ครูประทีป รอดภัย ศิษย์ครูโจหลุยส์รุ่นแรก โขน - Urban Creature

“เข้ามาได้เลย กี่โมงนัดมา มาถูกกันหรือเปล่า” 

เสียงปลายสายของครูประทีป รอดภัย ไม่อิดออดสักนิดที่จะให้เราเข้าไปพูดคุยถึงประเด็นที่โคตร Cliche อย่าง ‘ทำไมถึงยังทำหัวโขนอยู่ แล้วทุกวันนี้วงการโขนอยู่กันได้อย่างไร’ 

เมื่อได้พบครูประทีป ภาพที่คิดไว้ว่าหัวโขนจะเป็นเพียงสิ่งของตั้งโชว์ และไร้ผู้คนให้ความสนใจ ก็ทำให้เราต้องทบทวนใหม่ เพราะช่างทำหัวโขนคนนี้ยังคงนั่งปั้นหัวโขน ลงสี และกะระยะหน้าตาของหุ่นแต่ละตัวให้พอดีแบบไม่วางมือ รู้เลยว่ายังมีคนที่ยังสนใจศิลปะช่างสิบหมู่ไทยนี้อยู่

ช่างทำหัวโขนพักจากการทำหัวโขนชั่วครู่ แล้วมานั่งสนทนากับเราอย่างเต็มใจ ครูประทีปเท้าความว่า เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ชุมชนสะพานไม้ หรือซอยประชาชื่น 18 คึกคักไปด้วยช่างทำหัวโขน และบรรยากาศของคณะลิเก คณะละคร 

ซึ่งอาจารย์สาคร ยังเขียวสด (ครูโจหลุยส์) ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2539 เคยลงหลักปักฐานตั้งคณะหุ่นละครเล็ก ณ ที่แห่งนี้ ได้ส่งต่อความรู้ในการเล่นโขน และทำหัวโขนสู่ลูกหลาน โดยครูประทีปก็เป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นแรกที่ได้รับวิชาความรู้เหล่านั้นมาใช้หาเลี้ยงปากท้องจนถึงทุกวันนี้

ศิษย์โจหลุยส์ผู้เกิดมาเพื่อทำหัวโขน

“ผมมาอยู่ที่บางซื่อตอนอายุประมาณสิบสามปี ตอนนั้นปี 2511 น้าผมซึ่งเป็นภรรยาของครูโจหลุยส์มารับตัวผมจากแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อมาหัดโขน หัดลิเก หัดละคร และทำหัวโขนเพื่อเอาไว้ทำการแสดงของโรงโขนตัวเอง แต่ผมไม่ชอบเล่นโขน เล่นลิเก (หัวเราะ) ผมชอบทำหัวโขนมากกว่า”

ครูประทีปเล่าวัยเด็กให้เราฟังว่า ในวงศ์ตระกูลของครูประทีปที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่น้าเขย น้าสาว และญาติ เป็นศิลปินกันเกือบทุกคน ครูประทีปยอมรับอย่างติดตลกกับเราว่า ตัวเองเสียงร้องไม่ดี ร้องไม่ได้ เลยมุ่งทำหัวโขนน่าจะไปได้ไกลกว่า 

“คนที่จุดประกายในการทำหัวโขนคืออาจารย์โจหลุยส์ แกมาสอนผสมปูน ตีลาย ทาสี รองพื้น เราก็หัดไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนตอนเราเป็นนักเรียนนะ แกใช้อะไรเราก็ทำ ตรงไหนที่เราทำไม่ได้ ครูโจหลุยส์ก็จะทำ เช่นการปั้นหน้าหุ่น แกเขียนลายไว้หนึ่งอัน นอกนั้นก็ให้เราลงตามลายที่หนึ่งที่แกทำไว้ นอกจากทำหัวโขนแล้ว พวกงานเขียนฉาก และดูแลหลังฉากก็ต้องเรียนรู้ด้วย” 

นับตั้งแต่เข้าวงการหัวโขนตอนอายุ 13 ปี จนถึงช่วงอายุ 24 ปี เป็นเวลาราว 10 ปีที่ครูประทีปหาคำตอบในชีวิตว่าเส้นทางที่เลือกเดินนั้นถูกหรือไม่ จนเขารู้ตัวเองแล้วว่า อยากจะมุ่งเน้นแค่การทำหัวโขน 

ครูประทีปไปรับจ้างตามงานต่างๆ หรือถ้ากรมศิลป์มาจ้างเขาก็ยินดีทำอย่างเต็มที่ จ้างวันละ 20 บาทก็ไปแบบไม่ลังเล จนคนใกล้ตัวเริ่มทักว่า “เอ็งมีฝีมือนะ ทำไมไม่เปิดร้านเองเลย” ซึ่งจังหวะชีวิตช่วงนั้นครูประทีปมีครอบครัวพอดี จึงเริ่มสร้างเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับทำหัวโขน และนำไปเสนอขายตามร้านต่างๆ ด้วยตัวเองเรื่อยมา

อาชีพที่อยู่ได้เพราะฝรั่งและร่างทรง

“การจะขายหัวโขนเราต้องเอาไปให้ร้านจิวเวลรี่วางขาย เพราะร้านพวกนั้นจะขายของฝากให้ฝรั่ง แต่ก่อนมันขายยากมาก เพราะร้านจิวเวลรี่ยังไม่ค่อยรู้จักศิลปะหัวโขน คนของโรงโขนเลยลองไปติดต่อร้านจิวเวลรี่แถวท่าเรือโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ต้องไปนั่งคุยกับเจ้าของร้านเป็นวันเลยนะกว่าเขาจะยอมซื้อไปหัวหนึ่ง แรกๆ งานมันก็ไม่ค่อยมี ผมเองก็ต้องไปรับจ้างทำอย่างอื่นด้วย

“จุดเปลี่ยนคือตอนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี เมื่อปี 2525 การท่องเที่ยวเขาจัดกันเป็นอาทิตย์ คณะทำหัวโขนเราก็ต้องทำหัวยักษ์สองร้อยหัว หัวลิงสองร้อยหัว ฝรั่งชอบมาก ทีนี้งานก็เริ่มเข้ามา ร้านจิวเวลรี่ก็เริ่มเห็นว่าหัวโขนมันขายต่างชาติได้ เขาก็เริ่มสั่งเรา หลังจากนั้นเวลามีงานระดับประเทศ เช่น ประชุมการค้าโลก ก็จะมีการเชิญไปสาธิตให้ทั่วโลกรู้จักโขนบ้านเรา” ครูประทีปเล่าถึงยุคที่หลายคนให้ความสนใจในศิลปะหัวโขน

ในช่วงสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ครูประทีปเล่าว่ามียอดสั่งเข้าจนทำไม่ทัน ต้องสั่งไว้ก่อนแล้วทำส่งตามไปให้ทีหลัง คนไทยที่ซื้อจะซื้อหนึ่งครั้งแล้วเล่นได้ตลอดชีวิต เพราะหัวโขนหนึ่งหัวจะมีอายุหลายสิบปี แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสลับหมุนเวียนกันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อเอาไปประดับบ้าน หรือบ้างก็หลงใหลในวรรณคดีไทย ก็เลยสั่งหัวโขนเพื่อนำไปเก็บไว้ชื่นชม

“หัวโขนต้องแยกก่อนว่ามีหัวครูและหัวเทพ ไว้สำหรับบูชา เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระพิฆเนศ ซึ่งเราจะไม่เอาหัวโขนเหล่านี้ไปวางไว้หรือขายแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ถ้าเป็นตัวละครจากรามเกียรติ์ เช่น พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ เหล่ายักษ์ เราก็วางขายได้เลย แต่ถ้าฝรั่ง คนที่ศึกษาเรื่องราวของครูฝั่งเอเชียว่ามีอะไรบ้าง และคนที่เป็นศิลปินจริงๆ ที่เจาะจงมาแล้วว่าจะเอาพระพิฆเนศ เราก็ทำหัวโขนให้เขาได้” ครูประทีปอธิบาย

หลังกระแสตอบรับที่ดีจากงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วงการหัวโขนเริ่มทรงตัว จนมาฟื้นอีกครั้งในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่สนับสนุนด้านสื่อและเว็บไซต์ มีการจัดประกวดมากมาย แถมยังมี OTOP ที่ให้ทุกเขตส่งของดีประจำชุมชนมาคนละอย่าง ซึ่งหัวโขนของครูประทีปก็ได้เป็นตัวแทนของเขตบางซื่อ จนหลายคนหันกลับมาให้ความสำคัญกับศิลปะโขนอีกครั้ง

“เมืองไทยมันดีอยู่อย่างหนึ่ง คือเจ้าเข้าทรงเยอะ เจ้าเข้าทรงแต่ละสำนักจะต้องมีหัวโขนประกอบฉากให้ดูน่าเชื่อถือ แต่เก่งไม่เก่งไม่รู้ ใครเข้ามาเห็นฉากหลังเยอะมันทำให้เกิดความศรัทธา ยิ่งหัวโขนเยอะ ยิ่งแสดงถึงความขลัง 

“ฉากประกอบนี่สำคัญมาก เจ้าเข้าทรงจะต้องมีหัวโขนเป็นสิบหัว หัวเทพ ไม่รู้หน้าอะไรต่อหน้าอะไรเอาไปตั้งไว้ ต่างคนก็ต่างมีความเชื่อของตัวเอง เราก็ไม่อยากไปขัดขวางความเชื่อของใคร” ครูประทีปเล่าถึงการอยู่ได้ของอาชีพนี้

หัวโขน งานศิลปะที่ต้องการเวลา

ความประณีตในการทำหัวโขนสักหนึ่งหัวต้องใช้เวลากว่าสามวันขึ้นไป เริ่มจากการปั้นหุ่นด้วยดินเหนียว แปะติดกระดาษและตากให้แห้ง จากนั้นผ่าเอากระดาษออกแล้วเอาปูนผสมเทใส่หุ่นเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นานเป็นสิบยี่สิบปี

ต่อมาก็ต้องปั้นหน้า ตา คิ้ว ปาก ให้เนื้อและผิวสัมผัสเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็ใช้กระดาษทรายขัด จากนั้นนำมาตีลาย ตากแดดให้แห้ง และลงสีสามชั้น คือ สีน้ำ สีน้ำมัน และปิดด้วยสีทอง สุดท้ายถึงจะนำมาเขียนหน้าเขียนตา ตกเดือนหนึ่งจะทำได้ประมาณสามหัวเท่านั้น นี่ยังไม่นับงานจ้างที่ลูกค้าต้องการเป็นทองแท้ หรือปรับแก้เฉพาะจุด เช่น ต้องการตามุก ฟันมุก ซึ่งครูประทีปก็ต้องจ้างช่างมุกแยกต่างหาก

“ความยากง่ายของหัวโขนอยู่ที่รูปทรงหน้าและการปั้น พวกโครง ส่วนเว้าส่วนโค้ง มันสำคัญ เอาแค่ตัวลิงและมนุษย์ถือเป็นแก๊งที่ทำง่ายที่สุด มันก็มีความยากตรงที่ซีกซ้ายกับซีกขวาของใบหน้าต้องใกล้เคียงกันที่สุด แม้จะใช้โครงเดียวกัน หัวเดียวกัน แต่อารมณ์ในการทำแต่ละครั้งต่างกัน หัวโขนเลยอาจจะออกมาเอียงบ้าง เพี้ยนบ้าง ไม่ได้หล่อเนี้ยบ ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์ที่ชาวต่างชาติชอบในงานทำมือ”

ของ (มีครู) จับต้องได้ ที่กลับจับต้องไม่ได้

เราพูดคุยกับครูประทีปมาได้สักพัก จนรับรู้ว่าวงการหัวโขนในบ้านเรานั้นยังได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมาจากชาวต่างชาติ อาจจะด้วยความละเอียดลออในผลงานก็ดี หรือสนุกในเรื่องราวของยักษ์ ลิง และมนุษย์ ต่อสู้กัน แต่ก็อดถามไม่ได้ว่า “แล้วคนไทยล่ะมองหัวโขนอย่างไร”

“ช่างนี่แหละที่เป็นคนพูดทำให้คนทั่วไปกลัวหัวโขน อย่าจับนะ จับไม่ได้ ของมีครู คนก็กลัวสิ จริงๆ มันจับต้องได้ หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลศิลปะตรงนี้ก็ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าของพวกนี้เป็นเรื่องเข้าถึงยาก อย่างตอนที่การท่องเที่ยวใช้ทศกัณฐ์มาแคะขนมครก เจตนาของคนทำกับคนที่ตัดสินอาจจะมองคนละมุม ฝั่งหนึ่งอยากให้สนุกสนานเฮฮา แต่อีกฝั่งก็มองว่าเป็นเรื่องไม่ควร

“หัวโขนมันควรเป็นศิลปะที่ปรับเปลี่ยนเพื่อเอามาใช้เชิงพาณิชย์ได้ อย่างตัวละครบางตัวที่หัวเป็นสีขาว บางคนบอกว่าคุณจะไปทำสีอื่นไม่ได้ แต่ถ้าฝรั่งจะเอาล่ะ ฝรั่งอยากได้สีดำ ทำได้ไหม สำหรับผมได้ (หัวเราะ) เราต้องเข้าใจการค้าขายของเราด้วย เพราะช่างทำหัวโขนเองก็ต้องอยู่รอด”

“การแสดงโขน การรำต่างๆ คนธรรมดาส่วนมากไม่ค่อยได้ดู ออกงานทีก็ต้องใช้เงินค่าบัตรแสดง แล้วคนไม่มีสตางค์โอกาสดูก็มีน้อย มันก็ยิ่งทำให้คนในบ้านเราเข้าไม่ถึงศิลปะเหล่านี้ คนก็จะอยากเรียนน้อยลงเพราะรู้สึกว่ามันหางานทำยาก หรืออย่างกรมศิลปากรที่เขามีสอนนาฏศิลป์เด็ก ทำไมเขาไม่ให้เด็กแสดงบ่อยๆ ให้ดูฟรีก็ได้ ซึ่งตรงนั้นมีงบอยู่แล้ว คุณเล่นได้เลย เพราะเด็กของคุณต้องสอบตรงนั้นอยู่แล้ว

“ตัวเราคนเดียวอาจจะช่วยให้ศิลปะนี้สานต่อไปได้ไม่นาน ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน ภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงนี่สำคัญเลย กรมศิลปากรต้องจัดงาน ต้องมีอีเวนต์อะไรให้มันไม่อยู่เฉยๆ โรงละครแห่งชาติบางทีไม่ได้โฆษณา ก็ไม่มีใครรู้ว่ามีแสดง เขาไม่ออกสื่อมาก ถ้าเขาออกสื่อบ่อยๆ ว่าเดือนนี้จะมีวันที่เท่านี้ ดูฟรีบ้าง สื่อของรัฐก็ต้องช่วยด้วย” ครูประทีปย้ำว่า ตัวเขาคนเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนศิลปะประจำชาติให้มีลมหายใจต่อไปตลอดรอดฝั่ง เพราะคนสำคัญคือหน่วยงานภาครัฐ

ช่างทำหัวโขนที่อยากให้ทั่วโลกจดจำ

ตอนนี้ชุมชนสะพานไม้แห่งบางซื่อเหลือเพียงครูประทีปที่ยังคงสานต่อความเป็นชุมชนหัวโขนไว้ ส่วนญาติสนิทมิตรสหายที่เป็นลูกศิษย์รุ่นราวคราวเดียวกับครูประทีปก็กระจายตัวกันไปอยู่จังหวัดนนทบุรี สมุทรสงคราม และอ่างทอง ทำให้เขากลายเป็นช่างทำหัวโขนคนสุดท้ายของชุมชนที่ยังคงทำหน้าที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งการจะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานหลายสิบปีเช่นนี้ คงไม่ใช่เพราะความหลงใหลเพียงอย่างเดียว

“มีฝรั่งไปซื้อหัวโขนมาจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว เขมร อินเดีย เขาเอ่ยปากชมช่างประเทศไทยเลยว่า ฝีมือหัวโขนของประเทศไทยสวยไม่แพ้ใคร หรือที่อินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดรามายณะยังมาซื้อหัวโขนของผมไปประดับโรงแรมเลย 

“คำชมของเขาทำให้เรามีกำลังใจ มีแรงผลักดันให้เราทำอาชีพนี้ต่อไป เราไม่เอาเก่งแค่ในไทยด้วยนะ เราอยากให้ทั่วโลกเห็นว่าช่างทำหัวโขนประเทศไทยมีฝีมือดี ไม่อยากให้เป็นแค่ศิลปะที่อยู่แค่ตามหนังสือด้วย ผมอยากให้เป็นของฝากจากประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจำว่าหัวโขนประเทศไทยหน้าตาสวยงามที่สุดในโลก ไม่ใช่จำแค่สามล้อ ตุ๊กตุ๊กเท่านั้น” 

แววตาของช่างทำหัวโขนคนสุดท้ายแห่งบางซื่อเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ภูมิใจกับการนำเสนอศิลปะชั้นสูงสุดของช่างสิบหมู่ไทย ภูมิใจในความบรรจงของเนื้องานหลากขั้นตอน และตัวครูประทีปเองก็พิสูจน์แล้วว่า ศิลปะไทยไม่ใช่เป็นเพียงของสะสมหรือของที่ระลึก แต่ยังทำให้ช่างทำหัวโขนมีอาชีพเลี้ยงปากท้อง สร้างภาพจำให้ชุมชนรวมถึงย่าน และมีแรงใจที่จะสานต่อสิ่งนี้ไว้จนเฮือกสุดท้าย


ครูประทีป รอดภัย
เว็บไซต์ : SACICT
Facebook : Prateep Rodpai Khon Mask Maker

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.