“อยากให้พระเอกของงานคือร้านดอกไม้ในตลาด ส่วนผลงานเป็นเพียงพระรองที่จะทำให้การเดินตลาดรู้สึกสนุกขึ้น”
เพราะต้องการให้ปากคลองตลาดกลับมาคึกคักเหมือนในอดีต หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดจนตลาดดอกไม้ซบเซา ทำให้ ‘หน่อง-ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมมือกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ก้าวขึ้นเป็นแม่งานประจำย่านปากคลองตลาดเป็นครั้งแรกกับงาน ‘ปากคลอง Pop-Up’ กิจกรรมหนึ่งใน Bangkok Design Week 2023 ของปีนี้ ในธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’
ภายในงานประกอบไปด้วยโปรเจกต์และกิจกรรมจากนักสร้างสรรค์และคนในพื้นที่ที่กระจายครอบคลุมทั่วทั้งย่านปากคลองตลาด แบบที่เดินเชื่อมกันได้ตั้งแต่ลง MRT สนามไชย ผ่านยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค ไปยังอาคารไปรษณียาคาร ก่อนจะวนกลับมาทางถนนจักรเพชร ในระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร
‘ปากคลอง Pop-Up’ จัดแสดงวันนี้ – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. โดยประมาณ และจะมีบางกิจกรรมที่เปิดเฉพาะช่วงเย็น Urban Creature เลยขอนำเส้นทางนิทรรศการจากคำแนะนำของอาจารย์หน่องมาฝากทุกคน จะได้ไม่พลาดจุดน่าสนใจภายในงานกัน
ดูรายละเอียดงานในย่านปากคลองตลาดได้ที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023/program?nbh=50632
Pop-up Blossom : PakKhlong-Inspired Installation
by ARCH SU
เริ่มที่จุดแรกกับ ‘Pop-up Blossom : PakKhlong-Inspired Installation’ ผลงานศิลปะของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งใกล้กับ Information Center ของ CEA ข้างโรงเรียนราชินี และติดกับ MRT สนามไชย
ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจจากย่านปากคลองตลาดในมิติต่างๆ ทั้งยังเป็นการตั้งคำถามถึงความคิดเกี่ยวกับตลาดดอกไม้ในรูปแบบเดิม เพื่อสะท้อนออกมาเป็นงานออกแบบที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นถิ่นที่ (Sense of Place) ที่อยากชวนทุกคนให้มาสัมผัสกับงานทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพราะแม้จะเป็นงานเดียวกัน แต่ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
Electronic Floral
by XD49
จากนั้นเดินข้ามสะพานจากงาน Pop-up Blossom : PakKhlong-Inspired Installation มาทาง ‘ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค’ เพื่อเข้าสู่ตลาดยอดพิมาน มองหาบันไดเดินขึ้นสู่ชั้นลอยที่แม้จะหายากไปสักหน่อย แต่ขึ้นไปแล้วไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
‘Electronic Floral’ เป็นผลงานการออกแบบโดยกลุ่ม XD49 โดยรวมเอาดอกไม้ทุกชนิดที่มีการบันทึกไว้ของปากคลองตลาดมาจัดแสดงในแจกันอิเล็กทรอนิก ทำให้ดอกไม้เหล่านี้คงสถานะเหนือกาลเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความสำคัญของปากคลองตลาดที่อยู่กับช่วงชีวิตคนไทยมาเป็นเวลานาน
ความพิเศษที่มากกว่านั้นคือ กิมมิกของ Interactive Screen ของตัวแจกันอิเล็กทรอนิก ที่จะทำให้ทุกการขยับตัวของเราบนจุดมาร์กที่กำหนด ส่งผลให้ภาพดอกไม้กว่า 50 ชนิดข้างในแจกันขยับไปในทิศทางที่ต้องการด้วย
Interactive Flower Experience
by 27 June Studio (ระบายสีดอกไม้)
‘Interactive Flower Experience’ โดย ‘27 June Studio’ เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่แม้ต้องเดินไกลจากตลาดยอดพิมาน ลัดเลาะมาทางสะพานพุทธที่เต็มไปด้วยอุปสรรคของพื้นที่บ้างในระหว่างเดิน แต่ก็เป็นไปตามความตั้งใจของผู้จัดงานที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้รับรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างเมืองในบริเวณปากคลองตลาด ก่อนจะไปถึงจุดแสดงงานบริเวณอาคารไปรษณียาคารเป็นจุดถัดไป
เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณพื้นที่จัดงาน จะพบกับลวดลายดอกไม้บนผนังอาคารจากฝีมือเหล่าผู้มาเยือน โดยใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ ก็ร่วมสร้างสีสันให้ปากคลองตลาดได้ง่ายๆ แค่ระบายสีดอกไม้ และใช้เครื่องสแกนเพื่อส่งผลงานดอกไม้ของตัวเองขึ้นไปโลดแล่นบนผนังอาคาร เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี AR
Interactive Flower Experience
by 27 June Studio (ทุ่งดอกไม้ใต้สะพาน)
ผลงานอีกหนึ่งชิ้นภายใต้ชื่อ ‘Interactive Flower Experience’ คือทุ่งดอกไม้ใต้สะพาน บริเวณอาคารไปรษณียาคาร ที่ใช้ลักษณะพิเศษของเทคโนโลยี AR ได้อย่างเกิดประโยชน์ไม่แพ้กิจกรรมระบายสีดอกไม้
ในโซนนี้ 27 June Studio ได้นำแนวคิด Interactive Floor ที่เมื่อมีผู้คนเดินเข้ามายังพื้นที่ ทุกย่างก้าวที่เดินจะก่อให้เกิดเป็นดอกไม้เล็กๆ บริเวณเท้า ยิ่งมีคนมามากเท่าไหร่ ดอกไม้ก็ยิ่งบานสะพรั่งมากเท่านั้น เหมือนเป็นการคืนความสดใสให้กับพื้นที่ใต้สะพานที่ถูกลืมเลือนมาเป็นเวลานาน
Tango Trio
by PHKA Studio
ถัดออกมาอีกนิดจากใต้สะพานบริเวณอาคารไปรษณียาคารคือ ‘Tango Trio’ ผลงานการออกแบบของ ‘PHKA Studio’ ภายใต้ Pop-up Blossom : Flower-Inspired Installation ชิ้นงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้ ซึ่งไม่ได้มีแค่หนึ่งแต่มีถึงสามชิ้นที่กระจายอยู่ทั่วทั้งงาน ได้แก่ บริเวณแยกถนนจักรเพชรตัดกับถนนบ้านหม้อ ชั้น 1 กลางตลาดยอดพิมาน และพื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า ข้างไปรษณียาคารแห่งนี้
โดยทั้ง 3 ผลงานศิลปะจะพาเราย้อนกลับไปสำรวจขอบเขตของย่านปากคลองตลาด ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างงานทั้ง 3 ชิ้นด้วยกันเองกับบริบทพื้นที่โดยรอบของมัน ทั้งที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มีการวางแผน หรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างตั้งใจ ผ่านการใช้วัสดุธรรมชาติและวัสดุอุตสาหกรรมที่นำมาจัดวางในท่าทางเฉพาะตัว
ครั้งนี้เราหยิบเอาผลงานชิ้นที่ 3 มาให้ชมกันเป็นน้ำจิ้ม ส่วนอีก 2 ชิ้นจะเป็นอย่างไร ลองไปเดินตามหากันในงานดูนะ
Street Photo Exhibition
หลังจากผ่าน 5 นิทรรศการและอินสตอลเลชันมาแล้ว เราขอพาเดินตัดผ่านสวนสาธารณะมายังถนนจักรเพชรที่เป็นจุดสุดท้ายของงาน กับนิทรรศการภาพถ่าย ‘Street Photo Exhibition’ บริเวณทางเท้าหน้าร้านขายดอกไม้ที่ประชันความสวยงามกันผ่านการตกแต่งหน้าร้าน รับไปกับกิจกรรมปากคลอง Pop-Up ครั้งนี้
Street Photo Exhibition ประกอบไปด้วยผลงานภาพถ่าย 3 ชุด ที่เล่าถึงตลาดดอกไม้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
- Pause / Continue : Street Photo Exhibition from the Insider : ชุดภาพถ่ายบรรยากาศปากคลองตลาดในช่วงวิกฤตโรคระบาดของ ‘ก๊อปแก๊ป-สุเมธ บุญส่ง’ พนักงานขายกุหลาบในปากคลองที่มีงานอดิเรกและอาชีพเสริมคือการเป็นช่างภาพ
- A Tale of Two Flower Markets : กรุงเทพฯ-ลอนดอน : นิทรรศการภาพถ่ายจากสองตลาดดอกไม้ นั่นคือ ตลาดปากคลอง และ Columbia Road Sunday Flower Market ที่กรุงลอนดอน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน ผู้ค้า เปรียบเสมือนบทสนทนาของตลาดพี่สาวน้องสาวในโลกคู่ขนาน
- Human Craft Market : ภาพถ่ายที่บอกเล่าความเป็นปากคลองตลาดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและทักษะของผู้คน โดย ‘นุ้ย-ศศมน รัตนาลังการ’ ช่างภาพหนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Humans of Flower Market หรือ มนุษย์ปากคลองฯ
ก่อนเดินทางกลับ ภายในถนนจักรเพชรยังมีจุดเล็กๆ ที่จัดทำโดยอาจารย์หน่องและเพจ Humans of Flower Market ให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปากคลองตลาด และทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการจัดงาน
นอกจากนี้ ถ้าในระหว่างเดินชมงานในปากคลองตลาดแล้วเกิดถูกอกถูกใจดอกไม้ของร้านไหนจนซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ก็อย่าลืมมารับของที่ระลึกเป็นสติกเกอร์ ‘น้องมาลัย’ มาสคอตประจำงาน และช่อดอกไม้แห้งสุดน่ารักจากฝีมือแม่ค้าในตลาดด้วย
ดูรายละเอียดของสถานที่ภายในงานเพิ่มเติมได้ที่ maps.app.goo.gl/nRAWYJWakyqcMGJ98?g_st=il หรือทางเฟซบุ๊กเพจ Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ