การจัดงานโอลิมปิกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฟังแล้วช่างเหนือจริง
เพราะงานโอลิมปิกคือมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มีการแข่งขันเกิดขึ้นกว่าหลายร้อยรายการ มีนักกีฬาเข้าร่วมหลักหมื่น มีผู้ชมมาเกาะติดขอบสนามกันหลักล้าน การจัดงานระดับยักษ์แบบนี้ หลีกหนีไม่พ้นต้องเผาผลาญทรัพยากรมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับมวลมหาประชาชนที่หลั่งไหลมา
แต่เพราะวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน การหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมเลยเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป
เมื่อปารีสได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2024 เมืองน้ำหอมจึงตั้งปณิธานว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นโอลิมปิกที่เป็นมิตรกับโลกที่สุด
มีการประเมินไว้ว่า งานโอลิมปิกในกรุงรีโอเดจาเนโร ปี 2016 และกรุงลอนดอน ปี 2012 ปล่อยคาร์บอนออกมากว่า 3.5 ล้านตัน สำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ ปารีสตั้งเป้าสุดทะเยอทะยานไว้ว่าจะหั่นตัวเลขเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง คือ 1.75 ล้านตัน น้อยกว่างานโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวซึ่งจัดในช่วงล็อกดาวน์ และปล่อยก๊าซออกมา 1.9 ล้านตันเสียด้วยซ้ำ
งานนี้ปารีสพร้อมเดินเกมทุกวิถีทาง ตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างการก่อสร้าง การเดินทาง ไปจนถึงเรื่องเล็กอย่างอาหารการกิน มาเรียนรู้ไปด้วยกันว่าปารีสวางแผนไว้อย่างไร เพื่อพิชิตเส้นชัยการเป็นโอลิมปิกที่รักษ์โลกที่สุด
ไม่เน้นสร้างใหม่ เน้นใช้สถานที่เดิม
95 เปอร์เซ็นต์ของการแข่งขันโอลิมปิกทั้งหมดจะจัดขึ้นในสนามกีฬาที่มีอยู่เดิม หรือในแลนด์มาร์กของเมืองที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ เช่น กีฬาฟันดาบและเทควันโด ที่จะประชันกันในอาคาร Grand Palais ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 1897 หรือกีฬาขี่ม้า ปัญจกีฬา ที่จะเปิดฉากในพระราชวังแวร์ซาย
มีสนามกีฬาถาวรเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่สร้างขึ้นมาใหม่ คือ ‘The Aquatics Centre’ ซึ่งตัวอาคารก่อสร้างโดยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เฟอร์นิเจอร์ด้านในทำจากวัสดุรีไซเคิล โครงสร้างไม้ของอาคารออกแบบเป็นทรงเว้า ช่วยลดปริมาณอากาศที่ต้องทำความร้อนในอาคารลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตรบนหลังคาอาคาร เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน
นอกจากสนามกีฬา ก็มีการสร้างโครงสร้างถาวรเพิ่มขึ้นอีกแค่ 2 แห่งเท่านั้น ได้แก่ ‘The Media Village’ สถานที่พักสำหรับสื่อมวลชน และ ‘Athlete’s Village’ หมู่บ้านนักกีฬา ทั้งสองแห่งสร้างด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ เช่น เฟรมโครงสร้างไม้ คอนกรีตคาร์บอนต่ำ และวัสดุรีไซเคิลเหมือนกัน พร้อมมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในอาคาร
ไม่ต้องเดินทางไกล ลดใช้พลังงาน
สนามกีฬาทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้โดยขนส่งสาธารณะ โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสนามกีฬาทั้งหมดอยู่ภายในรัศมี 10 กิโลเมตรของหมู่บ้านนักกีฬา ทุกคนสามารถเดินทางไปสนามแข่งขันได้ภายใน 30 นาที ลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทาง
มากไปกว่านั้น เมืองปารีสยังส่งเสริมให้คนเลือกเดินทางด้วยจักรยาน ด้วยการเพิ่มจักรยานเช่ากว่า 3,000 คัน และปรับปรุงถนนให้มีเลนจักรยานเพิ่มเติม ในระยะทางรวมกันกว่า 400 กิโลเมตร
ไม่ใช้ของทิ้งขว้าง เลือกใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
งานโอลิมปิกเน้นการใช้ข้าวของเครื่องใช้อย่างเต็นท์กันแดด คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์กีฬาอย่างคุ้มค่า หรือกระทั่งใช้งานร่วมกัน ทำให้ลดจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องใช้จาก 800,000 ชิ้น เหลือ 600,000 ชิ้น และหลังแข่งขันเสร็จ 90 เปอร์เซ็นต์ของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จะถูกส่งต่อไปให้องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ใช้ต่อ
หากให้เจาะรายละเอียดมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างเก้าอี้ในสนามกีฬา The Porte de la Chapelle Arena หรือศูนย์กีฬาทางน้ำใน Saint-Denis ที่ทำมาจากขยะพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตของขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกันกับวัสดุพื้นในสนามกีฬา เช่น แฮนด์บอล วอลเลย์บอล หรือผ้าปูเตียงของเตียงนอนนักกีฬา ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้
นอกจากนี้ Athlete’s Village หรือหมู่บ้านนักกีฬาจะไม่ถูกทิ้งร้างเมื่อการแข่งขันปิดฉาก เพราะหมู่บ้านจะกลายเป็นที่พักอาศัยสำหรับคนกว่า 6,000 คน มีพื้นที่สำหรับร้านอาหารและร้านค้าในอนาคต ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับย่าน และเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์
ส่วน The Aquatics Centre จะเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์กีฬาทางน้ำให้กับผู้คนในย่าน Seine-Saint-Denis ซึ่งเป็นย่านที่เด็กอายุ 11 ปีกว่าครึ่งหนึ่งว่ายน้ำไม่เป็น
ไม่ใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง กินอาหารรักษ์โลก
สำหรับการจัดเลี้ยง มีการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งลงไป 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปี 2012 แล้วหันไปใช้ภาชนะที่นำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้
ส่วนอาหารที่เสิร์ฟในมหกรรมกีฬามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นอาหารแบบ Plant-based ซึ่งมีคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยลงกว่ากึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับมื้ออาหารฝรั่งเศสปกติ วัตถุดิบที่เลือกใช้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นวัตถุดิบภายในฝรั่งเศส ลดการปล่อยก๊าซจากการขนส่ง
การแข่งขันยังไม่ดีพอ ขอมากกว่านี้
ใช่ว่าแผนการจัดงานโอลิมปิกปารีส 2024 ให้รักษ์โลกจะลอยตัวเหนือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะ Carbon Market Watch องค์กรวิจัยด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมบอกว่า แม้ความพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของงานจะน่าชื่นชม แต่มันอาจไม่เพียงพอกับโลกที่เดือดขึ้นในทุกวันนี้
อีกมุมที่คนอาจลืมนึกถึงคือ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนในโอลิมปิกพุ่งกระฉูด ยกตัวอย่าง การเดินทางด้วยการบิน ซึ่งยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าไหร่ในยุทธศาสตร์ความยั่งยืน
Carbon Market Watch เสนอว่า การจัดงานโอลิมปิกอาจต้องคิดโมเดลใหม่ เป็นการกระจายสถานที่แข่งกีฬาตามเมืองต่างๆ ของโลก เพื่อลดการเดินทางของนักกีฬา เช่น กระจายไปแข่งกรีฑาที่ Mexico City แข่งกีฬาทางน้ำที่ Buenos Aires แข่งกีฬาต่อสู้ที่ Seoul เป็นต้น
Carbon Market Watch ยังบอกอีกด้วยว่า งานโอลิมปิกครั้งนี้อาจเป็นที่ฟอกเขียวของสปอนเซอร์บางเจ้าที่ปากบอกรักษ์โลก แต่ความจริงกลับสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล การตัดหางปล่อยวัดสปอนเซอร์ที่ผลิตสินค้าทำลายโลก แล้วมาโอบอุ้มเจ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้คนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะพาโอลิมปิกไปเป็นมหกรรมกีฬาที่ยั่งยืนในที่สุด
ถึงจะพูดไม่ได้ว่าโอลิมปิก กรุงปารีส 2024 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์แบบ แต่แผนพิชิตความกรีนของโอลิมปิกครั้งนี้ก็ถือเป็นต้นแบบที่ดีให้โอลิมปิกในอนาคตใช้พัฒนาต่อยอด ห้ำหั่นทุบสถิติต่อไปว่าใครจะกรีนมากกว่ากัน เพื่อให้ในที่สุด โลกจะได้ปล่อยให้มนุษย์เดือดดาลกับการแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีอุณหภูมิพุ่งสูงหรือสภาพอากาศปั่นป่วนเหนือการคาดเดามาให้เดือดร้อนอีกต่อไป
Sources :
Carbon Market Watch | shorturl.at/u7ox3
Euronews | shorturl.at/os1Ml, shorturl.at/EvnyU
Olympics | shorturl.at/xuaBx, shorturl.at/WTLLL
Paris 2024 | t.ly/DVhaS
World Economic Forum | t.ly/kU6yx