ภูโคลน สปาแม่ฮ่องสอน ที่มีโคลนติดอันดับโลก - Urban Creature

สินค้าดีๆ ในแต่ละท้องถิ่นไทยนั้นมีอยู่มากมาย “พีทีที สเตชั่น” จึงขอสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในสถานีเพื่อ ใช้เป็นสื่อกลางในการหยิบยกสินค้าจากท้องถิ่นขึ้นสู่ระดับประเทศ ผ่าน “โครงการไทยเด็ด” อีกหนึ่งโครงการ ที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจที่ดีแก่ชุมชน เติมเต็มความสุขให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ภายใต้แนวความคิด “การเป็นศูนย์กลางที่จะร่วมเติมเต็มความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชน (Living Community)” ของพีทีที สเตชั่น ด้วยการสนับสนุน แบ่งปันพื้นที่โอกาส และสร้างรายได้ให้แบรนด์เด็ดของแต่ละจังหวัดได้นำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และของดีประจำถิ่น ณ ทุก พีทีที สเตชั่น ทั่วไทย

คอลัมน์ประจำจังหวัดครั้งนี้ขอพาขึ้นเหนือไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงดิ่งไปยัง ภูโคลน คันทรีคลับ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีทั้งน้ำพุร้อน และโคลนที่มีแร่ธาตุติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ทัดเทียมกับโคลนจากทะเลเดดซี หากจะต่างกันก็ตรงที่ว่ารอบข้างไม่ได้เวิ้งว้างเป็นทะเลสุดเค็ม แต่เป็นสปาที่โอบล้อมด้วยป่าเขา มีสีเขียวเป็นวิวแทบจะตลอดปี 

แม้จะเชื่อในความพิเศษของวัตถุดิบที่ยากจะหาใครเหมือนแต่ก็อยากเพิ่มเอกลักษณ์ลงไปให้มากขึ้น คุณใหญ่-วัชรพงศ์ กลิ่นปราณีต ผู้บริหารภูโคลน จึงประยุกต์เอาสมุนไพรท้องถิ่นใส่ลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและเราถือเองว่าพิเศษกว่าโคลนที่ไหนในโลก สำหรับใครที่ไม่ว่างเดินทางมาถึงที่นี่ ภูโคลนก็ยัง แตกไลน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สุดธรรมชาติ ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและมีวางจำหน่ายที่พีทีที สเตชั่น บนชั้นวางสินค้าโครงการไทยเด็ดอีกด้วย

เชื่อไหมว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ ชื่อของภูโคลนแทบจะไม่มีใครรู้จัก ไม่เหมือนพูดถึงปางอุ๋งแล้วร้อง อ๋อ! เพราะถึงแม้ว่าสมัยสิบกว่าปีที่แล้วถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะชอบโคลนมากแค่ไหน แต่คนไทยก็ยังเซย์โนที่จะเอาโคลนสีดำมาทาหน้าทาตัว แล้วธุรกิจเล็กๆ จากแม่ฮ่องสอนก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ #ประจำจังหวัด ได้ยังไง เอาชนะใจคนไทยด้วยวิธีไหน และทำอย่างไรถึงถึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว 50,000 คน มาเที่ยวทุกปี ตามมาอ่านกันได้เลย! 

บังเอิญ…มีนักวิจัยมาด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ท่ามกลางขุนเขาที่เสียดแทงหยอกล้อกับเมฆหมอกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไหร่นัก และก็ไม่ถึงกับสุดเขตแดนพม่า เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากยุโรป นิยมบินข้ามทวีปมาเดินทางศึกษาธรรมชาติ Trekking ลัดเลาะ ไปตามแนวป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดที่เกือบจะเหนือสุดในประเทศไทย 

ตำนานเล่าว่าในปี 2538 ระหว่างที่บริษัท สิงห์ ทราเวล จำกัด กำลังพาคณะเดินทางจากยุโรปเยี่ยมชมธรรมชาติก็บังเอิญได้พบกับโป่งน้ำร้อนที่ผุดขึ้นมา เป็นจุดๆ กลางทุ่งนา ซึ่งไหลมารวมกันเป็นลำธารขนาดเล็ก ก่อนจะได้ความทีหลังว่าเป็นโป่งที่ชาวบ้านมักจะแวะเวียน มาใช้บริการในยามเจ็บไข้ได้ป่วย 

“เราเจอโป่งแม่สะงาหรือชื่อปัจจุบันคือภูโคลนจากความช่างสังเกตของคุณพ่อ หลังจากที่สอบถามคนในพื้นที่ก็ได้ความว่าหากใครเจ็บไข้ไม่สบาย ก็จะมาแช่น้ำอุ่นหรือพอกโคลนกันที่นี่ เพราะจะทำให้อาการปวดเมื่อยหายไป ผิวพรรณก็ดีขึ้น” คุณใหญ่เริ่มต้นเล่าที่มาของการค้นพบภูโคลน

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญหรือเป็นเพราะโชคช่วย เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่ร่วมทริปมากับผู้บุกเบิกภูโคลนเป็นกลุ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยาพอดิบพอดี จึงมีการเก็บตัวอย่างโคลนและน้ำแร่กลับไปวิจัยที่ประเทศฝรั่งเศส เพราะเทคโนโลยีของไทยในสมัยนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ และตีค่าแร่ธาตุออกมาได้ 

“โป่งน้ำร้อนหรือบ่อโคลนทั่วไปที่พบในภาคเหนือจะมีกลิ่นกำมะถันที่แรงมาก ผิดกับที่นี่ที่มีกลิ่นค่อนข้างเบาบางทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความพิเศษซ่อนอยู่ ใช้เวลาประมาณสี่ปี ก็มีเอกสารแจ้งมาว่าตัวอย่างโคลนและน้ำแร่ที่ค้นพบมีแร่ธาตุเทียบเท่ากับโคลนสุขภาพระดับโลก เหมือนกับโคลนจากทะเลสาบเดดซี หรือโคลนลาวาภูเขาไฟที่ประเทศโรมาเนีย ” 

สิงห์ ทราเวล จึงตัดสินใจขยายกิจการจากธุรกิจนำเที่ยว และเริ่มต้นทำสปาขึ้นมาแบบง่ายๆ เน้นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลักทั้งการขุดบ่อโคลน หรือขุดสระสำหรับแช่น้ำแร่ ก่อนจะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูโคลน คันทรีคลับ ในภายหลัง

พักกายให้สบาย หลังบุกป่าฝ่าดง

สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงไม่ต้องอาศัยการขยายความอะไรมากถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แต่อยากให้ลองจินตนาการดูว่า หลังจากเดินป่าอย่างเหน็ดเหนื่อยมาหลายวันจนแข้งขาอ่อนแรง การได้มาพักกายพักใจนอนแช่น้ำร้อนกลางอากาศหนาวๆ และพืชพรรณสีเขียว มันจะมีความสุขและผ่อนคลายได้ขนาดไหน

“ลูกค้ากลุ่มแรกคือ ชาวยุโรป เนื่องจากว่าเราทำธุรกิจนำเที่ยวอยู่แล้ว ก็อาศัยว่ามีลูกค้าเดินป่าเสร็จปุ๊บก็มาพักผ่อนที่ภูโคลนต่อ ขายกันเป็นแพ็กเกจเลย เริ่มต้นจากการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบน้ำพุร้อน ให้บริการพอกโคลนซึ่งต้องบอกว่าโดนใจชาวต่างชาติ เพราะในสมัยนั้น โคลนจากทะเลเดดซีมีชื่อเสียงและโด่งดังมาก พอเขาเห็นว่าที่เมืองไทยก็มีเหมือนกัน เราก็ได้ใช้โอกาสจากตรงนี้”

“โคลนของที่นี่จะอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทั้งแคลเซียม แมกนีเซียม หรือโพแทสเซียม ซึ่งแร่ธาตุแต่ละชนิดก็จะให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น การฟื้นบำรุง ดูแลผิวที่เสื่อมสภาพไปตามวัย และมีการประยุกต์ใช้สมุนไพรไทยที่เพิ่มทั้งเสน่ห์และสรรพคุณของโคลนด้วย”

แม้จะมีโคลนคุณภาพที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แทบจะหาใครเหมือนไม่เจอแล้ว แต่ภูโคลนก้าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการประยุกต์นำสมุนไพรไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องกลิ่นและสรรพคุณมาใช้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวเองมากกว่าเดิม ซึ่งพอชาวต่างชาติมีโอกาสได้ลองสัมผัส แล้วพบว่าเรามีการนำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ด้วย ก็เหมือนกับได้ประโยชน์สองต่อ”

“เรามองว่าสมุนไพรไทยเป็นจุดขายของประเทศไทยอยู่แล้ว อย่างพวกตะไคร้ภูเขาก็มีข้อดีตรงกลิ่นที่ช่วยขับบรรยากาศของความเป็นสปาออกมา น้ำมันที่สกัดจากงาก็มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยในการลดริ้วรอยของผิว เราใช้โคลนเป็นตัวทำให้แร่ธาตุจากโคลนซึมสู่ผิวได้ดีขึ้น”

คุณใหญ่บอกว่าภูโคลนเลือกใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้นำเข้าจากจังหวัดหรือประเทศอื่น เพราะต้องการที่จะส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“เราจะดูว่าในท้องถิ่นมี Supplier หรือว่าที่ต้นน้ำเขาปลูกอะไรบ้าง จากนั้นก็นำส่วนที่มีอยู่แล้วมาใช้ มาแปรรูป เป็นการช่วยส่งเสริมชุมชนอีกทางหนึ่ง”

“เราอยู่ในหุบเขา อยู่ต่างจังหวัด ถ้าไม่ออกไปใครจะรู้จัก”

หลังจากภูโคลนเปิดให้บริการได้ไม่นานก็เข้าไปติดอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับกันในไทยแม้การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันดี แต่การเอาโคลนมาพอกหน้าทาตัวในสมัยนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากในบ้านเราและยังไม่ค่อยมีใครกล้าลอง ยิ่งภูโคลนตั้งอยู่ในจังหวัด ที่ต้องตั้งใจมาเที่ยวแบบแม่ฮ่องสอน ก็กลายเป็นโจทย์ว่าต้องทำอย่างไรให้คนในบ้านได้รู้จักและเอาชนะใจให้ได้ 

“ผมการันตีเลยว่าถ้าลองใช้ครั้งหนึ่งต้องเห็นความแตกต่างแน่ๆ แต่ในประเทศไทยตอนนั้นยังไม่มีใครกล้าใช้โคลนดำๆ มาพอกตัว มีแต่นักท่องเที่ยวที่บิน ข้ามทวีปมาใช้บริการ เราใช้เวลาเยอะเหมือนกันกว่าจะสร้างความไว้ใจให้คนไทยได้ เริ่มจากปากต่อปาก จนสุดท้ายเรามีโอกาสได้แจ้งเกิดจากโครงการ “Unseen Thailand”

ถ้าพอจะจำกันได้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วการท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมมาก และภูโคลนก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมากในสมัยนั้น เพราะเมื่อได้รับการโปรโมตจนคนรู้จัก ก็มีนักท่องเที่ยวชาวไทยแวะเวียนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น มีรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ติดต่อเข้ามาสัมภาษณ์ และมีรายการโทรทัศน์จากต่างประเทศลงทุนบินมาถ่ายทำถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย

“เราเป็น SMEs ไม่ได้มีงบสำหรับลงโฆษณาอยู่แล้ว แต่พอสื่อทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาก็ช่วยได้มาก ทีนี้พอภาครัฐมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ การท่องเที่ยว ภูโคลนก็มักจะไปเข้าร่วมด้วยทำให้คนไทยเริ่มรู้จัก เราก็ปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น”

ภูโคลนไม่เคยคิดว่าการอยู่ต่างจังหวัดเป็นข้อด้อย ในแง่ธุรกิจก็เรียกว่าเป็นแต้มต่อด้วยซ้ำเพราะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และมีวัตถุดิบสำคัญที่ไม่มีใคร สามารถลอกเลียนแบบได้ และเมื่อภูโคลนเข้ามาอยู่ในสปอตไลต์มากขึ้น โคลนสุขภาพก็ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมในบ้านเรามากขึ้นตามไปด้วย ทำให้แต่เดิมภูโคลนที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและชาวจีน ห้าปีให้หลังมานี้มีคนไทยมาเที่ยวประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์

เพราะของดีจึงไม่ได้หยุดแค่เป็นที่ระลึก

เวลาออกเดินท่องเที่ยวนอกจากภาพถ่ายกับความทรงจำ ของที่ระลึกก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราจำประสบการณ์ดีๆ และอาจทำให้อยากกลับมาเที่ยวอีกครั้ง ทายาทรุ่นสองภูโคลนเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะทำแบรนด์จริงจัง มีไลน์ผลิตที่หลากหลาย และมีแพ็กเกจจิ้งที่ดูอินเตอร์ขนาดนี้ เขาเพียงแค่อยากทำของที่ระลึก ให้ลูกค้าจำภูโคลนได้ก็เท่านั้น 

“เราให้บริการสปาเป็นหลักแล้วก็ทำของที่ระลึกเป็นโคลนสำหรับพอกหน้าหรือสเปรย์น้ำแร่ขวดเล็กๆ เป็นกระปุกพลาสติกธรรมดา มีฉลากเป็นสติกเกอร์ ทีนี้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านแล้วติดใจ โทรกลับมาสั่งกันหลายราย ผมมองว่าตอนนั้นเรามีโอกาสที่ดี มีจุดขายและจุดแข็งด้านวัตถุดิบ ที่สามารถขายได้แน่ เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ NIA (สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ) โดยใช้เทคโนโลยี Microensapulation ที่ทำให้แร่ธาตุในโคลนสามารถดูดซึมเข้าไปในผิวได้ดีกว่า โคลนของเดดซีถึงสิบเท่า”


แม้ผลิตภัณฑ์จะดีและเป็นเอกลักษณ์มากแค่ไหน แต่ภาพลักษณ์ก็ยังสู้เคาน์เตอร์แบรนด์จากเมืองนอกไม่ได้อยู่ดี คนยังไม่ไว้ใจและไม่กล้าใช้ไม่ต่างกับ ตอนที่นักท่องเที่ยวไทยไม่กล้าพอกโคลนสีดำตอนที่เปิดสปาใหม่ๆ ภูโคลนเจอโจทย์เดิมอีกครั้งแต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากมายอะไร เพราะมั่นใจว่ามีของดีอยู่แล้ว ติดอยู่อย่างเดียวคือยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่เข้าใจ 

“ออกนิทรรศการทุกงานเลยทั้งในและต่างประเทศ การที่จะทำให้คนเลือกสินค้าได้ก็ต้องให้เขาได้สัมผัสก่อน ได้รู้ก่อนว่ามันดียังไง การจะรอให้เข้ามาที่ แม่ฮ่องสอนต้องบอกว่ายากกว่าการที่เราจะเอาตัวเองออกไป ซึ่งพอออกงานไปสักรอบสองรอบก็ได้ตัวแทนจำหน่ายกลับมาส่งผลให้เครือข่ายเรากว้างขึ้น ตามไปด้วย”

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ของภูโคลนมีหลากหลายมาก ซึ่งแต่ละอย่างล้วนนำวัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาได้ที่นี่ที่เดียวมาเป็นจุดเด่นด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของโคลน สเปรย์จากน้ำแร่ธรรมชาติ โคลนผงสำหรับพอกหน้า แชมพูน้ำแร่ ฯลฯ เรียกได้ว่าในห้องน้ำหรือบนโต๊ะเครื่องแป้ง ควรจะมีผลิตภัณฑ์ประเภทไหนก็รับรองได้ว่าภูโคลนมีหมด แถมมีวางขายอยู่ทั่วไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียว 

ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน

ไม่ต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นทั่วไทยภูโคลนได้รับผลกระทบหนักมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณใหญ่บอกว่าถ้าไม่มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ ก็คงยากเหมือนกันที่จะเอาตัวรอดมาได้ จึงเลือกที่จะเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายด้วยการเข้าร่วมกับโครงการไทยเด็ด ของพีทีที สเตชั่น ที่ใช้จุดแข็งของ พีทีที สเตชั่น ที่มีสถานีบริการน้ำมันกระจายอยู่กว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการวางจำหน่ายสินค้า

“ถ้าเกิดว่าเรามีธุรกิจบริการเพียงอย่างเดียวน่าจะกระทบมากแน่ แต่ตอนนี้เรามีช่องการขายผลิตภัณฑ์มีช่องทางมาช่วยในการส่งของไปหลายที่ ทำให้สะดวกมากขึ้น ไทยเด็ดช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ามีโอกาสได้รู้จักเรามากขึ้นด้วย ช่วยได้มากในเรื่องของการตลาด”

อีกทั้งภูโคลนและโครงการไทยเด็ดยังมีปณิธานเดียวกันในการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และเชิดชูเอกลักษณ์ในความเป็นท้องถิ่น เพราะมองว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ 

“ผมมองว่าธุรกิจระดับชุมชนหรือผู้ประกอบการรายย่อย มีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ ถ้าท้องถิ่นของเราแข็งแรง ก็ช่วยเหลือคนอื่นได้เช่นกัน อย่างภูโคลนเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการปีหนึ่งมากกว่าห้าหมื่นคน 

“นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่ก็ต้องไปตลาด ไปพักโรงแรม ไปใช้บริการ ผมคิดว่าภูโคลนเชื่อมโยงแม่ฮ่องสอนเข้าด้วยกัน และทุกคนจะได้รับอานิสงส์ทั้งหมด”

สำหรับตอนนี้ฝนช่วงปลายเดือนเก้าย่างเข้าเดือนสิบกำลังโปรยปรายลงมาอย่างไม่ขาดสาย เป็นอีกหนึ่งสัญญาณในการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวแม่ฮ่องสอนและภูโคลนที่ตั้งหน้าตั้งตารอให้นักเดินทางแพ็กกระเป๋ามาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง และหวังว่ารอบนี้จะไม่ต้องหายจากกันไปนาน เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า หนักที่สุดเห็นจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่สายป่านไม่ยาวเท่าธุรกิจรายใหญ่

Urban Creature และโครงการไทยเด็ด ของพีทีที สเตชั่น เชื่อในพลังของ ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ เราจึงอยากขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่จะช่วยสร้างพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ด้วยการชวนแบรนด์ที่ได้รับการคัดเลือก มาเปิดห้องเรียนตัวต่อตัว กับ SMEs ที่เติบโตจากการทำงานในระดับชุมชนและก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ประจำถิ่น เรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกันโดยไม่ทิ้งจิตวิญญาณของแบรนด์และการทำมาร์เก็ตติ้ง เพื่อนำสินค้าที่ถูกพัฒนา เข้ามาจำหน่ายในโครงการไทยเด็ด เป็นการสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่นต่อไป

พร้อมส่งต่อเรื่องราวธุรกิจของคุณผ่านตัวหนังสือ ถ่ายทอดบทเรียนพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าผู้ประกอบการบนคอลัมน์ #ประจำจังหวัด ของ Urban Creature

ร่วมกิจกรรมและเล่าเรื่องธุรกิจของคุณที่คิดว่าเราไม่ควรพลาดได้ที่ https://forms.gle/jGmwUUh7nPrUcYQk6

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.