ระยะยาว’ ร้อยละ 84.47 และ ‘หนี้ระยะสั้น’ เพียงร้อยละ 15.53 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมดเท่านั้น

ดูจากตัวเลขในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าในไม่ช้าหนี้สาธารณะของไทยจะสูงเกินกรอบวินัยการเงินที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ความมั่นคงทางการเงินของประเทศสั่นคลอน รวมถึงในอนาคตประชาชนอาจต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น ให้รัฐบาลใช้จ่ายหนี้ได้ตามกำหนด 

ทางนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 2564 จะไม่เกินกรอบการเงินที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน แม้ตอนนี้ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ใกล้ร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งอาจถือเป็นความเสี่ยง และอยู่ในระดับเตือนภัย แต่ในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤตนี้ ถือเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องกู้เพื่อนำเงินมาดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละโครงการที่มีการใช้จ่ายเงินนั้น จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองดูแลอย่างรอบคอบ สบน. เองก็มั่นใจว่าจะหาเงินให้รัฐบาลจนครบ ในต้นทุนที่เหมาะสม และกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยไม่แย่งเงินเอกชน

| 1 ล้านล้าน เยียวยาประชาชน

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาลงอย่างหนัก รัฐบาลหลายประเทศจึงต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาล เป็นผลให้หนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

รัฐบาลไทยใช้นโยบาย ‘ใจป๋า’ กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.เงินกู้ ในจำนวนเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้สาธารณะก้อนใหม่นี้ถูกกู้มาใช้ใน 3 ส่วนด้วยกัน

1. ด้านสาธารณสุข แก้ปัญหาการระบาด 4.5 หมื่นล้านบาท 

2. เยียวยาประชาชนในโครงการต่างๆ เช่น เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง 6 แสนล้านบาท 

3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม 3.55 แสนล้านบาท

ในรายการข่าววันศุกร์ ทางช่องวัน (วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลไว้ว่า ปัจจุบัน อนุมัติไปแล้ว 7.48 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 4.04 แสนล้านบาท ทำให้ตอนนี้เหลือเงินกู้เพียง 2.51 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเยียวยาในโครงการเราชนะได้อีก 1 ครั้ง โดยล่าสุด ครม. ไฟเขียวแจกเงิน ‘โครงการเราชนะ’ รอบใหม่คนละ 7,000 บาท อีก 2.4 ล้านคน ใช้เงินราวๆ 3,042 ล้านบาท

หากโควิด-19 ยังระบาดหนักยาวนานต่อไป โดยรัฐบาลไร้ทางออกอื่น ประเทศเราก็อาจจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ดอกเบี้ยสะสมตามไปด้วย และภาษีที่ประชาชนจ่ายส่วนหนึ่งก็จะถูกแบ่งไปชำระหนี้ ไม่ได้นำมาพัฒนาประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ไหนจะมีอีกหนึ่งความกังวลของประชาชนว่าเงินที่รัฐบาลกู้มานั้นจะถูกนำไปใช้อย่างถูกที่ถูกทางหรือเปล่า 

เราได้แต่หวังว่าในไม่ช้าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลง ด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เป็นเหตุเป็นผล และมีประสิทธิผล ตัวเลขหนี้สาธารณะจะได้ลดลงมาเสียที เพราะแม้จะเป็นหนี้ที่กู้โดยรัฐบาล ไม่ว่ามากหรือน้อย แต่สุดท้าย ประชาชนทุกคนก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบอยู่ดี


Sources :
MFC | https://bit.ly/3na584J
กรุงเทพธุรกิจ | https://bit.ly/3xilk8E
ธนาคารแห่งประเทศไทย | https://bit.ly/2QQSiw8
เศรษฐกิจประเทศไทย | https://bit.ly/3ekrug5
สบน. | https://bit.ly/32IFM4t, https://bit.ly/3en4b59, https://bit.ly/32BVFd7


Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.