ในโลกทุนนิยมนั้นคงเป็นปกติที่เราจะเห็นโฆษณาสินค้ารายล้อมอยู่ตามที่ต่างๆ ตามความสร้างสรรค์ ตั้งแต่บนป้ายบิลบอร์ด ในโซเชียลมีเดีย จนไปถึงข้าง ‘รถเมล์’
รถเมล์ไม่ได้เป็นแค่รถสาธารณะที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารไปยังปลายทาง แต่ยังเป็นพื้นที่โฆษณารูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยนับว่าเป็น ‘สื่อเคลื่อนที่’ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่กับที่เหมือนป้ายโฆษณาอื่นทั่วไป แต่จะวิ่งไปตามที่ต่างๆ รอบเมืองตลอดทั้งวัน โอกาสที่ผู้คนจะได้เห็นโฆษณาบนรถเมล์จึงมีมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของโฆษณานี้มากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาโฆษณาบนรถเมล์จะไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมย์สำหรับผู้โดยสารเท่าไร เพราะหลายครั้งก็ติดทับกระจกจนคนข้างนอกรถมองไม่เห็นข้างใน ส่วนคนข้างในรถก็มองเห็นแต่ร่องจุดเล็กๆ ชวนเวียนหัว ยิ่งถ้าฝนตกเมื่อไร ร่องเล็กๆ ที่เจาะไว้ก็มักมีน้ำซึมเข้ามาจนผู้โดยสารในรถแทบจะถูกตัดขาดการมองเห็นโลกภายนอกไปเลย
ไม่ใช่แค่บดบังทัศนียภาพ แต่ยังชวนสงสัยไปถึงความปลอดภัยอื่นๆ เพราะรถเมล์บางคันติดโฆษณาทับประตูฉุกเฉินไปทั้งบาน ในขณะที่รถบางคันก็เว้นไว้ จนไม่รู้ว่าสรุปแล้วสามารถติดทับได้ไหม
จากคำถามมากมายเหล่านี้ทำให้เกิดความสงสัยว่า แล้วโฆษณาบนรถเมล์ที่ผ่านหน้าเราทุกวันนี้อยู่อย่างถูกต้องแค่ไหน แล้วจะมีทางติดโฆษณาแต่ไม่บังวิวบ้างหรือเปล่า คอลัมน์ Curiocity ครั้งนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
โฆษณาข้างรถเมล์มีรูปแบบไหนบ้าง
ปัจจุบันรถเมล์ในกรุงเทพฯ มีรูปแบบการติดโฆษณาข้างรถอยู่ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ ‘Full Wrap’ ซึ่งเป็นการติดโฆษณาทับตัวถังรถทั้งคัน และ ‘Half Wrap’ ซึ่งเป็นการติดทับเพียงแค่ช่วงครึ่งคันหน้าหรือตรงกลางของรถเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างการติดโฆษณาแบบ Full Wrap และ Half Wrap อยู่ตรงที่ Full Wrap สามารถใช้พื้นที่บนรถเมล์ได้เกือบทั้งคัน โฆษณารูปแบบนี้จึงมีลูกเล่นระหว่างตัวโฆษณากับตัวรถเมล์มากกว่า Half Wrap และด้วยพื้นที่ที่มากอยู่แล้ว ส่วนมากจึงไม่ได้ปูทับกระจกเท่าไร
กลับกัน Half Wrap จะใช้พื้นที่น้อยกว่าและประหยัดงบกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยพื้นที่โฆษณาที่เล็กจนทำให้ตัวโฆษณาลามขึ้นไปกินพื้นที่กระจกทั้งหมด หลายครั้งที่นั่งรถเมล์ช่วงครึ่งหน้ารถแล้วแทนที่จะได้นั่งดูวิวเพลินๆ ก็ดันเห็นแต่สติกเกอร์สีดำที่มีรูเล็กๆ ติดบังไว้ ยกเว้นโฆษณาบางตัวเท่านั้นที่ถูกออกแบบให้เว้นพื้นที่กระจกไว้
แม้ในภาพรวมโฆษณาแบบ Half Wrap จะดูเหมือนเป็นโฆษณาที่บดบังวิวของคนนั่งรถเมล์มากกว่า Full Wrap แต่การจะตัดสินว่าโฆษณาแบบใดบังกระจกน้อยหรือมากนั้นไม่ได้มีคำตอบตายตัว เพราะที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับการออกแบบโฆษณาแต่ละตัวมากกว่า
เนื่องจากโฆษณาบนรถเมล์เองก็เป็นงานสร้างสรรค์ที่ใช้พื้นที่สาธารณะ ทำให้ต้องมีความใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประตูฉุกเฉินที่อยู่แตกต่างกันไปตามรถแต่ละรุ่น ขนาดของกระจกรถ ลูกเล่นของโฆษณากับรถแต่ละรุ่นซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันทั้งหมด ตัวผลงานโฆษณาจึงสะท้อนให้เห็นว่าผู้ออกแบบคำนึงถึงสภาพห้องโดยสารมากน้อยเพียงใด
ผิดไหมถ้าติดโฆษณาทับกระจกหรือประตูฉุกเฉิน
อย่างที่กล่าวไปว่า โฆษณาข้างรถเมล์จะกินพื้นที่กระจกและปิดทับประตูฉุกเฉินหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบโฆษณาชิ้นนั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริง หากละเลยรายละเอียดเหล่านี้ก็อาจมีความผิดได้
ในประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2564 หมวด 1 ข้อ 5 ได้กำหนดสิ่งที่โฆษณาข้างรถเมล์ห้ามติดทับไว้ 4 อย่างคือ
1. ชื่อและโลโก้ของผู้ให้บริการรถเมล์คันนั้นๆ รวมถึงเลขสาย ชื่อเส้นทาง หรือข้อความอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อความเกี่ยวกับการใช้ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน
2. กระจกนิรภัยที่ใช้สำหรับเป็นทางออกฉุกเฉิน
3. ประตูฉุกเฉินหรือประตูทางขึ้นลง รวมทั้งส่วนที่เป็นกระจกของประตู
4. ส่วนใดก็ตามที่ทำให้รถไม่สามารถใช้งานได้ปกติ
นอกจากนี้ ในหมวด 3 ข้อ 11 วรรค 3 ของประกาศฉบับเดียวกันยังกำหนดหลักเกณฑ์การติดโฆษณาทับกระจกไว้ โดยสามารถติดโฆษณาได้ทั้งคันหากไม่เกินขอบเขตความยาวและความสูงของตัวรถ แต่สามารถติดทับกระจกหน้าต่างด้านข้างตัวถังรถได้เฉพาะส่วนที่อยู่ด้านล่างของตัวถังรถเท่านั้น และสามารถติดทับกระจกหน้าต่างด้านท้ายตัวถังรถสูงขึ้นมาได้แค่ 1 ใน 3 ของบานกระจกเมื่อวัดจากด้านล่างขึ้นไป
หมายความว่า โฆษณาที่ติดอยู่ข้างรถเมล์นั้นจะใหญ่ขนาดไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ใหญ่เกินกว่าตัวรถ โดยห้ามสติกเกอร์ล้ำกระจกขึ้นมาสูงเกินกว่าที่กำหนด รวมถึงห้ามติดทับประตูฉุกเฉิน ประตูขึ้นลง และกระจกนิรภัย
ทำอะไรกับโฆษณาบนรถเมล์ที่ผิดข้อกำหนดได้บ้าง
แม้ในกฎของกรมการขนส่งทางบกจะกำหนดความสูงที่สติกเกอร์โฆษณาสามารถล้ำขึ้นมาได้ไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น รถเมล์ที่ติดโฆษณาทับกระจกทั้งบานก็ยังคงพบเห็นได้อยู่ทั่วไป อีกทั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการฟ้องร้องขึ้นศาลจริงๆ สักครั้ง แต่ถ้าเป็นรถอื่นนั้นก็เคยมีกรณีศึกษาอยู่บ้าง
ย้อนไปใน พ.ศ. 2550 เคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงระหว่างผู้โดยสารรถไฟ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากในเวลานั้น รฟท. เองมีการติดโฆษณาข้างรถเช่นกัน จนส่งผลให้ผู้โดยสารเกิดอาการคลื่นไส้จากการมองภาพนอกหน้าต่างผ่านโฆษณาและฟ้องร้องในเวลาต่อมา โดยในตอนนั้นศาลได้ตัดสินให้ รฟท. ลอกป้ายโฆษณาลงทั้งหมดเพราะต่อให้สติกเกอร์โฆษณาเหล่านี้มีรูพรุนก็จริง แต่จะมองเห็นเพียงภาพรางๆ เท่านั้น และถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้โดยสาร
หากว่ากันตามจริง กรณีของรถเมล์นั้นอาจจะแตกต่างจากรถไฟ เนื่องจากรถเมล์มีข้อกำหนดเรื่องโฆษณาที่ชัดเจนอยู่แล้วแต่ไม่ได้ทำตาม หากสักวันมีการฟ้องร้องขึ้นมาก็อาจไม่ได้ฟ้องร้องแค่เรื่องของการติดโฆษณา แต่รวมไปถึงการละเว้นต่อหน้าที่ด้วยก็เป็นได้
Sources :
Baankluay Online | tinyurl.com/39b7ymf2
กรมการขนส่งทางบก | tinyurl.com/2pu7vxtw