เพอร์…เพอร์…เพอร์
เสียงร้องเพอร์ของ ‘สาลี’ แมวส้มตัวกลมแก้มอ้วน เป็นเสียงแรกที่เราได้ยินหลังเข้ามาในสตูดิโอสีขาวสบายตา ซึ่งตั้งเด่นอยู่กลางซอยนาคนิวาส 48 ส่วนเสียงถัดมาคือเสียงของ ‘จอม–จอมใจ ละอองแก้ว’ อดีตอินทีเรียดีไซเนอร์ผู้สร้างแบรนด์ปลอกคอนิรภัยแมว ‘เพอร์คราฟต์’ (Purrcraft) และเจ้าของ Purrcraft Studio แห่งนี้ ที่กำลังเล่นกับแมวส้มตัวดังกล่าวพร้อมบอกเราว่า
เสียงเพอร์ คือเสียงร้องแมวที่ออกมาเฉพาะตอนมีความสุข และนั่นเป็นที่มาของคำแรกบนชื่อแบรนด์ของเธอ
จอมบอกว่าอยากเห็นทาสแมวและแมวมีความสุข
จอมบอกว่าอยากให้เพอร์คราฟต์เป็นมือเล็กๆ ที่ช่วยให้คนใส่ใจความปลอดภัยในการเลี้ยงแมว
และจอมยังบอกอีกว่าเพอร์คราฟต์อยากช่วยเหลือแมวจรจัด และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านชุมชนบ้านสันกอง จ.เชียงราย และนักโทษชายประจำเรือนจำกลางเชียงราย จากการปัก ถัก ร้อย ปลอกคอแมวของเธอ

ปลอกคอแมวนิรภัยของ (ไม่) ใหม่ที่ควรเลือกให้แมว
เราเปิดบทสนทนากับจอมด้วยคำถามเรียบๆ ว่าอะไรคือปลอกคอแมวนิรภัยและมันต่างจากปลอกคอแมวธรรมดาอย่างไร จอมยิ้มเล็กๆ ก่อนตอบเราว่านี่เป็นคำถามยอดฮิตที่ลูกค้ามักถามเธอก่อนซื้อ
“ปลอกคอนิรภัยแมวต่างจากปลอกคอทั่วไปตรงที่ตัวล็อคของปลอกคอทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายก้ามปู วิธีปลดล็อคของมันคือปลดล็อคจากด้านข้างเท่านั้น เวลาแมวเล่นซน ที่ว่างของปลอกคออาจไปเกี่ยวกับรั้ว กิ่งไม้ หรือเหล็ก ทำให้เขาไม่สามารถหลุดออกจากอันตรายตรงนั้นได้
“แต่ตัวล็อคนิรภัยหรือ Safety buckle ที่ต่างประเทศนิยมมาทำปลอกคอแมว วิธีปลดล็อคจะเป็นการดึงซ้ายและขวาพร้อมกัน เวลาแมวตกใจมากๆ แรงของเขาจะสามารถทำให้หลุดออกมาได้เอง” จอมอธิบายให้ฟังเหมือนที่อธิบายให้ลูกค้าฟังมาตลอด 3 ปี
ปลอกคอนิรภัยแมวยังไม่เป็นที่นิยมในไทยเท่าไหร่นัก ผิดกับฝั่งสหรัฐอเมริกา หรือ ไต้หวันที่ตัวล็อคนิรภัยไม่ใช่ new normal สำหรับพวกเขา จอมเลยอยากสร้างแบรนด์ที่เป็นทางเลือกด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในไทยอย่างจริงจัง
“จอมรู้สึกกลัวกับความคิดคนไทยบางคนมาก เขายังคิดอยู่เลยว่าแมวมี 9 ชีวิต จริงๆ ไม่ใช่แมวทุกตัวจะกระโดดเก่งนะ แล้วก็ไม่ใช่แมวทุกตัวจะเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์”
.
ความปลอดภัยของแมว = ความสุขของเพอร์คราฟต์
หลังจากแต่งงานและลาออกจากงานอินทีเรียด้วยเหตุผลที่ว่าสุขภาพจิตของเธอแย่ลง แม้จะได้เงินก้อนโตแต่แลกมาด้วยระบบทุนนิยมที่ต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียว จนบางครั้งถึงกับนั่งร้องไห้ขณะสเก็ตช์งาน จอมก็เริ่มหางานใหม่โดยตั้งต้นว่าอยากทำงานที่ทนได้ อยู่ด้วยได้ และแย่ที่สุดหากไม่เวิร์คเธอจะต้องรับมือกับมันได้ จนพลางนึกเล่นๆ ว่าตลอดชีวิตตั้งแต่จำความได้ เธอผูกพันและคลุกคลีกับแมวมาโดยตลอด ตอนเด็กๆ เวลาออกไปเล่นนอกบ้าน หากเจอแมวจรจัดก็มักอุ้มกลับบ้านมาทีละตัว และหากแมวตัวใดตัวหนึ่งจากไป เธอก็มักเก็บแมวจรจัดมาเลี้ยงใหม่แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ เธอก็ยังเป็นคุณแม่ (แมว) ลูกสาม ที่คอยเลี้ยงโสน สะเดา และสาลี สามแมวจรตัวล่าสุดที่อยู่กับเธอมาแล้ว 5 ปี

ความรักที่มีต่อแมวคือเหตุผลที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดของจอม เธออยากสร้างแบรนด์ที่เกี่ยวกับแมว จึงเลือกทำปลอกคอแมวธรรมดาขายก่อน เพราะอยากตั้งตัวกับอาชีพใหม่ที่เร็วและง่าย โดยขอแรงจากเพื่อนที่เป็นช่างตัดชุดเจ้าสาว ให้ช่วยสอนวิชาการเย็บผ้าที่เธอไม่ถนัด เพื่อนำไปวางขายที่ตลาดนัด Little tree market
แต่จอมกลับเปลี่ยนใจกระทันหันก่อนวางขาย 1 เดือน เพราะมีเหตุการณ์ให้เธอทำตัวล็อคนิรภัยแทนตัวล็อคธรรมดา เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อจอมไปยืมแมวเพื่อนมาเป็นนางแบบปลอกคอให้เธอ วันนั้นเพื่อนทักเธอว่าไม่เคยได้ข่าวเหรอว่าแมวที่ใส่ปลอกคอธรรมดาเพิ่งตายไปเพราะปลอกคอเกี่ยวกับรั้ว
เหตุการณ์ถัดมายิ่งย้ำใจจอมให้เปลี่ยนใจทันที เมื่อเพื่อนอีกคนโทรมาเล่าให้ฟังว่าแมวของเขาเข้าไปเล่นในห้องน้ำแล้วพยายามง้างปลอกคอออก ทำให้สายปลอกคอรัดแน่นตรงปากและกราม สุดท้ายปากฉีก เลือดไหลเต็มห้องน้ำ
“จอมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าปลอกคอแมวธรรมดาจะอันตรายกับแมวได้ขนาดนั้น ถ้ามันเกิดกับแมวของเรา เราคงทำใจไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับแมวใครอีกแล้วด้วย” นั่นทำให้เธอใช้เวลาในเดือนสุดท้ายหาข้อมูล สั่งซื้อ และเปลี่ยนมาใช้ตัวล็อคนิรภัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเพอร์คราฟต์ตั้งแต่นั้นมา
.
เป็นมิตรกับแมวตั้งแต่เลือกผ้ายันดีไซน์
ตั้งแต่สร้างแบรนด์ จอมไม่เคยหยุดพัฒนาและค้นหาผ้าที่ถูกกับผิวสัมผัสแมวมากที่สุด เพราะเธอไม่ได้ทำให้แค่เพอร์เฟรนด์ (ชื่อเรียกแมวที่เป็นลูกค้าของเธอ) ใส่อย่างเดียวแต่เธอทำให้แมวของตัวเองใส่ด้วย เธอจึงกังวลเรื่องอาการแพ้ของแมวเป็นพิเศษ
จอมเป็นคนชอบเดินตลาดสินค้าหัตถกรรม และตลาดนัดชุมชนตามต่างจังหวัด เมื่อจะทำปลอกคอขาย เธอจึงไม่ลืมไปเดินสำรวจผ้าตามจังหวัดต่างๆ ที่จะสร้างเสน่ห์ให้ปลอกคอนิรภัยแมวของเธอมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

‘ฝ้าย ลินิน และผ้าขาวม้าหมักโคลน’ คือผ้าธรรมชาติชนิดล่าสุดที่เพอร์คราฟต์เลือกใช้
“เริ่มแรกจอมเลือกผ้าฝ้าย เพราะตอนหาข้อมูล ถ้าไม่ใช่ผ้าฝ้ายหรือผ้าเส้นใยธรรมชาติ แมวใส่แล้วขนจะร่วง หากใช้หนังหรือผ้าที่มีความชื้นจะทำให้กัดผิวจนขนร่วงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเส้นใยธรรมชาติจะเหมาะกับแมวนะ ก่อนหน้านี้เคยลองทำผ้าจากผักตบชวา ปรากฎว่าออกมาสวยมาก แต่กลับไม่ฟังก์ชัน เพราะถ้าไม่หมั่นทำความสะอาดและตากให้แห้ง มันจะชื้นง่าย จนเกิดเชื้อรา เราเลยหยุดทำ และทดลองอะไรใหม่ๆ แทน”
ส่วนผ้าขาวม้าหมักโคลน เกิดจากความบังเอิญของจอม หลังจากที่เธอสงสัยว่าผ้าขาวม้าของพ่อที่ดูโบราณและเนื้อผ้าแข็งจะสามารถทำให้ดูเก๋และเนื้อสัมผัสดีได้อย่างไร บังเอิญเธอได้ไปเที่ยวจังหวัดนครปฐมและเจอกับร้านขายผ้าขาวม้าแห่งหนึ่ง ที่บางลายกลับไม่เชยและนุ่มสุดๆ จึงแอบไปถามเคล็ดลับจากเจ้าของร้านจนได้คำตอบว่า ผ้าขาวม้าทั่วไปจะมีสารเคมีจากสีที่โดนเนื้อผ้าโดยตรง หากนำมาทำปลอกคอแมว เคมีจะสัมผัสกับแมวเต็มๆ ต้องนำไปหมักโคลน 1 คืน เพื่อทำให้ผ้านุ่ม และช่วยล้างสารเคมีออกไป จอมเลยถูกชะตานำผ้าขาวม้าหมักโคลนกลับมาดีไซน์ใหม่ให้สวยในแบบฉบับของเธอ

นอกจากเลือกผ้าแล้ว งานดีไซน์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จอมให้ความสำคัญ จอมบอกว่าเลือดนักออกแบบของเธอพลุ่งพล่านเมื่อเธอได้ช่วยลูกค้าเลือกสีและดีไซน์ในแต่ละคอลเลคชันให้เหมาะกับแมวแต่ละพันธุ์ แต่ละไซซ์ และแต่ละนิสัย เธอบอกว่านี่คงเป็นข้อดีของการเป็นอินทีเรียที่หลงเหลือในตัวเธอ เพราะชอบที่จะเห็นดีไซน์และสีถูกแมทช์ให้เข้ากับน้องแมว
“หากเป็นแมวขี้รำคาญควรเลือกแบบเส้นเปล่าที่ใส่สบาย มีแค่จี้ก็พอ ถ้าเป็นแมวขนยาวจะเหมาะกับรุ่นผ้าสามเหลี่ยมหรือโบว์ใหญ่ๆ หากเป็นแมวเมนคูนใส่เล็กๆ ไม่ได้เพราะมองไม่เห็น ส่วนแมวตัวไหนเดินเบาแนะนำแบบกระดิ่งดีกว่า หรือถ้าเป็นแมวจิงเจอร์สีส้มใส่โทนสีฟ้านั่นแหละ เป็นคู่สีตรงข้ามที่เหมาะที่สุดแล้ว
“แมวก็เหมือนคนที่มีต่างไซซ์ ต่างสี ต่างนิสัย เราอยากให้ลูกค้าซื้อไปแล้วรู้สึกพอใจ อยู่บนตัวแมวแล้วทั้งสวยและฟังก์ชัน เลยจะเช็คลิสต์ทุกครั้งว่า แมวคุณเพศอะไร สีอะไร นิสัยอย่างไร เราก็จะแนะนำให้เขาคุ้มค่าที่สุด”
สร้างรายได้ให้ชุมชนและนักโทษชาย
การไปเดินสำรวจผ้าตามชุมชนต่างๆ ไม่เพียงทำให้จอมได้เจอผ้าเจ๋งๆ ที่นำมาทำปลอกคอแบรนด์อย่างเดียว แต่ยังได้เจอคนเจ๋งๆ อย่าง ‘ป้านิ-นิธี สุธรรมรักษ์’ ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านสันกอง จ.เชียงราย ที่ทำให้เธออยากสนับสนุนฝีมือชาวบ้านในชุมชน และนักโทษชายประจำเรือนจำกลางเชียงราย

ครั้งแรกที่จอมเจอป้านิ คืองาน OTOP เธอสะดุดตากับงานปักที่เรียงอยู่หน้าร้านของป้านิ จึงเดินไปนั่งคุยด้วยอยู่ครึ่งวัน ได้ความว่าป้านิเป็นครูสอนชาวบ้านในชุมชนให้ปักผ้าสร้างรายได้ รวมไปถึงเข้าไปสอนฝึกอาชีพให้นักโทษชายในโรงจำกลางเชียงรายอีกด้วย จอมบอกว่าเธอชื่นชมในความพยายามของป้านิ เพราะกว่าจะสอนผู้ชายให้ปักลายออกมาได้อย่างประณีตไม่ใช่เรื่องง่าย แกต้องเข้าไปฝึกเป็นเดือนๆ อีกทั้งยังชื่นชมชาวบ้านและนักโทษชายที่มีความมุ่งมานะตั้งใจเรียนในสิ่งที่ป้านิสอน จอมเลยอยากสนับสนุนฝีมือเหล่านั้น จนเกิดเป็น ‘MALA’ รุ่นซิกเนเจอร์รุ่นเดียวของเพอร์คราฟต์ที่โดดเด่นจากงานปักมือลายดอกไม้จิ๋วฝีมือชุมชนและนักโทษ
แม้ปัจจุบันเพอร์คราฟต์จะขยับขยายจากการเย็บเองคนเดียวของจอมในปีแรกมาเป็นมีผู้ช่วยแล้ว แต่หากมีปัญหาเรื่องไซซ์ ผ้าไม่เนี๊ยบ หรืองานไม่เป็นดั่งใจ เธอจะลงมือแก้ไขเอง และคอยตอกป้ายชื่อบนปลอกคอแมวนิรภัยก่อนถึงมือลูกค้าเองทุกชิ้น
.
ช่วยเหลือแมวให้ถูก เพื่อแมวเพื่อเมือง
อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของจอมในการสร้างเพอร์คราฟต์ คือการช่วยเหลือแมวจรจัด ทุกวันนี้จอมมักจัดแคมเปญลดราคาสินค้าเพื่อนำรายได้ในแต่ละครั้งไปบริจาคให้มูลนิธิสัตว์พิการเพื่อช่วยแมวจรจัดในทุกๆ 1-2 เดือน

ช่วงแรกที่จอมทำแบรนด์ เธอไม่เลือกเลยว่าจะเอาเงินที่ได้ไปบริจาคที่ไหน ใครมาบอกอะไรก็เชื่อเขาหมด แต่หลังๆ มาเธอได้รู้ว่าบางที่รับแมวมาดูแลโดยที่ไม่พร้อมเลี้ยง ปัจจุบันเธอจึงเลือกเฉพาะองค์กรที่เชื่อถือได้ มีที่มาที่ไปชัดเจน และให้ feedback กลับมาได้ว่าเงินที่เธอให้ไป ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ของแมวดีขึ้นอย่างไร
ก่อนจากกันจอมฝากเราทิ้งท้ายถึงคนเลี้ยงแมวว่า…
อยากให้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของแมวให้มากๆ หากคิดจะเลี้ยง อยากให้มองเขาเป็นลูกคนหนึ่ง ต้องเลี้ยงเขาให้ดี ให้ความปลอดภัย และไม่ทิ้งเขาให้ลำบาก
“ลูกค้าสิงคโปร์มาเล่าให้เราฟังว่า ที่บ้านเขา ไม่ว่าบ้านหรือคอนโดฯ จะสูงแค่ไหนต้องกั้นตาข่ายป้องกันไว้แทบทุกที่ หรือตามไต้หวันแมวทุกตัวก็ใส่ปลอกคอนิรภัยกันหมด คือเรารู้สึกว่าเขารับผิดชอบชีวิตดีจังเลย
“ส่วนบ้านเรา จอมมองว่าอันดับแรกอยากให้เกิดการรณรงค์ว่าการทำหมันแมวไม่ใช่เรื่องบาป ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และควรส่งเสริมให้คนเลี้ยงตามกำลังเพื่อลดปัญหาแมวจรจัด อยากให้เกิดการให้ความรู้ตรงนี้มากๆ ยิ่งถ้ามีติดจีพีเอสแมวฟรี หรือทำหมันฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จอมว่าบ้านเราจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”