ทางเท้ากรุงเทพฯ ทำไมถึงไม่มีทางเดินดีๆ - Urban Creature

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับปรุงทางเท้าใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงยังมีการปรับทัศนียภาพทางเท้าบางจุดที่เคยถูกบุกรุกพื้นที่ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่รู้สึกว่ากรุงเทพฯ น่าเดินเล่นชิลๆ อยู่ดี

บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากสภาพทางเท้าอย่างเดียว เพราะต่อให้ทางเดินเรียบขนาดไหน แต่ถ้ายังต้องคอยระแวงหลบสิ่งกีดขวางอยู่ประจำก็คงไม่สบอารมณ์นัก ยังไม่นับบรรยากาศรอบข้างที่ไม่เอื้อให้รู้สึกอยากเดินเสพบรรยากาศไปเรื่อยๆ ทั้งที่กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวระดับโลกแท้ๆ ทำไมเราถึงเดินเดตกันแบบเมืองปารีสหรือกรุงโซลไม่ได้

คอลัมน์ Curiocity ขอชวนมาเดินส่องหาสาเหตุกันว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถเอนจอยกับการเดินทางเท้ากรุงเทพฯ ได้เสียที

ทางเท้า ทางเท้ากรุงเทพฯ ทางเดิน walkable city ฟุตปาธ เดินเล่น

ปรับปรุงสภาพแต่ไม่ขยายขนาด ก็ไม่อาจทำให้ทางเท้าน่าเดินได้

ปัจจุบัน กทม.ทยอยปรับปรุงทางเท้าในกรุงเทพฯ หลายจุดทั่วเมืองตามโครงการปรับปรุงทางเท้า 1,000 กิโลเมตร แต่เนื่องจากระยะเวลาที่มีจำกัดและปัญหาอื่นที่ยังรุมเร้า คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในกรุงเทพฯ ยังมีทางเท้าอีกหลายจุดที่สภาพไม่ดีนัก โดยเฉพาะบริเวณชานเมืองและพื้นที่ที่ไกลออกไป ภาพจำของทางเท้าที่ขรุขระและสมบุกสมบันจึงยังไม่ถูกลบหายไปง่ายๆ

และต่อให้เป็นทางเท้าที่ปรับปรุงแล้วก็ยังไม่วายมี ‘อุปสรรค’ มากีดขวางให้ผู้คนไม่สามารถเดินตรงๆ สบายๆ ยกตัวอย่าง เสาไฟฟ้า สะพานลอย ต้นไม้ที่ขนาดใหญ่เกินครึ่งของทางเท้า กระทั่งอากาศร้อนจัดเพราะไม่มีร่มเงาใดๆ ช่วยบดบังแสงแดด แม้บางพื้นที่มีตึกแถวเป็นร่มเงา ก็ดันมีน้ำไม่พึงประสงค์ที่หยดลงมาจากตึกแถวจนต้องเดินหลบกันจ้าละหวั่น แต่ที่หนักสุดคงเป็นขนาดทางเท้าที่ไม่สามารถขยับขยายไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว

เนื่องจากการปรับปรุงทางเท้าที่กล่าวมามักเป็นการ ‘ปรับปรุง’ พื้นผิวทางเท้าอย่างเดียว ไม่ได้ขยายทางเดินให้กว้างขึ้นแต่อย่างใด มากไปกว่านั้น บางพื้นที่ยังปาดทางเท้าให้กลายเป็นถนนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาทางเท้าแคบจึงไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนพื้นที่ที่เคยมีทางเท้ากว้างก็อาจจะแคบลงไปเรื่อยๆ ซ้ำร้ายถนนบางเส้นไม่มีทางเท้าให้เดินเลยแม้แต่เซนติเมตรเดียว

ทางเท้า ทางเท้ากรุงเทพฯ ทางเดิน walkable city ฟุตปาธ เดินเล่น

อยากปรับปรุงเหมือนกัน แต่เหมือนหน่วยงานอื่นจะไม่เข้าใจ

ข้อจำกัดหลักที่ทำให้ทางเท้ายังมีอุปสรรคจนไม่สามารถเดินผ่านได้สะดวก ไม่ได้มีที่มาซับซ้อนมากนัก นอกจากเจ้าของโครงสร้างบนทางเท้าที่มีหลากหลายหน่วยงานรับผิดชอบเหลือเกิน

แม้ทางเท้าส่วนมากจะอยู่ในความรับผิดชอบโดย กทม. แต่เมื่อเจาะดูรายละเอียดลึกขึ้นแล้ว บนทางเท้ายังมีโครงสร้างที่ได้รับการดูแลโดยหน่วยงานอื่นอีก เช่น เสาไฟฟ้า ฝาท่อที่ภายนอกดูเหมือนว่ามีการใช้งานที่แตกต่างและเจ้าของหลายหน่วยงาน ส่งผลให้เมื่อมีการปรับปรุงที่กระทบกับโครงสร้างของหน่วยงานอื่น จะต้องมีการประสานงานข้ามหน่วยงานไปมา ถ้าหน่วยงานอื่นไม่ให้ความร่วมมือ กทม.ก็ไม่อาจรุกล้ำได้

นอกจากนี้ กทม.ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทางเท้าทุกจุดในกรุงเทพฯ เนื่องจากปัจจุบันถนนหลายเส้นในกรุงเทพฯ ยังคงรับผิดชอบโดยกรมทางหลวงอยู่ หรือถนนบางเส้นก็อยู่ในพื้นที่ของเอกชน ส่งผลให้ กทม.ไม่มีอำนาจปรับปรุงทางเท้าบนถนนทุกเส้นในกรุงเทพฯ ตามไปด้วย

ความจุกจิกของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมบนทางเท้าก็เรื่องหนึ่ง แต่การออกแบบที่ไม่เอื้อให้คนเดินได้สะดวกตั้งแต่แรกก็เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองไม่มีทางเท้าที่เดินดี

อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยออกแบบเมืองด้วยแนวคิด Car-centric ที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นหลัก ประเด็นสำคัญในการออกแบบจึงไม่ใช่ ‘จะทำให้คนเดินสะดวกอย่างไร’ แต่เป็น ‘จะทำอย่างไรให้รถระบายเร็วที่สุด’ แนวคิดแบบนี้นำมาสู่การที่พื้นที่ทางเท้าถูกเจียดออกไปเรื่อยๆ เพื่อขยายถนนให้รถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น

กรณีล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณแยกราชเทวีมีการปาดทางเท้าออกและขยายถนนเพื่อแก้ปัญหารถติดจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา มักไม่มีการคืนพื้นที่ทางเท้าให้หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น เมื่อแค่ทางเท้ายังมีปัญหาบั่นทอนขนาดนี้ แนวคิดอื่นๆ ที่ไกลขึ้นไปอีกอย่างการทำถนนคนเดินให้คนเดินสวนกันไปมา สร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ นั้นแทบต้องพับเก็บไปเลย

ทางเท้า ทางเท้ากรุงเทพฯ ทางเดิน walkable city ฟุตปาธ เดินเล่น

ไม่มีวิธีไหนทำให้เข้าใจปัญหาเท่า ‘ไปเดินเอง’

เมืองจะเดินได้ดีย่อมต้องจัดสรรพื้นที่ให้น่าเดินก่อน การเห็นทางเท้าในเมืองทยอยได้รับการปรับปรุงหลังจากที่ไม่ถูกเห็นความสำคัญมาเป็นเวลานาน ถือเป็นก้าวหนึ่งที่ดูมีความหวังขึ้น แต่ด้วยปัญหาอื่นที่ยังทำให้ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าทางเท้ากรุงเทพฯ ดีแล้ว วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคงต้องย้อนกลับไปยังโครงสร้างของปัญหานั้น

ตามที่กล่าวไปว่า โครงสร้างบนทางเท้ากรุงเทพฯ ยังกระจัดกระจายกันตามการดูแลของแต่ละหน่วยงาน ต้องเสียเวลาประสานงานไปมา บางครั้งการจัดสรรให้หน่วยงานที่ดูแลเมืองอย่าง กทม.เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่เบ็ดเสร็จ อาจช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัวขึ้นและไม่ต้องมีปัญหาประสานงานไม่ลงตัวอย่างปัจจุบัน

นอกจากเรื่องความจุกจิกของจำนวนหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว อีกวิธีแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องพื้นฐานแต่กลับไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนทำคือ ‘การไปใช้งานด้วยตัวเอง’

ที่ผ่านมาเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ในเมือง มักมีประโยคคลาสสิกที่อธิบายปัญหาไว้ว่า ‘คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด’ อยู่เสมอซึ่งคงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะกับปัญหาโครงสร้างในเมืองที่ถ้าขับรถผ่านทุกวันแต่ไม่ลงมาเดินดูด้วยตัวเองก็ไม่มีทางสัมผัสปัญหาได้เท่าคนที่ใช้งานจริงๆ

เรื่องนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อขยายความจากปัญหาเรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงสร้างบนทางเท้า เพราะต่อให้หน่วยงานที่ปรับปรุงทางเท้าจะรับรู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถ้าโครงสร้างภายใต้หน่วยงานอื่นบนทางเท้ายังคงขัดขวางการปรับปรุงและไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่อให้ปรับปรุงพื้นทางเท้าดีแค่ไหน แต่ประสบการณ์การเดินที่ยังไม่ราบรื่นเพราะต้องคอยหลบนั่นหลบนี่ ทางเท้าก็ไม่มีทางเป็นทางเท้าอย่างแท้จริง

อย่างน้อยที่สุดหากทุกหน่วยงานเข้าใจปัญหาของคนเดินเท้าตรงกัน ก็น่าจะวางแผนหาแนวทางให้โครงสร้างใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่เบียดเบียนทางเท้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้น หรือถ้าเป็นไปได้ เราอาจเห็นการแก้ไขโครงสร้างเดิมที่เคยทำร้ายคนเดินเท้ามาเป็นเวลานานให้เป็นมิตรขึ้นก็เป็นได้

ทางเท้า ทางเท้ากรุงเทพฯ ทางเดิน walkable city ฟุตปาธ เดินเล่น

ถ้าทางเท้าดีแล้ว ทุกอย่างจะดีตามมาเอง

ทางเท้าที่ดีไม่ได้มีความหมายแค่การมีทางให้คนเดินริมถนนในสภาพดี แต่เป็นทางเดินที่เดินแล้วไม่รู้สึกหมดหวังจากปัจจัยภายนอก เช่น ในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน การจะแก้เพนพอยต์นี้ได้คือต้องมีทางเท้าที่ร่มรื่นจากต้นไม้ หรือทางเท้าที่กว้างพอสำหรับปั่นจักรยานเพื่อลดเวลาการเดินทาง

นอกจากนี้ ทางเท้าไม่ได้มีไว้เพื่อสัญจรอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ที่คนในเมืองได้ใช้ชีวิตอีกด้วย ในพื้นที่ที่ทางเท้าได้รับโอกาสให้แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินริมแม่น้ำ ทางเดินริมคลองในโซนเมืองเก่า หรือถนนคนเดินในสยามสแควร์ จะเห็นว่าทางเท้าเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ทำกิจกรรม นันทนาการ และพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายแล้วคงดีไม่น้อยถ้าวันหนึ่งกรุงเทพฯ จะมีทางเท้าดีทั้งเมือง เราอาจมีเส้นทางสำหรับเดินเล่นในเมืองเพลินๆ ที่มองวิวข้างทางได้โดยไม่จำกัดอยู่แค่ถนนเส้นใดเส้นหนึ่ง และยังได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่รักในสถานที่ที่ไม่ซ้ำเดิม ไม่ถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมอย่างห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แค่คิดว่าคนอยากออกจากบ้านมาเดินเล่นเพราะทางเท้าน่าเดิน ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย กรุงเทพฯ ก็กลายเป็นเมืองที่น่ารัก เป็นมิตร และโรแมนติกขึ้นมาแล้ว


Sources : 
The Urbanis by UDDC | shorturl.asia/Bsix, shorturl.asia/a680O
กรุงเทพมหานคร | shorturl.asia/yhSL3

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.