‘ศาสนา’ คือลัทธิความเชื่อของมนุษย์ ที่อธิบายการกำเนิดและความเป็นไปของโลก หลักศีลธรรม พิธีกรรม และความเชื่อ มากไปกว่านั้น ศาสนายังเป็นดั่งเข็มทิศที่กำหนดกรอบจริยธรรมให้ผู้นับถือปฏิบัติตาม ช่วยนำทางชีวิต และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
เป็นเรื่องปกติที่ประเทศจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่มีคนนับถือเป็นจำนวนมากกว่าศาสนาอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำ ‘อัตลักษณ์ทางศาสนา’ (Religious Identity) ไปหลอมรวมกับ ‘เอกลักษณ์ประจำชาติ’ (National Identity) จนเกิดเป็น ‘ลัทธิชาตินิยมทางศาสนา’ (Religious Nationalism) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศาสนาอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกและกีดกันผู้นับถือศาสนาอื่น จนอาจลามไปถึงความขัดแย้งรุนแรงได้
ในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัย หลายต่อหลายครั้งพวกเราได้เห็นผลพวงจากการนำศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือ เช่น ในประเทศอินเดียที่พรรคการเมืองใช้วาทกรรมเหยียดศาสนาอิสลามเพื่อสร้างความนิยม และออกนโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ‘กลุ่มรัฐอิสลาม’ หรือ ‘IS’ ที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือรวบรวมกำลังพลและเป็นอุดมการณ์ในการก่อตั้งประเทศ และใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงอย่างสุดโต่งกับฝ่ายตรงข้ามและผู้เห็นต่าง และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศเมียนมาร์ที่กระทำโดยพลเมือง พระ และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีบ่อเกิดความรุนแรงจากการโหมแนวคิดว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาติพันธุ์ของประเทศเมียนมาร์ และเป็นภัยต่อศาสนาพุทธ
ประเทศไทยเองก็เป็นดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ถึงแม้จะไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างศาสนาอย่างชัดเจน และคนส่วนใหญ่ก็ให้ความเคารพในสิทธิการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนของชาวพุทธที่มีอย่างมากในประเทศไทย และสถานะของศาสนาพุทธที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบทบาทอย่างมากกับสังคม ทำให้ในบางครั้งอาจเกิดการเคลื่อนไหวที่พยายามใช้ศาสนาพุทธในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ชาตินิยมหรือทางการเมือง และมีการสร้างความหวาดระแวงต่อกลุ่มศาสนาอื่น โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อศาสนาพุทธและประเทศ วาทกรรมเหล่านี้เป็นอันตรายต่อความตั้งใจของประเทศในการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
และเราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรที่จะสามารถหยุดยั้งความขัดแย้งทางศาสนาก่อนที่จะปะทุไปเป็นความรุนแรง United Nations Office on Genocide Prevention and the Responsibility to Protect ร่วมกับผู้นำทางศาสนาและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ จากทั่วโลกจึงได้พัฒนา ‘Plan of Action for Religious Leaders and Actors to Prevent Incitement to Violence that Could Lead to Atrocity Crimes’ เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลทุกประเทศและทุกภาคส่วนในสังคมมุ่งหยุดยั้งการปลุกปั่นที่สร้างความเกลียดชังทางศาสนา ซึ่งเป็นบ่อเกิดหลักที่พัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรง แนวทางเสนอแนะให้มีการสร้างความเข้าใจต่อสิทธิทางศาสนาและความแตกต่างของศาสนา มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มศาสนาต่างๆ มีการเฝ้าระวังการยุยงปลุกปั่นทางศาสนา และการดำเนินการในระดับกฎหมายและนโยบายเพื่อปกป้องทุกๆ กลุ่มศาสนาและความเชื่อในสังคม
ลัทธิชาตินิยมทางศาสนาถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาในประวัติศาสตร์ และมุ่งป้องกันความขัดแย้งรุนแรงทางศาสนา เพื่อสร้างสังคมที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขบนความเคารพในความแตกต่างของกันและกัน
Sources :
Al Jazeera | bit.ly/3Adgts4
Berkley Center for Religion, Peace & World Affairs | bit.ly/3Lm4pvj
Buddhism and Politics in Thai Society | bit.ly/41EzdMZ
Office of the National Security Council | bit.ly/40kMTvx
Oxford University Press | bit.ly/3L9MtUu
Thai PBS | bit.ly/3AayO9f
The National Defence College of Thailand Journal | bit.ly/3Abnh9N
The Role of Ultra-Buddhist Nationalism, and the Conflicts between Buddhists in Rakhine State and Muslim Rohinyas | bit.ly/3okKUdf
United Nations | bit.ly/4204Lxt
VOA Thai | bit.ly/3A9cyfV