เมื่อก้าวขาลงรถ แดดร้อนจ้าต้นฤดูหนาวก็ดูจะเย็นขึ้นบ้างจากสภาพแวดล้อมรอบตัวที่มีต้นไม้ให้เห็นกว่าในเมือง เช่นเดียวกับสีเขียวที่เป็นส่วนผสมหลักในโรงงานแห่งนี้
PASAYA (พาซาญ่า) คือแบรนด์สิ่งทอชื่อดังของไทย ก่อตั้งโดย ‘ชเล วุทธานันท์’ ที่มีแนวคิดการส่งเสริมความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 1990
ย้อนกลับไปในปี 1986 ซึ่งเป็นยุคทองของการส่งออก สิ่งทอถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ชเลรับช่วงต่อโรงงานชื่อ ‘สิ่งทอซาติน’ ที่ตั้งอยู่แถวพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการจากพ่อ ที่นั่นเป็นพื้นที่เล็กๆ มีเครื่องจักรทอผ้าเก่าๆ 20 เครื่อง พนักงานไม่ถึง 50 คน โรงงานอยู่ในสภาพไม่ค่อยดีนัก ทว่าการได้ไปใช้ชีวิตในโรงงานแห่งนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อผู้ใช้ และทำประโยชน์ต่อสังคมรวมถึงโลกใบนี้ด้วย
หนึ่งวันในโรงงานพาซาญ่าเริ่มต้นแล้ว เราจะพาไปดูกันว่าเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา PASAYA ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้พลังงานในการผลิตจำนวนมาก และปล่อยมลภาวะที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีการปรับตัวธุรกิจอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุลต่อการมีอยู่ของโลกใบนี้
แพศยา ที่หมายถึงความสวย ฉลาด นอกกรอบ และสง่างาม
‘แพศยา’ เป็นคำไทย จำง่าย ทุกชาติออกเสียงตามได้ ชเลจึงเลือกตั้งเป็นชื่อโรงงาน เนื่องจากเขามองเห็นว่าคนที่ถูกด่าด้วยคำนี้ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติ สวย ฉลาด คิดนอกกรอบ และมีความสง่างาม ซึ่งตรงกับความตั้งใจในการสร้างแบรนด์ PASAYA
พาซาญ่าสวยด้วยการพัฒนาทุกอย่างให้มีความเป็นศิลปะ ทั้งยังนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของพาซาญ่ายังใช้สารอนุพันธ์ (Derivative) แทนการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและส่งผลให้ระคายผิว ทำให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้อย่างสบายใจ ยังไม่นับรวมนวัตกรรมผ้าม่านกันไฟลุกลาม ผ้าม่านกันความร้อนช่วยลดค่าไฟ หรือการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาทอเป็นเส้นใยผลิตชุดสูทตัวใหม่สุดเท่จากกรรมวิธีหมุนเวียนทรัพยากร
ทำให้ปี 2014 ผลิตภัณฑ์ของพาซาญ่าได้รับฉลากเขียว (Green Industry Label) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
คุณภาพสินค้าวัดด้วยคุณภาพชีวิต
พาซาญ่าเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 1995 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2002 จากโรงงานเก่าของรุ่นพ่อที่มีคนงาน 50 คนแถวพระประแดง มาสู่โรงงานแห่งใหม่รุ่นลูกที่จังหวัดราชบุรี มีจำนวนพนักงานตอนนี้ร่วม 3,000 คน ซึ่งได้รับการดูแลความเป็นอยู่เสมือนคนในบ้านหลังเดียวกัน
อาคารในโรงงานแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของพนักงาน เพราะพาซาญ่ามีหลักคุณธรรมข้อหนึ่งที่ชเลยึดมั่น
“คุณภาพชีวิตเป็นที่มาของคุณภาพสินค้า ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของผู้ใช้สินค้าอย่างเดียว แต่มันคือคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่นี่ และชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงงาน เลยไปถึงระดับประเทศที่ใช้สิ่งแวดล้อมร่วมกัน”
บ่อบำบัดน้ำเสีย คือสิ่งแรกที่พาซาญ่าสร้าง เพราะอยากรีไซเคิลน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และในวันนี้โรงงานก็สามารถกรองและนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังดูแลเรื่องการปล่อยน้ำจากโรงงานไปยังรางระบายน้ำสาธารณะ ไม่ให้เดือดร้อนพื้นที่เกษตรกรรมของคนในชุมชนที่มีอาชีพหลักเป็นการทำสวนทำนา
ส่วนแผนผังโรงงานและการออกแบบอาคารในพาซาญ่า ก็ล้วนผ่านการคิดมาเป็นอย่างดีโดยชเลผู้เป็นเจ้าของ ในวันเปิดโรงงาน เราได้ไปเดินชมอาคารต่างๆ และฟังไกด์นำทัวร์โรงงานที่มีชื่อเรียกว่า กลุ่ม Young Gen ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวทีมบริหารรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโรงงานสีเขียวแห่งนี้ต่อในอนาคต โดยพวกเขาพาเราไปเยี่ยมชมอาคารต่างๆ ดังนี้
โรงทอ Casamatta หรือนิยามว่าเป็นบ้านคนบ้า ที่เปรียบศักยภาพของเหล่าพนักงานที่หยิบจับและจำแนกเส้นด้ายหลายพันชนิดได้ด้วยตาเปล่าอย่างแม่นยำ บนหลังคาของอาคารติดตั้งแผง Solar Cell ที่ใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าลง 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และมีโครงการที่จะติดตั้งเพิ่มเติมในส่วนอาคารต่างๆ ของโรงงานต่อไป
โรงย้อม ตั้งอยู่ในอาคาร Kampang ที่ไม่มีกำแพง เนื่องจากโรงย้อมเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงอุณหภูมิสูงถึง 130 องศาฯ ตัวอาคารจึงถูกออกแบบตามหลัก Aero Dynamic เพื่อช่วยให้มีการถ่ายเทและระบายอากาศ ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมได้ ภายในอาคารนี้ยังมีห้อง Lab ซึ่งทำหน้าที่คิดค้นนวัตกรรมล้ำสมัยรวมถึงทดสอบคุณภาพสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภคด้วย
มาถึงโรงเย็บ Zigzag ที่ปกติแล้วพนักงานตำแหน่งนี้มักต้องนั่งอยู่หน้าจักรเย็บผ้า ทำงานโดยใช้สายตาหนักมาก ทางโรงงานจึงปลูกป่าไว้ตรงส่วนกลางอาคาร และเปิดพื้นที่โล่งให้มองเห็นท้องฟ้าได้ เพื่อให้สีสันจากธรรมชาติช่วยให้พนักงานผ่อนคลายดวงตาจากการทำงาน ทั้งยังช่วยเรียกคืนความรู้สึกให้สดชื่นตลอดวัน
ส่วนด้านนอกที่มองเห็นแต่ไกลก็มีอาคารสถาปัตยกรรมแปลกตาอย่าง Octospider ที่เป็นทั้งโรงอาหารของพนักงานและห้องอาหารไทยฟิวชัน ที่นำวัตถุดิบจากแหล่งท้องถิ่นบ้านใกล้เรือนเคียงมาปรุงอาหาร เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและคนที่สนใจ เข้าไปลองลิ้มรสกันได้
รวมถึงการเกิดขึ้นของ PASAYA BIOTECH โปรเจกต์ที่โรงงานได้เพาะเลี้ยงหม่อนไหมเอง เพื่อนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ และยังทำเป็นขนมขบเคี้ยวอย่างใบหม่อนทอด หรือชาใบหม่อนหอมฉุยต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนโรงงานในครั้งนี้ด้วย
กลุ่ม Young Gen เล่าว่า ในอนาคตหากเป็นได้มากกว่าอาหารและยา ทางโรงงานก็หวังว่าจะขยายขอบเขตโปรเจกต์นี้ออกไปให้กว้างขึ้น เพื่อเกิดการกระจายรายได้ของฟาร์มหม่อนไหมให้ไปถึงคนในชุมชน เมื่อว่างเว้นจากงานเกษตรกรรมก็จะได้มีงานสร้างรายได้เพิ่มเติม
Mission for the world รวมพล คนกู้โลก ก้าวสู่ Net Zero
‘PASAYA รวมพล คนกู้โลก ก้าวสู่ Net Zero’ คือคำบอกเล่าสำคัญในวันจัดงาน Open House ของโรงงานสีเขียวในจังหวัดราชบุรีที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะทางโรงงานตั้งเป้าไว้ว่า ต่อไปนี้ทุกคนจะไม่ได้เห็นแค่พื้นที่สีเขียวในโรงงานเท่านั้น แต่จะได้เห็น ‘โรงงานในป่า’
เมื่อปีที่แล้ว พาซาญ่าเริ่มทำโครงการ Zero Emission ลดการปล่อยคาร์บอน ขึ้นทะเบียน Carbon Footprint ให้กับบริษัทสิ่งทอซาตินเพื่อควบคุมการปลดปล่อยคาร์บอนตามมาตรฐานสากล และโรงงานพาซาญ่าได้ปรับเปลี่ยนการใช้ถ่านหินมาใช้แก๊สธรรมชาติ (LPG) เป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและลดการปล่อยคาร์บอนได้จากเดิมราว 40 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่ากระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พาซาญ่าจึงเดินหน้าลงทุนกับธรรมชาติมากขึ้น ด้วยการตั้งปณิธานว่า ภายใน 2025 จะปลูกป่าให้ได้ 100 ไร่ ด้วยการใช้ไม้ป่าเมืองไทยเป็นหลัก เช่น ยางนา ตะเคียนทอง มะค่า พะยูง จามจุรี ฯลฯ เพื่อการดูดซับคาร์บอน 300 ตันต่อปี และจะขยายการปลูกป่าไปยังพื้นที่ชนบทให้ครบ 1,000 ไร่ ในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยให้การดูดซับคาร์บอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ถึง 3,000 ตันต่อปี
‘ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ และประหยัดพลังงาน’ คือส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งยังเป็นสิ่งที่โรงงานแห่งนี้ใช้ยึดเหนี่ยวการเติบโตของธุรกิจด้วย โดยในปี 2030 ทางโรงงานตั้งใจว่าผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าบุ ผ้าม่าน ผ้าปู ฯลฯ จะต้องมีส่วนผสมของวัสดุที่ทิ้งแล้ว เพื่อฟื้นคืนชีพของเก่าให้เป็นสินค้าใหม่
จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและทรัพยากรที่ลดน้อยลง ทำให้โลกร้อนเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักมากขึ้นกว่าเดิม และ Mission for the World คือความฝันสูงสุดของพาซาญ่า กับเป้าหมายปี 2050 ที่โรงงานสายกรีนแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างของการเป็น Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้จงได้
ใครที่สนใจอยากไปชมโรงงานแห่งนี้ด้วยตาตัวเอง พาซาญ่ากำลังเปิดบ้าน จัดงาน ‘รวมพล คนกู้โลก ก้าวสู่ Net Zero’ ในวันที่ 10 – 12 ธันวาคมนี้ พบกับกิจกรรมภายในงาน เช่น นิทรรศการผ้าทอขนาดใหญ่ในคอนเซปต์ ‘The Sixth Extinction’ และกิจกรรมสาระความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pasaya.com/