ย้อนไปเมื่อปี 2020 แอนน์ อีดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงปารีส ได้เสนอแนวคิดที่จะเปลี่ยนเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่แสนจะวุ่นวายและเต็มไปด้วยกิจกรรมคึกคัก ให้กลายเป็น ‘เมือง 15 นาที’ (15-minute City)
แนวคิดนี้คือการปรับปรุงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยการสร้างเมืองที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ในระยะเวลา 15 นาทีด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน เพื่อลดการเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เช่น สถานที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยหวังว่าปารีสโฉมใหม่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนให้คล่องตัว มีสุขภาพดี และยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงต้องการสร้างสังคมที่โอบรับคนทุกกลุ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผ่านมา 4 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับปารีสบ้าง และมหานครแห่งนี้เข้าใกล้การเป็นเมือง 15 นาทีมากขนาดไหนแล้ว คอลัมน์ City in Focus ขอชวนไปสำรวจและหาคำตอบพร้อมกัน
เปลี่ยนจากการขับรถเป็นปั่นจักรยาน
เป้าหมายแรกของกรุงปารีสคือการเปลี่ยนให้คนใช้รถยนต์น้อยลง และหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น นายกฯ อีดัลโกอธิบายว่า การใช้จักรยานในเมืองจะแสดงให้เห็นว่าชาวปารีสสามารถปรับวิถีชีวิตของตัวเองได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงปารีสได้ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ เช่น กำหนดให้เขตเมืองเป็นเขตควบคุมมลพิษต่ำ และกำหนดให้ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนเป็นวันปลอดรถยนต์ รวมถึงเพิ่มเลนจักรยานทั่วเมือง จากเดิมที่มีอยู่ราว 200 กิโลเมตร ให้เป็นมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ส่วนที่จอดจักรยานปัจจุบันมีอยู่ราว 60,000 คัน
และภายในปี 2026 ปารีสมีแผนเพิ่มเครือข่ายเลนจักรยานอีก 180 กิโลเมตร และเพิ่มที่จอดจักรยานอีก 130,000 คัน
ความพยายามนี้ดูเหมือนจะได้ผล เพราะรายงานเมื่อเดือนเมษายนปี 2024 เปิดเผยว่า สำหรับการเดินทางในเขตใจกลางกรุงปารีส ผู้คนนิยมปั่นจักรยานมากกว่าขับรถยนต์ โดยสัดส่วนชาวปารีสที่ปั่นจักรยานคิดเป็น 11.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์มีเพียง 4.2 เปอร์เซ็นต์
มากไปกว่านั้น ชาวปารีสยังหันมาใช้ ‘ยานพาหนะร่วมกัน’ (Shared Mobility) เช่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooters) และจักรยานไฟฟ้า (E-Mopeds) มากขึ้น
ทางการปารีสได้จัดสรรบริการจักรยานสาธารณะหลายพันคันทั่วเมือง ซึ่งมีราคาไม่แพงและจองผ่านแอปพลิเคชันได้ ตั๋วรายวันราคาประมาณ 5 ยูโร (ราว 200 บาท) แต่ถ้าสมัครสมาชิกอาจได้ราคาที่ถูกกว่านี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะประเภทนี้มากขึ้น
เปลี่ยนตึกเก่าให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์
ถัดมาคือการเปลี่ยนอาคารหรือสำนักงานต่างๆ ที่เคยถูกใช้งานเพียงบางส่วนให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เช่น อาคารเก่าชื่อว่า Morland Mixité Capitale ถูกแปลงโฉมให้เป็นอาคารอเนกประสงค์ที่มีทั้งตลาดในร่ม ที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงเรียนอนุบาล โรงแรม โฮสเทลสำหรับเยาวชน ร้านอาหาร บาร์ แกลเลอรี ยิม และพื้นที่ทำการเกษตรบนชั้นดาดฟ้า
เท่านั้นไม่พอ อาคารจอดรถที่ไม่ค่อยได้ใช้งานและอดีตพื้นที่อุตสาหกรรมยังถูกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย โรงพยาบาลบางแห่งถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนที่มีห้องสมุดและสนามเด็กเล่นที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้นอกเวลาเรียน แถมปารีสยังผลักดันให้คนในย่านต่างๆ เข้าถึงบริการสำคัญได้ เช่น บริการสุขภาพและพื้นที่ทำงานที่เป็น Co-working Space
ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่ม ‘ความใกล้ชิด’ (Proximity) ระหว่างผู้คนกับสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่างๆ รวมถึงลดระยะเวลาการเดินทางไปยังสถานที่เหล่านั้นด้วย เพราะการใช้เวลาเดินทางมากเกินไปอาจทำให้ผู้คนรู้สึกเหนื่อย วิตกกังวล และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส-โคลอมเบียผู้นำเสนอคอนเซปต์เมือง 15 นาที เคยกล่าวถึงความจำเป็นของ ‘ความใกล้ชิดในเมือง’ (Urban Proximity) เพราะการที่ผู้คนได้ทำงานใกล้บ้านถือเป็นเรื่องที่ดี
ยิ่งถ้าพวกเขาสามารถซื้อของ พักผ่อน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ต้องการในบริเวณใกล้เคียงได้ด้วย พวกเขาก็จะใช้ชีวิตที่สงบสุขได้มากขึ้น
ปัจจุบัน 65 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางทั้งหมดในปารีสคือการเดินเท้า เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2010 – 2020 สะท้อนว่าปารีสกลายเป็นเมืองที่น่าเดินขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนกว่าเดิม
นอกจากการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวฝรั่งเศส แนวคิดเมือง 15 นาทียังมีเป้าหมายผลักดันความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
เนื่องจากนายกฯ อีดัลโกมีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนเมืองหลวงของฝรั่งเศสให้เป็น ‘เมืองสีเขียว’ (Green City) เพื่อให้ทุกคนได้สูดอากาศบริสุทธิ์และใช้พื้นที่เปิดโล่งร่วมกันได้
เริ่มจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่านต่างๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนประถมหลายร้อยแห่ง เพื่อเปลี่ยนสนามเด็กเล่นให้เป็นสวนสีเขียว ก่อนจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ในช่วงสุดสัปดาห์ รวมถึงสั่งห้ามใช้รถยนต์บริเวณถนนหน้าโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ เดินไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย และช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นมีพื้นที่สาธารณะใช้
มากไปกว่านั้น ในปี 2020 นายกฯ อีดัลโกเคยประกาศว่าจะสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้กับกรุงปารีส ด้วยเป้าหมายปลูกต้นไม้ให้ได้ 170,000 ต้น โดยในช่วงฤดูร้อนปี 2023 สำนักงานเทศมนตรีปารีสเปิดเผยว่า ได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 63,500 ต้น
ไม่เพียงเท่านั้น นายกเทศมนตรีปารีสยังเคยยืนยันว่าจะปลูก ‘ป่าในเมือง’ (Urban Forests) ทั้งหมด 4 แห่ง ใกล้กับแลนด์มาร์กสำคัญๆ เช่น ด้านหน้าศาลาว่าการกรุงปารีส และด้านหลังโรงละครโอเปร่าการ์นีเยร์ (Opéra Garnier)
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2004 – 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่อีดัลโกดำรงตำแหน่งนายกฯ ปารีสสมัยแรก เขาทำให้เมืองปารีสลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 20 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นายกฯ อีดัลโกไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่มีนโยบายลดมลพิษและสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่กรุงปารีสได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมานานหลายทศวรรษแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของฝรั่งเศส
ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นแค่ความพยายามบางส่วนของการเปลี่ยนกรุงปารีสให้กลายเป็นเมือง 15 นาที
มากไปกว่านั้น ปารีสเองก็ยังคงเป็นเมืองที่วุ่นวายและยังไม่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข เช่น ความสะอาดของเมือง ค่าครองชีพ อาชญากรรม มลพิษทางอากาศ ฯลฯ
ถึงอย่างนั้น การโอบรับแนวคิดเมือง 15 นาที และความตั้งใจที่จะผลักดันเมืองในฝันให้เกิดขึ้นจริง ได้ทำให้กรุงปารีสกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองต้นแบบที่อยากให้คนเข้าใกล้ความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
Sources :
Fast Company | shorturl.at/OScAW
Forbes | shorturl.at/DpG0F
Lonely Planet | shorturl.at/zmvYs
MOTION Magazine | shorturl.at/4Aj7W
Paris Secret | shorturl.at/EBTxG
Politico | rb.gy/d5q42r
The Guardian | rb.gy/oothsu
Time Out | rb.gy/fabtds
Transformative Urban Mobility Initiative | rb.gy/2yr43q
World Resources Institute | shorturl.at/79e3n