เที่ยวยั่งยืนที่ชุมชนเพียรหยดตาล กับโครงการ APYE - Urban Creature

หากพูดถึงสวนมะพร้าวเราคงนึกถึงมะพร้าวน้ำหอม ถือกินเป็นลูกๆ หวานฉ่ำชื่นใจ แต่มะพร้าวสามารถเป็นได้มากกว่านั้น ทั้งน้ำมันมะพร้าวในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือหากเป็นพันธุ์มะพร้าวแกงก็จะนำเอาเนื้อมะพร้าวไปทำกะทิ ส่วนช่อดอกมะพร้าวที่เรียกว่า จั่น ยังเอามาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวได้ด้วย ซึ่งเราไปลุยสวนตามล่าน้ำตาลมะพร้าว 100 % กันมา แถมยังเห็นความลำบากในทุกกระบวนการ บอกเลยว่าหากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน

เรามีโอกาสตามชาวสวน พร้อมกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายประเทศ ไปคลุกคลีกับชุมชน ‘เพียรหยดตาล’ บ้านนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม ใน ‘โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก’ (Asia Pacific Youth Exchange หรือ APYE) ที่จับมือกับ ‘โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ’ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชน จะได้มาอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ โดยในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6

ในทริปนี้ เราได้เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ชวนคนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น จนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง นอกจากความสนุกที่ได้ทดลองเป็นชาวสวน ยังได้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สัมผัสได้จากรอยยิ้มอบอุ่นของคุณลุงคุณป้า

สิ่งสำคัญจากกิจกรรมนี้คือ การลงพื้นที่สำรวจชุมชน และเข้าใจปัญหาต่างๆ ในชุมชนที่มีผลต่อการพัฒนา ผ่านการพูดคุยและทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยนำเสนอไอเดียและข้อเสนอแนะให้ชุมชนนำไปต่อยอด ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

หลายคนเคยได้ยิน ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ กันมาแล้วบ้างก็น่าจะอยากรู้ว่า เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนได้อย่างไร ไปฟังแนวคิดจาก หนึ่งในตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ‘ชารีฟ วัฒนะ’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครั้งนี้กัน

ทำไมถึงสนใจสมัครโครงการนี้ ?

จากที่ผมได้เรียนวิชา ‘พลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา’ (TU100) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เนื่องจากธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับโครงการของ APYE 

“การได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาลงมือทำจริง จากภาคทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ ได้สำรวจชุมชน เห็นสภาพปัญหา ร่วมกันคิดหาทางออกในมุมมองของเยาวชนจากหลากหลายประเทศ”

‘เพียรหยดตาล’ มีแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ? 

ชุมชนเพียรหยดตาลเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มจากพี่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำ ร่วมกันกับคุณลุงคุณป้า นำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกจุดหนึ่งในการขยาย SDGs ในด้านอื่นๆ อีกด้วย

“อย่างแรกคิดว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะการขับเคลื่อน SDGs มันเกิดจากคนๆ เดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านในชุมชน รวมถึงเยาวชน และทุกคนที่มีส่วนได้เสียในการร่วมกันพัฒนาชุมชนหนึ่งๆ”

เป้าหมายของการพัฒนา ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ คืออะไร ?

การดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและผู้คน และรับมืออย่างไรให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย 

“เป้าหมายหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศหรือชุมชนต่างๆ เพราะคำว่ายั่งยืน มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ”

‘เยาวชน’ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร ?

เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ วัยหนุ่มสาวยังสามารถทำอะไรให้กับประเทศอีกมากมาย เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยมหาวิทยาลัย กำลังเข้าถึงแขนงวิชาความรู้ต่างๆ เขาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาสู่การปฏิบัติได้ และเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

“สิ่งที่เรียนไม่ใช่แค่นำไปประกอบอาชีพในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่สามารถนำความรู้มาพัฒนาชุมชน ร่วมกันคิดหาทางออก และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้”

สิ่งที่ได้กลับไปจากโครงการนี้

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เราได้สัมผัสความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ เราได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าอยากเห็นชุมชนกลับมาทำน้ำตาลมะพร้าวอีกครั้ง เป็นตัวจุดประกายว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆ ยังอยู่กับชุมชนต่อไปถึงรุ่นลูกลูกหลาน 

“เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า บ้านเรามีของดีมากมาย แล้วก็รู้สึกมีความหวังว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดจะพัฒนาชุมชน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ทำให้เราอยากจะช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.