เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ข่าวว่าที่ชิบุยะมี Kitaya Park สวนสาธารณะใหม่เปิดตัวแอบตื่นเต้นเล็กน้อย ช่วงหลังพี่ญี่ปุ่นเขาท็อปฟอร์มเหลือเกิน เปิดทั้ง Miyashita Park สุดฮิปและ IKEA ใหญ่บึ้ม
ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะเป็นการรีโนเวตสวนใหม่เพื่อต้อนรับโอลิมปิก ปรากฏว่าสวน Kitaya Park นั้นจริงๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ Park-PFI ซึ่งชื่อฟังดู Sci-fi ผสม CSI crime scene investigation มากๆ
แต่ไม่มีคนตาย มีแต่คนร้องว้ายเพราะความกรุบกริบ
แม้พื้นที่จะไม่ใหญ่มาก แต่มีที่นั่งชิลเป็นขั้นบันไดเก๋ แถมมี Blue Bottle Coffee มาประเดิมเปิดสาขาแรกในชิบุยะอีกต่างหาก หรือถ้าอยากอุดหนุนร้านกาแฟญี่ปุ่น ข้างๆ สวนสาธารณะแห่งนี้ก็มีร้าน Roasted Coffee Laboratory เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก
ด้วยความที่สวนอยู่ลึกเข้ามาห่างจากจุดวุ่นวายของชิบุยะพอสมควร แต่อยู่ตรงกลางระหว่างชิบุยะกับฮาราจุกุพอดี ความเงียบสงบที่แสนสะดวกสบายนี้เลยทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดหย่อนใจแห่งใหม่ของเราไปในทันที ถ้าไม่มี COVID-19 ที่นี่จะมีมินิ Jazz Festival ด้วยนะ
ทำใหม่เสียดีขนาดนี้ เริ่มอยากรู้ขึ้นมาทันทีคุณ Park-PFI เป็นใครกันแน่นะ
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักคุณ PFI เฉยๆ ก่อน พี่เขาย่อมาจาก Public Finance Initiative ซึ่งเป็นนโยบายที่ญี่ปุ่นทำตามประเทศอังกฤษ โดยรัฐร่วมมือกับเอกชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ เพื่อลดต้นทุนที่รัฐต้องแบกรับ และเปิดโอกาสทางธุรกิจให้เอกชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว
โครงการ PFI นั้นก็พัฒนาถนนหนทาง การบำบัดน้ำอะไรต่างๆ ไป ส่วน Park-PFI นั้นตามชื่อเป๊ะ ใช้หลักการเดียวกันแต่เน้นโฟกัสที่สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรในชุมชนโดยเฉพาะ นำทีมโดยสำนักพัฒนาสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวและภูมิทัศน์แห่งกรมเมืองประจำกระทรวง Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism
สาเหตุที่ต้องดิ้นรนหาวิธีใหม่ๆ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่พื้นที่ไม่มากแต่ประชากรหนาแน่นมาก คิดง่ายๆ จำนวนประชากรมากกว่าไทยเกือบเท่าตัวแต่พื้นที่ก็เล็กกว่าเกือบเท่าตัวเหมือนกัน ถ้าทำตามกฎเดิมที่รัฐต้องเป็นเจ้าของที่และพัฒนาเอง (เขามีกฎหมายดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะ!) แค่การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ใช้เงินเยอะมากแล้ว เลยต้องหาวิธีสร้างและปรับปรุงพื้นที่สีเขียวใหม่ๆ สร้างความหลากหลายในการใช้งาน
เช่นแต่ละท้องถิ่นกำหนดสถานที่เองได้โดยไม่ต้องซื้อที่ดิน และทำได้ทั้งแบบสวนที่มีตามธรรมชาติและสวนเสกใหม่สร้างเอง Park-PFI เลยเน้นใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอกชนทั้งเรื่องดีไซน์ ความคิดสร้างสรรค์ การเงิน การก่อสร้าง การบริหารจัดการ โดยรัฐปรับกฎหลายอย่างให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น ขยายระยะเวลาสัญญาจาก 10 ปีเป็น 20 ปี เพื่อจูงใจให้เอกชนตั้งใจทำให้ดีมากขึ้นเพราะได้โอกาสทำกำไรนานขึ้น อนุญาตให้ปรับปรุงพื้นที่ (ในสวนของรัฐ) อนุญาตให้ฟาร์มตั้งร้านขายตรง ทำร้านอาหารในฟาร์มได้ รวมไปถึงการให้ Incentive เรื่องภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ สิทธิ์เช่าที่ราคาต่ำกว่าตลาดหรืออาจจะไม่คิดเงินเลย
สรุปคือ เคลียร์คอนเซปต์กันจบแล้วก็เอาไปทำให้หมดเลยจ้า ขอแค่ 2 อย่าง
- ถ้าทำกิจการที่สร้างกำไร เธอต้องเอาเงินนั้นมาช่วยบำรุงสวน ทั้งส่วนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่สีเขียวรอบๆ ด้วยนะ
- สิ่งก่อสร้างที่จะทำต้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ
โหย รู้สึกดีขึ้นมาเลย เงินที่กินกาแฟไปเมื่อวันก่อนไหลกลับไปดูแลสวนด้วย
แบ่งงานกันลงตัวแบบนี้เลยไม่ค่อยแปลกใจที่ได้เห็นโปรเจกต์กรุบกริบเกี่ยวกับสวนเกิดขึ้นมากมาย เช่น การสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่รกร้าง การผสมผสานสวนและสุสาน (ฟังดูหลอน แต่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ขอแนะนำให้ไปเดบิวต์ที่ย่านยะนะกะช่วงซากุระ) สวนที่มีคาเฟ่และร้านกรุบกริบ การปรับปรุงทางเดิน และการติดตั้งไวไฟตามพื้นที่สาธารณะเช่น ริมแม่น้ำ
อีกอย่างที่ประทับใจเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้คือ แนวคิดในการพัฒนา เขาเริ่มต้นจากคำถามว่า “เราใช้สวนสาธารณะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง?”
ตอนนี้ญี่ปุ่นมีปัญหามากมาย เช่น สังคมคนแก่ คนเกิดน้อย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเขาพยายามหาทางใช้สวนช่วยแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างและการสร้างความสดใส ด้วยการทำสวนที่มีอยู่ให้มีชีวิตชีวากว่าเดิมและดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเพิ่มความกรุบกริบ ดึงศักยภาพและเอกลักษณ์ของสวนแต่ละที่ออกมาเพื่อทำให้มันกลายเป็นสมบัติของชุมชน
ตัวอย่างโปรเจกต์เด่นของ Park-PFI เช่น พื้นที่สวนแถวปราสาทโอซาก้า JO TERRACE เก๋มาก มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านแต่งชุดกิโมโน ยุกะตะ Runner Station อำนวยความสะดวกให้คนรักสุขภาพ, MIRAIZA OSAKA JO ร้านอาหารคาเฟ่ทั่วไป แต่ดาดฟ้ากรุบมีร้านอาหาร/บาร์ชมวิว ส่วนชั้นใต้ดินทำเป็นร้านอาหารธีมนินจา เลือกเสพวิวและวัฒนธรรมได้ตามอัธยาศัย
Shinjuku Chuo Park เราก็ชอบ ที่นี่เป็นสวนขนาดใหญ่มากอยู่ไม่ไกลจากสถานีแต่มีความสงบที่ต่างจากดงห้างลิบลับ หันหลังให้ตึกไอคอนิกของชินจุกุอย่าง Mode Gakuen Cocoon tower ก็เจอพื้นที่สีเขียวแสนชอุ่มเลยราวกับคนละโลก วันดีคืนดีก็มี Flea Market เก๋ๆ ให้เดินชิล มีคาเฟ่ Fitness Club สระน้ำตื้น (แค่ตาตุ่ม) ให้เด็กๆ มาย่ำเล่นช่วงหน้าร้อน แถมมีศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก ถ้าแวะไปตอนเที่ยงของวันธรรมดา จะพบว่าที่นี่คือสวรรค์ของมนุษย์เงินเดือนที่หิ้วเบนโตแวบมาพักใจในช่วงเบรกเลย
เราอยู่ที่โตเกียวมา 6 – 7 ปีก็คิดอยู่ว่าที่นี่มีสวนสาธารณะเยอะมาก แต่คิดไม่ถึงว่าญี่ปุ่นดูแลพื้นที่สีเขียวจริงจังขนาดนี้ มีทั้งกฎหมายและโปรเจกต์ต่างๆ มิน่าไม่ว่าจะเมืองเล็กใหญ่ เดินไปเดินมา ยังไงก็เจอสวนสักหย่อม แถมไม่ใช่แค่ย่านชุมชน ย่านคึกคักดักนักท่องเที่ยวก็มี เคยไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วต้องพกงานไปทำงานด้วย พอเจอไวไฟในสวนสาธารณะริมแม่น้ำยังแอบรู้สึกตื้นตัน การปั่นงานระหว่างเที่ยวรื่นรมย์ขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็ป ไม่ต้องหมกตัวในห้องโรงแรม วันธรรมดาก็ซื้อกาแฟไปนั่งจิบที่สวนสาธารณะแถวบ้าน เห็นครอบครัว กลุ่มเพื่อนเอาเต็นท์มากางปิกนิกกัน เห็นคุณแม่ลูกอ่อนพาลูกน้อยมาเล่น เห็นกลุ่มวัยรุ่นมาซ้อมเต้น พื้นที่อาจจะไม่ใหญ่มากแค่มีร้านสะดวกซื้อกับห้องน้ำสะอาดให้เข้าก็แฮปปี้ทุกเพศทุกวัย
ทุกสวนที่เราเห็นในญี่ปุ่นอาจจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ Park-PFI แต่ก็มีสวนที่ได้รับการปรับปรุงโดยเอกชนภายใต้โครงการนี้ไปแล้วกว่า 100 แห่ง สร้างพื้นที่สีเขียวอีก 70 แห่ง แถมยังมีหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ กว่าคนไทยจะได้มาเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้ง น่าจะมีสวนกรุบกริบใหม่ๆ รออยู่มากมายเลยล่ะ