20 ปีของ ‘ภูมิจิต’ วงดนตรีที่ไม่มีวันดังอีกแล้ว - Urban Creature

“วงดนตรีของเรายี่สิบปีพอดี ถ้ามองมุมนี้ก็ถือว่าเรามาได้ไกลกว่า The Beatles ประมาณหนึ่ง” เสียงของชายผู้รับหน้าที่เป็นนักร้องดังขึ้น

“พรุ่งนี้พาดหัวข่าว วง ‘ภูมิจิต’ เย้ย The Beatles ไอ้ห่าดังเลยกู” มือกลองตบจังหวะนี้เรียกเสียงฮาลั่นห้องอัด 

ต่อหน้าเราขณะนี้คือวงดนตรีภูมิจิต ในวันที่พวกเขากำลังอัดเพลงอัลบั้มใหม่

วงภูมิจิตมีสมาชิก 4 คนไล่จากนักร้องนำที่ทั้งแต่งเพลงและเล่นกีตาร์ พุฒิ-พุฒิยศ ผลชีวิน ถัดไปคือ กานต์-เกษม จรรยาวรวงศ์ มือกีตาร์เพื่อนสนิทร่วมห้องของพุฒิสมัยเรียนวิศวะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนอีกสองคนคือสมาชิกใหม่ที่กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ได้แก่ บอม-ธิตินันท์ จันทร์แต่งผล เล่นเบส และ แม็ก-อาสนัย อาตม์สกุล มือกลอง 

ภูมิจิต - poomjit

20 ปีที่ผ่านมา วงดนตรีภูมิจิตมีผลงานเพลงทั้งหมด 4 อัลบั้ม ได้แก่ ‘Found and Lost’ (2551), ‘Bangkok Fever’ (2553), ‘Home Floor’ (2555) และปี 2561 คือ ‘MIDLIFE’ อัลบั้มล่าสุดที่ทั้งวงยกให้เป็น ‘ความเพอร์เฟกต์แบบภูมิจิต’ สรุปปิดฉากไตรภาคทั้งสามอัลบั้มรวมเพลงที่ทำเพื่อเอาไว้ฟังตอนแก่ของพวกเขา คอนเซปต์อัลบั้มเล่าเรื่องสะท้อนชีวิตผู้คนในเมืองหนึ่งที่ต้องพบเจอสิ่งต่างๆ เป็นอัลบั้มที่ภูมิจิตเห็นร่วมกันว่าจะถูกพูดถึงในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า

ในเวลา 20 ปีที่ผ่านไป ชีวิตของเหล่าผู้สร้างวงดนตรีภูมิจิตก็เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เลขอายุที่พ้นวัยรุ่นมุ่งสู่วัยสร้างครอบครัว มีลูก มีบ้าน มีความมั่นคง จังหวะชีวิตยังคงบรรเลงไปตามความเป็นจริงพร้อมๆ กับความพยายามประคับประคองความฝันที่มีร่วมกัน

ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ภูมิจิตกำลังบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่ อัลบั้มที่พวกเขาบอกว่าจะทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

นี่คือบันทึกบางส่วนของมุมมอง ‘ทั้งรัก ทั้งฝัน ทั้งเงิน ทั้งงาน ตลอดชีวิตของวงดนตรี ‘ภูมิจิต’ 

(อย่าลืมเปิดเพลงจากอัลบั้ม MIDLIFE แกล้มบทสนทนาไปด้วย) 

ภูมิจิต - poomjit

คิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า ภูมิจิตเป็นวงดนตรีที่ตายแล้ว

พุฒิ : ช่วงก่อนที่เราจะออกอัลบั้ม ‘MIDLIFE’ มีคนบอกว่า วงดนตรีภูมิจิตเป็นวงที่ตายแล้ว เราไม่แน่ใจว่าหมายความยังไงกันแน่ ถ้าความหมายมันคือไม่สามารถขึ้นไปสู่จุดเดิมได้ก็อาจจะตายแล้ว แต่เราไม่ได้ใส่ใจเรื่องจะขึ้นไปได้อีกหรือไม่ เราก็แค่ทำแบบนี้ต่อไป

บอม : เราเคยขึ้นไปสูงที่สุดในชุด ‘Bangkok Fever’ เคยลิ้มลองความมีชื่อเสียงในช่วงเวลาหนึ่ง ช่วงวงพีกๆ มีคนวิ่งตามรถตู้ เคยดังระดับนั้นมาแล้ว

แม็ก : มันเป็นเรื่องของการยืนระยะ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา อะไรที่เคยมีอยู่กลับหายไป และอะไรที่ไม่เคยมีก็โผล่ขึ้นมาในสังคม เป็นเรื่องของ Generation Gap ด้วย ตอนนี้โลกหมุนเร็วซะจนมีคนไม่ทันได้เห็นภูมิจิตยุคอัลบั้ม Bangkok Fever และคนที่เคยมายืนดูภูมิจิตในช่วงอัลบั้มแรกๆ ก็เติบโตจนเลยวัยหาเพลงฟังหรือไปท่องเที่ยวตามเทศกาลดนตรี ซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของทุกวันนี้แล้ว 

เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไปยังคำกล่าวที่ว่า ‘เกิดแล้วจะไม่มีทางเกิดอีก’ ก็ไม่จริงซะทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ที่ตัวของคนทำงาน ว่าอยากสลัดทิ้งตัวตนของตัวเองเพื่อเกิดใหม่หรือเปล่า

พอใจกับวงดนตรีที่ร่วมสร้างกันมาแค่ไหน

กานต์ : สำหรับเรา ภูมิจิตไม่ได้ผิดจากที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ทุกอย่างลงตัว เพียงแต่ว่าพอเข้าสู่ช่วงเลขอายุ 40 เป็นวัยที่ทุกอย่างเริ่มง่ายกว่าเมื่อก่อน มีความผ่อนคลาย ใช้ชีวิตต่อไปในแบบที่ไม่ต้องรู้สึกพยายามมากเกิน แต่ก็พยายามมากขึ้นในทางของเรา รู้สึกไม่ต้องพิสูจน์อะไรเหมือนเมื่อก่อน 

แม็ก : คอนเซปต์ของเราคือทำเพลงไว้ฟังตอนแก่ คือทำเพลงโดยการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่า เมื่อวันหนึ่งเติบโตและย้อนกลับมาฟังจะไม่เสียใจที่ทำสิ่งนี้ ผลที่ได้ก็น่าพอใจ เพราะไม่เคยเสียใจเลยกับทุกอัลบั้มที่ทำ กลับไปฟังทุกอัลบั้มของภูมิจิต เราจะรู้สึกว่าดีนะที่กูทำแบบนี้ในตอนนั้น ยังรู้สึกแฮปปี้ที่เลือกแบบนี้ อาจจะผิดในเชิงธุรกิจที่เพลงทำเงินไม่ได้ ซึ่งในวันนี้เราก็เริ่มสำนึกแล้วแหละ (ทั้งวงหัวเราะ) 

อาจรู้สึกไม่ประสบผลสำเร็จกับบางอย่าง แต่หากย่อไทม์ไลน์ให้เล็กลง พอถอยมามองภาพใหญ่ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน จะเห็นว่าภูมิจิตไม่พลาดอะไรสักอย่าง ที่ผ่านมาทำงานได้เกือบเข้าเป้าหมาย สมมติวางขวดไว้ 10 ขวด ก็แตกประมาณ 7 ขวด อยากทำเพลงไว้ฟังตอนแก่ก็ทำได้ อยากยืนระยะในวงการเพลงไปเรื่อยๆ ก็ทำได้

ภูมิจิต - poomjit

ทำงานเพลงมา 20 ปี คิดว่าภูมิจิตอยู่ตรงไหนของวงการดนตรีไทย

พุฒิ : เราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเมืองหลวงของวงการดนตรี แต่เรามีพื้นที่ที่ดีพอ มีความสุขพอ สนุกพอ แบบที่อยากอยู่ เราเห็นว่าทุกคนวิ่งแซงเราไปหมด เมื่อก่อนวง ‘25 hours’ เคยเล่นเปิดให้ภูมิจิต แล้วก็แซงไป ‘สิงโต นำโชค’ เคยเล่นเปิดให้เราที่จุฬาฯ ก็แซงไป ทุกคนทุกวงล้วนแซงเราไปหมด ถ้าเปรียบกระต่ายกับเต่า เราคงเป็นเต่าที่ไปช้าสุดๆ แต่ก็ดีนะที่ไปช้าๆ แล้วอยู่ได้เรื่อยๆ มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะเราคิดว่าเวลาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแซงกันได้ 

แม็ก : เราได้เห็นระบบนิเวศทางดนตรีที่กว้างขึ้นมาก มีวงจากหลากหลายพื้นที่และจังหวัด 20 ปีที่แล้วจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าวงการดนตรีไทยสุขสมอารมณ์หมายตามคาดหวังเอาไว้ แต่ที่ยังไม่สุขสมเท่าไหร่สำหรับเราคือภูมิจิตยังไม่ดังแค่นั้นเอง (หัวเราะ) 

แต่เชื่อมั้ยว่าเพลงที่ไม่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ในมุมมองของคนทำงานมันเป็นการเสริมระบบนิเวศให้หลากหลาย พี่ๆ ที่รู้จักบอกว่าจะมีวงที่ทำเพลงยังไงก็ไม่ดัง แต่พวกนี้แหละที่ ‘ประดับวงการ’ ซึ่งการประดับวงการไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ 

แล้วถ้าภูมิจิตต้องประดับวงการตลอดไปล่ะ

แม็ก : ขอยกคำพูดของพี่โอม (ปัณฑพล ประสารราชกิจ) ผู้บริหารค่าย Gene Lab มา กล่าวคือ ‘โลกจะหมุนมาหาเรา’ สังเกตได้ว่าทุกวันนี้มีเพลงที่อยู่ดีๆ ก็เป็นที่นิยม และมีเพลงที่เคยได้รับความนิยมแต่วันนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมแล้ว เราคิดว่าวันหนึ่งโลกจะหมุนมาหาเรา เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยหมุนมาหาภูมิจิตด้วยความเร็วสูงวูบเดียวแล้วก็หันไปหาคนอื่น (หัวเราะ) ทางเลือกอยู่ที่เราว่าจะวิ่งตามโลก หรือจะนั่งเป็นตัวของตัวเองเพื่อรอให้วันหนึ่งโลกหมุนมาหาเรา แต่ก็อย่าลืมว่าการเป็นตัวของตัวเองไปเรื่อยๆ มันไม่ควรถึงจุดที่กัดกินชีวิต

ผมชอบมองโลกว่าทุกวันนี้เหมือนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ใครอยากมีชื่อเสียงก็ต้องกระโดดลงไปว่าย จ้วงกันไป วิ่งอยู่กับความเหนื่อย แต่บางคนก็เลือกขึ้นมานั่งพักบนตลิ่ง กูอยู่ของกูแบบนี้ เดี๋ยวใครลอยมาเจอก็เจอเอง 

ปกติภูมิจิตนั่งอยู่บนตลิ่งเงียบๆ แต่ช่วงนี้เห็นคนอื่นเขาว่ายน้ำเล่นกันสนุกดี เลยอยากลงไปว่ายกับคนอื่นบ้าง เราทำงานมานานพอจะเห็นประตูทุกบานในการเข้าสู่การเป็นที่รู้จัก โด่งดัง รู้เลยว่าถ้าทำแบบนี้ๆ ดังชัวร์ แต่จะเอาหรือเปล่า จะเข้าประตูนั้นมั้ย เข้าไปเหนื่อยนะ หยุดไม่ได้นะ เพราะงั้นต้องค้นพบให้ได้ว่าอยากจะไปทางไหน ต้องหาตัวเองให้เจอเร็วที่สุด และการจะหาตัวเองได้เร็วที่สุดก็ต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน 

ภูมิจิต - poomjit

กานต์ : มันเป็นสนามให้เรายังปล่อยไอเดียได้อยู่ เรารู้สึกว่าการมีพาร์ตของภูมิจิตในชีวิตเป็นเรื่องที่ลงตัวโคตรๆ ไม่เรียกร้องอะไรเยอะเกินไปจนทำอย่างอื่นไม่ได้ มีพื้นที่ให้ได้ออกไปเล่นดนตรี ไม่กระทบงานประจำ มีเวลาให้มาคิดเพลงใหม่ๆ การเป็นวงดนตรีประดับวงการก็ไม่ได้แย่

พุฒิ : ช่วงหลังเราเป็นทุกข์กับตัวเลขน้อยลง สมัยทำอัลบั้ม MIDLIFE เป็นทุกข์กับตัวเลขมาก เคยไปคุยกับพี่ที่ทำงานในฟอร์แมตใหญ่ เราถามเขาว่าทำยังไงเพลงผมถึงจะได้เข้าไปอยู่ในเพลย์ลิสต์พวกนี้ เขาตอบมาว่า พุฒิก็ทำสถิติให้มันดีๆ เดี๋ยวทุกอย่างจะตามมาเอง เราก็ไปโฟกัสเรื่องสถิติ ไปดูว่าต้องทำยังไงถึงจะมีเลข ต้องลงทุนเท่าไหร่ สุดท้ายก็ Burn Out เราไม่อยากให้ภูมิจิตทำให้เราเสียพลังงานชีวิต เสียความสุข ดังนั้น คำตอบที่ได้คือทำเท่าที่ทำได้ ทำต่อไป

เหมือนที่ภูมิจิตเชื่อว่าอัลบั้ม MIDLIFE จะถูกพูดถึงอีกใน 10 ปีข้างหน้าใช่มั้ย

พุฒิ : ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จู่ๆ ในทวิตเตอร์ก็มีคนพูดถึงอัลบั้ม MIDLIFE กัน เช่น ทำไมอัลบั้มนี้มันดีจังวะ, หลังๆ ฟังอัลบั้ม MIDLIFE ของภูมิจิตบ่อยขึ้น, เหมือนแต่ละเพลงมันทำงานและรีเลตกับชีวิตเรามาก ฯลฯ 

เราคิดว่าคงเพราะหลังจากเริ่มเปิดเมือง สถานการณ์คลี่คลายจากโควิด ทุกคนเริ่มกลับมาทำงานและมีชีวิตแบบในเพลงที่อัลบั้มเล่าไป 

ภูมิจิตมักจะถูกพูดถึงว่าเป็นวงที่มาก่อนกาล ซึ่งเราได้ยินคำว่ามาก่อนกาลตลอด 20 ปี เคยตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า แล้วเมื่อไหร่มันจะถึงกาลสักทีวะ พอมาคิดดูก็พบว่ามันอาจจะถูกแล้วก็ได้ที่ยังต้องดำรงชีวิตของวงไปให้ยาวที่สุดเพื่อวันหนึ่งโลกจะหมุนมาเจอ

บอม : ทุกวันนี้อัลบั้ม Bangkok Fever ในตลาดมือสองขายกันแผ่นละ 3,000 บาท ฉะนั้นอัลบั้ม MIDLIFE ยังมีเวลาให้ได้สะสม (หัวเราะ) 

ภูมิจิต - poomjit

20 ปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันคืออะไร

พุฒิ : ช่วงทำอัลบั้ม MIDLIFE แม็กเป็นคนบันทึกเสียงพร้อมมิกซ์อยู่หน้าคอมฯ ทุกคนก็จะล้อมหลังดูแม็กนั่งทำงานคนเดียว ช่วงนั้นแม็กกำลังสร้างครอบครัว มีลูก และซื้อบ้าน ถ้ามีงานอื่นที่ได้เงินเข้ามา แม็กก็จะต้องหลบงานภูมิจิตไปก่อน ช่วงนั้นเรารอแม็กอยู่เป็นปี อัลบั้มเลยล่าช้า

อัลบั้มใหม่ที่กำลังทำเลยจะเปลี่ยนวิธีเป็นการหาเพลงจากคนอื่น อย่างกานต์ก็ไปเอาเพลงของรุ่นน้องที่รู้จักมาลอง หรือแม็กก็แต่งเพลงเอง จากปกติที่เราเป็นคนแต่งเพลงหลักของวง เหมือนใช้วิธีการหา Source จากหลายๆ แหล่งมากขึ้น

แม็ก : เราอยากเอาชีวิตกลับมาใส่ดนตรี ที่ผ่านมาเราเอาชีวิตไปให้คนอื่นเยอะมาก ทำงานให้คนอื่นจนไม่มีเวลาของตัวเอง ต้องแบกคอมฯ ติดตัวเหมือนเป็นอีกอวัยวะ เสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด ต้องนั่งๆ นอนๆ เหวอ จะมีงานด่วนอะไรมาอีกมั้ย แบบนั้นมันไม่ใช่ชีวิตเลย ปณิธานของเราในปีนี้คือจะเอาชีวิตคืนมา ลองทำดูแล้วก็พบว่าได้ชีวิตคืนมาด้วย อย่างวันนี้มาอัดเพลงได้อย่างไร้กังวลมาก 

พูดได้มั้ยว่าอัลบั้มใหม่เปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

กานต์ : เดี๋ยวนี้ใช้คอมพิวเตอร์ทำเพลงสะดวกกว่า แต่เราใช้วิธี Old School ขึ้นเพลงทุกอย่างในห้องซ้อม ซ้อมให้แม่น แล้วมาลุยพร้อมกัน พวกเราไม่ได้อัดรวมกันมานานมากแล้ว 

แม็ก : ต้องบอกว่าคอมพิวเตอร์มิวสิกเป็นสกิลที่คนทำเพลงมีกันเป็นพื้นฐาน แต่ตอนนี้มันพัฒนาไปไกลมาก ทำเพลงได้ง่ายขึ้น มีไมโครโฟนตัวหนึ่ง มีออดิโออินเทอร์เฟสสำหรับเสียบเครื่องดนตรี และในโลกทุกวันนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่า Sampler หรือ Loop ต่างๆ ที่พร้อมใช้ ทำให้ความเครียดในการทำงานน้อยลงมาก 

ไม่แปลกใจที่วงดนตรีในยุคนี้จะออกมาหลากหลาย ซาวนด์ใกล้เคียงกับวงต่างประเทศมากขึ้น กระทั่งเสียงปรบมือก็รู้ว่าจะเอามาจากเว็บไซต์ไหน แต่ใครอยากใช้วิธีไหนก็ใช้ จะเลือกทำงานแบบไหนก็เป็นสิทธิ์ของทุกคน ทุกวันนี้วิธีการทำเพลงมันหลากหลายมาก อยู่ที่ว่าจะเลือกใช้ให้เหมาะกับวงแบบไหน ผลลัพธ์ไม่ต่างกันด้วย มันยิ่งสนุกในการทำเพลง 

พุฒิ : ตอนนี้ใครๆ ก็ทำผลลัพธ์แบบที่แม็กเล่าให้ฟังได้ แต่กระบวนการทำงานมันทำให้เรามีเรื่องเล่าที่ต่างกัน อย่างน้อยที่สุดอัลบั้มใหม่นี้ภูมิจิตก็กลับมาเรื่องเบสิกที่สุด นั่นคือการสื่อสารระหว่างมนุษย์ ทำงานพร้อมๆ กันสี่คนในวง 

บอม : เหมือนพ่อแม่ที่นอนหันหลังให้กันมาตลอด เราได้กลับมาคุยกัน 

ภูมิจิต - poomjit

คุยกันว่ายังไงบ้างสำหรับอัลบั้มใหม่

แม็ก : อัลบั้มใหม่จะใช้ชื่อว่า ‘ขอโทษวัยหนุ่ม’ เพราะมีสิ่งที่เคยฝันไว้และปัจจุบันยังทำไม่ได้ อยากนั่งไทม์แมชชีนกลับไปแล้วขอโทษไอ้หนุ่มคนนั้น และก็อยากไปบอกว่ามึงยังโอเค ไม่เป็นไร มีความสุขดี มีเมีย มีลูก มีงาน ดูแลครอบครัวและตัวเองได้

อัลบั้มนี้เราจะใช้ความรู้สึกนำ ปลดปล่อยตัวเองไปตามลำธาร ถ้าน้ำไหลก็ปล่อยให้ไหล อย่าไปขวางทางน้ำ 

สามอัลบั้มที่ผ่านมาปกติพี่พุฒิจะเป็นคนเขียนทุกเพลง อัลบั้มนี้แค่มีเพลงที่คนอื่นเขียนด้วยก็ถือว่าใหม่มากแล้วสำหรับภูมิจิต รู้สึกว่าการทำอัลบั้มนี้มันยิ่งสนุก เราคิดว่าภูมิจิตทำเพลงเพื่อตัวเองมาเยอะแล้ว ขอทำเพลงเพื่อคนอื่นบ้าง จะเศร้า ผิดหวัง อกหัก ก็น่าจะมีเพลงที่เป็นของพวกคุณได้ 

กานต์ : เมื่อก่อนถ้าไม่ใช่เพลงที่พุฒิแต่งคือเราไม่เอาเลย แต่ชุดนี้พยายามปล่อยให้ฟรีๆ ง่ายๆ ไม่ต้องเพอร์เฟกต์ สามอัลบั้มที่ผ่านมาเป็นภาพขาวดำจบไตรภาคไปและจะไม่ทำแบบนั้นแล้ว ชุดนี้เหมือนรีเซตเป็นศูนย์แล้วเริ่มใหม่ 

บอม : ปักธงอัลบั้มใหม่ไว้คือเล่นยังไงก็ได้ให้ตอนเมาเล่นแล้วไม่หลุด มองชีวิตจริงเป็นหลัก 

พุฒิ : เพลงในอัลบั้มนี้จะไม่สมหวัง เป็นการใช้ชีวิตไม่ได้ดั่งที่คิดไว้ แต่จะทำยังไงให้อยู่ในเกมนี้ได้ มีชีวิตให้นานที่สุดแล้วมีความสุขพอ คำถามคือเราจะเลิกทำหรือจะหาทางเพื่อให้ตัวเองอยู่ในเส้นทางนี้ต่อไปได้ 

ทำไมต้อง ‘ขอโทษวัยหนุ่ม’

พุฒิ : ขอโทษวัยหนุ่ม’ เริ่มมาจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่เราเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีที่เราอยู่ ม.6 เทพฯ ได้แชมป์จตุรมิตร ตอนอยู่บนสแตนด์ในสนามเราคิดว่าอยากทำวงดนตรีเจ๋งๆ ประสบความสำเร็จ กลับมาโรงเรียนแล้วน้องๆ ภูมิใจในตัวเรา มีเพลงที่คนจะร้องได้ตลอดไป 

ผ่านไปอีก 20 ปี เทพศิรินทร์ได้แชมป์อีกครั้ง เรานึกได้ว่าเราเคยฝันอะไรไว้ พอมานั่งดูตัวเองแล้วพบว่าที่อยากประสบผลสำเร็จ อยากมีเพลง เป็นพลัง เป็นแรงใจให้ผู้คนตลอดไป เราทำไม่ได้สักอย่าง 

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราไม่อยากเป็นวิศวกรเลย (งานประจำปัจจุบันของพุฒิคือวิศวกร) แต่ตอนนี้ก็มีเงินหมุนใช้รายเดือนจากอาชีพที่ไม่เคยคิดอยากเป็น โมเมนต์พวกนี้คือสิ่งที่เรา ‘ขอโทษวัยหนุ่ม’ ซึ่งเป็นคอนเซปต์ในการตั้งชื่ออัลบั้มและเป็นซิงเกิลแรกด้วย

ภูมิจิต - poomjit

แล้วคนอื่นๆ ในวงอยากขอโทษวัยหนุ่มของตัวเองมั้ย

บอม : กลับกันเรารู้สึกขอบคุณวัยหนุ่ม ไม่ว่ามันจะมีผลลัพธ์ออกมายังไง ก็ขอบคุณที่ยังทำตามแผนที่คิดไว้ เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก วาดการ์ตูน วาดสิ่งต่างๆ ไปเรื่อย จนได้ทำงานช่วงอายุ 20 จนถึงวันนี้เราก็ยังใช้สกิลการวาดรูปในการหากินอยู่ตามสายงานที่เราเลือกทำ 

กานต์ : ของเราได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้เป็นช่างภาพแมกกาซีนและทำฟรีแลนซ์มาถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นไปตามที่คิด โชคดีที่ความพยายามทั้งหมดมันตอบแทนหมดเลย ทุกวันนี้ไม่รู้สึกเสียดายอะไร ได้ใช้ชีวิตทุกอย่างแบบที่ต้องการแล้ว 

แม็ก : สำหรับเรารู้สึกว่าเวลา 20 ปีมันช่างยาวนานเหลือเกินที่จะสร้างคนคนหนึ่ง ชีวิตจะมีซ้าย-ขวาให้เลือกตลอด ถ้าเลือกทางไหนก็มีทางแยกเสมอ อยู่ที่เราว่าจะเลือกอะไรให้ตัวเอง 

ขอยกท่อนฮุกของเพลง ‘เห็นถั่วงอกเป็นดอกบัว’ เพลงในอัลบั้มใหม่ชุดนี้ มันเล่าได้ทั้งหมดเลยว่า ‘ฉันไม่เคยคาดหวัง ไม่เคยคาดฝัน ให้ถั่วงอกเป็นดอกบัว ฉันก็เพียงคาดหวัง แค่เพียงคาดหวังให้เป็นต้นเป็นถั่วเต็มตัว…ฟูมฟักให้เติบโตแล้วพร้อมไปขยายพันธุ์ต่อ’ เราแค่อยากจะเดินต่อไปในเกมอย่างมีความสุข

ภูมิจิต - poomjit

เพลงของภูมิจิตมักเล่าเรื่องสังคม เมือง และชีวิตผู้คน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามองเห็นยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

กานต์ : ตอนนี้สังคมมีความหวังเข้ามาเรื่อยๆ ผมเชื่อว่ากาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าอะไรดีไม่ดี ถ้ามันดีก็ต้องเดินต่อไป ถ้ามันไม่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยน พลังของคนรุ่นใหม่บอกอะไรบ้าง ผมเชื่อว่าเวลาจะเฉลยและบอกทุกอย่างแน่นอน 

บอม : มันเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่แท้จริงมากๆ คุณจะเชื่อแบบเดิมก็ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะออกมาให้เห็นเอง

แม็ก : ให้ตายยังไงการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นในสักวัน แต่ต้องอย่าลืมว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นมีคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย จุดสำคัญคือเราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้ได้ยังไง เพราะไม่ว่าอย่างไรชีวิตก็ต้องอยู่ร่วมกัน แตกต่างแค่ไหนก็ต้องยอมรับในความเชื่อและความคิดเห็นของแต่ละคน

พุฒิ : การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องไดนามิก หมายความว่ามันถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามเวลา ไม่ได้เป็นสิ่งที่ลอยขึ้นมาเฉยๆ เวลามองเรื่องการแก้ปัญหาบางอย่าง เราอยากให้ดูการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำให้เข้าใจบริบทได้อย่างกว้างขวางขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไม่แก้ปัญหาเรื่องเดิมซ้ำ และหากเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่งในอนาคตเราก็จะแก้มันได้ 

แปลว่ายังเชื่ออยู่ใช่มั้ยว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ 

บอม : เวลาอยู่ข้างเราจริงๆ เพราะคนรุ่นนี้จะมีความคิดแบบเชื่อกับไม่เชื่อ ส่วนคนรุ่นเก่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความคิดแบบเดียวจากการถูกฝังรากจากยุคก่อน คือเชื่อทั้งหมดโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้ง เชื่อมากและจะกอดความเชื่อนั้นไปจนตาย ต่างกับเด็กยุคใหม่ๆ ที่เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เขาวิเคราะห์ แยกแยะอะไรได้ทั้งหมด ฉะนั้นคำว่าเวลาอยู่ข้างเราก็ตามนั้นเลย มันชัดเจนด้วยคำนี้อยู่แล้ว เวลาจะพิสูจน์ทุกอย่างเอง

พุฒิ : เวลาเป็นส่วนหนึ่งในทุกเซลล์ของชีวิต คนที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเวลาเป็นทุกข์เสมอ

ภูมิจิต - poomjit

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.