คลี่ผ้า PASAYA สิ่งทอถนอมคนและสิ่งแวดล้อม - Urban Creature

ใครจะคิดว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรพิทักษ์ผืนป่าและให้ความสำคัญต่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากว่า 29 ปี และ เลโอนาร์โด ดา วินชี จิตรกรระดับโลกเจ้าของภาพวาด Mona Lisa ที่ดูต่างขั้วกันอยู่ไม่น้อย จะกลายเป็นแรงบันดาลใจของ PASAYA แบรนด์สิ่งทอที่ตั้งใจพัฒนาผืนผ้าให้มีลายเซ็นเป็นศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม

คุณชเล วุทธานันท์ คือเจ้าของแบรนด์สิ่งทอ PASAYA (พาซาญ่า) ที่เปลี่ยนความคิดเราและ (อาจ) เปลี่ยนความคิดคุณ ให้มองผ้าปูที่นอน เครื่องนุ่งห่ม หรือสิ่งทอแบรนด์พาซาญ่าเป็นมากกว่าปัจจัย 4 ที่มีได้ทั้งความงามเชิงศิลป์ ฟังก์ชันของสินค้าที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาตอบโจทย์ด้านสุขภาพและพฤติกรรมของเด็ก ผู้หญิง วัยทำงาน หรือคนป่วย อีกทั้งต้นทางการผลิตยังช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในโรงงานยันนอกโรงงาน

| พาซาญ่าเกิดในเมืองแฟชั่นแต่โตมากับวิทยาศาสตร์

ย้อนกลับไปปี 1986 เป็นปีที่คุณชเลเข้ามารับช่วงต่อกิจการทอผ้าสำหรับใช้ตกแต่งภายในของบริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด จากผู้เป็นพ่อ แม้ก่อนหน้านี้เขาจะชอบคิด ชอบเขียน จนได้เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ตามความฝัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณพ่อแก่ตัว ธุรกิจโดนพิษเศรษฐกิจ ท่านจึงขอยืมมือลูกชายให้ช่วยสานต่อกิจการ

วัย 20 ปลายๆ จึงเป็นวัยที่คุณชเลละทิ้งความฝัน ลาออกจากงานและกลับไปเรียนอีกครั้ง เขาบินตรงไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Philadelphia College of Textile and Science ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านสิ่งทอ แต่พิเศษตรงที่ผนวกเรื่องวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบพอๆ กับงานด้านศิลปะ จึงตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้กลับมาพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นในแบบของตัวเอง

หลังจากกลับมา คุณชเลโลดแล่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ระยะหนึ่ง และจับสังเกตว่าหลายอุตสาหกรรมโรงงานทั้งไทยและต่างประเทศมักใช้แพตเทิร์นเดียวกันที่มองโรงงานเป็นโรงงาน โรงงานคือผู้ผลิตผ้าให้คนอื่น โรงงานไม่สามารถเป็นอย่างอื่นที่อยู่ในใจลูกค้าได้ เขาจึงเกิดไอเดียอยากสร้างแบรนด์สิ่งทอของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นเหมือนโรงงานจำนวนมากที่ต้องปิดตัวลง จนเข้าปี 2002 ท่ามกลางกระแส ‘กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น’ ที่รัฐบาลสมัยนั้นผลักดันเรื่องการทำสินค้าส่งออกต่างประเทศ คือเป็นปีเดียวกับที่ ‘พาซาญ่า’ ถือกำเนิด

“โจทย์ของพาซาญ่า คือผ้าปูที่นอนที่แปลกและโลดโผนกว่าชาวบ้าน ต้องทั้งสวย สัมผัสดี และตอบโจทย์ปัญหาการนอนได้ครบครัน”

ผ้าล็อตแรกที่พาซาญ่าเปิดตัว จึงเป็นผ้าที่ผสมผสานจิตวิญญาณความเป็นคุณชเลที่ชอบเล่นกับงานศิลป์ ด้วยการออกผ้าปูที่นอน 60 สี ที่ไม่เคยมีเจ้าไหนทำ และใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาผนวกกับการแก้ไขปัญหาการนอนที่เขาพบ

วิศวกรสิ่งทอคนนี้วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ผ้าปูต้องเย็นเป็นอันดับแรก จากผ้าคอตตอนที่เจ้าอื่นนิยมทำ เปลี่ยนมาเป็นผ้า Silk ที่ให้เนื้อสัมผัสเย็น โดยไม่ต้องใช้ใยไหมจริงๆ แต่เลียนแบบฟังก์ชันของใยไหมด้วยการใช้ Microfiber ที่มีความละเอียด เนื้อเงา ไม่รีดก็ไม่ยับ

ถัดมาคืออาการแสบคันและกลิ่นบนผ้าปูที่คุณชเลเซนซิทีฟ เขาศึกษาว่ากลิ่นและอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากสารที่ชื่อว่าฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ทำหน้าที่เชื่อมเส้นใยผ้าคอตตอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งตัวเร่งให้สารดังกล่าวทำงานคือกรดแอซีติกที่มีฤทธิ์ระคายเคืองผิว ผ้าปูแบรนด์พาซาญ่าจึงใช้สาร สารอนุพันธ์ (Derivative) ในการเชื่อมโมเลกุลของไฟเบอร์แทนการใช้ ฟอร์มาลดีไฮด์ แม้มีราคาสูง แต่หากไม่เป็นอันตรายต่อลูกค้าก็คุ้มที่จะเลือก

คุณชเลใช้เวลา 3 เดือนนับตั้งแต่เปิดตัวพาซาญ่า เพื่อสร้างข้อมูล ส่งต่อความรู้ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจคุณสมบัติของผ้าปูแบบใหม่ที่ไม่เคยมีเจ้าไหนทำ และในที่สุด พาซาญ่าก็ถูกจดจำว่าเป็นแบรนด์สิ่งทอที่มีดีทั้งความงามเชิงศิลป์และความฉลาดแบบวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว

“ศิลปะเป็นหนทางของการใช้ชีวิต ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นการเข้าใจกฎเกณฑ์บนโลก เหมือนเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่เป็นจิตรกรและนักวิทยาศาสตร์ในคราวเดียว พาซาญ่าก็เหมือนกัน ถ้าเป็นแค่อย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ใช่พาซาญ่า”

.

| สิ่งทอที่เป็นมิตรกับเด็ก ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม ผู้หญิง และคนเมือง

นอกจากสินค้าทุกชิ้นจะไม่มีสารก่อมะเร็งแล้ว พาซาญ่ายังเจาะกลุ่มเป้าหมายใส่เทคนิคพิเศษเล็กๆ เพิ่มเข้าไปในแต่ละคอลเลกชันสำหรับให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย เพื่อหวังเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ทุกคนมองเห็นถึงความสำคัญมากขึ้น

– PASAYA Baby Buddy ชุดเครื่องนอนที่อยากเป็นคู่หูกับเด็กๆ

คุณชเลบอกเราว่า เด็กๆ เป็นวัยที่ผิวบอบบาง ง่ายต่อการเกิดผื่นแพ้ และธรรมชาติของเด็ก หากไม่สบายตัวหรือคันเขาจะร้องและพยายามดิ้นหนี กลับกันถ้าครอบครัวเลือกผ้าปูที่นอนที่มีสารยับยั้งอาการดังกล่าว เขาจะสบายตัวและหลับง่ายขึ้น

ผ้าปูที่นอนรุ่นนี้จึงเป็นผ้าปูที่นอนสำหรับเด็กที่มีสารยับยั้งการเกิดจุลินทรีย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ซานิไทน์ (Sanitized) ช่วยหยุดการเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ที่รับรองความปลอดภัยตามมาตรฐานเสื้อผ้าเด็กทารกแรกเกิดของสหภาพยุโรป

– FIR-RED แรงบันดาลใจจากแผ่นประคบร้อนกอเอี๊ยะ สู่ผ้าปูที่นอนบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม

“อยู่ๆ ผมก็นึกตลกขึ้นมาว่า ถ้าเอาแผ่นประคบร้อนหรือกอเอี๊ยะทั้งหลายที่ใช้บรรเทาอาการปวดอักเสบตามร่างกาย มาทำเป็นผ้าปูที่นอน มันจะเป็นอย่างไร”

หลังจากที่คุณชเลนึกตลกได้ไม่นาน เขาก็เริ่มลงมือหาข้อมูลแล้วพบว่า หากจะทำให้ผ้าปูที่นอนมีคุณสมบัติคล้ายแผ่นประคบร้อน ต้องทำให้ผ้าสะท้อน Far Infrared หรือ คลื่นพลังงานความร้อนในช่วงคลื่นที่มองไม่เห็นด้วยตา ที่โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราเวลานอนหลับจะมีการแพร่กระจายความร้อนออกไป แต่ Far Infrared จะช่วยให้บริเวณที่เราปวดเมื่อยอุ่นขึ้น เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยให้อาการอักเสบบรรเทาลง คุณชเลจึงเลือกใช้ผง Ceramic Nano ที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนคลื่นความร้อนช่วง Far Infrared ถักทอลงไปบนเส้นใยอย่างประณีต

– Sukhothai ครั้งแรกที่ชุดเครื่องนอนทำให้ผิวชุ่มชื้นได้

“ที่ผมชอบวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มันไปได้ไกลกว่าเรื่องเดิมๆ ล่าสุดผ้าปูที่นอนของพาซาญ่าบ้าบิ่นจนสามารถมีคอลลาเจนในผ้า และกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิวได้แล้ว”

ก่อนที่คุณชเลจะคิดไอเดียสนุกๆ นี้ออก เขาเริ่มจากการอยากทำโปรดักต์ที่ตอบโจทย์เรื่องความงามและโดนใจผู้หญิง จึงคิดไปถึงโปรตีนที่เรียกว่าคอลลาเจนซึ่งอยู่ในผิวหนังของสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่าใครก็ตามที่รักสุขภาพคงไม่อยากให้คอลลาเจนที่ช่วยเรื่องการยืดหยุ่นของผิวหายไป เขาจึงเฟ้นหาปลาทะเลน้ำลึกที่เป็นแหล่งคอลลาเจนชั้นดี นำเกล็ดและหนังที่ชาวประมงไม่ใช้แล้วมาแปรรูป บดละเอียดจนเล็กพอที่จะเป็นผงขนาดนาโน ก่อนใส่ลงไปในเส้นใยเพื่อถักทอออกมาเป็นผ้าปูที่นอนที่แปลกไม่เหมือนใคร

“ก่อนวางขาย ผมทดลองก่อนว่ามันให้ประสิทธิภาพในแบบที่คาดหวังไหม เลยเอาผ้าที่ทอด้วยคอลลาเจนไปห่อมะเขือเทศ เทียบกับการห่อด้วยผ้าปกติ ปรากฏว่ามะเขือเทศที่ห่อด้วยผ้าคอลลาเจนอยู่ได้ถึงสิบวัน แต่มะเขือเทศที่ห่อด้วยผ้าธรรมดากลับเน่า พอเห็นแบบนั้นเราเลยกล้าที่จะรับประกันเรื่องคุณภาพ”

– ผ้าม่านที่ช่วยลดค่าไฟและลดอุณหภูมิความร้อนในห้องคนเมือง

คงจะจริงแบบที่คุณชเลว่า วิทยาศาสตร์สามารถไปไกลกว่าที่เราคิด เพราะเราก็เพิ่งจะเคยเห็นผ้าม่านที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและทำให้อุณหภูมิห้องเย็นลงถึง 2 – 4 องศา!

นวัตกรรมนี้คุณชเลออกแบบโดยใช้วิธีให้ความร้อนจากด้านนอกมากระทบโดนผ้าแล้วเกิดการสะท้อนกลับ โดยใช้ผ้าเมทัลลิกมาช่วยเรื่องการสะท้อนแสงแดดในด้านที่หันออกนอกห้อง หากนึกไม่ออกให้นึกถึงภาพเครื่องยนต์ที่จอดกลางแดดนานๆ แล้วนำแผ่นฟอยล์มาปิดหน้ากระจก ตัวแผ่นฟอยล์สีเงินนี่แหละ เป็นตัวสะท้อนคลื่นความร้อนได้ดี ดังนั้น ผ้าม่านของพาซาญ่าจึงช่วยลดอุณหภูมิความร้อนตั้งแต่ข้างนอกได้อย่างไม่ต้องสงสัย

| รักษ์โลกตั้งแต่ในรั้วยันนอกรั้ว

เราคุยกับคุณชเลมาได้สักพัก แล้วพบว่าเขาเป็นคนชอบทดลองอะไรที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ อะไรที่ไม่น่าเป็นไปได้คุณชเลก็ทำให้มันเกิดขึ้น เราเลยลองถามคุณชเลเล่นๆ ว่า ชุดสูทที่เขาสวมอยู่มีอะไรพิเศษไหม


ปรากฏว่ามี! เพราะสูทตัวนี้ทำจากขวดพลาสติกใช้แล้ว 21 – 26 ขวด มาทอร่วมกับผ้าคอตตอนจนเป็นเส้นใย


ที่สำคัญสามารถใส่เดินกลางแดดได้สบายโดยไม่ร้อน เพราะผ่านการทำ Mercerization หรือการจุ่มเส้นใยผ้าลงไปในโซดาไฟเข้มข้น เพื่อให้ผ้ามีความเงาและเรียบมากขึ้น โดยปกติภาคอุตสาหกรรมจะใช้ความร้อนเร่งปฏิกิริยา แต่คุณชเลดันคิดนอกกรอบ คิดสูตรใหม่ เอาผ้าไปจุ่มน้ำเย็นอุณหภูมิ 5 – 10 องศาฯ แทน ทำให้ผ้าที่ได้เย็นสบาย มีความสามารถในการถ่ายเทความร้อน ที่สำคัญไม่ต้องรีด สามารถซักเครื่อง สะบัด และตาก ได้โดยไม่ยับ

“ในฐานะที่ผมเป็นภาคอุตสาหกรรม ผมเห็นคนที่ทำผ้าโพลีเอสเตอร์เยอะ ซึ่งผ้าชนิดนี้ก็เป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง แทนที่เราจะผลิตสิ่งทอด้วยผ้าชนิดที่ต้องเอาน้ำมันมากลั่นเพื่อสร้างพลาสติกในรูปแบบผ้าเพิ่ม เราเอาขวดพลาสติกเหลือใช้มาทำ น่าจะเกิดการหมุนเวียนของการใช้วัสดุมากกว่า”

สายตาของคุณชเลเป็นประกายทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่รอช้า ถามถึงการได้มาของรางวัล Thailand Trust Mark และ Thai Green Label ที่การันตีว่า โรงงานพาซาญ่าไร้สารพิษในทุกกระบวนการผลิต และเป็นโรงงานสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

คุณชเลจึงเล่าให้ฟังว่า สมัยเป็นนักศึกษา ตนมีโอกาสทำกิจกรรมในโรงงานแห่งหนึ่ง ทำให้เห็นสภาพสิ่งแวดล้อมในนั้นที่คนงานต้องดื่มน้ำจากน้ำก๊อก ห้องน้ำสกปรก โรงอาหารเละเทะ สิ่งแวดล้อมโดยรอบเต็มไปด้วยขยะจำนวนมาก เช่นเดียวกับโรงงานเก่าของเขา ที่เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาเลือกซื้อผ้าที่โรงงาน ต้องเห็นทัศนียภาพที่เต็มไปด้วยขยะจำนวนมากสองข้างทาง อีกทั้งเมื่อก่อนสภาพโรงย้อมแออัดและร้อนจัด มีการปล่อยน้ำเสียสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม


พอได้มีโอกาสบริหารเต็มตัว คุณชเลตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ จ.ราชบุรี โดยสิ่งแรกที่เขาทำไม่ใช่การสร้างตึกขนาดใหญ่ แต่เป็นระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อยุติการปล่อยน้ำเสียออกนอกรั้ว โดยคำนึงถึงค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) หรือ ค่าวัดความเน่าเสียจากน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคที่ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และค่า COD (Chemical Oxygen Demand) ค่าวัดความเน่าเสียของน้ำที่เกิดจากสารเคมีตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด

ทั้งยังไม่ใช้สารเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากสีย้อมที่มีโลหะหนัก ทุกกระบวนการผลิตผ่านมาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมายการใช้สารเคมีที่ถูกบังคับโดยสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการปล่อยของเสียออกสู่ด้านนอก

“ผมคิดว่าสิ่งแวดล้อมกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นของคู่กัน การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของสังคมที่ทุกคนควรมีส่วนร่วม”

ผู้ที่ทำให้คุณชเลอินเรื่องสิ่งแวดล้อมมากๆ คือ อ.รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นคุณแม่ของภรรยา ซึ่งท่านมักสอนให้เขาตื่นตัวอยู่เสมอว่า หากโลกขาดสิ่งแวดล้อมที่ดี จะมีปัญหาในเรื่องของป่าต้นน้ำ เมื่อป่าต้นน้ำมีปัญหาก็จะเกิดความแห้งแล้งและความยากจนต่อเกษตรกร อีกทั้งถ้าโรงงานปล่อยมลพิษออกไปจะเกิดเรื่อง Green House Effect ที่เป็นภาระให้กับคนอื่นๆ นั่นทำให้คุณชเลประกาศจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเท่าที่เขาจะทำได้

นอกจากสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ภายในโรงงานก็เป็นสิ่งที่คุณชเลอยากมอบให้พนักงานทุกคน เขาจึงสร้างโรงงานที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว ทั้งโรงย้อมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพิงหมาแหงนกลางทุ่งนา เพราะคุณชเลเห็นว่า โรงย้อมทั่วไปมักมีอุณหภูมิด้านในสูงกว่าด้านนอก 10 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่อยู่ในถังย้อมผ้าจะสูงถึง 130 องศาเซลเซียส หากไม่มีการถ่ายเทอากาศ จะร้อนจนแทบเป็นลม เขาจึงสร้าง อาคารกำแพง โรงย้อมที่ไม่มีกำแพงตามชื่อ เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้ทุกทิศทางเหมือนเพิงหมาแหงนตามท้องไร่ และปลูกต้นไม้ล้อมรอบอาคารที่มีจุดต่ำสุด 6 เมตร และจุดสูงสุด 9 เมตร เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศให้กับพนักงาน

ส่วนโรงเย็บ คุณชเลออกแบบให้เป็นอาคารกระจกติดแอร์ และมีการสร้างสวนที่ปลูกต้นไม้หลากชนิดไว้ตรงกลาง เพื่อให้คนงานได้พักสายตาจากการทำงาน สามารถแหงนมองดูทัศนียภาพรื่นรมย์ ช่วยให้ผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อย ทั้งยังเพิ่มสมาธิให้ไม่ว่อกแว่ก เนื่องจากเป็นอาคารปิดที่เห็นสวนเป็นวิวทิวทัศน์ แต่มีลักษณะเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม ที่ถัดจากสวนไปไม่ไกลจะมีกำแพงกั้นรอบด้านไม่ให้เห็นสิ่งรบกวนด้านนอกถนน เสมือนการสร้างกล่องบรรยากาศใหม่ที่มีทั้งท้องฟ้า แสงแดด และธรรมชาติ ได้อย่างลงตัว

คำว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีในมุมมองของคุณชเล คงไม่ได้หมายความถึงการดูแลรักษาธรรมชาติให้คงอยู่อย่างเดียว 

แต่ยังรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ การเป็นต้นสายการผลิตที่ไม่เพิ่มมลพิษออกสู่สังคม และการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคด้วยการเฟ้นหานวัตกรรมดีๆ ที่ทำให้ตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน พาซาญ่า (PASAYA) ขอมีส่วนช่วยเพิ่มรอยยิ้มและดูแลสุขภาพของคนทุกคน

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.