ภัยจากโลกออนไลน์อาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
แม้จะผ่านวันส่งเสริมความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ หรือ Thailand Safer Internet Day มาแล้วในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่ไม่ว่าวันไหน เราต่างก็พบเจอภัยบนโลกออนไลน์ได้เสมอ
เพราะยิ่งมีอัตราการใช้งาน Online Platform สูงมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพบว่ามีรายงานการเกิดภัยคุกคามทางเพศออนไลน์สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ทำให้แม้เราจะคุ้นเคยกับการใช้งาน Online มากแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกันก็ควรต้องมีสติ อย่ารีบไว้ใจ และสงสัยไว้ก่อนเสมอ
และเพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก ทาง UNICEF มีความตั้งใจจะทำหน้าที่เป็นช่องทางหลักที่ช่วยแบ่งปันความรู้การใช้อินเทอร์เน็ตให้ทุกคนได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ เพราะหลายครั้ง การไม่สงสัยอาจนำไปสู่การเป็นภัยคุกคามทางเพศออนไลน์ที่เรียกว่า ‘Sextortion’ ได้ เนื่องจากคนร้ายที่อาจเป็นใครก็ได้ ล้วนมีสารพัดวิธีในการล่อลวงให้เราทำตาม
#สงสัยไว้ก่อน ปลอดภัยมากขึ้น
หลายคนอาจมองว่า ‘การขู่กรรโชกทางเพศ’ หรือ ‘Sextortion’ เป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด เพราะคนร้ายอาจเป็นใครก็ได้ และมีสารพัดวิธีในการเข้าหาเรา นอกจากนี้ การกระทำใดๆ ของเราบนโลกออนไลน์ ทั้งการค้นหา โพสต์ อัปโหลด แชร์ หรือแม้กระทั่งการคลิกถูกใจบนโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นการสร้าง ‘รอยเท้าดิจิทัล’ (Digital Footprint) ที่อาจมีคนประสงค์ร้ายนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
และหลายครั้ง Sextortion ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างคำว่า Sex ที่หมายถึง เพศ และ Extortion ที่หมายถึงการขู่เข็ญหรือการบีบบังคับ จึงเป็นเหตุการณ์ที่คนร้ายนำสื่อเนื้อหาทางเพศของผู้เสียหายมาใช้แบล็กเมลหรือข่มขู่ โดยมักเริ่มต้นจาก 3 เหตุการณ์ ได้แก่ Online Grooming, Scam และ Self-generated Sexual Materials
Online Grooming คือการที่คนร้ายเข้าหาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ผ่านออนไลน์ จนเราเกิดความไว้วางใจ ก่อนจะขอหรือล่อลวงให้เราส่งหรือผลิตภาพและวิดีโอที่ล่อแหลม โดยแอบบันทึกสื่อเหล่านี้ไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว
Scam คือการหลอกลวงที่มาในรูปแบบของการเสนองานรายได้ดี หรือทำทีเข้าหามาตีสนิทที่มักจะนำไปสู่ขั้นตอนการล่อลวง หรือใช้ข้ออ้างให้เราถ่ายภาพหรือวิดีโอในลักษณะเปิดเผยเนื้อตัวส่งไปให้
รวมไปถึงบางครั้งการที่เราผลิตภาพหรือคลิปวาบหวิวด้วยตัวเอง หรือ Self-generated Sexual Materials ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน หรือเกิดจากการถูกกดดันให้ผลิตจากเพื่อนๆ หรือคนรอบข้าง ก็อาจเป็นภัยตามมาได้เช่นกัน เพราะเมื่อไรก็ตามที่ภาพและวิดีโอเหล่านั้นตกอยู่ในมือคนร้าย สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ข่มขู่ บังคับควบคุมให้เราทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีถ้าเราจะมีความระมัดระวังในการแชร์ภาพที่ไม่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการแชร์เรื่องส่วนตัวที่มากจนเกินไป เพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายได้
ตัดวงจร Sextortion #สงสัยให้แจ้ง
แล้วพฤติกรรมแบบไหนล่ะที่เราควร ‘เอ๊ะ’
งานนี้ UNICEF เขาเลยรวบรวมพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าอาจนำไปสู่ Sextortion ไว้ดังนี้
1) ใช้คำชื่นชม ยกย่อง เพื่อแสดงออกถึงความสนใจจนผิดสังเกตจากคนที่เราไม่รู้จัก
2) พยายามแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว เพื่อให้เราไว้ใจและเผยเรื่องส่วนตัวของเรามากขึ้น
3) ค่อยๆ เปลี่ยนจากบทสนทนาทั่วไป มาพูดถึงส่วนต่างๆ ในร่างกายเรา และเริ่มพูดไปในเชิงล่อแหลมหรือลามกอนาจาร
4) ให้ของขวัญหรือเสนอสิ่งล่อใจ
5) บังคับ ชักชวน ล่อลวงให้ย้ายไปคุยในแอปพลิเคชันแชตส่วนตัว
6) ชักจูงหรือบีบบังคับให้ผลิตรูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่วาบหวิวของตัวเอง
หากการพูดคุยบนโลกออนไลน์ของคุณมีเช็กลิสต์ตามนี้ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หนึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการบอกคนรอบข้างที่ไว้ใจ และแจ้งเบาะแสไปยังช่องทางต่างๆ
เพราะการขู่กรรโชกหรือแสวงประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและมีโทษปรับและจำคุกตั้งแต่ 3 – 7 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา
ถ้าสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวถูกขู่กรรโชก แสวงประโยชน์ทางเพศ แจ้งเหตุได้ตามช่องทางต่อไปนี้
– สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม
– แอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน
– สายด่วนดีเอสไอ 1202 หรือเว็บไซต์ www.dsi.go.th/th/Eservice/complaint
– สายด่วน 1441 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
– ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)
– แชตบอต MySis
– เว็บไซต์ Thai Hotline www.thaihotline.org
– สายด่วนมูลนิธิสายเด็ก 1387 หรือเว็บไซต์ www.childlinethailand.org
– เว็บไซต์ The HUG Project www.hugproject.org
รวมไปถึงเว็บไซต์ Take it Down (takeitdown.ncmec.org/th) บริการฟรีที่ช่วยลบหรือหยุดการแชร์รูปหรือวิดีโอออนไลน์ที่เปิดเผยร่างกายของคุณ ซึ่งถ่ายไว้ขณะอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนหรือแชร์เนื้อหาใดๆ ในการใช้บริการ
สร้างภูมิคุ้มกัน รู้ทัน ป้องกัน ตั้งแต่เด็ก
ไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่หยุดวงจร Sextortion ได้ แต่ผู้ใหญ่และครอบครัวต่างเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยปลูกฝังให้ความรู้เรื่องภัยร้ายจากโลกออนไลน์ ที่จะช่วยให้เด็กรู้ทันการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์และป้องกันได้ตั้งแต่เด็ก
ไม่ว่าจะเป็นการสอนเด็กให้รู้จักร่างกายและอวัยวะสงวนที่ไม่ควรมีใครมาขอดูหรือสัมผัส หรือแม้แต่ตัวเด็กเองที่ก็ไม่ควรสัมผัสอวัยวะส่วนตัวของเด็กคนอื่นเช่นกัน รวมไปถึงไม่ควรให้ใครเห็นร่างกายได้ง่ายๆ แม้กระทั่งคนใกล้ชิด เพราะคนร้ายอาจแฝงมาจากคนใกล้ตัว
ผู้ใหญ่จึงควรสอนเด็กให้เข้าใจว่าคนร้ายอาจเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าคนแปลกหน้าหรือคนใกล้ตัว และหากมีใครเข้ามาแล้วหลอกล่อด้วยสิ่งล่อใจ ควรปฏิเสธ หยุดพูดคุย หรือเดินหนีทันที
นอกจากนี้ยังควรสอนให้เด็กรู้จักกับเรื่องความยินยอม (Consent Education) ว่าหากมีใครสัมผัสร่างกายแล้วรู้สึกไม่ชอบ หรือขอให้เปิดเผยร่างกาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ ยืนหยัด และให้ความสำคัญกับความสบายใจของตัวเองได้
ที่สำคัญ พ่อแม่และเด็กต้องคำนึงเสมอว่า การกระทำบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ล้วนแล้วแต่กลายเป็น Digital Footprint ที่จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลที่ตามมาของการกระทำในอนาคต เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ และนำไปสู่ Sextortion ได้ด้วยเช่นกัน