ตามรอยการเดินทาง ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตแม่กลอง - Urban Creature

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในอวกาศอันเวิ้งว้าง มียานอวกาศจากดาว ‘แมกแมกเคอเคอเรลเรล’ อันไกลโพ้นลอยตุ๊บป่องมุ่งหน้าสู่โลกมนุษย์ เพื่อสำรวจทรัพยากรบนดาวเคราะห์อันอุดมสมบูรณ์

บนยานอวกาศคือสิ่งมีชีวิตหน้างอ คอหัก ที่เพ่งดูแผนที่โลกอย่างตั้งใจ เจ้าเอเลียนไล่สายตาอย่างช้าๆ บนแผนที่โลกเพื่อหาจุดหมายในการสำรวจ ทันใดนั้นมันก็สะดุดเข้ากับจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเล็กๆ ติดอ่าวไทยในภาคกลางของไทยที่มีรูปร่างเขตแดนเล็กปุ๊กปิ๊ก ขาเล็ก หัวใหญ่ หน้าตาเหมือนพ่อตัวเองไม่มีผิด

หัวใจเต้นรัว ดวงตาเบิกโพลง เจ้าเอเลียนรู้ตัวทันทีว่า นี่แหละ คือจุดหมายในการสำรวจของมัน ไม่รอช้าให้เสียเวลา เอเลียนหน้างอผละสายตาออกจากแผนที่ หันขวับไปจับจ้องที่กระจกหน้ายาน สองมือกำพวงมาลัยแน่น เหยียบคันเร่ง นำยานอวกาศพุ่งตรงลงมาที่จังหวัดสมุทรสาคร

นี่คือเรื่องราวของ ‘ปาป้า-ทูทู่’ ตัวละครน่ารักน่าหยิกที่ ‘วิน-ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล’ และ ‘เต-เตชสิทธิ์ ยศวิปาน’ ร่วมกันสร้างขึ้น ด้วยหวังว่าสักวันมันจะกลายเป็นมาสคอตของจังหวัด สร้างสีสันให้เมือง เหมือนอย่างจังหวัดคุมาโมโตะในญี่ปุ่น ที่มีหมีคุมะมงอันโด่งดังเป็นมาสคอตประจำตัว

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

ถึงจะหน้าตาเหมือนปลาทูไม่มีผิด แต่ทั้งคู่บอกว่า ที่จริงแล้วปาป้า-ทูทู่คือการรวมตัวกันของเอเลียนหน้าตาเหมือนปลาทูแม่กลองชื่อ ‘ปาป้า’ และหุ่นยนต์สีเหลืองตัวเล็กเหมือนกลองบนหัวชื่อ ‘ทูทู่’

ภารกิจของปาป้า-ทูทู่คือการซอกแซกสำรวจจังหวัดสมุทรสงคราม และแบ่งปันของดีของเด็ดในจังหวัดมาให้ทุกคนได้ชื่นชมกัน ซึ่งเรื่องราวการเดินทางของปาป้า-ทูทู่ก็ถูกบันทึกลงในเพจ ‘Plaplatootoo’ ที่ทั้งสองคนช่วยปลุกปั้นกันขึ้นมา

ในวันนี้ ปาป้า-ทูทู่เป็นชื่อที่รู้จักกันดีของคนแม่กลองรวมถึงคนไทยจำนวนไม่น้อย แถมเคยนั่งแท่นเป็นมาสคอตประจำ ‘เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ครั้งที่ 25’ ตอนปลายปี 2566 อีกด้วย

แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในขวบปีแรกๆ ของโปรเจกต์ หลายคนยังไม่รู้จักตัวตนของปาป้า-ทูทู่ ถึงขนาดที่ทั้งคู่ไปออกบูทขายของเกี่ยวกับปาป้า-ทูทู่แล้วต้องนั่งเหงา ไม่มีใครแวะเวียนเข้ามา และที่สำคัญคือยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีมาสคอต

แล้วทำไมต้องมีมาสคอตล่ะ

ฟังจากปากของวินกับเตไปด้วยกันว่า ทำไมทั้งคู่ถึงเชื่อกับการสร้างมาสคอตให้แม่กลอง และพวกเขาต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง กว่าจะปลุกปั้นปาป้า-ทูทู่ให้มีชีวิต และเป็นดาวเด่นของแม่กลองได้ในที่สุด

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

เล่าจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘ปาป้า-ทูทู่’ ให้ฟังหน่อย

วิน : จุดเริ่มต้นตัวโปรเจกต์มาจากเราไปเข้าโครงการประกวด ‘Change 2021 : Visual Character Arts’ ของ CEA หรือ Creative Economy Agency เขาสร้างโปรเจกต์นี้มาเพื่อดึงครีเอเตอร์ นักออกแบบ หรือคนที่สนใจอยากจะสร้างคาแรกเตอร์มาเข้าโครงการ มีจัดอบรม และประกวดคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งขึ้นมาเป็น Local Character

ตอนแรกโครงการใช้ธีม ‘Thainess’ คือให้ออกแบบคาแรกเตอร์อะไรก็ได้ที่บอกความเป็นไทย แต่เราคิดว่าถ้าสร้างคาแรกเตอร์บ่งบอกความเป็นไทยมันกว้างไป เราเลยมองในสเกลจังหวัดแทน ด้วยพื้นเพเราที่เป็นคนสมุทรสงคราม เลยเลือกของดีประจำจังหวัดก็คือปลาทูแม่กลอง และลองดีไซน์คาแรกเตอร์ออกมาเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’

ปาป้า-ทูทู่ไม่ได้เป็นปลาทู แต่เป็นเอเลียนหน้าตาเหมือนปลาทูชื่อ ‘ปาป้า’ แล้วมีหุ่นยนต์สีเหลืองข้างบนชื่อ ‘ทูทู่’ ที่คอยเก็บข้อมูลและให้คำปรึกษากับปาป้า ทูทู่หน้าตาเหมือนกลอง เพราะกลองลอยน้ำเป็นตราประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

ทีแรกจะให้คาแรกเตอร์เป็นตัวปลาทูเลย แต่เราอยากสร้างคาแรกเตอร์ให้เชื่อมโยงกับเรา เลยเปลี่ยนเป็นเอเลียน เพราะเราเกิดและโตที่สมุทรสงครามจนถึงมัธยมฯ แล้วมาเรียนมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ พอกลับไปที่แม่กลองรู้สึกว่า เฮ้ย มีคาเฟ่เปิดใหม่ พี่คนนี้กลับมาทำธุรกิจที่นี่แล้วเหรอ กลายเป็นว่ามุมมองเราไม่ใช่คนในพื้นที่แล้ว เป็นเหมือนคนนอกที่มองเข้ามา เลยอยากเป็นตัวแทนของคนนอกที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วอยากรู้จักแม่กลอง

พอจบงานประกวด ได้รางวัล แต่เรารู้สึกว่าอยากต่อยอด ไม่ใช่แค่ดีไซน์แล้วจบ เราเลยเอาคาแรกเตอร์ไปเสนอ อบจ. เผื่อใช้เป็นมาสคอต เอาไฟล์ PDF Visual Character Art ที่บอกลักษณะคาแรกเตอร์ไปให้เขา แต่ทาง อบจ. ยังไม่เข้าใจว่าจะเอาไปใช้งานยังไง กลายเป็นว่าตอนนั้นเขาก็ไม่ซื้อ ไม่สนใจ

เราเลยมองว่าเราต้องดังก่อน (หัวเราะ) คิดง่ายๆ เลยว่าเขาไม่สนใจเพราะเราไม่ได้ดัง งั้นทำไงดี เลยเปิดเพจ ดึงเตเข้ามาทำด้วย เพราะเตเรียนด้านการตลาดมาก่อน และทำงานเป็นช่างภาพอิสระ

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

ทำไมเตถึงสนใจมาร่วมโปรเจกต์กับวิน

เต : เราว่าโปรเจกต์นี้น่าสนใจ และก่อนหน้านี้ก็ติดตามวินมาอยู่ตลอด เห็นวินทำงานออกแบบคาแรกเตอร์ แชร์งานวาดรูป พอวินเสนอโอกาสนี้มาก็เอาเลย ทำอะไรได้ก็ทำ แล้วเราถนัดทำการตลาด ทำคอนเทนต์ ถ่ายภาพ ก็เอาทักษะตรงนี้มาลุย

การทำเพจช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง

วิน : พอทำเพจปุ๊บ โควิดมาพอดี (หัวเราะ)

เต : แต่เราพอเอาตัวรอดได้ จากคาแรกเตอร์ของปาป้า-ทูทู่ที่นิสัยเหมือนเด็ก อยากรู้อยากเห็น มองโลกในแง่บวก เราเลยทำคอนเทนต์พาปาป้า-ทูทู่ไปดูเมืองที่เงียบเหงาจากโควิด ซึ่งก็เริ่มเป็นที่สนใจในหมู่คนสมุทรสงคราม ยอดแชร์สามร้อยกว่าแชร์

เสร็จแล้วเราทำคอนเทนต์อื่นต่อยอด ให้ปาป้าไปทำความรู้จักกับคนนั้นคนนี้ในจังหวัดสมุทรสงคราม แล้วเอาเรื่องราวพวกเขามาเล่าในมุมมองของตัวเอง มีการใส่มาสคอตปาป้า-ทูทู่ไปเที่ยว นั่งมอเตอร์ไซค์ เราก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

จุดไหนที่คุณรู้สึกว่า ‘ปาป้า-ทูทู่’ ดังขึ้นจริงๆ แล้ว

วิน : ตอนที่ทำคอนเทนต์ไปนู่นไปนี่ เราก็ได้รู้จักกับ พี่ทสม์ เจริญช่าง ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ทีนี้พี่เขาเป็นแม่งานจัดเทศกาลกินปลาทูฯ ครั้งที่ 25 เลยชวนเราเอาปาป้า-ทูทู่ไปเป็นมาสคอตของงาน ชวนเราทำอาร์ตเวิร์ก โปสเตอร์ บิลบอร์ด และป้ายต่างๆ ในงาน อันนี้ก็เป็นที่ฮือฮาในจังหวัด เพราะเปลี่ยนภาพจำงานเทศกาลกินปลาทูฯ ไปเลย

เต : ปกติเทศกาลกินปลาทูฯ จะมีพี่คนหนึ่งออกแบบโลโก้เทศกาลให้ เป็นรูปปลาทูแต่ลายเส้นเก่าๆ แล้วเขาจะเปลี่ยนชุดไปตามแต่ละธีมของปี พอเอาคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่มาใส่คือเปลี่ยนโทนเลย

ผลตอบรับจากคนสมุทรสงครามเป็นยังไงบ้าง

วิน : คนแม่กลองมองว่าแปลกใหม่ดี ฟีดแบ็กโอเค เราขายสินค้าตัวละครปาป้า-ทูทู่ด้วย อย่างตุ๊กตา ทำมาสามร้อยตัว ขายหมด มีเสื้อ พวงกุญแจ คนก็มาซื้อหมด

เต : มีคนจากต่างจังหวัดมาเที่ยวงานเทศกาลกินปลาทูฯ เพราะปาป้า-ทูทู่เลยก็มี แล้วเริ่มมีสื่อมาติดต่อสัมภาษณ์มากขึ้น

วิน : ที่จริงในงานเทศกาลกินปลาทูฯ ครั้งที่ 25 เป็นธีม ‘ปลาทูแม่กลองและผองเพื่อน’ พี่ทสม์บอกว่าจะไม่เล่าของดีแม่กลองแค่ปลาทู แต่จะเล่าของดีอื่นๆ ในจังหวัดด้วย เราก็เอาขนมเสน่ห์จันทร์ หิ่งห้อย ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม แมววิเชียรมาศ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ มะพร้าวอัมพวา กับหอยหลอด มาออกแบบเป็นคาแรกเตอร์หกตัว

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง
ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

เห็นว่ามีการทำสินค้าต่อยอดจากตัวมาสคอตด้วย ทำไมถึงทำสินค้าขึ้นมา

วิน : ถ้าย้อนไปหลังตอนโครงการ Change 2021 จุดประสงค์ของโครงการคือการต่อยอดคาแรกเตอร์ไทยให้เกิด Business Model นอกจากการออกแบบคาแรกเตอร์ให้ตอบอัตลักษณ์ของพื้นที่ โครงการเพิ่มอีกเรื่องคือธุรกิจ คาแรกเตอร์สามารถมีมูลค่าและเป็นสินค้าได้ ในโครงการเขาเลยให้สร้างสินค้าขึ้นมา ซึ่งของที่เราทำกับโครงการคือสติกเกอร์

พอมีสติกเกอร์เราก็เอาไปแปะผลิตภัณฑ์จากสมุทรสงคราม ช่วงแรกเคยทำน้ำมะพร้าว ก็เอาสติกเกอร์ไปแปะแก้วอัปมูลค่าเหมือนร้านน้ำที่มีแก้วน่ารักๆ นอกจากนั้นเราเคยขายข้าวเกรียบ ครองแครง ส้มโอโซดา ทำไปทำมา เราคิดว่าของสดมันยากที่จะควบคุม เลยต่อยอดเป็นของที่ไม่เน่าเสียแทน

เต : พอมีงานเทศกาลกินปลาทูฯ เราก็ลองทำพวงกุญแจอะคริลิก ตุ๊กตา เสื้อ มาขายให้คนมางานแล้วได้ของที่ระลึก พอจบงานปลาทูปุ๊บ เราเห็นว่ามันทำต่อไปอีกได้ เลยเสนอทำกางเกงขึ้นมา

ตอนนั้นเป็นยุคที่คนฮิตทำกางเกงเต็มไปหมดเลย จังหวัดสมุทรสงครามยังไม่มีใครทำด้วย เราก็เลยทำดีกว่า เลยได้กางเกงปล้างมา เป็นคำว่า ปลา บวกกับ ช้าง ซึ่งอันนี้ก็ดังมาก

เดี๋ยวเราจะออกเพลงให้กับปาป้า-ทูทู่ด้วย คาแรกเตอร์บางตัวจะมีเพลงประจำเหมือนคินนิคุแมนที่ร้องเพลง ‘พอจะกินอะไรก็อยากแต่ข้าวหน้าเนื้อ’ เราเลยอยากสร้างเพลงขึ้นมาเป็นสีสัน แต่งเนื้อเพลงออกมาประมาณว่า ปาป้าจะคอยเป็นเพื่อน ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ อยู่ที่ไหน จะมีปาป้า

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

จากมาสคอตที่ อบจ. ไม่เข้าใจในวันนั้น จนกลายเป็นมาสคอตของงานเทศกาลกินปลาทูฯ ได้ คุณคิดว่าสิ่งที่ทำมาไกลเหมือนกันไหม

วิน : คาแรกเตอร์กับมาสคอตยังเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของบ้านเรา ถึงตอนนี้กระแสคาแรกเตอร์จะเข้ามาจากกระแส POP MART แต่อะไรที่มาจากคน Local ยังไม่ได้รับการยอมรับขนาดนั้น เราก็ต้องพิสูจน์ พยายามทำให้เกิดขึ้น พยายามผลักดัน 

พูดตรงๆ ว่าที่มาได้ถึงทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่เราสองคนหรอกที่ทำ ยังมีคนข้างหลังอีก อย่างเช่นพี่ทสม์ที่พยายามผลักดันให้เราเอามาสคอตไปคอลแลบกับธุรกิจเจ้านั้นเจ้านี้ หรือคนที่มาช่วยเราทำงานอาร์ตตอนเทศกาลกินปลาทูฯ ก็ตาม

ทุกวันนี้ทำงานกับฝั่ง อบจ. ฝั่งรัฐ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม ต้องใช้เวลา เพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ไว แต่เราเชื่อว่าการที่เขาเห็นปาป้า-ทูทู่เรื่อยๆ บ่อยๆ เขาจะเข้าใจมากขึ้น และรู้ว่าจะเอามาสคอตไปทำอะไรได้บ้าง

แสดงว่าการจะสร้างมาสคอตให้กับเมือง ที่จริงต้องมีคนส่งเสริมหลายภาคส่วนเลย

วิน : ใช่ ตอนนี้ถึงจุดที่คนอื่นเขามีไอเดียอยากทำนู่นทำนี่แล้วมาร่วมกับเรา ไม่ใช่เราเริ่มเองแล้ว ก็มองว่าเป็นความประทับใจเหมือนกันที่มีคนอยากผลักดันมันให้มากขึ้น

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

คิดว่าการทำมาสคอตที่ดีต้องมีส่วนผสมอะไรบ้าง

วิน : ต้องมองว่ามาสคอตไม่ใช่แค่ภาพ แต่มันมีชีวิต เราควรคิดด้วยว่าอยากจะให้มาสคอตใช้ชีวิตอย่างไร ลักษณะไหน อยากให้คนอื่นมองว่ามาสคอตเป็นยังไง คนดี ไม่ดี ยิ่งมาสคอตมีชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็จะรู้สึกถึงตัวตนมาสคอต และจะยิ่งรักมันมากขึ้น ต้องรู้สึกให้ได้ว่ามันไม่ใช่แค่ภาพ

เต : พอได้คาแรกเตอร์ที่ชัดเจน มันง่ายกับเราที่ทำคอนเทนต์ด้วย ในเพจเราไม่ได้ใส่ภาพวาดอย่างเดียว แต่ใส่เรื่องราว นิสัย และความรู้สึกของปาป้า-ทูทู่ลงไป ร้อนก็บ่นว่าร้อน ชอบอะไรก็บอกว่าชอบ เราไม่ได้ใส่แค่ภาพวาดแล้วจบ เพราะตัวละครจะไม่มีชีวิต

แผนการต่อไป อยากทำอะไรอีกในอนาคต

เต : ทุกปีเราจะวางสเต็ปว่าอยากทำอะไร อย่างของปีนี้อยากมีหน้าร้าน อาจไม่ใช่หน้าร้านใหญ่ แต่เป็นบูทเล็กๆ ตามที่ดังๆ ในแม่กลอง รวมสินค้าต่างๆ ที่เราทำมาขาย อย่างที่กำลังทำอยู่คือข้าวเกรียบปลาทูแม่กลอง เราพัฒนาแพ็กเกจมันให้ดีขึ้นอีกโดยใส่ปาป้าเข้าไป เอาของเดิมในจังหวัดมาทำใหม่ให้เป็นอีกระดับหนึ่ง

เราอยากทำแลนด์มาร์กของจังหวัดด้วย อาจจะเอาปาป้า-ทูทู่ และของดีในจังหวัดอีก 7 ตัวไปตั้งไว้ตามแหล่งต่างๆ อยากให้มีนักท่องเที่ยวมาเช็กอิน ถ่ายรูป เป็นรสชาติใหม่ๆ ของจังหวัด

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

คิดว่าการมีมาสคอตช่วยส่งเสริมให้เมืองพัฒนาขึ้นได้อย่างไร

วิน : ในมุมเรา เรามองว่ามาสคอตเป็นสีสันที่เกิดขึ้นมาเพิ่มเติม บ้านเรามันเหมือนเดิมอยู่แล้ว มีตลาดรถไฟ ตลาดน้ำอัมพวา อุทยาน ร.2 แต่เราใส่สีใหม่ๆ เข้าไป ให้คนที่เคยมาแล้วหันกลับมามองอีกรอบในมุมใหม่

อีกอย่างคือ เป็นการสร้างภาพจำใหม่ให้เมืองในแบบคนรุ่นเรา ปกติคนจะนึกถึงแม่กลองจากปลาทู แต่ตอนนี้ปาป้า-ทูทู่ก็เริ่มเป็นภาพจำแม่กลองเหมือนกัน ในเพจเรามีคนมาซื้อกางเกงลายปาป้า-ทูทู่ให้แฟนเพราะแฟนเป็นคนแม่กลองด้วย

ตอนนี้อาจมีคนอีกหลายคนที่อยากสร้างมาสคอตให้บ้านเกิดตัวเอง มีอะไรอยากแนะนำพวกเขาบ้าง

เต : ทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ค่อยๆ ทำไป ตอนแรกเราก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มที่ เคยออกบูทแล้วนั่งเงียบเหงาแต่ก็ไม่หยุด ทำคอนเทนต์มาเรื่อยๆ แล้วก็มีงานใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เดี๋ยวคนก็เก็ตเอง หาทางตัวเองให้เจอ

ตามรอยการเดินทางกว่าจะเป็น ‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตหน้างอคอหักที่พาทุกคนไปตกหลุมรักแม่กลอง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.