ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวที่เคยไป กระบี่ ประเทศไทย น่าจะติดอันดับต้นๆ บนลิสต์แหล่งท่องเที่ยวในดวงใจของฉัน
ธรรมชาติอันรุ่มรวยของทะเลอันดามัน ชีวิตกลางคืนซึ่งไม่เคยหลับใหล และกิจกรรมผจญภัยที่หลากหลาย น่าจะเป็นเหตุผลที่ฉันหาโอกาสไปเยือนกระบี่แทบทุกปี บางครั้งก็ไม่ได้ไปเที่ยวเกาะ แค่ไปเช่าที่พักแถวอ่าวนาง นั่งเปื่อยๆ อยู่ริมหาด แล้วปล่อยให้ลมทะเลตีหน้าก็รู้สึกเหมือนได้ชาร์จแบตฯ แล้ว
กระบี่ยังเป็นพื้นที่ที่เซอร์ไพรส์ฉันได้อยู่เสมอ อย่างปีก่อนฉันกับเพื่อนเคยนั่งเรือไปเที่ยวหาดไร่เลย์ กะจะตามรอยหนังเรื่องเฟรนด์โซนฉากที่ตัวละครนั่งริมหาดโดยมีวิวภูเขากลางน้ำอยู่ข้างหน้า ก็เพิ่งมารู้ตอนนั้นว่าต้องเดินลุยน้ำทะเล (ที่ขึ้นมาถึงเอว!) ไปจุดนั้น อีกสิ่งที่เพิ่งรู้เช่นกันคือมันเป็นชายหาดที่อยู่ติดรีสอร์ตแห่งหนึ่ง
“ถ้ามารอบหน้า ไม่อยากเดินลุยน้ำมาแล้วอะแก” ฉันบอกเพื่อน กึ่งบ่นกึ่งสัญญา
ตัดภาพมาอีกที ปีนี้ฉันกับเพื่อนได้กลับมาไร่เลย์อีกรอบ ในฐานะแขกของ ‘รีสอร์ตแห่งหนึ่ง’ ที่เล่าให้ฟัง
รีสอร์ตนั้นชื่อ รายาวดี
ประสบการณ์ระหว่างเข้าพักที่นี่ตอกย้ำว่าฉันคิดถูกเกี่ยวกับกระบี่ คือมันเป็นพื้นที่ที่เซอร์ไพรส์ฉันได้เสมอ
เพราะรายาวดีไม่ใช่แค่รีสอร์ตติดหาดที่เปิดโอกาสให้ฉันเชยชมไร่เลย์ได้เต็มตา (แถมไม่ต้องเปียกไปครึ่งตัว) ทว่าที่นี่คืออาณาจักรสีเขียวที่ชวนให้แขกได้รู้จัก รัก และทะนุถนอมกระบี่อย่างแท้จริง ผ่านธรรมชาติ ดีไซน์ที่พัก การบริการ และการทำงานกับชุมชนของพวกเขา
อาณาจักรสีเขียวกลางทะเล (ย์)
ฉันเพิ่งรู้จากปากของคุณชุมพล จันทะลุน General Manager ของรายาวดีว่าชื่อของหาดไร่เลย์ มาจาก ‘ไร่ที่อยู่กลางทะเล’
ทำไมถึงมี ย์ อยู่หลัง ล นั้นไม่ปรากฏเหตุผลแน่ชัด แต่ที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งคือพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นสวนมะพร้าวของคนพื้นถิ่นมาก่อน และเมื่อถูกสร้างเป็นรีสอร์ต รายาวดีก็มีปณิธานอันแรงกล้าเรื่องการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน เห็นได้ชัดจากงานออกแบบของ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน ที่ดีไซน์รีสอร์ตโดยตั้งใจให้กระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด
“พื้นที่ของรายาวดีมีห้าสิบหกไร่ ซึ่งทำบ้านพักได้เยอะมากเลยนะ แต่เราทำแค่หนึ่งร้อยหนึ่งหลัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าระยะห่างของบ้านแต่ละหลังจะมีเยอะมาก ทุกหลังจะมีพื้นที่สวนของตัวเองล้อมรอบอยู่” คุณชุมพลเล่า แล้วชี้ให้ดูรูปทรงของบ้านที่ตั้งใจออกแบบให้เป็นทรงกลม เหตุผลแรกคือ ถ้าเทียบกับรูปทรงอื่นๆ ทรงกลมจะฟิตกับพื้นที่ที่จำกัดได้ดีกว่า ส่งผลให้รีสอร์ตตัดต้นไม้น้อยลง
“ปณิธานแรกเริ่มของเราคืออยากให้ธรรมชาติยังคงสมบูรณ์ เราจึงไม่ได้มีแพตเทิร์นในการทำห้องติดๆ กัน แต่จะพิจารณาว่าตรงไหนเป็นพื้นที่โล่ง เหมาะแก่การสร้างที่พักก็จะไปสร้างตรงนั้น ปรากฏว่าพอดำเนินการไปได้สักระยะ ธรรมชาติฟื้นตัวกว่าเดิม ถ้าปัจจุบันเสิร์ชในกูเกิลแมปส์เพื่อดูพื้นที่นี้จากมุมสูงก็จะไม่เห็นหลังคาของบ้านเลย จะเห็นแต่พื้นที่สีเขียว”
อีกเหตุผลคือรายาวดีอยากให้แขกได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติแบบไร้การปิดกั้น ภายในบ้านพัก 2 ชั้น ผู้เข้าพักจะมองเห็นวิวสวนได้รอบด้านแบบ 360 องศา ก้าวเท้าออกห้องมาก็สูดอากาศบริสุทธิ์ได้เต็มปอด ที่สำคัญ การดีไซน์อย่างให้เกียรติต้นไม้ยังช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศเดิมไว้ วัดได้จากทางเดินไปห้องพักที่มีนกเงือก ลิง ค่าง โผล่มาทักทายฉันเป็นระยะ
“แต่อย่าเผลอไปให้อาหารน้องลิงเชียว” คุณชุมพลเตือนพลางหัวเราะ
ประสบการณ์ที่ออกแบบจากธรรมชาติและคนท้องถิ่น
ไม่เพียงแค่สร้างห้องกลางสวนมะพร้าว รายาวดีอยากให้คนเข้าพักอย่างเราได้รู้สึกจูนกับธรรมชาติรอบกายจริงๆ ผ่านสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งสอดแทรกไว้ในประสบการณ์ที่ดูออกว่าคิดมาแล้วทั้งหมด
ตั้งแต่แก้วเวลคัมดริงก์อย่างน้ำมะพร้าวสดจากต้น โปะด้วยซอร์เบตมะนาวสุดสดชื่น หรือโปรแกรมแนะนำอย่าง Garden Walk ที่ชวนให้แขกได้ทอดน่องชมเส้นทางธรรมชาติ 3 เส้นทาง ซึ่งระหว่างทางก็จะได้ทำความรู้จักไม้พื้นถิ่นกับสรรพคุณของมันจากป้ายเล็กๆ ที่ติดอยู่กับต้นไม้แต่ละต้น รวมถึงกิจกรรมที่ Kid-friendly ขึ้นมาหน่อยหนึ่งอย่างการพับใบมะพร้าวเป็นรูปสัตว์ ก็เป็นวิธีชวนเด็กๆ ให้ได้สนุกกับธรรมชาติและเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำของเล่นแบบคนกระบี่ไปพร้อมกัน
เอาเข้าจริง การสนับสนุนคนในชุมชนก็น่าจะเป็นสิ่งที่รายาวดีให้ความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างถุงใส่คีย์การ์ดที่ฉันใช้ก็ทำมาจากผ้าบาติก หลายเมนูในห้องอาหารทั้ง 4 ของพวกเขาก็มีการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทั้งปลากระซัง ข้าวสังข์หยด น้ำผึ้งป่าชายเลน ฯลฯ ไหนจะช็อปบูติกที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกลุ่มสตรีม่ายผู้เสียสามีจากความไม่สงบในภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้ให้พวกเธอ ยังไม่นับความจริงที่ว่าพนักงานกว่า 60% ของที่นี่เป็นคนท้องถิ่น
“การทำงานกับชุมชนเป็นการเชิดชูสิ่งที่ชาวบ้านทำ บางทีถ้าไม่มีใครไปให้ความสำคัญ เขาอาจจะทำต่อไม่ได้ เรากลัวว่ามันจะหายไป ทั้งผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม อาหาร แขกของเราก็ให้ความสนใจและมองเห็นว่าเป็นคุณค่าอยู่แล้ว การเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่เข้าไปช่วยสนับสนุนพวกเขามันไม่ยากเลย” คุณชุมพลเผย
พักพิงใจในอ้อมกอดของ 3 หาด
แต่รายาวดีไม่ได้มีดีแค่ความเขียวและการสนับสนุนชุมชนเท่านั้น ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบชาร์จแบตฯ กับเสียงคลื่นและแรงลม ที่นี่ก็เหมาะจะเป็นแหล่งพักพิงที่ตอบโจทย์เช่นกัน
ถึงห้องพักไม่ได้อยู่ติดทะเล แต่แขกทุกห้องสามารถเดินไปดูทะเลได้-คอนเซปต์ของรีสอร์ตว่าไว้อย่างนั้น และจากประสบการณ์ที่ไปสัมผัสเอง ฉันต้องบอกว่ามันง่ายดายแบบที่ว่าจริงๆ
ก่อนหน้านี้ฉันเข้าใจว่ารายาวดีเป็นรีสอร์ตติดหาดไร่เลย์ แต่ความจริงแล้วที่นี่ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมพระนาง ติดกับหาดตั้ง 3 หาดทั้งหาดไร่เลย์ หาดน้ำเมา และหาดถ้ำพระนางอันเป็นที่ตั้งของ ‘ถ้ำพระนาง’ จุดปีนเขาขึ้นชื่อที่นักปีนเขาทั่วโลกต้องมาสักครั้ง อันที่จริงไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราจะเห็นวิวของภูเขาหินปูนตั้งตระหง่านเสมอ
ถ้าใครเป็นสายกีฬาทางน้ำ ที่นี่ก็มีเรือคายักบริการให้พายออกทะเลได้ทั้งวัน หรือถ้าใครเป็นสายนอนชิลริมหาด รอกินข้าวเย็นแบบฉัน การหาหนังสือสักเล่มไปนอนอ่านใต้ร่มไม้ที่มีเสียงคลื่นซัดสาด พอเย็นย่ำก็เดินกลับมาที่ The Grotto ร้านอาหารในถ้ำ เอนจอยกับค็อกเทลและเซตอาหารปิ้งย่างชุดใหญ่ท่ามกลางแสงสุดท้ายของวัน ก็นับเป็นชอยส์ที่ไม่เลว
โมเดลที่ช่วยรักษาความรุ่มรวยของไร่เลย์
ถ้าจะให้นึกดู สิ่งที่ฉันให้คะแนนมากที่สุดในฐานะแขกของรายาวดีคือธรรมชาติอันแสนจะรุ่มรวยของที่นี่นั่นแหละ
แต่อะไรล่ะทำให้มันยังรุ่มรวยได้ขนาดนี้ ทั้งที่ไร่เลย์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงระดับสากล
คุณชุมพลตอบฉันว่า มันคือระบบจัดการชื่อ ‘ไร่เลย์โมเดล’
“ในหาดไร่เลย์มีที่พักอยู่ประมาณสิบแปดแห่ง เดิมทีเราคิดว่าหาดนี้ไม่ได้เป็นจุดให้นักท่องเที่ยวแวะมาหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกจากพักอาศัย แต่เพราะหาดที่นี่มีความสวยงาม ไร่เลย์เลยดังขึ้นเรื่อยๆ บริษัททัวร์เลยเขียนโปรแกรมทัวร์ให้แวะมาที่นี่แทบทุกโปรแกรม” ชายหนุ่มเท้าความ
“ก่อนโควิดจะระบาด มีทัวร์แวะมาไร่เลย์เยอะมาก ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่ได้มีระเบียบรองรับเรื่องการจัดการ มันจึงเป็นที่มาของมลภาวะทางเสียง ขยะ และความวุ่นวายอย่างอื่นที่คาดไม่ถึง ซึ่งเราไปหยุดเขาไม่ได้ เพราะเป็นช่องทางทำมาหากินของคนในชุมชน
“พอเกิดโควิด รัฐบาลประกาศให้ทุกโรงแรมในประเทศไทยปิดราวสามเดือน โรงแรมบนไร่เลย์ก็โดนปิดด้วย เราจึงมานั่งคุยกันว่าจะทำยังไงให้บรรยากาศของไร่เลย์ยังเหมือนตอนที่ไม่มีทัวร์เข้ามา เพราะมันสวยมากเลย เราอยากให้แขกที่มาได้เห็นภาพเหล่านี้อีกครั้ง”
จากแนวคิดนั้น ไร่เลย์โมเดลจึงเกิดขึ้นในฐานะสัญญาใจของชาวไร่เลย์กับผู้มาเยือน ที่แบ่งแนวทางการรักษาไร่เลย์ให้ยังเป็นไร่เลย์เหมือนเดิมออกมาเป็น 5 ข้อหลัก
ข้อแรกคือการจัดระเบียบหาด พูดง่ายๆ คือการจัดระเบียบการเดินทางเข้า-ออกของเรือทุกลำให้เป็นสัดส่วน เว้นการเทียบท่าไว้อย่างน้อย 1 – 2 หาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมระหว่างวันได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับอันตรายจากเรือ
ข้อสองคือการจัดการความปลอดภัย ผู้ประกอบการทุกคนบนไร่เลย์ถือว่าทุกคนที่อยู่บนหาดคือแขกของพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็นแขกของที่พักจริงๆ หรือเปล่า) พวกเขาจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีชมรมกู้ภัยหน้าผาที่ป้องกันระวังเรื่องอุบัติเหตุตอนปีนผา รวมถึงชมรมกู้ภัยทางน้ำที่เฝ้าระวังในช่วงคลื่นลมแรง
ข้อสามคือการจัดการขยะ ไร่เลย์มีโครงการไร่เลย์ Say No to Plastic ที่คัดกรองไม่ให้มีการนำพลาสติกเข้ามาในหาดเลยเพื่อลดปริมาณขยะ ข้อสี่คือการส่งเสริมการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวให้ยังอุดมสมบูรณ์ มีการประชาสัมพันธ์ต่อผู้ประกอบการทัวร์ว่าจุดใดในทะเลไม่ควรทิ้งสมอ เพราะจะไปทำลายปะการัง และข้อสุดท้ายคือการปลูกฝังความรู้สึกหวงแหนพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นต่อไป ผ่านกิจกรรมที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากแต่ปลูกจิตสำนึกได้ดี อาทิ การปลูกป่าชายหาด
ถึงอย่างนั้น คุณชุมพลก็บอกฉันว่าที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการลงทุนลงแรงของรีสอร์ตแต่อย่างใด รายาวดีเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ในการขับเคลื่อนโมเดลใหญ่เท่านั้น การจะทำให้โมเดลนี้เวิร์กได้ต้องการความร่วมมือจากทุกคนที่มองเห็นว่าความรุ่มรวยของไร่เลย์นั้นสำคัญ และอยากให้สิ่งนี้อยู่ไปนานๆ
“ไร่เลย์โมเดลไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เราอาศัยความเข้าใจ เห็นถึงประโยชน์ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่มันคือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เรามองว่าถ้าทำแบบนี้ได้ สุดท้ายมันจะยั่งยืน และธรรมชาติที่เราเห็นนี้ก็จะถูกส่งต่อให้รุ่นต่อไปอย่างสมบูรณ์”