WALTZ เต้นรำในวอดวาย - Urban Creature

ทำไมเขาไม่รักฉัน ทำไมความสัมพันธ์ของเราจึงเปลี่ยนแปลงไป เหตุใดถึงคบใครไม่ได้นาน ทำไมโสด พอมีคนเข้ามาก็ไม่ถูกใจ ทำไมเธอคบเผื่อเลือก นอกใจเป็นเรื่องควบคุมได้หรือเปล่า ชู้รักคือหอกแหลมคมหรือหยาดน้ำวาบหวาม แล้วอะไรบันดาลให้สองคนอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า ทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ระยะยาวไม่น่าเบื่อเกินทน 

เพราะอะไรจึงต่างสร้างบาดแผลให้กันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำไมผู้เป็นพ่อมีอำนาจเหนือทุกคนในบ้าน ทำไมจึงใช้ความรุนแรง ความรักเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ และหรือสถาบันย่อยอย่างครอบครัวบ่มเพาะปูดปมลึกร้าวเพียงใดในการสร้างคนออกสู่สังคม แล้วสังคมล่ะ-โครงสร้างของมันกดทับอะไรบ้างในความสัมพันธ์

คำถามทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงคำถามที่คิดออกอย่างฉับพลัน ซึ่งเชื่อว่าหากได้ลองนั่งคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับปัญหาในแง่มุมต่างๆ ของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เราคงได้คำถามชนิดที่ไม่หวาดไม่ไหวจะนับ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่พาผมเดินทางมาพบ เติร์ก-บริษฎ์ พงศ์วัชร์ ผู้เขียนหนังสือรวมเรื่องสั้น WALTZ เต้นรำในวอดวาย ผลงานจากสำนักพิมพ์ที่ประกาศกร้าวยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์ P.S. Publishing


เริ่มบรรเลง

หนึ่งในสิ่งซึ่งชวนแปลกใจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คือต่อให้ผ่านความเจ็บร้าวปวดแปลบมากเพียงใด ก่อกำแพงในใจสูงลิ่วแค่ไหน เมื่อแผลสดสมานกลายเป็นแผลเป็น ไม่มากก็น้อย แนวโน้มที่คนเราจะสร้างความสัมพันธ์แบบหนึ่งแบบใดขึ้นใหม่ก็ยังไม่เท่ากับศูนย์

WALTZ เต้นรำในวอดวาย จะพาผู้อ่านไปสำรวจฟลอร์ของเรื่องราวความสัมพันธ์ ที่แก่นแกนอาจกล่าวได้ว่ามักเคลือบหวานที่ท่อนแรกเริ่ม แต่ซ่อนขมตรมที่ปลายเพลง นิยามของบ้านภายในจิตใจ และการเผาไหม้ใครสักคนจนวายวอดในขณะที่บทเพลงเต้นรำบรรเลงถึงโน้ตตัวสุดท้าย 

จริงอยู่-ถึงที่สุดแล้วไม่มีความสัมพันธ์ใดเทียบเคียงกันได้ ด้วยความซับซ้อนของมนุษย์ กระนั้น หลังจากอ่านหน้าสุดท้าย เรื่องราวแต่ละเรื่องในหนังสือก็ชวนให้ขยับถอยออกมามองหาทุกโครงสร้างที่มีผลต่อความสัมพันธ์ เมื่อเราต่างไม่อาจเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับใครสักคน-สักรูปแบบ จะเป็นไปได้ไหม-ที่การเต้นรำจะมอบเปลวไฟอบอุ่นแก่เรา โดยไม่ผลาญทำลาย หรือหากต้องผลาญทำลาย-จะมีบ้างไหม บางสิ่งซึ่งยังเหลือในกองเถ้าถ่าน

ผมนึกถึงหลายคำถาม หลากข้อขบคิด ขณะนั่งอยู่กับนักเขียนหนุ่ม ชั่ววินาทีก่อนเริ่มบทสนทนา แววตาคู่นั้นปรากฏวาบแสง

“ต้องเล่าว่าก่อนจะเป็น เต้นรำในวอดวาย’ต้นฉบับค่อนข้างเป็นไทม์ไลน์ในชีวิต ตั้งแต่สองสามปีที่แล้ว ด้วยเป็นคนชอบจดบันทึก มันจึงมาจากห้วงความรู้สึก ไร้มวล ไม่มีน้ำหนัก มีแต่สภาวะอารมณ์ในเวลานั้น รู้สึกแค่ว่าสาดอารมณ์ทิ้ง สาดอารมณ์ออกไป ฉะนั้น มันจะค่อนข้างสะเปะสะปะ ไม่ได้มีการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง-สอง-สาม ไม่ได้มีโครงสร้างชัดเจน แต่พอมาทำงานร่วมกับบรรณาธิการ แล้วบรรณาธิการเห็นว่ามันมีสามส่วนที่จัดเป็นกลุ่มได้อย่างชัดเจน นั่นคือเต้นรำ วอดวาย และเถ้าถ่าน”

เติร์กเล่าให้ผมฟังต่อว่า ทั้งสามส่วนในเล่มอาจแบ่งออกเป็นช่วงเวลา ส่วนแรกคือปัจจุบัน ส่วนที่สองพูดถึงอดีต ตรงนี้เขาย้ำว่าเหมือนเป็นช่วงที่สะท้อนประสบการณ์ความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในวัยเด็กของผู้คน และส่วนสุดท้ายคืออนาคต ช่วงที่เสียงเล่าผ่านเรื่องราวต่างๆ ผ่านแรงขับของแต่ละช่วงชีวิตมาแล้ว ซึ่งมันเหมือนกับการมองว่าคนหนึ่งคนจะเป็นอะไรต่อไปได้บ้าง

ในฐานะผู้อ่าน ผมยังรู้สึกว่าทั้งสามส่วนเหมือนเป็นกระบวนการเผาไหม้บางสิ่ง จากที่ได้ฟังว่าส่วนสุดท้ายคืออนาคต แต่ผมยังรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่จะดำเนินต่อไป เหมือนสิ่งที่หลงเหลือจากการมอดไหม้ เป็นเถ้าถ่านตามชื่อของมันเลย ตรงนี้เป็นความตั้งใจไหม

“ที่จริงก็ใช่ แต่คือสภาวะโดยรวมในหนังสือเล่มนี้ เราจะไม่พูดว่าตัวเองเป็นคนรู้สึกนะ เพราะวิธีทำงานเราดีลกับสภาวะหนึ่งที่อยากเล่า อย่างเล่มนี้ประกอบด้วยสามบทใช่ไหม เราเริ่มทำงานกับสภาวะก่อน ซึ่งสภาวะของหนังสือเล่มนี้คือเรารู้สึกถึงความทรมานของการเผาไหม้ เรารู้สึกตลอดเวลาว่าทำไมตัวเองถึงมีความร้อน มันร้อน แต่ไม่ได้ร้อนทางร่างกาย มันเป็นร้อนจากข้างใน จากความโกรธ จากบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ”


ทำความรู้จักกันผ่านความไม่น่ารัก

สิ่งหนึ่งที่ส่วนตัวผมคิดมาตลอด และเหมือนถูกเติมเชื้อไฟหลังจากการอ่าน เต้นรำในวอดวาย นั่นคือต่อเมื่อคนคบหาสมาคมกันถึงจุดหนึ่งแล้ว จริงหรือเปล่าว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันและกันได้ จะมากจะน้อย-เราก็ไม่อาจควบคุมให้ความสัมพันธ์ไร้ริ้วรอย ผมชวนเติร์กคุยถึงเรื่องนี้ ผมถามเขาว่า คิดเห็นอย่างไรกับความคิดที่ว่าความสัมพันธ์ที่ไม่มีบาดแผลนั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่คนสองคนรู้จักกันจริง เมื่อมองมนุษย์ในแง่ของปัจเจกที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเราจะไม่พูดในฐานะที่ตัวเองเป็นเอ็กซ์เปิร์ต แต่พูดจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เราคิดว่าใช่แหละ-ความสัมพันธ์มันมีด้านสุกสว่าง มันมีด้านดี แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นดาร์กไซด์

“เรามองว่าอย่างเราเพิ่งรู้จักกัน แน่นอนว่าเราหันด้านดีเข้าหากัน แต่ว่าเมื่อไหร่ที่รู้จักกันมากขึ้น อีกด้านหนึ่งจะเริ่มปรากฏ บางทีเราพยายามซ่อนแล้วนะ พยายามเสแสร้ง แต่เอาไม่อยู่ เพราะมันเป็นธรรมชาติ เพราะสุดท้ายแล้วพอใช้เวลากับใครสักคนไปนานๆ มันจะเริ่มเห็น จะมีบางจุดที่เริ่มคิดว่า-เฮ้ยทำไมเป็นแบบนี้วะ จะเริ่มมีคำถาม รู้สึกว่าเห็นใกล้ไปแล้ว และการเห็นใกล้ก็จะเริ่มเป็นการจับจ้อง ซึ่งส่วนใหญ่ธรรมชาติของคนจะจับจ้องสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ”

ขณะพูดคุย หลายช่วงผมพบว่าตัวเองกับเติร์กมีความเห็นค่อนไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนกันเสียทุกเรื่อง สิ่งนี้ชูรสให้บทสนทนา ผมพบว่าเติร์กเป็นชายหนุ่มที่มีกรอบความคิดเป็นระบบ ทั้งยังเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ไปพร้อมกับเชื่อในการเคารพตัวเองและผู้อื่น

ผมยังชวนเติร์กคุยเรื่องความน่ารักและไม่น่ารักของคนอีกสักพัก ถึงจุดหนึ่งผมถามเขาว่าจากจุดที่พูดกันเมื่อครู่ ถ้าสำหรับความสัมพันธ์ระยะยาว จำเป็นใช่ไหมที่เราควรโฟกัสข้อเสียของกันและกันในระยะที่พอดี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับคนรัก แต่รวมถึงความสัมพันธ์แบบอื่นด้วย เราต้องช่างแม่งได้ประมาณหนึ่งไหม

“โดยส่วนตัวเราโอเคกับคำว่า เฮ้ย-มันต้องมีสมดุลนะ ต้องมีระยะห่างที่พอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน เราค่อนข้างเป็นคนสุดโต่งเหมือนกัน คือบางเรื่องเราก็จะไม่ประนีประนอมกับคุณ แต่ว่าคุยกันได้นะ ซึ่งกลับมาที่คำถามตอนแรก พอคนหนึ่งคนมีจุดยืนบางอย่าง ถ้าพูดไปตามตรงโดยไม่เสแสร้งว่านี่คือด้านมืดของเรา แล้วอีกคนก็แน่นอน-ไม่อาจเสแสร้งเช่นกัน เมื่อนั้นเราไม่อาจกลบบาดแผล กลบความแหลมคม สุดท้ายผมว่าจุดนี้แหละจะเป็นจุดที่เชือดเฉือนกัน”

“แต่ก็ต้องอยู่ในระดับพอทนได้ ระดับที่ควบคุมได้”

“จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ จะเรียกว่าความเจ็บประมาณนี้นะ คือรับได้”

“เหมือนการถ่วงดุลอำนาจ”

“จริงๆ ความสัมพันธ์ก็คืออำนาจแหละ เราว่ามันเกี่ยวกัน”


ความรักล่ะหรือคืออำนาจ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการคุยเรื่องความสัมพันธ์ คือการเทียบเคียงเรื่องของความรักเข้ากับเรื่องของอำนาจในแง่มุมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในหลักใหญ่ใจความของหนังสือที่กำลังพูดถึง ต่อเมื่อมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม ไม่ได้ผุดผ่องไปเสียทุกด้าน 

จึงอาจพูดได้ว่าการบริหารของความสัมพันธ์ไม่ต่างอะไรจากการคานอำนาจ เสมือนมีเส้นเขตแดนที่เราต่างรับรู้ได้ว่าภายในนั้นเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งควรสงวนไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ พูดให้ง่ายคือการให้เกียรติ เกรงอกเกรงใจ คือสิ่งที่เตือนไม่ให้เราเอาแต่ใจหรืองี่เง่าได้ตลอดเวลา

เติร์กบอกผมว่า ในหนังสือของเขา มันจะมีอีกแบบหนึ่งด้วย เป็นลักษณะเสียงเล่าของตัวละครในเล่ม คืออยู่ในความสัมพันธ์ที่พยายามจะคอนโทรลอำนาจตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีการคอนโทรลอำนาจโดยที่ตัวเองเป็นคนให้อำนาจ

“คุณเอาอำนาจจากฉันไป คุณทำให้ฉันเจ็บสิ คุณจะได้เป็นพระเจ้า ในความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับคนที่อยู่ข้างล่าง ขณะที่ฝ่ายหยิบยื่นอำนาจร้องภาวนาว่าทำร้ายฉันสิ ทำร้ายอีกสิ อีกด้านเขาก็จะรู้สึกว่าถ้ามึงไม่มีกู มึงก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าหรอก 

“มันจะมีความแปลกๆ อยู่ในเสียงเล่า มันเป็นความสัมพันธ์อีกแบบ ซึ่งในความจริงมันอาจไม่โอเคก็ได้ แต่เขารู้สึกว่าการที่จะคอนโทรลอำนาจในความสัมพันธ์ เขาคอนโทรลผ่านการยอมให้อีกคนเป็นพระเจ้า ยอมให้อีกคนเป็นผู้ควบคุม หรืออาจพูดอีกอย่างว่าเป็นการทำให้อีกคนคิดว่าตัวเองมีอำนาจควบคุม และเสพติดการใช้อำนาจนั้น”


สัมพันธ์ในศีลธรรม

ถ้าให้รีวิวอย่างสั้นที่สุด หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือสภาวะวอดวายที่เกิดจากความสัมพันธ์ในหลากช่วงตอน หลายคมแหลมของความเป็นมนุษย์และระบบโครงสร้างสังคมที่ทิ่มแทงเราหรือรักของเราให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ บ่อยครั้งนักเขียนให้เราได้ยินเสียงก่อนที่จะมองเห็นรูปร่างของเรื่องราวในแต่ละเรื่อง ซึ่งเสียงเหล่านั้นทำงานกับผู้อ่าน เพราะมันคือเสียงเดียว หรือไม่ก็คล้ายกับเสียงที่อยู่ในทรงจำของเรา 

ผมบอกเติร์กว่าชอบเรื่องสั้นในเล่มอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ขบวนรถไฟ เรื่องราวของคนสองคนบนรถไฟ ความสัมพันธ์ต้องห้าม การแฝงนัยคำถามอย่างท้าทายศีลธรรม ความโรแมนติกที่จะไม่ให้สิ่งใดกลับมานอกจากรสขมของตัวมันเอง คำพูดของตัวละครในเรื่องที่เปล่งออกไปแต่ทำไม่ได้จริง คำของชู้รักที่ชักชวนให้ทิ้งคนเก่าแล้วพากันไปเริ่มต้นใหม่ คำที่พูดแต่ทำไม่ได้-ไม่กล้าทำ ประโยคที่เป็นเหมือนเครื่องยืนยันการมีอยู่จริงของความสัมพันธ์ที่ไม่มีทางไปต่อ

แรงบันดาลใจซึ่งเป็นที่มาของเรื่องสั้น ‘ขบวนรถไฟ’ นั้นน่าสนใจไม่แพ้ตัวเรื่อง เติร์กเล่าว่า วันหนึ่งเขาอยู่บนขบวนรถไฟนอนเที่ยวกลางคืนมุ่งสู่จังหวัดร้อยเอ็ด โยกเยกของรถไฟทำให้นอนไม่หลับ ผุดลุกขึ้นเดินไปสูบบุหรี่ ที่นั่นเขาพบผู้หญิงคนหนึ่งยืนสูบบุหรี่พลางคุยโทรศัพท์

“ไม่ได้ยินทั้งหมดนะ แต่รู้ว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ คืออาจจะเสือกได้ยินเขาแหละ แล้วเราก็ลองจินตนาการ แค่ช่วงระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงร้อยเอ็ด ถ้ามีคนรอผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ปลายทาง แต่ระหว่างทางเขาก็อาจติดต่อกับอีกคนหนึ่งด้วย เราก็คิดว่าหนึ่งเลยมันมีความเป็นไปได้ สอง-เราแค่มองว่าใช่แหละ สังคมมันมีเรื่องกรอบศีลธรรม ผัวเดียวเมียเดียว แต่งงานหรือจะแค่คบกันก็ควรรักเดียวใจเดียว แต่เราพยายามตั้งคำถามกลับว่าเฮ้ย-แล้วในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ล่ะ ความปรารถนา ความต้องการ ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทุกคนมี 

“บางทีแค่เราคิด หรือในชีวิตประจำวันที่เราบังเอิญเจอใครคนหนึ่ง แล้วแค่รู้สึกแวบเข้ามา ที่จริงมันอาศัยการ Romanticize ไปด้วยนะ แต่ว่ามันก็เป็นห้วงขณะที่รู้สึกว่าเยอะจังวะ กับคนนี้ หรือกับสถานการณ์นี้ เราก็เลยคิดว่าในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ มันน่าตั้งคำถามกับระบบศีลธรรมที่สังคมบอกเราว่าคุณมีความรักแบบนี้สิ-ดี แต่งงานสร้างครอบครัวมีลูก-ดี เราก็ถามย้อนว่าไอ้ดีที่เขาตั้งหรือสืบทอดกันมา มันดียังไงวะ ที่จริงแล้วมันมีเพื่อส่งเสริมอะไร ในขณะที่มันกำลังขัดแย้งกับหนึ่งในธรรมชาติความเป็นมนุษย์หรือเปล่า ในแง่ของความรู้สึก”

“แล้วคิดว่าความรู้สึกที่ผิดศีลธรรมมันห้ามกันได้ไหม”

“เราว่าห้ามไม่ได้ แต่มันออกมาทางความรู้สึก ความคิด บางทีอาจไม่ได้ทำจริง”

“ถ้าแบบนั้นศีลธรรมก็ใช้ไม่ได้จริง”

“เราว่าใช้ไม่ได้ ถ้าคุณต้องทำขนาดทั้งทางการกระทำและความรู้สึกให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณต้องเอาอะไรมาครอบหัวมนุษย์ แล้วคอยย้ำว่ามึงห้ามคิดเรื่องนี้ มึงห้ามรู้สึกแบบนี้ ต้องล็อกไว้ คุณทำได้ขนาดนั้นไหมล่ะ”


ปิตาธิปไตยในรัก

นอกจากกรอบศีลธรรม ยังมีกรอบของการทำได้ไม่เท่ากัน คือต่อให้เป็นเรื่องผิดศีลธรรม ดูเหมือนว่าเรื่องเพศก็ทำหน้าที่เป็นกรอบอีกชั้นหนึ่ง ผมชวนเติร์กคุย-เมื่อผู้คนกระทำสิ่งผิดศีลธรรมแบบเดียวกัน แต่เพศชายกลับดูจะมีข้อแก้ตัวหรือมีความชอบธรรมมากกว่าเพศอื่น โดยเฉพาะเพศหญิงที่เหมือนถูกกรอบครอบไว้สองชั้น

เติร์กบอกแทบจะทันทีว่า ทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเราอยู่ใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ สิ่งนี้กดทับให้เกิดความไม่เท่าเทียม เขายังเสริมว่า เอาเข้าจริงเพศหญิงถูกกรอบครอบไว้มากกว่าสองชั้นด้วยซ้ำ มันมีระบบยิบย่อยที่ทำให้ความเป็นเพศหญิง หรือแม้แต่ความเป็นเพศทางเลือกถูกกดไว้ ข้อแรกคือเอาศีลธรรมมากดก่อน ข้อที่สองเอากฎระเบียบต่างๆ ศาสนา เอาระบอบอื่นๆ มากดทับไว้ว่าไม่ได้ คุณห้ามเป็นแบบนั้น คุณห้ามคิดแบบนี้ เติร์กยกตัวอย่างในความเป็นแม่ คนเป็นแม่ที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง สามารถตกหลุมรักได้ เศร้าได้ ไม่มีความสุขได้

เหตุผลหลักที่ผู้คนถูกกดทับไว้อย่างนั้น ไม่สามารถหลุดพ้นหรือแม้แต่จะยอมรับธรรมชาติของความเป็นคน ถึงที่สุดก็วนกลับมาที่เรื่องศีลธรรม ซึ่งเป็นอาวุธที่สังคมใช้ด้อยคุณค่าความเป็นคน เป็นปลายแหลมที่บูชาไว้ทิ่มแทงกัน ผู้คนซึ่งเกิดมารู้สึกขาดพร่องอยู่แล้ว จึงรู้สึกขาดเพิ่มไปอีก

“ยิ่งถ้าคุณค่าของศีลธรรมในสังคมนั้นเข้มข้น ก็ยิ่งด้อยค่าความเป็นมนุษย์เข้าไปอีก” เติร์กว่า

กลางหว่างทรงจำ

มีนิยามมากมายที่อธิบายเรื่องของความทรงจำ อาจเพราะเป็นกึ่งเรื่องตลกร้ายที่มนุษย์ไม่อาจควบคุม เราลืมในบางเรื่อง และจำในบางเรื่อง และเป็นที่แน่ว่ามักจะมีใครสักคนหรือสิ่งของบางอย่างรวมอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ การอ่าน WALTZ เต้นรำในวอดวาย ชวนผมให้มองความทรงจำในฐานะสิ่งสำคัญที่ประกอบสร้างคนหนึ่งคนให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่

“ความทรงจำมันประกอบเป็นเราในปัจจุบัน เวลาพูดถึงความทรงจำ เรากำลังพูดถึงอดีต มันคือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่ยังจดจำได้ ฉะนั้น ความทรงจำจะมีลักษณะเป็นเศษชิ้นส่วน ไม่ปะติดปะต่อ แต่ว่าอะไรล่ะที่อยู่ในความทรงจำนั้น เช่น เสียงเล่าในเรื่องสั้นก็จะมีความเจ็บปวดเรื่องบ้าน บาดแผลทางใจจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว อาจจะเป็นคนรักที่กระทำความรุนแรงต่อกัน จนเกิดเป็นความทรงจำที่คอยเตือนและคอยย้ำ ก่อรูปให้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เรามองว่าความทรงจำมันทำงานกับเราแบบนั้นด้วย ซึ่งมันขับเคลื่อนเรา เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อทัศนคติ ความเชื่อ และส่งผลต่อวิธีการมองโลก”

ระหว่างที่คุยกัน ผมแวบนึกถึงคำถามที่ว่า ทุกความสัมพันธ์มีกฎกติกาหรือไม่ มนุษย์มีอิสระได้จริงหรือเปล่า ไม่ว่าทางกายหรือจิตวิญญาณ เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลและความปรารถนาเป็นของตัวเอง

“ผมคิดว่าในบางความสัมพันธ์มีผู้คุม ผู้เล่นตาม และบางความสัมพันธ์ก็ไม่มีคนคุม ไม่มีกติกาตายตัวขนาดนั้น แต่มันคือขอบเขตมากกว่า ขอบเขตนี้ฉันไปได้ถึงจุดนี้ ขอบเขตนี้ฉันไปไม่ได้ถึงจุดนี้ อะไรแบบนั้น เหมือนถ้าเราไปไม่สุดโซ่ ก็ยังรู้สึกอิสระ หรือเราอาจจะโดนล่ามอยู่ก็ได้ แต่โซ่นั้นยาว ถึงที่สุดแล้ว เมื่อมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครสักคนเท่ากับคุณมีโซ่แล้ว แต่จะรู้สึกถึงโซ่นั้นหรือเปล่า

“ผมเชื่อว่าการที่คนสองคนปฏิสัมพันธ์กัน จริงๆ ไม่ได้กำลังมองหาคนอื่นนะ แต่กำลังมองหาตัวเองในคนอื่น กำลังรักตัวเอง อย่างจะเห็นได้ชัดจากบางเรื่องในเล่มว่าจะมีคนที่ควบคุม คนที่ยอมให้ควบคุม และก็คนที่เรียกร้องว่า-เฮ้ย ฉันยอมให้คุณควบคุมแล้ว ฉันได้อะไรกลับมาบ้างล่ะ อย่างเช่นในความสัมพันธ์ของเรื่อง “ขบวนรถไฟ” ทั้งคู่พูดซะสวยหรูเลย-เฮ้ย เราไปเลิกเลยไหม คนของผมกับคนของคุณ แล้วเรามารักกัน แต่ในความเป็นจริงคือมึงไม่ทำหรอก มึงขี้ขลาด คือสุดท้ายแล้วผมกำลังจะพูดว่าไอ้ตัวละครมันก็รักตัวเองไง มันไม่อยากไปจากความสัมพันธ์ที่แน่นอนแล้ว มันไม่อยากออกจากพื้นที่ปลอดภัย ถ้าใช้คำพูดจรณ์คือรักโซ่ตัวเอง คือลึกๆ แล้วฉันยังรู้สึกปลอดภัยในบ้านฉันอยู่ แต่ฉันโอเคนะกับการได้เจอคุณ ได้มีความสัมพันธ์กันช่วงขณะหนึ่ง”

เราพอจะเทียบเคียงได้ว่าถ้าสุดท้ายแล้วความรักคือเผด็จการอย่างหนึ่ง เราก็ไม่ต่างจากประชาชนที่ขอแค่เสี้ยวอิสระเล็กๆ เท่านั้นก็จะสบายใจ เติร์กพยักหน้าเสริม อิสระเล็กๆ นั่นแหละกำลังหลอกให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกลิดรอนอะไร 

“จริงๆ เรื่องนี้สะท้อนความเป็นหนังสือเล่มนี้เลยนะ คือในหนังสือเล่มนี้ เสียงเล่าเองก็พยายามสะท้อนว่าที่จริงในความสัมพันธ์แม่งก็คือระบอบเผด็จการอย่างหนึ่ง โดยใช้ความรักเป็นเครื่องมือ เราให้บางสิ่งเพราะหวังว่าจะบงการเขาได้ ถ้าได้อ่านจะเห็นชัดว่าการบงการในเล่มนี้มีหลายแบบ มีทั้งการบงการโดยละมุนละม่อม เช่นการยอมให้อีกคนทำร้าย เพื่อที่จะได้ควบคุมเขา เพราะถือว่าผมให้คุณทำร้ายผมแล้วไง คุณอยู่กับผมสิ คุณรักผมสิ หรือในส่วนที่เป็นเสียงเล่าของอดีต ซึ่งสะท้อนเผด็จการใช้ความรุนแรง คุณจะไปจากผมใช่ไหม-ได้ เดี๋ยวผมเผาเสื้อผ้าคุณ คุณจะไปจากผมใช่ไหม-ได้ เดี๋ยวผมตีคุณ คุณจะไปจากผมใช่ไหม คุณไม่รักผมใช่ไหม-ได้ ผมใช้ความรุนแรง ผมลิดรอนคุณทุกอย่าง ผมกดหัวคุณไว้”

“ในความสัมพันธ์ทั้งผู้คนและกับสังคม เติร์กมองว่าเรายังมีสิทธิในการทำสิ่งต่างๆ อยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

“ผมว่ามันไม่ได้ใช้ครบทุกอย่างอยู่แล้วแหละ ในแง่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมเนอะ จะมีเรื่องของกฎหมาย เรื่องของระเบียบบางอย่าง หรือว่าสิทธิบางอย่างที่ในโลกยอมรับกันว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี แต่มันไม่ใช่สิทธิเสรีภาพในการที่จู่ๆ เราเดินออกไปบอกใครสักคนว่า กูเกลียดมึง แล้วเอามีดแทงเลย อันนี้มันก็ไม่ใช่ไง แต่หมายถึงสิทธิในการพูด สิทธิในการตั้งคำถาม สิทธิในการเลือก นึกออกไหม พวกนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่มีเต็มใบในประเทศนี้”

ระหว่างและหลังการวอดวาย

มีเรื่องสั้นบางเรื่องที่ผมอ่านซ้ำสองรอบ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความไม่แน่นอนอย่างที่สุดของมนุษย์ การฉายภาพสังคมที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ซ้ำดูเหมือนมนุษย์ยังถูกกระทำได้ตลอดเวลา 

ความรู้สึกหลังการอ่านนี้เอง ชวนให้ผมสงสัยว่าการที่คนเติบโตมาในสังคมซึ่งคอยเน้นย้ำถึงความไม่สมบูรณ์พร้อม สิ่งเหล่านั้นมีส่วนทำให้ผู้คนหลงรักความบกพร่องของคนอื่นไหม เหมือนกับว่าเมื่อเรามีปมกับเรื่องหนึ่ง และเราได้พบอีกคนซึ่งมีอีกปมหนึ่ง มันจะทำให้คนสองคนดึงดูดกันหรือเปล่า ซึ่งพอผมวางคำถามนี้ลงบนบทสนทนา เติร์กไม่ลังเลเลยที่จะตอบว่าใช่ เขาคิดว่าเรื่องพวกนี้มนุษย์สามารถสื่อสารถึงกัน เราจะพอเข้าใจบางแวบ ในขณะที่อีกคนกำลังพูด ในขณะที่เงียบ มีบางสิ่งทำให้คนเชื่อมต่อกันได้

“เรามองคนอื่นก่อนอยู่แล้ว ก่อนมองตัวเอง เวลาที่เป็นเรื่องผิด แต่ก็มีมนุษย์บางประเภทที่มองตัวเองผิดตลอดเวลา แบบนี้ก็มีนะ นั่นแหละ เรามองว่าการที่มนุษย์ใฝ่หาความเป็นนิรันดร์เป็นเพราะความกลัว”

ผมอดไม่ได้ที่จะคิดต่อไป เมื่อมองมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตขี้กลัว ซึ่งถ้าให้เลือกระหว่างมีชีวิตแบบที่อยากใช้กับมีชีวิตแบบที่อาจจะไม่ได้อยากใช้แต่ปลอดภัย ดูเหมือนยังมีแนวโน้มว่ามนุษย์จะเลือกอย่างหลัง ความคิดนี้ชวนให้คิดว่าหรือสุดท้ายชีวิตที่ปรารถนาก็คือความปลอดภัย

“คือในหนังสือเล่มนี้ พูดถึงเรื่องบ้านเยอะ มันมีประโยคที่พูดถึงการตามหาบ้าน ในความหมายของการตามหาบ้านมันก็คือการตามหาสถานที่มั่นคงปลอดภัยให้ตัวเอง ซึ่งมันเป็นสมมติฐานที่ดีมากนะ คือจริงๆ เราอาจต้องการความรักในบางครั้งบางคราว แต่สิ่งที่เราต้องการอย่างถาวรคือบ้าน บ้านที่ไม่ใช่ความหมายเชิงกายภาค สุดท้ายเราอาจจะอยากได้คนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกถึงบ้านที่มั่นคงปลอดภัย อาจจะไม่ได้วูบวาบ”

“เพราะว่าชีวิตพอถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าตัวเองได้เผาไหม้บางสิ่งไปแล้วหรือเปล่า”

“ใช่ เราไม่ต้องการเผาไหม้ หรือไปเผาใครแล้ว”

“เราต้องการนอนตีพุงมากกว่า”

“ใช่ๆ เราต้องการนอน อ่านหนังสือ ตื่นมากินกาแฟ เธอเป็นยังไงบ้าง อะไรแบบนั้น แม้มันจะไม่มีความมั่นคงปลอดภัยที่แท้จริง แต่ในทางนามธรรม ถ้าเลือกได้ที่ปลายทางเราอาจต้องการสิ่งที่พอยึดเหนี่ยวได้บ้าง”

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากหนังสือ WALTZ เต้นรำในวอดวาย คล้ายกับว่านักเขียนเปิดเปลือยให้เห็นถึงความขาดพร่องของมนุษย์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือถูกกระทำ ซึ่งเมื่อมนุษย์แหว่งสองคนมาพบกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นความร้าวรานที่เต็มใจ เป็นความเจ็บปวดที่งดงาม ซึ่งผมกับเติร์กเห็นตรงกันว่าด้วยความที่เรื่องราวเล่นกับความเป็นมนุษย์ในหลายระดับ ทำให้อ่านแล้วตีความได้หลากหลาย ทั้งยังตั้งคำถามต่อยอดได้อีกมาก และพูดได้ว่าสิ่งนี้คือความดีงามในฐานะวรรณกรรมที่ทำงานกับผู้คน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.