รัฐสภาที่ฟังเสียงประชาชน - Urban Creature

บนโลกใบนี้มีรัฐสภากระจายอยู่ตามประเทศน้อยใหญ่ บางที่ขนาดใหญ่โตหรูหรา บางที่แสนธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไร ซึ่งเอกลักษณ์หรือการออกแบบของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปตามความเชื่อ และวัฒนธรรม แต่สิ่งสำคัญที่มากกว่าแค่ภาพลักษณ์ที่มองเห็นจากภายนอก สถาปัตยกรรมรัฐสภายังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการปกครองของชาตินั้นๆ ด้วย

หนังสือ Parliamentbook ได้วิเคราะห์รูปแบบของรัฐสภาทั่วโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่ารูปแบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยนั้นส่วนใหญ่มีการออกแบบที่ค่อนข้างจำกัด และนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แทบไม่มีการออกแบบที่แปลกใหม่เกิดขึ้นเลย แต่สำหรับยุคศตวรรษที่ 21 เราได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน แถมยังมาพร้อมคอนเซปต์ที่ล้ำสมัยแต่ไม่ลืมที่จะใส่ใจผู้ใช้งานไปพร้อมกัน

รัฐสภาผลผลิตจากแนวคิดรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

ยินดีต้อนรับสู่ประเทศจาเมกาบนพื้นที่อันกว้างใหญ่ 160,000 ตารางฟุต อันเป็นที่ตั้งของ ‘Jamaican Houses of Parliament’ โครงสร้างที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของจาเมกา หากมองเผินๆ หลายคนอาจเผลอเข้าใจผิดไปว่ามันคือสนามกีฬาด้วยรูปทรงวงกลมขนาดใหญ่ แต่กลับไม่ใช่อย่างที่คิดเพราะนี่คือรัฐสภาในอนาคตแห่งประเทศจาเมกา ที่มาพร้อมคอนเซปต์ที่เป็นดั่งคำขวัญประจำชาติ ‘Out of Many, One People’

หากมองไปตัวอาคารทรงกลม จะเห็นรายละเอียดของบริเวณเสาที่ไขว้กันเป็นรูปตัว X ล้อมรอบอาคาร ซึ่งทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวและรับน้ำหนักระหว่างเพดานกับพื้นที่เอาไว้โดยจุดนี้มีความหมายว่า ภายใต้เสาแต่ละต้นคือความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน เพื่อเตือนใจให้เหล่าตัวแทนของคนเหมือนกับตัวอาคารแห่งนี้ที่มีเสาเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างก็อาจพังทลายลงได้

เปลี่ยนจากด้านนอกเข้าสู่รายละเอียดของด้านใน รัฐสภายังออกแบบให้มีหลากหลายฟังก์ชัน ทั้งห้องสำหรับวุฒิสภา หอศิลป์ สวนสาธารณะที่รายล้อมไปด้วยพืชท้องถิ่น ไปจนถึงสนามฟุตบอลและพื้นที่สำหรับการชมภาพยนตร์กลางแจ้งที่เปิดให้เห็นถึงประโยชน์ที่หลากหลายของพื้นที่ ซึ่งดึงดูดให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน


Sources : Architect Magazine | https://bit.ly/2SAXSDK
Andrew Holness | https://bit.ly/34p9YCJ

การเกิดของรัฐสภาใหม่จากรัฐสภาเก่า

ย้อนเวลากลับไปในปี 2014 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ณ อาคารรัฐสภาแห่งประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso’s new Parliament) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติของประเทศส่งผลให้การปกครองแบบเผด็จการกว่า 31 ปีสิ้นสุดลง

นับเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของรัฐสภาแห่งใหม่ที่นำเอาซากปรักหักพังของอาคารรัฐสภาเก่ามาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง โดยอาคารรัฐสภาแห่งนี้นอกจากเพื่อการใช้งานของเหล่ารัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเพื่อประชาชนผ่านพื้นที่โดยรอบรัฐสภา อย่างสวนสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตัวอาคารพีระมิดแบบโปร่งใสที่มีความสูงถึง 6 ชั้น เปิดโอกาสให้ผู้คนขึ้นไปด้านบนได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจุดนี้มีนัยเชิงสัญลักษณ์ว่าสถานที่แห่งนี้มีความโปร่งใสเสมอ

แม้การเปลี่ยนแปลงที่ดูก้าวล้ำไปข้างหน้า อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของบูร์กินาฟาโซก็ใช่ว่าจะทิ้งประเพณีไว้ข้างหลัง สถาปนิกชาวเบอร์ลินได้เติมไอเดียตกแต่งภายในด้วยต้นไม้ต้นใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางอาคาร ภายใต้ชื่อว่า ต้นไม้แห่งการสนทนา (Arbre à Palabres) ซึ่งมาจากความเชื่อของชาวบูร์กินาฟาโซที่ใช้ต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นจุดศูนย์กลางของผู้คน เสมือนเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน ไปจนถึงการร้องทุกข์เรียกร้องความเป็นธรรม ดังนั้นต้นไม้แห่งบทสนทนาจึงเป็นหนึ่งในข้อคิดให้บรรดาเหล่าผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการฟังเสียงประชาชน


Source : dezeen | https://bit.ly/3oY4aJU

รัฐสภาที่อยู่ในสายตาของประชาชน

จะดีแค่ไหนถ้าเราได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการฟังคำอภิปรายของเหล่าวุฒิสภาอย่างใกล้ชิด เรื่องนี้อาจไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปเมื่อรัฐสภาแห่งใหม่ของสาธารณรัฐแอลเบเนีย (The Open Parliament of Albania) กำลังจะถูกสร้างด้วยแนวคิดอันแรงกล้าที่ตั้งมั่นในวิถีประชาธิปไตย อย่างการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ 

จุดเด่นของรัฐสภาแห่งนี้คือห้องโถงของรัฐสภาที่ประชาชนเข้าถึงและมองลงไปในห้องโถงได้จากหลังคากระจกของอาคาร เปรียบเหมือนว่าการทำงานของภาครัฐอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ เรียกว่าเป็นการทลายกำแพงของการเข้าถึงกระบวนการของทางภาครัฐออกไปเลยก็ว่าได้

แม้กระจกจะเป็นวัสดุหลักที่อาจมีปัญหาเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่กับรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐแอลเบเนีย เพราะที่นี่ถูกออกแบบมาให้มีระบบควบคุมแสงอาทิตย์ และป้องกันด้วยฉนวนกันความร้อนที่ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ด้วย และยังไม่หลงลืมเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ทำให้มั่นใจได้ว่าการออกแบบที่ประหยัดพลังงานและลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งสำคัญของรัฐสภาแห่งนี้ 


Source : dezeen | https://bit.ly/3utUlo3

รัฐสภาแห่งศรัทธาแห่งต้นปาลาเวอร์

“หนึ่ง สอง สาม…แสดงความเคารพต่อต้นปาลาเวอร์”

ธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต่างมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย การแสดงความเคารพไม่ได้มาในรูปแบบความงมงาย จับต้องไม่ได้ แต่ชาวแอฟริกาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อความเชื่อในอดีตให้กลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

ชาวแอฟริกาแสดงความเคารพต่อต้นปาลาเวอร์ต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน เพราะต้นปาลาเวอร์ยังเป็นต้นไม้ประจำถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ชาวบ้านจึงใช้ต้นไม้ปาลาเวอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่บ้านเป็นจุดนัดพบ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน นั่นจึงสะท้อนกลับมาที่แนวคิดในการสร้างรัฐสภาแห่งประเทศเบนิน (Benin Parliament) ที่รายล้อมไปด้วยต้นปาลาเวอร์จำนวนมาก แฝงความหมายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบรัฐสภาแห่งเบนิน เป็นตัวแทนของประชาชนที่เฝ้ามองการทำงานของเหล่าตัวแทนของราษฎรอยู่ตลอดเวลา

จากด้านนอกที่สอดแทรกความหมายของพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจแล้ว ท่ามกลางภูมิประเทศที่ร้อนระอุของประเทศแถบแอฟริกา เป็นหนึ่งปัจจัยที่สถาปนิกไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญ โดยตัวอาคารถูกออกแบบระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันเอาไว้ และนำออกมาใช้ในช่วงกลางคืน เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และยังเปิดโอกาสให้ชาวเมืองใช้พื้นที่บริเวณสวนต้นปาลาเวอร์พักผ่อนโดยไม่จำกัดการเข้าถึง เรียกได้ว่าพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง


Source : dezeen | https://bit.ly/3bYJA6V

รัฐสภาชั่วคราวที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ถ้าอาคารรัฐสภาไม่ได้ยึดติดอยู่กับที่เสมอไปจะเป็นอย่างไร แนวคิดนี้กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชาวอังกฤษได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการสร้างอาคารที่ถอดประกอบได้ หรือ Transparent Pop Parliament เพื่อเป็นที่ตั้งรัฐสภาของสหราชอาณาจักรชั่วคราว ระหว่างรออาคารรัฐสภาในพระราชวัง Westminster ที่กำลังจะถูกปรับปรุงใหม่

แนวคิดนี้นอกจากประหยัดเงินและเวลาได้มหาศาลยังนำโครงสร้างอาคารกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ถือเป็นวิถีที่ยั่งยืนกว่า คล้ายกับการจัดนิทรรศการชั่วคราวที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้สถาปนิกเองยังมองว่า การเปลี่ยนพื้นที่รัฐสภาให้อยู่ในรูปแบบนี้ เป็นข้อดีที่ดึงดูดประชาชนให้ได้ใกล้ชิดสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้มากขึ้น ซึ่งการยกเครื่องครั้งใหญ่นี้จะเริ่มในปี 2568 เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวงการสถาปัตยกรรมเลยก็ว่าได้


Sources : 
Dailymail | https://bit.ly/3bYrIcr
Dezeen | https://bit.ly/34pgJo5

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.