RAY Thesis Exhibition โฟโต้อาร์ต ม.เชียงใหม่ - Urban Creature

ช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม เรียกว่าเป็นเทศกาลจัดงานธีสิสของพี่ปี 4 เลยก็ว่าได้ ซึ่งการนำ ธีสิส ของตัวเองออกมาโชว์ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ ถือเป็นความฝันที่ไม่ต้องฝัน เพราะมันคือโอกาสทองที่เด็กคนหนึ่งจะได้นำวิชาความรู้ที่มีมาปล่อยของเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจบการศึกษา

แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ทำให้ความฝันในการจัดงานต้องล้มเลิก เราจึงเปิด Urban Showcase พื้นที่เล็กๆ ที่จะให้น้องนิสิตนักศึกษามาโชว์ผลงานแบบไม่จำกัดสาขา คณะ และมหาวิทยาลัย เพื่อให้สปอตไลท์ได้ส่องไปถึงความสามารถของทุกคนมากยิ่งขึ้น

โดยเจ้าแรกที่มาประเดิม คือสาขาวิชาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่งานนี้ขอลุยจัดนิทรรศการภาพถ่ายศิลปนิพนธ์แบบออนไลน์ กับงาน RAY Thesis Exhibition

ผลงาน ‘แกว คนไทยเชื้อสายเวียดนาม’ โดย วรัญญา แป้นรักษา

“ประกายของความแตกต่างนี้ล้วนเต็มไปด้วยความสวยงาม”

นี่คือคอนเซปต์ของ RAY Thesis Exhibition ที่เปรียบเสมือนการออกมาฉายศักยภาพของเหล่าเด็กโฟโต้อาร์ตตามความสนใจและความถนัดที่แตกต่างกันไป จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายให้ทุกคนได้ชมกัน

แม้คอนเซปต์จะฟังดูสวยงาม แต่กว่าจะออกมาเป็นธีสิสออนไลน์แบบนี้ ทั้งอาจารย์และน้องๆ ต้องผ่านช่วงเวลาที่แสนสาหัส นั่นคือการตัดสินใจว่าผลงานของเด็กเหล่านี้จะยังได้จัดแสดงต่อไปหรือไม่ ซึ่งไม่ต้องเดาคำตอบให้ยาก เพราะด้วยวิกฤต COVID-19 ทำให้ทุกโปรเจกต์ และทุกการเรียนการสอนที่เป็นภาคปฏิบัติต้องล้มเลิกทุกอย่าง นี่คือสิ่งที่ ฟ้า-นภัส นกน่วม และ เกรส-วรัญญา แป้นรักษา สองตัวแทนนักศึกษาจากสาขาวิชาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ เล่าให้เราฟังถึงความยากลำบาก

ผลงาน ‘Wounded’ โดย นภัส นกน่วม

คุยกับเด็กโฟโต้อาร์ต

“ด้วยตัวคณะและสาขาจะเน้นการเรียนไปทางภาคปฏิบัติ พอเกิดเหตุการณ์นี้ก็กระทบทั้งอาจารย์และนักเรียน งานบางคนยังไม่จบก็ต้องตัดจบ บางคนดีลกับสถานที่ไว้ก็ต้องยกเลิก ส่วนการตัดสินใจแบบนี้ เพราะอาจารย์ต้องการให้นักศึกษามองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญกว่า” ฟ้าเล่า

เกรสเสริมว่า “อย่างตัวธีสิสเราได้ทำมา 1-2 เทอมแล้ว อาจารย์จะดูจากการอัปเดตงานว่าครบถ้วนตามหลักสูตรไหม และต้องมีการยืดหยุ่นและปรับเกณฑ์ให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น เช่นดูว่าเด็กคนนั้นขยันหรือเปล่าหรือทำตามแผนที่วางไว้ไหม จนตอนนี้มีนักศึกษาที่ผ่านจนได้จัดงานทั้งหมด 39 คน 39 ผลงาน”

ผลงาน ‘ KLUAYPING ’ โดย จิรัญญา มณีรัตนโชติ

อย่างผลงานของ จิรัญญา มณีรัตนโชติ ที่เดิมทีตั้งใจจะถ่ายน้องหมาที่ตัวเองเลี้ยง นั่นคือเจ้า กล้วยปิ้ง ให้ออกมาในท่าทางต่างๆ แต่เจ้ากล้วยปิ้งดันจากไปอย่างกะทันหันระหว่างถ่าย เจ้าของผลงานยังคงยืนยันที่จะถ่ายต่อแม้ว่าจะเสียใจ เธอหยิบเอาข้าวของของกล้วยปิ้งมาถ่ายต่อ และให้ผลงานชิ้นนี้เป็นเสมือนลิ้นชักแห่งความทรงจำระหว่างเธอกับสุนัขแสนรัก

Wounded ผลงานของ นภัส นกน่วม เป็นอีกหนึ่งคนที่ถ่ายทอดภาพถ่ายจากความทรงจำอันแสนเจ็บปวดทั้งของตัวเองและได้จากการพูดคุยมา อย่างภาพนี้เธอเล่าว่า ตอนเด็กเคยมีเรื่องเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ กับครอบครัว ซึ่งความไม่ลงรอยนั้นทำให้ผู้เป็นพ่อเอ่ยปากว่า “ทำแบบนี้เปลี่ยนนามสกุลไปเลยดีมั้ย” จนกลายเป็นบาดแผลที่อยู่ในใจเธอตลอดมา

หนึ่งในคอลเลกชันภาพ Phraoscape ของ ธีรภัทร ยาวิชัย นักศึกษาหนุ่มจากอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีบ้านหลังใหญ่เป็นธรรมชาติและผืนนาอันเขียวขจี เขาใช้แนวคิดที่เรียบง่ายแต่ผลงานดูแล้วไม่ธรรมดา ด้วยการถ่ายภาพทิวทัศน์ของบ้านเกิดตัวเอง เพื่อถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

รัตน์รวี วิภากร เจ้าของผลงาน Remember Me ที่นำเทคนิคปะติดปะต่ออย่าง Collage Art มาผสานภาพถ่ายฝีมือตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำรูปคนสำคัญในชีวิตของเธอที่จากไปแล้ว มาถ่ายทอดผ่านมุมมองและความรู้สึกจากใจของเธอ

ผลงานชุดภาพถ่าย Into The Night ของ ณัฐภัทร แผ่ทอง ที่ชวนให้ทุกคนร่วมค้นหาคำตอบว่า ในแต่ละสถานที่ยามค่ำคืนระหว่างทางกลับบ้านของเขานั้นมีอะไรซ่อนอยู่ แม้ทุกรูปจะเล่นกับความมืดมิด แต่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาพ มีทั้งความโรแมนติก ความเหงา ความหลอน บางภาพกลับรู้สึกเย็นสบาย แต่บางภาพกลับรู้สึกเดียวดาย บอกเลยว่าครบทุกอารมณ์

แกว คนไทยเชื้อสายเวียดนาม ผลงานชุดภาพถ่ายของ วรัญญา แป้นรักษา โดยทันทีที่เธอตัดสินใจเลือกไอเดียนี้ เธอแทบจะต้องไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงใหม่กับอุดรธานีอันเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามอาศัยอยู่มาก ทำให้รู้ว่าพวกเขานับถือลุงโฮ หรือท่านผู้นำยุคหนึ่งของเวียดนามพอๆ กับกษัตริย์บ้านเรา

จากความหลงใหลในแฟชั่นและเสน่ห์จากภาพยนตร์ยุคเก่าของ ธนพล บุญสุภา เกิดเป็นผลงานชุดภาพถ่าย Us Against The Universe ที่หยิบเรื่องราวของคู่รักอาชญากรอย่าง Bonnie & Clyde ที่เคยเป็นที่คลั่งไคล้ในช่วงยุค 30s มาถ่ายทอดผ่านแฟชั่นสุดโดนใจในแบบฉบับของตัวเอง

ชยณัฐ นามบุปผา หยิบแนวคิดปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาร้อยเรียงเรื่องราวจนออกมาเป็นผลงานชุดภาพถ่าย Human Evo โดยนำเสนอภาพจำลองของมนุษย์ เทคโนโลยี และสิ่งมีชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบ Cyber Punk ที่มีความมืดดำและความขัดแย้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของ AI กับมนุษย์

“เราต่างมีช่วงเวลาที่ชวนคิดถึงหรืออยากจะหวนคืนกลับไปอยู่เสมอ” ไอเดียจาก ไกรวิชญ์ ตั้งสมบูรณ์ เกิดเป็นผลงาน THE NURSER(A)LIEN ที่เขาถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็กผ่านสภาวะ Nostalgia ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานของเขาเเละเพื่อนวัยเด็ก ผ่านการตีความแบบภาพ Parody ที่มีสีสันสดใส ดูสนุก และเป็นเอกลักษณ์

ผลงานชุดภาพถ่าย EAT MEET WASTE ของ ณัฐิกา บุญสถิตย์ ถ่ายทอดผ่านสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ติดกับดักขยะ ให้ผู้ชมได้เห็นถึงโลกสีเทาใต้ท้องทะเล ที่เหล่ากุ้งหอยปูปลาต้องหายใจและใช้ชีวิตท่ามกลางขยะทะเลจากน้ำมือมนุษย์

ผลงาน ‘in my place’ โดย ณัฐวุฒิ เตจา

นอกจากสถานการณ์ไวรัสระบาด เชียงใหม่ยังต้องเจอกับปัญหาไฟป่าที่เข้ามารุมเร้า เหล่านี้กระทบทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ ร้านรวงต่างๆ รวมถึงสถานศึกษา ซึ่งฟ้าบอกกับเราว่า อาจารย์ปรัชญา คัมภิรานนท์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์นี้ ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและจิตใจของนักศึกษา รวมถึงคอยแนะนำแนวทางในการผลิตผลงานอยู่เสมอมา อย่างสูจิบัตรเข้างานจากเป็นเล่มก็ปรับมาเป็นออนไลน์แทน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปติดต่อกับโรงพิมพ์เพื่อเพิ่มความเสี่ยง

เกรสเสริมว่า ความฝันของคนเรียนอาร์ตในเมืองไทย คือการได้ไปจัดแสดงงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สักครั้ง อย่างงานนี้นักศึกษาติดต่อกันเป็นปีๆ กว่าทางหอศิลปกรุงเทพฯ จะตอบตกลง แต่พอโปรเจกต์ถูกยกเลิก การทำงานแบบออนไลน์จึงต้องเพิ่มและกระจายบทบาทหน้าที่ให้กับนักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน เช่น แบ่งคนดูแลเพจ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์โดยเฉพาะ รวมถึงเพิ่มคอนเทนต์ออนไลน์เพื่อให้เพจมีความหลากหลาย

ผลงาน ‘Phraoscape’ โดย ธีรภัทร ยาวิชัย

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์กรรณ เกตุเวช และ อาจารย์ณัฏฐ์ บวรพัฒน์นนท์ ที่คอยอยู่เคียงข้างเด็กๆ ตลอดการเป็นนักเรียนโฟโต้อาร์ต ฟ้าบอกว่าอาจารย์จะช่วยคิวเรตงานเพื่อนำไปติดตั้งที่หอศิลปกรุงเทพฯ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์อาจารย์ยังคงช่วยหาแนวทางในการนำเสนอผลงาน และแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตในอนาคต

ฟ้าเล่าต่อว่า นักศึกษาหลายคนมองว่าผลงานของตัวอาจจะไปได้สุดกว่านี้ แต่ด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น นิทรรศการที่จัดออกมาในรูปแบบออนไลน์ คือความตั้งใจที่ทุกคนใส่กันเต็มที่แบบไม่มียั้ง บางผลงานอาจารย์ก็ให้คำแนะนำว่า ถ้าคนมาดูรูปแล้วไม่อ่านคำบรรยายอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่เจ้าของภาพต้องสื่อ นี่จึงเป็นคอมเมนต์เพื่อให้นักศึกษาได้กลับไปพัฒนาตนเอง

แพลนชีวิตหลังเรียนจบ เกรสตั้งใจจะไป Work and Travel แต่ตอนนี้โครงการถูกยกเลิกไปทำให้เธอรู้สึกเฟลพอๆ กับการที่ธีสิสไม่ได้จัดแสดงที่หอศิลปกรุงเทพฯ ส่วนฟ้ามองเรื่องของโอกาสว่า การที่นักศึกษาดิ้นรนเพื่อที่จะได้ไปจัดงานที่กรุงเทพฯ มันเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กที่กำลังจะเรียนจบได้ดีมาก แต่ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ตัวเธอเองก็เข้าใจและเธออาจจะตัดสินใจกลับบ้านที่กรุงเทพฯ เหมือนกับเพื่อนๆ หลายคน เพราะตอนนี้สถานการณ์หลายอย่างที่เชียงใหม่ไม่ค่อยเอื้อในการทำมาหากินสักเท่าไร

ชวนดูธีสิสสุดเจ๋ง

นี่เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ของนักศึกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเราเชื่อว่านิสิตนักศึกษาอีกหลายชีวิตอาจกำลังเผชิญอุปสรรคนี้กันอยู่ แต่ทางเดียวที่ทุกอย่างจะผ่านไปได้ คือการไม่กลัวที่จะต้องปรับตัวกับเปลี่ยนแปลง

และนี่ยังไม่ใช่ผลงานทั้งหมด! RAY Thesis Exhibition ยังมีภาพชุดสุดครีเอทที่รอให้ทุกคนเข้าไปชมอีกเพียบ และแม้การแสดงธีสิสในครั้งนี้จะไม่ได้ลงมาจัดนิทรรศการที่ BACC แต่ทุกคนก็สามารถร่วมเป็นกำลังใจ และสนับสนุนผลงานของน้องๆ สาขาวิชาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ทาง

Facebook : Ray Thesis Exhibition
Instagram : @ray.exhibition
Twitter : @rayexhibition_

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.