อาจจะจริงอย่างที่เขาว่ากันว่า พอแก่ตัวลงก็เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ทั้งความช้า ความงอแง หรือความคิดอะไรหลายๆ อย่างที่อาจทำให้หวนคิดถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ถึงแม้หลายสิ่งหลายอย่างของเด็กกับผู้สูงวัยจะคล้ายกัน แต่สำหรับพัฒนาการหรือระบบการเรียนรู้นั้นกลับไม่ใช่ เพราะระหว่างเด็กและผู้สูงวัยมีรูปแบบความคิดและพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
วันนี้คอลัมน์ Re-desire ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องพัฒนาการและการคงไว้ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุผ่าน ‘Nifty Elderly’ ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ แบรนด์ที่ขอเข้ามาใส่ใจความเป็นไปและสุขภาวะของผู้สูงอายุให้ละเอียดขึ้น
หลายคนอาจเคยเห็นแบรนด์นี้ผ่านตามาจากงาน Creative Economy Agency (CEA) เพราะเจ้า Nifty Elderly ได้รับรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ประเภทพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม (Creative Social Impact Awards) ในหมวด Creative Well-Being Award โดย ‘สมฤทัย เลิศเทวศิริ’ เจ้าของแบรนด์ และ ‘รศ.พรเทพ เลิศเทวศิริ’ ผู้ออกแบบ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้าง Nifty Elderly ให้เราฟังอย่างอบอุ่น
“ตอนนี้สังคมโลกกำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อยลงมาก ส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาพร้อมกับความเสื่อมถอยในสมรรถนะ เพราะกระบวนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุกับเด็กต่างกัน”
เปรียบเทียบกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันง่ายๆ เป็นภาพของระฆังคว่ำหรือ Bell Curve ที่พัฒนาการของเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโต เหมือนเส้นโค้งที่สูงขึ้นในฝั่งซ้าย ทว่าของผู้สูงอายุกลับอยู่อีกข้างในฝั่งขวา คือได้แต่รอวันให้ถดถอยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกำลังใจและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความตื่นเต้นในการใช้ชีวิตก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง
ของเล่น ของแต่งบ้าน หรือผลิตภัณฑ์ที่จะดำเนินกิจกรรมไปกับชีวิตพวกเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
จากการวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ของเล่น
“ผู้สูงอายุเขาจะเกรงใจ ถามอะไรก็ว่าดี อันนี้ดีไหม ดี ชอบ มีอะไรอยากแก้ไหม ไม่มี เพราะเขาไม่อยากให้เราลำบาก แค่มีคนทำอะไรให้เขา เขาก็ดีใจแล้ว”
เป็นคำตอบว่าในขั้นตอนการผลิตของเล่นเพื่อผู้สูงอายุนี้ อะไรคือความยากและท้าทายที่สุด ซึ่งอาจารย์พรเทพเล่าให้ฟังว่า ขั้นตอนหลักของการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้เริ่มต้นจากการสอบถามผู้สูงอายุ เก็บข้อมูล แล้วนำมาเทียบเคียงกับทฤษฎี Bloom’s Taxonomy ที่พูดถึงการเรียนรู้ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านตรรกะ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเชิงคณิตศาสตร์ การบวกลบคูณหาร, ด้านจินตนาการความรู้สึก และด้านประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ต่างๆ ในร่างกาย ก่อนออกแบบมาเป็นของเล่นที่ตรงกับใจและคงไว้ซึ่งความสามารถในการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ
จากนั้นจึงเลือกวัสดุเพื่อมาทำของเล่น โดยแบรนด์นี้เลือกใช้ MDF หรือ Medium Density Fiber
“MDF คือขี้เลื่อย เกิดจากการบดเศษไม้แล้วนำมาอัดกากเป็นแผ่น ซึ่งมีมาตรฐานสูงมาก ปัจจุบันเขาใช้วัสดุนี้ในการทำเฟอร์นิเจอร์แทนไม้กัน เลยเลือกวัสดุนี้ควบคู่กับการ Laser Cutting เพื่อให้เสียเศษวัสดุน้อยที่สุด และนำมาหมุนเวียนผลิตซ้ำได้”
เมื่อการเล่นเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์
ที่มาของคำว่า ‘ของเล่นของแต่งบ้าน’ เกิดจากการที่อาจารย์พรเทพได้เข้าไปเก็บข้อมูลความสนใจของผู้สูงอายุ และเมื่อพูดเรื่อง ‘ของเล่น’ ขึ้นมา เหล่าผู้สูงวัยก็จะรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่คุ้นชิน หรือแม้กระทั่งมองว่าของเล่นต้องเป็นของเด็กเท่านั้น
“ของเล่นเหรอ อายุเท่านี้จะให้เล่นของเล่นอีกเหรอ (หัวเราะ) แต่พอบอกว่าชิ้นนี้มันแต่งบ้านได้ด้วยนะ เอาไว้วางสวยๆ ที่โต๊ะรับแขกได้ เล่นกับลูกหลานได้ เขาก็เปิดใจมากขึ้น”
Nifty Elderly เลือกพัฒนาของเล่นให้เป็นของแต่งบ้านควบคู่ไป เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและประโยชน์ในการใช้งานให้ผู้สูงอายุเข้าใจมากขึ้น นอกจากนั้น ของแต่งบ้านหน้าตาสวยงามเหล่านี้ บางชิ้นยังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัยได้เป็นอย่างดีด้วย
เพราะต้องยอมรับว่าลูกหลานหรือคนใกล้ชิดเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อย ที่จะช่วยพยุงให้ร่างกายที่ผ่านมาหลายแรมปีนี้สามารถยืนหยัดและยังสดใสเหมือนเดิม Nifty Elderly ก็คิดอย่างนั้นเช่นกัน
“พอสมรรถนะดิ่งลง จิตใจและอารมณ์ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ การจะทำให้เขามั่นใจและอยากใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า ต้องทำให้เขามีเป้าหมาย บางคนอยากอยู่เพื่อเห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกหลาน เราเลยอยากเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านของเล่นเหล่านี้”
เราได้ขอให้อาจารย์พรเทพแนะนำของเล่น 3 ชิ้นที่นำเสนอความเป็น Nifty Elderly และทำให้รู้จักแบรนด์ได้ดีขึ้น นั่นก็คือ
‘นับไทย’ ของเล่นทบทวนการคิดคำนวณระดับประถมศึกษาที่ชวนทุกคนหยิบตัวเลขไทยมาบวกกันในใจ แล้วต่อขึ้นไปให้มีขนาดเท่ากับตัวเลขที่เป็นผลลัพธ์ วิธีเล่นก็ง่ายนิดเดียว เช่น 2 + 3 จะเท่ากับ 5 เราก็หยิบบล็อกตัวเลข 2 และตัวเลข 3 มาวางซ้อนกันก็จะได้ความสูงเท่ากับตัวเลข 5
“เราใช้ระบบยูนิต ยูนิตหนึ่งคือหนึ่งสัดส่วนแล้วก็วัดขึ้นไป หนึ่งเท่ากับหนึ่งยูนิต สองเท่ากับสองยูนิต แล้วก็ใช้ไทป์เฟซของตัวเลขใส่เข้าไปแทน”
นอกจากนับไทยที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นเลขไทยแล้วนั้น Nifty Elderly ยังขอนำเสนอ ‘นับจีน’ ที่ออกแบบมาด้วยระบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นตัวเลขจีนให้นานาชาติได้เข้ามาร่วมเล่นด้วย
ส่วนชิ้นที่สองที่อาจารย์พรเทพนำเสนอคือ ‘แมนเดลาเพื่อการตกแต่ง’ โดยชิ้นนี้มีหน้าตาลักษณะของของแต่งบ้านขนานแท้ คือเพียงแค่มองก็รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ แต่วิธีเล่นของชิ้นนี้ก็ไม่ยาก ด้วย Velcro Tape หรือตีนตุ๊กแกและผ้าสีเทาที่รองอยู่ ทำให้สามารถดึงแต่ละชิ้นออกมาแล้วจัดวางเรียงในรูปแบบที่ต้องการได้ หรือหากอยากออกแบบใหม่ให้เป็นหน้าตาที่ตนเองชอบก็ทำได้เช่นกัน
เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปเป็นกรอบรูปตั้งโต๊ะ แขวนผนัง หรือจะใช้ของเล่นนี้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ร่วมเล่นกับลูกหลาน ช่วยกันออกแบบของแต่งบ้านก็ยังได้
ปิดท้ายด้วยชิ้นสุดท้ายที่ชวนทุกคนลบภาพจำบ้านบาร์บี้ บ้านตุ๊กตาหนูหน้าตาน่ารัก หรือเหล่าบ้านตุ๊กตาของเล่นเด็กที่สรรค์สร้างมาเพื่อให้เด็กจำลองการใช้ชีวิตในบ้าน เพราะ Nifty Elderly ขอนำเสนอ ‘บ้านตุ๊กตาเพื่อความเข้าใจในผู้สูงอายุ’
จุดเด่นของบ้านนี้คือ ภายในบ้านจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นวีลแชร์ เตียงผู้ป่วย ไม้เท้าค้ำยัน ห้องน้ำที่มีราวจับกันล้ม ทางลาดชัน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจต่อผู้สูงอายุว่า การมีสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ในบ้านนั้นเป็นเรื่องปกติ เราสามารถใช้งานมันเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต และอีกทางหนึ่งก็ยังช่วยทำความเข้าใจกับลูกหลานหรือผู้อยู่ร่วมบ้านด้วย
ยิ่งเมื่อมาเล่นด้วยกันแล้วก็จะยิ่งจำลองการใช้ชีวิตจริง ช่วยให้หลานๆ ในบ้านเข้าใจว่าของแต่ละชิ้นในบ้านนี้มีไว้เพื่ออะไร และสามารถช่วยอะไรคุณย่าคุณยายของเราได้บ้าง
ความท้าทายของตลาดของเล่นผู้สูงอายุ
เราชวนอาจารย์พรเทพคุยเรื่องตลาดของเล่นผู้สูงอายุตอนนี้ ยิ่งในปีหลังๆ เราเริ่มเห็นของใช้เพื่อผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เสื้อผ้าผู้สูงอายุ หรือเทคโนโลยีช่วยเหลือเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและจำนวนผู้สูงวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ
“ตลาดของเล่นผู้สูงอายุตอนนี้ถือว่ายังแปลกใหม่มาก ส่วนใหญ่ที่มีอยู่จะเป็นอุปกรณ์การช่วยเหลือของผู้สูงอายุมากกว่า หรือบริษัทของเล่นใหญ่ๆ บางทีเขาก็เอาพวกบล็อกต่างๆ ที่ขายเป็นของเล่นเด็กอยู่แล้วมาปรับให้ผู้สูงอายุเล่นได้ด้วย รูปแบบการออกแบบมันเลยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยตรง”
ประเด็นความท้าทายในการสร้างของเล่นผู้สูงอายุไม่ได้มีเพียงความเสี่ยงในการทำของเล่นได้ไม่ตรงใจ แต่ยังมีเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย (Toys Safety Standard) ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
“ของเด็กเขาจะมีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ต้องทดลองโยน หรือ Drop Test เพื่อป้องกันการขว้างปาของเด็ก เรื่องเหลี่ยมมุม สี กินได้กินไม่ได้ แต่พอเป็นผู้ใหญ่เรามองว่าเขามีสติสัมปชัญญะ ควบคุมอะไรด้วยประสบการณ์ตัวเองได้แล้ว เลยไม่มีข้อกำหนดอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา คิดว่าในอนาคตน่าจะมีเรื่องนี้และคงทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นในของเล่นเราได้มากขึ้น”
เมื่อรัฐเป็นผู้ ‘เล่น’ คนสำคัญ
“จริงๆ เรื่องผู้สูงอายุมันอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะเราเน้นเลยว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ต้องมีแผนกิจกรรม การใช้ชีวิต และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเขา”
อาจารย์พรเทพตอบเมื่อเราถามถึงการคงไว้ซึ่งสมรรถภาพ หากผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงของเล่นหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยดูแลวิถีชีวิตเขาได้
โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้ระบุถึงการยกระดับการคุ้มครองคนทุกช่วงวัย และพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุว่าจะต้องเน้นที่สวัสดิการและเงินช่วยเหลือทั้งหมดของผู้สูงอายุ เพิ่มการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และส่งเสริมทักษะที่จะทำให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยตนเองได้
“มันอาจจะเพิ่งเป็นช่วงเริ่มที่เขาให้ทุนวิจัย หากรัฐอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น รัฐอาจจะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุน นำผลิตภัณฑ์หรือของเล่นเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่ผู้สูงอายุไทยเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะตามโรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาล หรือสถานที่ที่เขาทำกิจกรรมรวมกลุ่มของผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำ”
อาจเรียกได้ว่า รัฐต้องเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญให้สังคมผู้สูงอายุของไทยได้มาตรฐานควบคู่ไปกับนวัตกรรมต่างๆ เพื่อดูแลพวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เริ่มเล่นให้จริงจัง
สุดท้ายนี้ ใครที่อ่านแล้วอยากจับจองเป็นเจ้าของ ซื้อมาให้ผู้สูงอายุที่บ้านเล่นบ้าง Nifty Elderly เตรียมตัวจะวางขายทั้งทางออนไลน์และตามร้านค้าสำหรับข้าวของครอบครัวต่างๆ ในต้นปีหน้า (2568) พร้อมกับแผนพัฒนาให้ตัวของเล่นตรงใจผู้สูงอายุมากขึ้น
“เนื่องจากงานของเราเป็นการดีไซน์ผสมกับการลดความเสื่อม เราเลยมองไว้ว่าคนที่จะซื้อก็คงเป็นคนในครอบครัว ทั้งเจ้าตัวที่เล่นเองหรือคนในบ้านที่อยากจะเล่นกับเขา เลยมองช่องทางออนไลน์ตามแอปฯ ต่างๆ ไว้ รวมถึงหน้าร้านที่คนในครอบครัวจะไปลองจับลองเล่นได้” สมฤทัย เจ้าของแบรนด์เล่าให้เราฟัง
อีกทั้ง Nifty Elderly ยังเตรียมผลิตสินค้ากลุ่มใหม่ที่จะดูแลผู้สูงวัยเชิงกายภาพได้มากขึ้น
“เราคิดเรื่อง Family Tree หรือแผนผังครอบครัวเอาไว้ จะได้สร้างบทสนทนาระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลานได้มากขึ้น หรือเสื้อผ้าที่ด้านหลังสกรีนเป็นลายเกมบันไดงู ซึ่งจะมีตัวเลขอยู่ เพราะเราอยากทำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเขาในเชิงกายภาพด้วย
“มนุษย์เราเมื่ออายุมากขึ้น ผิวก็จะเริ่มแห้ง เกิดอาการคัน ด้วยผลิตภัณฑ์นี้พอคันก็จะบอกตำแหน่งให้ลูกหลานช่วยเกาได้ พร้อมสอดแทรกเนื้อหาในเกมบันไดงูให้ผู้สูงอายุเท่าทันโลกมากขึ้น เช่น ถ้ามีคอลเซ็นเตอร์โทรมา ต้องทำยังไง จะโอนตังค์ไหม ถ้าโอนตกลงมาเลขหนึ่งนะ” อาจารย์พรเทพอธิบาย
นอกจากนั้น Nifty Elderly ยังวางแผนปรับเหล่าอุปกรณ์หรือของใช้เชิงการแพทย์ เช่น อุปกรณ์บริหารปอด ที่มีลักษณะเป็นลูกบอล 3 ลูก ซึ่งมีความยากในการใช้งาน ส่งผลให้บางครั้งผู้สูงอายุไม่กล้า กลัว หรือไม่อยากทำ ก็จะปรับอุปกรณ์เหล่านี้ให้ใช้งานง่าย หน้าตาดีขึ้น แต่ยังมีคุณสมบัติในการบริหารร่างกายได้เหมือนเดิม
เวลามีคนบอกว่าเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ก็อาจจะคล้ายกับการที่บอกว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงคนตัวใหญ่ที่ชราวัยลง แต่พวกเขายังมีความสนใจ ความต้องการในด้านต่างๆ ที่แตกต่างออกไป ของเล่นที่ตรงใจและเหมาะกับพวกเขาจริงๆ อาจมีคุณค่าและแสดงถึงการดูแลที่ดีที่สุดได้เช่นเดียวกัน