เขา : คืนดีกันนะ เราซื้อเค้กที่เธอชอบมาให้กินด้วยล่ะ
ฉัน : คิดว่าเอาของกินมาล่อ แล้วจะหายโกรธเหรอ (ทำเป็นไม่สนใจแต่ก็หยิบกินจนหมด)
ฉัน : เห็นว่าเค้กอร่อยหรอกนะ หายงอนก็ได้ 🙂
ว่าจะรับบทเป็นสาวนักงอน แต่เขาก็เล่นเป็นหนุ่มนักง้อจนทำเอาโกรธไม่ลง เพียงแค่เซอร์ไพรส์ขอคืนดีด้วยเมนูโปรด รู้ตัวอีกทีฉันก็กินจนหมดเรียบ พร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้าที่ลืมเรื่องโกรธจนหมดสิ้นและพูดกับเขาว่า “หายงอนแล้ว”
จริงๆ แล้วแผนการเอาของหวานมาหลอกล่อให้รู้สึกดีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะของหวานอย่างชานมไข่มุก หรือปิ้งย่างก็สามารถทำให้ลืมเรื่องเครียดได้เป็นปลิดทิ้ง แต่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และความสัมพันธ์ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกัน เราจึงต่อสายตรงไปคุยกับ ‘คุณหมอปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์’ จากเพจ Theory of love ผู้มองเรื่องความสัมพันธ์ของความรัก ผ่านวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา เพื่อไขข้อสงสัยว่า ทำไมง้อด้วยของอร่อยถึงหายโกรธง่ายทุกทีเลย
| กินของหวาน ช่วยเรียกความสุขจาก ‘โดพามีน’
ต้นตอที่ทำให้เรากินของหวานแล้วอารมณ์ดีจนลืมเรื่องปวดใจ ต้องยกความดีความชอบให้กับพระเอกที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ ฮอร์โมนร่างกายที่ทำให้มีความสุข มันจะฉายแววออกมาตอนที่ร่างกายกินของเค็ม ของมัน และโดยเฉพาะ ‘ของหวาน’ เช่น ชานมไข่มุก บิงซู ไอศกรีม หรือขนมเค้ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีน้ำตาลสะสมอยู่มาก และจะไปกระตุ้นสมองในส่วน ‘The Brain Reward System’ หรือระบบให้รางวัลของสมอง ที่จะปล่อยโดพามีนออกมาทำให้เรารู้สึกพึงพอใจกับของหวาน และมันจะทำหน้าที่ช่วยเปลี่ยนคนหน้าบึ้งให้กลายเป็นคนเปื้อนยิ้มได้ทันที
สาเหตุที่โดพามีนชอบของหวาน ของเค็ม และของมันเป็นพิเศษ ต้องย้อนกลับไปที่อดีตกาล ตั้งแต่ยุคล่าสัตว์ บรรพบุรุษของเราไม่ค่อยได้กินของเหล่านี้มากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในเนื้อสัตว์หรือน้ำผึ้ง ซึ่งหากินไม่ได้ง่ายๆ เพราะต้องออกไปไล่ล่าและใช้เวลานาน เมื่อร่างกายได้สัมผัสรสชาติแล้วค้นพบว่า มีพลังงานสูงที่จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าการกินผักหรือธัญพืช สมองจึงจดจำว่า ต้องรีบเก็บเกี่ยวรสชาติไว้ก่อนเดี๋ยวจะหมด และส่งต่อความรู้สึกอยากกินรสชาติหวาน เค็ม มัน มากกว่ารสชาติอื่นมาจนถึงปัจจุบัน
| กินกับคนรัก ชวนรู้สึกผูกพันด้วย ‘ออกซิโทซิน’
ไม่ใช่แค่ของหวานที่ทำให้มีรอยยิ้ม แต่คนสนิทที่นั่งทานด้วย ก็เป็นส่วนสร้างความสุขเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากตัวละครลับอย่าง ‘ออกซิโทซิน’ ฮอร์โมนแห่งความผูกพันที่จะโผล่ออกมาเมื่อเวลาเรากอดใครสักคนหรือแสดงความรักต่อกัน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด เห็นอกเห็นใจคนอื่น และหล่อหลอมให้กลายเป็นคนโรแมนติกโดยไม่รู้ตัว
สาเหตุที่เรารู้สึกดีเวลากินข้าวกับคนรัก ต้องย้อนความไปช่วงเด็กๆ ที่ผูกพันกับพ่อแม่ อย่างตอนเด็กที่คุณแม่คอยป้อนนม หรือมีคุณพ่อคอยดูแลไม่ห่างไปไหน เจ้าออกซิโทซินจะถูกปล่อยออกมาให้เรารู้สึกอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้กับครอบครัว และสมองจะจดจำว่าเรารู้สึกดีที่ได้รับการเอาใจใส่ ซึ่งออกซิโทซินจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเวลาเราอยู่กับคนรัก ผ่านการดูแลในหลายๆ เรื่อง อย่างการป้อนอาหาร เช็ดปาก สวมกอด ขับรถมารับ เหมือนความผูกพันที่ได้รับจากครอบครัวในวัยเด็ก ทำให้เรารู้สึกมีความสุขเวลาทานข้าวกับคนรักมากกว่าคนอื่น
| ทริกเสริมรัก ชวนเข้าครัวทำอาหาร
หากอยากกระชับความสัมพันธ์ของเรากับคนรักให้เลเวลอัป หนึ่งวิธีที่ทำได้คือ ‘ทำอาหารด้วยกัน’ อาจเริ่มจากเมนูเล็กๆ อย่างคุกกี้ ไอศกรีม แพนเค้ก แล้วค่อยเขยิบเป็นเมนูอาหารที่ชื่นชอบ เพราะการทำอาหารด้วยกันจะช่วยละลายพฤติกรรม ทำให้เรากับเขารู้สึกว่าต้องร่วมมือกัน อาศัยความใจเย็น และยอมรับฟังคนอื่นมากขึ้น เพื่อทำอาหารออกมาให้สำเร็จ รวมไปถึงการใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของกันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดความใกล้ชิดและความเห็นอกเห็นใจอย่างแนบเนียน
เมื่อทำอาหารเสร็จแล้วก็อย่าลืมตั้งโต๊ะนั่งทานข้าวกันพร้อมหน้า เหมือนอย่างฉากหนังรักโรแมนติกที่มีช่วงเวลาดินเนอร์กับคนรัก เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกให้กันและกัน เหล่านี้จะช่วยเขยิบความสัมพันธ์ให้ชิดใกล้ผ่านโต๊ะอาหารและหลากเมนูแสนอร่อย