Qualy เพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ - Urban Creature

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่แบรนด์แบรนด์หนึ่งจะสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านชิ้นงานได้แบบที่คนเห็นแล้วร้อง ‘อ๋อ!’

แต่สำหรับแบรนด์ ‘Qualy’ ไม่ว่าจะจิ้มผลงานชิ้นไหนขึ้นมาก็ต้องคุ้นหูหรือคุ้นตาทั้งนั้น ตั้งแต่ พระสติ, บอร์ดเกม Waste War, รูบิก Tactile Cube หรือปากกาวาดรูปจากไหมพรมในชื่อ เล่นเส้น

เพราะไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ที่สวยงาม ฟังก์ชันการใช้งานสุดว้าว หรือวัสดุรีไซเคิลรักษ์โลก จะส่วนไหน Qualy ก็ไปสุดทุกทาง จนกวาดรางวัลจากเวทีดีไซน์กลับบ้านแบบไม่หวาดไม่ไหว

คอลัมน์ Sgreen ชวนไปคุยกับ ‘ใจ๋-ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ Design Director และ Founder ถึงแนวคิดและความตั้งใจของแบรนด์ที่ทำให้ Qualy ยืนหยัดครองตลาด พร้อมสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านผลงานได้ยาวนานกว่า 20 ปี

Qualy

เล่าเรื่องผ่านดีไซน์จนค่อยๆ เติบโตในตลาดไทย

“ในช่วงแรกๆ ของการทำ Qualy เราเน้นไปที่การใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับตอนนั้นมีปัญหาโลกร้อน เลยเล่าเรื่องพวกนี้ผ่านดีไซน์ของเรา ก่อนจะต่อยอดมาใช้วัสดุรีไซเคิล เพื่อให้สื่อสารเรื่องนี้ออกไปดียิ่งขึ้น” ธีรชัยเล่าถึงความตั้งใจช่วงแรกของแบรนด์

อีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการทำแบรนด์โปรดักต์ดีไซน์นี้คือ Qualy เป็นธุรกิจที่เขาต่อยอดออกมาจากธุรกิจครอบครัวที่ก่อนหน้านี้เปิดเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) โดยใช้ความรู้ความสนใจเรื่องดีไซน์มาเป็นตัวนำ

“ตอนนั้นมองแบบ Positive ว่า ถ้าทำเอง เรามีทั้งโรงงาน ทั้งดีไซเนอร์ นั่นแปลว่าเราสามารถเริ่มได้โดยมีแต้มต่อมากกว่าคนอื่น” ทายาทโรงงานพลาสติกบอกกับเราถึงความคิดแรกในตอนนั้น ก่อนจะพบว่าการเริ่มทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ตนเข้าใจ

เพราะความยากของการผันตัวจากบริษัทรับจ้างผลิตมาเป็นผู้ขายด้วยตัวเองคือ การที่เขาไม่รู้ว่าจะต้องขายมันอย่างไร ทำให้ในช่วงแรกของการเริ่มธุรกิจ ธีรชัยใช้วิธีง่ายๆ อย่างการออกงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศ เน้นให้คนสนใจเดินเข้ามาหาแบรนด์เอง จนสามารถส่งออกสินค้าไปได้กว่า 50 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นรายได้หลักของแบรนด์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงโควิดระบาด ทำให้เปอร์เซ็นต์เกิดการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ Qualy หันมาโฟกัสกับตลาดในประเทศมากขึ้น

“ตอนนั้นการส่งออกชะงักไปหมด แต่กลายเป็นว่าเกิดมุมมองใหม่ว่าเราต้อง Strong ในประเทศด้วย เปอร์เซ็นต์เลยค่อยๆ ขยับมาอยู่ในประเทศ มันไม่ใช่ว่าต่างประเทศหด แต่เราบุกในประเทศมากขึ้น” เจ้าของแบรนด์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลง

รักษ์โลกแบบใช้ประโยชน์ได้

“โปรดักต์รักษ์โลกที่เข้าถึงคนได้ ไม่ควรทำให้ผู้บริโภคละทิ้งสิ่งที่เคยได้”

ประเด็นหนึ่งที่ Qualy เจอเมื่อลงมาเล่น Niche Market ในรูปแบบของ Eco-design คือ การพบว่าของ Eco-friendly ส่วนใหญ่ไม่ค่อย Friendly ต่อผู้ใช้เท่าไร หลายๆ ครั้งผู้ใช้จำเป็นต้องรอมชอมว่าสิ่งที่ได้มาอาจใช้ไม่ได้ดีหรือใช้ไม่ได้ยาวนานเหมือนวัสดุเดิมๆ ดังนั้นหากเป็นคนที่ไม่ได้อินหรือมีองค์ความรู้เรื่องวัสดุรีไซเคิลหรือสิ่งแวดล้อม สินค้าแบบนี้จะทำการตลาดได้ยาก

Qualy

“เวลาคนสนใจของ เขาจะสนใจจากตัวเขาเองเป็นหลักว่าฉันชอบแบบนี้ แล้วจึงค่อยไปดูว่ามันช่วยโลกเราได้ไหม ถ้าได้ก็ดี ถือเป็นผลพลอยได้” จากประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนาน ธีรชัยสรุปอินไซต์ที่ได้รับให้เราฟัง

เพราะฉะนั้นวิธีคิดของ Qualy จึงตั้งต้นจากการทำความเข้าใจคุณสมบัติของขยะที่ได้มา เพื่อค้นหาศักยภาพในการนำไปใช้อย่างเหมาะสม ทั้งฟังก์ชันการใช้งานที่ดี และดีไซน์ให้สวยงามดึงดูดใจผู้บริโภค เปรียบเหมือนการพัฒนาคนให้ทำงานที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพและความสามารถของพวกเขา

ใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

หลักการออกแบบงานแต่ละชิ้นของ Qualy มีมุมมองง่ายๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือการออกแบบโดยคำนึงถึง ‘ก่อนใช้’ ‘ระหว่างใช้’ และ ‘หลังใช้’

ก่อนใช้ที่ว่า เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกวัสดุที่มีความยั่งยืนในการสร้างสรรค์ตัวชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหมุนเวียนหรือวัสดุพลาสติกรีไซเคิล 

“มันแปลว่าเราไม่ต้องไปดึงอะไรจากธรรมชาติ ซ้ำยังเป็นการกำจัดขยะไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือไปเอาวัสดุที่เป็นขยะกลับมาเป็นทรัพยากร” ธีรชัยบอก

ส่วนขั้นตอนการผลิต Qualy ยังคำนึงถึงเรื่อง Zero Waste เป็นสำคัญ ตั้งแต่ควบคุมไม่ให้มีเศษขยะเหลือใช้จากการผลิตเยอะจนเกินไป ใช้พลังงานสะอาด จัดทำกระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่าปกติ ไปจนถึงมุมมองทางด้านสังคมอย่างการจ้างงาน ซึ่งธีรชัยมองว่าล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกัน

Qualy

“มันมีวลีที่บอกว่า ‘เอาขยะมาทำขยะ’ เราจึงพยายามไม่ดีไซน์อะไรที่ฮิตชั่วครู่ชั่วคราว แต่คิดเผื่อถึงเรื่องความทนทาน เพราะจุดอ่อนของพลาสติกคือซีดได้ง่ายเมื่อโดนแดด เราจึงพยายามเลี่ยงอะไรที่เป็นสีสดหรือสีขาว เพื่อให้มันไม่ดูเก่าเร็ว” เขาเล่าถึงหลักคิดง่ายๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานสักชิ้นออกมา

ไม่ใช่แค่โปรดักต์ที่น่าสนใจ แต่วิธีการเข้าถึงคนส่วนใหญ่ก็เป็นคีย์สำคัญที่ทำให้แบรนด์โปรดักต์ดีไซน์แบรนด์นี้ประสบความสำเร็จด้วย เห็นได้จากการทำการตลาดหรือการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ที่เราพบว่าทาง Qualy มักออกแบบคอนเทนต์ทั้งขายของและสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นสังคมได้อย่างสนุกสนาน ชวนให้กดอ่านอยู่เสมอ

ที่เป็นแบบนี้ ธีรชัยบอกกับเราว่า เพราะไม่อยากให้การโพสต์ขายของแต่ละครั้งเสียเปล่า อย่างน้อยควรให้คนอ่านได้อะไรกลับไปด้วย ต่อให้คนที่เห็นโพสต์เขาจะไม่ได้ซื้อสินค้าของแบรนด์ก็ตาม

ไม่ต้องซื้อหนึ่งอันไว้ใช้ หนึ่งอันไว้โชว์

Qualy

เชื่อว่าหลายคนเป็นลูกค้าของ Qualy เพราะสะดุดตากับดีไซน์ ความสร้างสรรค์ และแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในแต่ละชิ้นงาน ซึ่งแค่มองก็รู้ได้เลยว่าผลงานชิ้นนี้กำลังสื่อสารเรื่องอะไรออกมา

แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ธีรชัยให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน

“นอกจาก Aesthetic โปรดักต์จำเป็นต้องตอบโจทย์ แก้ Pain Point อะไรบางอย่างที่เขาเจอมาตลอดด้วยความคิดสร้างสรรค์”

อย่างที่บอกว่า Qualy พยายามที่จะไม่ดีไซน์อะไรที่ฮิตชั่วครู่ชั่วคราว เพื่อให้ของชิ้นหนึ่งใช้งานได้อย่างยาวนาน เรื่องวิชวลความสวยงามจึงเป็นโจทย์สำคัญของการดีไซน์สินค้าแต่ละชิ้น

Qualy

“หลายคนชอบซื้อของมาตั้งให้บ้านสวย เราเลยพยายามออกแบบให้โปรดักต์ของเราตั้งโชว์ได้ด้วย เป็นของประดับเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อให้เขารู้สึกว่าของชิ้นนี้ถูกใช้งานตลอดเวลา ต่อให้ไม่ได้หยิบออกมาใช้ก็ตาม” ธีรชัยบอกกับเรา

และเพื่อยืดอายุการใช้งานชิ้นงาน ทาง Qualy ยังมีชิ้นส่วนอะไหล่สำรองที่ลูกค้าขอซื้อไปทดแทนชิ้นเก่าที่หายหรือชำรุดได้ด้วยเช่นกัน

“ในการออกแบบจะมีบางชิ้นส่วนที่เรารู้ว่ามันจะพังหรือหลุดหายได้จากการใช้งาน อันดับแรกคือ เราพยายามเสริมความแข็งแรงตั้งแต่ขั้นตอนดีไซน์ก่อน อันดับต่อมาคือ ทำให้มันถอดเปลี่ยนได้ และมีอะไหล่บางตัวสำหรับรับรอง เพื่อให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าใหม่ทั้งชิ้น

“ถ้าเทียบกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันนี้เหมือนอยู่ในหมวดป่วยใกล้ตาย ที่เราสามารถยืดอายุมันออกไปได้อีกหน่อย” เจ้าของแบรนด์เปรียบเทียบด้วยเสียงหัวเราะ

ใช้งานจบ แต่วงจรชีวิตไม่จบ

แต่ถ้ายืดอายุชิ้นงานไปจนถึงระยะหนึ่ง จนเข้าสู่สเตจที่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้แล้ว ทาง Qualy ก็ยังมีบริการ ‘คืนซากแลกส่วนลดได้’ ที่เปิดให้ผู้ซื้อส่งสินค้าที่หมดสภาพการใช้งานคืนกลับมาที่แบรนด์ โดยผลิตภัณฑ์ที่เหลือซากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้เป็นส่วนลด 20 บาทในการซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อไปที่ Qualy Design Space

“แต่เราเข้าใจว่าบางทีค่าเดินทางมาที่ Qualy Design Space อาจจะมากกว่าส่วนลดที่เราให้กลับไป เลยเกิดเป็นโครงการ ‘Qualy Circular (QC)’ เพื่อรับบริจาคพลาสติกอื่นๆ ที่ทุกๆ 1 กิโลกรัม ใช้เป็นส่วนลด 20 บาทเพิ่มได้อีก” ธีรชัยเล่าถึงกระบวนการหลังใช้งานที่ทางแบรนด์ให้ความสนใจไม่แพ้กัน

ถัดมาคือการนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่รับคืนมารีไซเคิล ซึ่งเขาบอกกับเราว่า จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ Qualy ถูกออกแบบมาในลักษณะ ‘Design for Disassembly (DfD)’ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าการดีไซน์ให้สามารถแยกส่วนได้ง่ายด้วยมือเปล่า ซึ่งคิดเผื่อมาถึงขั้นตอนการรีไซเคิลอยู่แล้ว

เพราะอันดับแรกในการรีไซเคิลคือ ต้องแยกชิ้นส่วนไปตามวัสดุหรือสี เพื่อให้นำไปรีไซเคิลได้จริง และทำให้วัสดุเหล่านั้นมีโอกาสหมุนเวียน โดยไม่ให้สุดท้ายกลายเป็นขยะกำพร้า

Qualy

จับมือองค์กรอื่นสื่อสารประเด็นสังคม

“เราพบว่าทุกปัญหา หากย้อนกลับไปเรื่อยๆ ล้วนแล้วแต่มีคนมาเกี่ยวข้อง ความเหลื่อมล้ำ คนด้อยโอกาส คนชายขอบ หรือคนพิการ มีหลายมิติที่เราพบว่ามันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ทั้งเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราอยากขยายมิติของการออกแบบเพื่อใช้สื่อสารออกไปด้วย” ธีรชัยกล่าวถึงจุดยืนของ Qualy ในปัจจุบัน

จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันเราจะเห็น Qualy เริ่มจับมือกับองค์กรต่างๆ ทำงานสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘พระสติ’ มวลสารที่สร้างขึ้นจากการนำขยะพลาสติกหมดสภาพหลายชนิดมาเข้ากระบวนการขึ้นรูป เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าอีกครั้ง ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกันผ่านการชวนคนกลับมาคิดอย่างมีสติ

‘เล่นเส้น’ ปากกาวาดรูปจากไหมพรม ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Qualy และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด บริษัทออกแบบและผลิตสื่อการศึกษาและของเล่นสำหรับเด็กพิการ อุปกรณ์วาดเขียนเน้นการสัมผัสโดยใช้ไหมพรมและเทปหนามเตยในการวาดเส้น ทำให้ผู้พิการทางสายตาสัมผัสรูปร่างที่เขียนได้จากการใช้ปลายนิ้ว

Qualy

และต่อยอดความสนใจเกี่ยวกับการออกแบบแบบ Universal Design เพื่อให้คนมองไม่เห็นสามารถมีส่วนร่วม เกิดเป็น ‘Tactile Cube’ เกมรูบิกผิวสัมผัสแบบ 2 × 2 ที่ได้ไอเดียมาจากทางเดินของผู้พิการทางสายตาอย่าง ‘Braille Block’

Qualy

“เป็นเกมที่คนตาบอดเล่นได้ คนตาดีก็เล่นได้” ธีรชัยอธิบายอย่างง่ายๆ ให้เราเข้าใจ

ในอนาคตเรายังอาจจะเห็น Qualy ไปคอลแลบกับองค์กรอื่นๆ เพื่อสื่อสารประเด็นสังคมที่หลากหลายมากขึ้น “เรามีแพลนที่จะไปร่วมมือกับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น พยายามจะไปต่อเป็นจิ๊กซอว์ของคนอื่น ไปร่วมกับมูลนิธินั้นนี้ที่อยู่นอกกรอบของเรา”

ความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการยืนหยัดสื่อสารประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยการออกแบบเชิงนิเวศ (Eco-design) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากเดิมที่อาจมีเพื่อนร่วมทางน้อย แต่ในปัจจุบันก็นับได้ว่ามีหลายแบรนด์ที่ลงมาเล่นในตลาดความยั่งยืนนี้

ธีรชัยมองว่าการที่หลายแบรนด์หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะต่อให้จะทำเพื่ออะไร แต่สุดท้ายแล้วเรื่องที่พวกเขาเหล่านั้นทำก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Awareness ให้กับคนในสังคม สร้างการรับรู้ว่าตอนนี้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบไหน และการใช้วัสดุหรือกระบวนการที่มีความยั่งยืนจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือปัญหานี้ได้อย่างไร

Qualy

“มันเป็นเรื่องดีที่หลายแบรนด์มองเรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องทำ หรืออย่างน้อยที่สุดมองเป็นจุดขายก็ยังได้ เวลาอะไรที่คนเข้ามาร่วมเยอะๆ มันจะเกิดมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่คนเริ่มแห่เข้ามา”

เขายังเสริมอีกว่า การนำเสนอประเด็นใดประเด็นหนึ่งซ้ำๆ จากหลากหลายแบรนด์ในท้องตลาด จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคคุ้นตาและเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น จนอาจขยับสู่สเต็ปต่อไปอย่างการตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังบริโภคในชีวิตประจำวัน และเมื่อนั้นจึงจะใกล้เข้าสู่เป้าหมายที่ Qualy ตั้งเอาไว้

“เป้าหมายของเราคือ Design for a Sustainable World ออกแบบเพื่อโลกที่ยั่งยืน แปลว่าถ้าโลกยั่งยืนถึงจะสำเร็จ” ธีรชัยกล่าวทิ้งท้าย

Qualy

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.