‘หนี้สาธารณะ’ คำคุ้นหูที่ทำหลายคนส่ายหัว และอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ถ้าบอกว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อค่ารถสาธารณะที่เราใช้บริการทุกวัน หรือค่าอาหารกลางวันที่เรากินทุกมื้อ สิ่งเหล่านี้มีราคาต้องจ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ พูดง่ายๆ คือมีเงินเท่าเดิม แต่ของทุกอย่างกลับแพงขึ้น แล้วแบบนี้หนี้สาธารณะยังเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ไหม?
หนี้สาธารณะกำลังอยู่รอบตัวเรา และอาจทำให้โปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่างรัฐสวัสดิการ อินเทอร์เน็ตฟรีเพื่อประชาชน ระบบขนสาธารณะราคาถูก ระบบการศึกษาที่ดี อาจเกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศไทยอีกต่อไป รายงานล่าสุดเมื่อมิถุนายน 2564 สะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยกำลังใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับหนี้สาธารณะที่เกาะบนหลังจำนวนกว่า 8,825,097.81 ล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดภายในประเทศ (GDP) จะอยู่ที่ 55.20 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขเหล่านี้ทวีความสำคัญกับชีวิตของเรามหาศาล เราจึงต้องรู้และเข้าใจข้อมูลชุดนี้แบบห้ามละสายตา
เรื่องยากๆ ชวนปวดหัวเหล่านี้ทำให้เราต้องไปพูดคุยกับ ‘ดร.เดชรัต สุขกำเนิด’ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อคลายข้อสงสัย และเปลี่ยนเรื่องหนี้ให้กลายเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น
หนี้สาธารณะ หนี้ที่ไม่ได้ร้องขอ แต่ทุกคนจำเป็นต้องช่วยจ่ายทุกสลึง
กล่าวให้ง่ายที่สุด หนี้สาธารณะตอนนี้คือหนี้ที่รัฐบาลก่อ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐใช้เงินในแต่ละปีมากกว่ารายได้ที่หามา เรียกง่ายๆ ว่า ‘งบประมาณขาดดุล’ หรือภาษาชาวบ้านว่า เงินช็อต สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเงินไม่พอใช้ คือการที่รัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งเงินต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อสร้างสมดุลของบัญชีรายรับ-รายจ่าย และเพื่อนำกลับมาใช้บริหารประเทศ
“จริงๆ การขาดดุลงบประมาณไม่ใช่เรื่องแปลก หากรัฐกู้สถานการณ์ให้งบกลับมาสมดุลได้ แต่ประเทศไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลสะสมมาเป็นเวลากว่าสิบสี่ปีแล้ว โดยเริ่มต้นสะสมหนี้มาตั้งแต่ปี 2550 และกำลังจะเข้าสู่ปีที่สิบห้า กลายเป็นหนี้สะสมก้อนโตที่รัฐก่อ แต่ประชาชนทุกคนเป็นคนจ่าย เพราะรายได้หลักของรัฐบาล เกิดขึ้นจากภาษีที่เรียกเก็บจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปจนกระทั่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราต้องเสียทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้าและบริการ”
และอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของหนี้สาธารณะที่ต้องพูดถึงก็คือ GDP หรือรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ตัวเลขนี้เองเป็นตัวกำหนดอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละปี และใช้เป็นมาตรฐานเทียบความสามารถด้านการชำระหนี้ของประเทศ
และแล้วความซวยก็มาถึง เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น ทำให้ตัวเลขของหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปถึง 55.20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีแนวโน้มว่าหากสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆ ยังเปิดแบบปกติไม่ได้ ประชาชนยังติดแหง็กในบ้าน และมีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น เรื่องเหล่านี้อาจกลายเป็นฝันร้ายหลอกหลอนคนไทย เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะทะยานไปแตะที่เส้นเพดานความมั่นคงที่การคลังตั้งไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนทุกคนได้เป็นหนี้บานมากขึ้นถ้วนหน้านั่นเอง
รัฐกู้ แต่กูเสือกซวย
เมื่อเรากู้เงินใครมาก็ต้องถึงคราวชำระหนี้ ความน่ากังวลจึงเกิดขึ้น เพราะหนี้สาธารณะส่งผลโดยตรงให้งบประมาณประจำปีที่ลดลง เนื่องจากรัฐต้องแบ่งเงินทุนที่หามาได้เพื่อชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ ที่รัฐกู้มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ หรือราวๆ 3 แสนล้านบาท ของวงเงินทั้งหมดในแต่ละปี และหากหนี้สาธารณะของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น ย่อมทำให้ภาครัฐต้องปรับสัดส่วนการชำระหนี้สาธารณะให้มากขึ้นเช่นกัน จากที่แต่เดิมเคยจ่ายอยู่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ อาจกลายเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เพียงพอต่อหนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นมาใหม่
“อาจจะดูเหมือนน้อยนะ ถ้าเราพูดถึงตัวเลขแค่สามเปอร์เซ็นต์ แต่อย่าลืมว่าทุกๆ เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงเม็ดเงินราวสามหมื่นล้านบาทที่รัฐต้องเสียไป ตรงนี้แหละที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนเพราะงบประมาณที่จะใช้นำมาพัฒนาประเทศได้หายไป ไอ้ตัวเลขสิบสามเปอร์เซ็นต์ ที่เรากำลังเผชิญอาจหมายถึงเงินแสนล้านบาทที่เราทุกคนต้องแบกรับ” อาจารย์เดชรัต อธิบายภาพผลกระทบให้เราเข้าใจกันมากขึ้น
แล้วมันส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร? เดชรัตอธิบายเพิ่มเติมว่า “ปัญหาแรกคือรัฐต้องนำเงินที่มีไปชำระเงินกู้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาษีที่เราเสียไป และคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์ หรือได้รับเป็นบริการคืนมา ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตฟรี ทางเท้าดีๆ โรงเรียนที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับเด็ก สวัสดิการของผู้สูงอายุ และบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ เรื่องทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวพันกับหนี้สาธารณะทั้งสิ้น เพราะแทนที่รัฐจะนำเงินไปลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน แต่สิ่งที่ต้องทำนั่นคือการนำเงินก้อนโตไปชำระหนี้ ทำให้การพัฒนาสังคมต่างๆ ทำได้น้อยลง กลายเป็นความน่ากังวลด้านการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับโลกในอนาคต”
เจ็บหนี้อีกนาน ก้าวต่อไปของการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในไทย
สิ่งที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของประชาชนยังไม่จบนอกจากหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องแบกรับ ยังมีรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 18 ปี จากการเกิดขึ้นของวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนรายได้หดหายและธุรกิจล้มตาย จนทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาประทังชีวิต
“หนี้ครัวเรือนคือเงินในกระเป๋าของประชาชน พอประชาชนได้เงินเดือนมาเขาก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้ เมื่อจ่ายหนี้เขาก็ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้ GDP ของประเทศลดลงตาม และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงัก ในส่วนภาษีที่รัฐเก็บได้ก็ลดลง กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่กระทบกันไปเสียหมดทั้งโครงสร้าง”
เมื่อหนี้ครัวเรือนเป็นที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าหนี้สาธารณะและเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะจึงต้องเริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไปด้วยในเวลาเดียวกันเพราะนั่นหมายถึงขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และหมายถึงรายได้ในแต่ละปีของภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ เดชรัตมองเห็นความน่ากังวลใจในประเด็นนี้ จึงเสนอทางแก้ไข
“มีแนวทางการแก้ไขได้ด้วยการที่รัฐต้องกู้เงินเพิ่ม ฟังแล้วอาจดูตลก แต่มันมีวิธีที่เรียกว่าการถมหลุมรายได้ เพื่อให้ประชาชน และประเทศไปต่อได้ โดยหลักการทำงานคือเมื่อประชาชนรายได้ลดลง ประเด็นดังกล่าวจะทำให้เกิดหลุมทางเศรษฐกิจขึ้นมา สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้กับประชาชน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และเมื่อประชาชนได้ใช้จ่ายเงินต่างๆ ก็จะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ กลับเข้าสู่กลไกของตลาด ทำให้ค่า GDP กลับมาเติบโตมากขึ้น
รัฐต้องปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการจ่ายเงินโดยตรงสู่ประชาชนให้ประชาชน เพื่อให้ผู้คนกลับมามีเงินใช้จ่ายเหมือนในสถานการณ์ปกติ
“ถึงแม้ว่าการกู้เงินจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่พวกเราต้องแบกรับสูงขึ้น ทว่าในระยะยาวตัวเลขหนี้สาธารณะจะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง”
แต่ปัญหาของการกู้เงินเพิ่ม กลายเป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะกันในประเทศไทย เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่มั่นใจเรื่องการบริหารจัดการเงินของรัฐบาลว่าหากกู้เงินมาแล้วจะส่งผลให้ปัญหาที่มีอยู่บานปลายกว่าเดิมหรือไม่
ซ่อมได้ บทเรียนจากต่างประเทศที่บอกเราว่าหนี้สาธารณะเป็นปัญหาที่แก้ได้
ในระดับโลก นานาประเทศกังวลเรื่องหนี้สาธารณะน้อยกว่าหนี้ครัวเรือนของประชาชน ยิ่งในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติอย่างโควิด ทำให้นานาประเทศเลือกที่จะกู้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อถมหลุมรายได้ให้ประชาชน ให้เศรษฐกิจภาพรวมกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุด
ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยก็มีมาตรการด้านการถมหลุมรายได้ เพื่อเยียวยาประชาชนเช่นกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน หรือสนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ตกงาน โดยเราถมหลุมรายได้ไปราว 6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ ฟังดูอาจเหมือนว่ารัฐไม่ได้นิ่งดูดาย แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่บริหารจัดการได้ดี ถือว่าเรารับรองได้น้อยมาก ยังไม่นับรวมความยุ่งยากของการเข้าถึงเงินเยียวยา ที่เข้าไม่ถึงประชาชนหลายล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการหักหัวคิว และคอร์รัปชันมากมายตามหน้าข่าวที่เราได้เห็นอยู่ทุกวัน จนเกิดเป็นความกังวลของประชาชนและหลายฝ่ายที่มองว่าเศรษฐกิจเราจะรุ่งหรือจะร่วงจนเกินกอบกู้ได้ในอนาคต
“รัฐบาลประเทศอื่น เขาช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่านี้ อย่างประเทศอังกฤษ รัฐถมรายได้ไปกว่ายี่สิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ประเทศ ในฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจถมจำนวนยี่สิบแปดเปอร์เซ็นต์ หรือสวีเดนที่ถมหลุมรายได้กว่าสี่สิบสองเปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ซึ่งเขาทำด้วยการอัดฉีดเงินให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปต่อได้ ประกอบกับการเพิ่มวงเงินสินเชื่อ วงเงินช่วยเหลือประกันสังคม และยกเว้นภาษี เพิ่มตำแหน่งงานที่ขาดที่นั่ง รวมไปถึงการอัดฉีดเม็ดเงินโดยตรงให้กับประชาชน พูดง่ายๆ ต่างประเทศเขาถมกันเต็มที่ ยอมให้หนี้สาธารณะมันเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนของเขาได้กลับมามีชีวิตปกติได้
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐควรทำมากที่สุดตอนนี้ คือการเยียวยาประชาชนให้ทันท่วงที ด้วยการใช้เงินให้ถูกจุด โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้คนไทยได้กลับมามีชีวิตปกติสุขอย่างเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้การเพิ่มหนี้สาธารณะเพื่อทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงในระยะสั้น อาจจะเป็นยาแรงที่ใช้ฉีดรักษาพิษเศรษฐกิจจากโควิด แต่ยานี้จะทำให้กลไกระบบเศรษฐกิจของประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยเช่นเดิม ยิ่งไปกว่านั้นคือผลพวงที่รัฐจะได้ภาษีกลับมาพัฒนาประเทศ และฟื้นตัวได้ในที่สุด” อาจารย์เดชรัตเสริม
หากเราเปรียบการเสียภาษีเป็นเหมือนการลงทุนกับการทำงานของรัฐบาล ซึ่งคนไทยที่ควักเงินจ่ายต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นสวัสดิการดีๆ หรือคุณภาพชีวิตที่ดีตอบแทนกลับมา แต่ดูเหมือนว่าการลงทุนในครั้งนี้เราอาจไม่เห็นผลกำไรแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายประเทศไทยอาจกำลังเผชิญหน้ากับการขาดทุนอย่างย่อยยับ และหากไม่รีบแก้ไข เศรษฐกิจที่ดีอาจกลายเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ในอากาศ
นับจากวินาทีนี้ไป ในฐานะประชาชน เราจำเป็นต้องจับตาดู และตรวจสอบการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้ดีว่าการกู้เงินมหาศาลในแต่ละครั้ง จะช่วยสร้างความหวังให้ประชากรได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ ‘สิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลมากกว่าหนี้สาธารณะ คือการที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ของคนไทยทุกคนอย่างไม่มีประสิทธิผล’ จนอาจจะทำให้ประชาชนเป็นหนี้ท่วมหัวชนิดที่ว่าไม่ได้อะไรกลับมาสักแดง ดังนั้นอย่ายอมให้ภาษีที่จ่ายตกอยู่ในมือของคนที่ไม่เห็นคุณค่า ซ้ำยังคอยก่อหนี้ไร้ประโยชน์ที่เราไม่ได้ช่วยตัดสินใจให้กลับมาเล่นงานชีวิตจนสุขภาพเศรษฐกิจของเราย่ำแย่จนเกินทนไหว
Sources :
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สำนักงบประมาณ | https://bit.ly/3yIlgOZ
Money Buffalo | https://bit.ly/3gVVQaO